beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

มาร์ติน วีลเลอร์ : ฝรั่งอังกฤษหัวใจไทย (อีสาน)


แม้เขาเติบโตจากระบบทุนนิยม แต่แนวคิดกลับแปลกแยกอย่างสิ้นเชิง แม้เป็นชาวอังกฤษ แต่มุมมอง "ความเป็นไทย"กลับเฉียบคมยิ่ง ๑๖-๑๗ ปีในเมืองไทย หล่อหลอมฝรั่งคนนี้เป็นคนไทย เกือบสมบูรณ์ กว่าคนไทยอีกหลายคน

     ได้ดูหนังเรื่องราวของมาร์ติน วีลเลอร์ ผ่านการสัมภาษณ์ ของ "สันติราชธานีอโศก" สกัดออกมาเป็นเรื่องราวของการ "ปฏิวัติความเชื่อ" ทำให้ คุณมาร์ติน ฝรั่งอังกฤษกลายมาเป็นคนไทย ที่เข้าใจวิถีชีวิตแบบของคนไทย ได้ดีกว่าคนไทยหลายคนทีเดียว...ผมลองถอดบทเรียน..ออกมาเรียบเรียงเป็นเรื่องเล่าดังต่อไปนี้ (ตอนแรกจะเรียบเรียงเรื่องเล่าที่ถอดจาก VCD แต่เนื่องจากเป็น VCD ตั้งแต่ปี 2547 พบว่าเขามีการถอดเทปออกมาแล้ว และเขียนเล่าได้ดี จึงใช้วิธี copy & Paste เป็นส่วนใหญ่ แต่ผมก็ช่วย Edit ภาษาไทยบ้าง และช่วยเรียบเรียงด้วย)

มาร์ติน

  (ภาพยืมมาจากบันทึกของอาจารย์หมอจิตเจริญ)

     ประวัติ
     มาร์ติน วีลเลอร์ Martin Wheeler เป็นชาวอังกฤษ เมือง Blackpool น่าจะเกิดราวๆ ปี ค.ศ. 1962 นับถึงปัจจุบัน (ปี 2008) อายุประมาณ ๔๖ ปี (อยู่เมืองไทยมา ๑๖-๑๗ ปี)

      "ผมเป็นชาวอังกฤษเกิดในครอบครัวที่ฐานะดีพอสมควร พ่อจบปริญญาเอก เป็นผู้จัดการบริษัทเกี่ยวกับสารเคมี ยาฆ่าแมลง มีลูกน้อง ๒๐,๐๐๐ กว่าคน แม่จบปริญญาตรี เป็นครูสอนเปียโน กับไวโอลิน ผมจบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งภาษาละติน (จาก London University)

      ครั้งแรกผมเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พอปีที่ ๓ ผมย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และจบที่นั่น ผมไม่ชอบเคมบริดจ์ เพราะเป็นแบบโบราณ อังกฤษเป็นประเทศเก่าแก่มาก สมัยโบราณเป็นระบบศักดินา มีขุนนาง และชาวบ้านเป็นขี้ข้า

       ทุกวันนี้แม้ยกเลิกระบบนั้นแล้ว แต่ที่เคมบริดจ์ยังเจอวัฒนธรรม แบบขุนนาง เป็นสังคมเล็กๆ ผ่านมา ๒๐๐-๓๐๐ ปีแล้ว แต่ไม่รับรู้อะไร ไม่เข้าใจชาวบ้าน เขาคิดแต่เรื่อง สังคมเล็กๆ ของเขาในกลุ่มคนชั้นสูง เป็นพวกหอคอยงาช้าง

       ที่ผมเรียนได้คะแนนดี เพราะพ่อแม่ของผม บังคับให้เรียนหนังสือ ส่งเสริมให้เรียนตั้งแต่อายุ ๒ ขวบครึ่ง สอบไปเรื่อยๆ เพิ่มไอ.คิว. ให้สูงที่สุด เท่าที่จะทำได้ ผมเรียนสูงจนได้เกียรตินิยม เพราะพ่อแม่มีเงินช่วย ไม่เกี่ยวกับความฉลาดเฉพาะตัว"

        ปฏิวัติค่านิยมเก่า

       "ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องเงิน ไม่อยากมีรถยนต์ ไม่อยากมีบ้านใหญ่ อยากมีบ้านเล็กๆ อยากมีครอบครัวเล็กๆ ที่มีความสุข ไม่สนใจเรื่องวัตถุ ผมอยากอยู่แบบง่ายๆ เมื่อก่อน ไม่รู้เขาเรียกว่าอะไร แต่ตอนนี้รู้ว่า เขาเรียกมักน้อย สันโดษ

        ที่อังกฤษเขาว่าผมบ้า เป็นเด็กนิสัยเสีย เพราะพ่อแม่ส่งให้เรียนหนังสือ แต่ไม่เอาความรู้ไปหาเงิน เขาหาว่าเด็กที่ไม่คิดทำงานนั้นนิสัยเสีย หลังจากเรียนจบแล้ว ผมก็เอาปริญญาให้พ่อแม่ตามที่ท่านอยากได้ แล้วผมก็ไปทำงานก่อสร้าง แบกอิฐแบกปูนอยู่ ๑๐ ปี

         ช่วงนั้นชาวบ้านบอกว่า ผมบ้าแน่ครับ แต่เป็นเรื่องที่ผมอยากเรียนรู้ชีวิต อยากรู้จักตัวเอง ว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด มีความอดทนไหม ทำในสิ่งที่เราไม่น่าจะทำได้ไหม ท้าทายตัวเองบ้าง อยากผ่านชีวิตที่ลำบากบ้าง

         ผมอยู่ในสังคมของคนมีเงิน เขาจะพูดถึงแต่เรื่องเงิน คุณมีรถยี่ห้ออะไรบ้าง มี่กี่คัน คุณมีบ้านใหญ่ ขนาดไหน ลูกของคุณเรียนที่ไหน เอาลูกมาแข่งขันกัน จบจากที่ไหนบ้าง จบจากเคมบริดจ์ดีกว่าจบจากมหาวิทยาลัยลอนดอน

         แต่ผมกลับคิดว่า ชีวิตน่าจะมีอะไร มากกว่านั้น ช่วงนั้นผมไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือไม่ใช่เงิน ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ปริญญา ต้องมีสิ่งอื่น ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ผมก็เลยมาลองแบกอิฐ แบกของหนักไว้ก่อน เดินแบกอิฐไปมา วันละสาม-สี่พันเที่ยว มันอิสระ เรามีเวลาคิด ได้รู้จักคนอื่น และได้สร้างความเข้มแข็ง ให้ร่างกาย แล้วจิตใจเราก็เข้มแข็งขึ้นด้วย (ได้ค่าแรงวันละ 4,000 บาท รัฐหักไว้ เพื่อเอามาให้ตอนแก่ 1,300 บาท.... )

        ชาวบ้านธรรมดา (คนจน) ที่อังกฤษนั้น จริงๆ เขาลำบากกว่าคนไทยมาก เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ผมได้เห็น ชีวิตของชาวบ้านที่อังกฤษแย่มาก คนที่นั่น ๖๐% ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา จะไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน ต้องไปเช่าบ้านจากเจ้านายตลอดชีวิต

        คนอังกฤษที่เป็นชาวบ้านธรรมดา ๙๘%ไม่มีที่ทำกิน (ที่ดิน) แล้วก็อยู่ในเมือง เป็นขี้ข้าเขาหมด แม้แต่เป็นผู้จัดการก็เป็นขี้ข้าด้วย เพราะไม่มีใครพึ่งตนเอง ไม่มีใครมีที่ทำกิน จะไปทำอะไร ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ จะไปสุขอะไรก็ไม่ได้ ต้องไปหาเงิน ชีวิตอยู่กับเงินอย่างเดียว เงินเยอะ ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เงินน้อยคุณภาพชีวิตก็ไม่ค่อยสูงเท่าไหร่"

         พ่อ-แม่และผมกับความสุขในชีวิต

         "ถามว่าชีวิตของพ่อมีความสุขมั้ย ผมคิดว่าไม่ ผมคิดว่าพ่ออยากได้บางสิ่งบางอย่าง เขาได้เงินเดือนเยอะมาก ได้รับบำเหน็จบำนาญ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในชุมชน มีตำแหน่ง มีเกียรติยศอะไรอีกเยอะแยะ แต่ผมคิดว่าพ่อไม่มีความสุข เพราะว่าวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ไปทำงานที่โรงงาน ตกเย็นไปประชุมอีก กลับบ้านสามทุ่มสี่ทุ่ม ไม่ได้เจอเมียเจอลูก

         วันเสาร์-อาทิตย์พ่อก็ปวดหัว อยากพักผ่อน พ่ออยากอยู่คนเดียว ไม่ให้ใครรบกวน พ่อมีเมีย และลูกสามคน แต่พ่อไม่ค่อยได้เห็นลูกเห็นเมีย สมัยที่ผมอายุสิบสามขวบ ผมไม่ได้คุยกับพ่อ แม้แต่คำเดียวเกือบปีครึ่ง เห็นเมื่อไหร่ก็เจอพ่อปวดหัวตลอด คิดหนัก อาชีพของพ่อ ต้องใช้สมองมาก ผมว่ามันเป็นกรรมพันธุ์ด้วย ผมก็ปวดหัวบ่อยเหมือนกัน (หัวเราะ) ชอบคิดมาก ตอนนี้หายแล้ว แม่เข้าใจผม แต่ไม่เห็นด้วยที่ผมมาเมืองไทย"

        จุดเปลี่ยนของชีวิต
         
        "17 ปีที่แล้ว (ประมาณปี ค.ศ. 1991/พ.ศ. 2534) แม่เสียชีวิต ผมได้มรดกนิดๆ หน่อยๆ มีเวลาที่จะไปเที่ยว ผมเคยวางแผนไว้ในใจว่าจะเที่ยว ๑ ปี จะไปในประเทศ ที่ผมไม่เคยไปมาก่อน เช่น ไทย (๒ เดือน) ลาว (๑ เดือน) เขมร (๑ เดือน) พม่า (๑ เดือน) มาเลย์ (๑ เดือน) เวียดนาม (๒ เดือน)  อินโดนีเซีย (๓ เดือน)  และออสเตรเลีย

        สุดท้ายคิดว่าจะไปออสเตรเลียเพราะเป็นประเทศเปิด ไม่ค่อยมีกฎระเบียบ เหมือนอังกฤษ แต่ก็ยังไม่ได้ไปตามแผนที่วางไว้ ประเทศแรกที่ผมมาคือประเทศไทย

         แต่ก่อนผมเป็นคนชอบเที่ยว กิน ดื่ม มาอยู่เมืองไทยได้ ๒ เดือน ใช้สตางค์หมด (เงินที่กะว่าจะใช้ ๑ ปี) กลับบ้านไม่ได้เพราะไม่มีค่าเครื่องบิน เลยต้องอยู่เมืองไทย" 

        ผมไม่ใช่ครูสอนภาษาอังกฤษ

        "ผมอยู่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ผมอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว ไปหางานทำ ได้งานทำเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ รายได้ประมาณ 25,000-30,000 บาท/เดือน จริงๆแล้ว ผมไม่ได้เป็นครูหรอก ผมสอนไม่เป็น แต่คนไทยเห็นฝรั่ง จะบอกว่าฝรั่งทุกคน เป็นครูสอนภาษา ซึ่งมันไม่จริง ฝรั่งส่วนมากไม่ได้เป็นครู ที่กรุงเทพฯ เขาจ้างผมให้เป็นครู เอาเสื้อผ้าดีๆ เนคไทดีๆให้ใส่ เขาบอกว่า คุณเป็นครูนะ แล้วเขาก็ส่งผมเข้าห้องเรียนเลย

         ความจริงฝรั่งที่เขาเรียกว่าครูนั้น ไม่มีใครเคยสอนหนังสือ แม้แต่คนเดียว และบางครั้ง ก็ไม่ใช่คนอังกฤษด้วย มีคนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส พูดภาษาอังกฤษผมฟังไม่รู้เรื่องแม้แต่คำเดียว คนไทยก็แปลกดีเหมือนกัน เขาให้เงินเดือนผมเดือนละ ๓ หมื่นบาท ไปนั่งเฉยๆ ผมก็ละอายใจ ไม่อยากรับ ผมคิดมาก ปวดหัวทั้งวันทั้งคืน เพราะถ้าเราทำงานอะไรในชีวิต เราต้องได้ผลงาน

         สมมุติมีคนมาจ้างเรา ๑๐๐ บาทแบกอิฐ ผมจะรับแน่เพราะว่า ผมแบกอิฐแผ่นนั้น จากที่นี่ไปที่โน่น ผมทำได้แน่ครับ แล้วผมก็จะเอาเงินของคุณไป แต่เวลาผมเป็นครูสอนภาษา มันไม่ได้ผลหรอก ผมสอนไม่เป็น เอาเงินให้ผมเฉยๆ  ผมก็รู้สึกว่า ไม่น่าจะเอา ผมไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้คุ้มค่าเงินนะ" (ขยายความ ตอนแบกอิฐมาร์ติน ทำงานคนเดียวงานก็สำเร็จ แต่การสอนหนังสือต้องเกี่ยวข้องกับคนอย่างน้อย ๒ คน งานจึงจะสำเร็จ คือ ระหว่างผู้สอนกับผู้ถูกสอน..คราวนี้มาร์ตินไม่ได้เรียนมาทางครู เห็นว่าตัวเองทำงานไม่ได้ดี ก็เกิดความละอายใจ...)

      เงินไม่ทำให้ผมมีความสุข      

      "ผมมีอุดมการณ์เล็กๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ  ๑. ถ้าเราทำงานอะไร ต้องทำในสิ่งที่เรามีความสุข ๒.จะไม่ทำงานที่ต้องผูกเนคไท ๓.จะไม่มีกระเป๋าเอกสารเพราะว่าเหมือนสังคมของพ่อแม่ผม เขาจะทำงานแบบนั้น ทุกคนมีเสื้อนอก มีรถยนต์ มีเอกสาร แต่เขาไม่ค่อยมีความสุขหรอก ผมเอาสิ่งนี้ มาเป็นสัญลักษณ์ แห่งการทำงานที่ไม่มีความสุข

      มีช่วงเดียวเท่านั้นที่ผมทรยศต่อชีวิตตัวเองคือ ช่วงที่ผมเป็นครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมต้องผูกเนคไท ผมทำในสิ่งที่ผมเกลียดที่สุดเลย เพื่อเงินอย่างเดียว ทำอยู่ประมาณ ๑๑ เดือน ชีวิตไม่มีความสุข เหมือนอยู่ที่อังกฤษ

      คือทำงานอะไรก็ได้ ขอให้มีเงิน แต่ไม่มีความสุข แล้วก็เอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไปเที่ยว ไปกินเหล้า ไปสูบบุหรี่ ยาเสพติดทุกชนิดผมเอาหมด ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แม้แต่อยู่กรุงเทพฯ ก็ยังทำอยู่ ถึงได้เงินเยอะ แต่ไม่รู้ว่า จะเอาไปทำอะไร เพราะเงินไม่ช่วยให้เรามีความสุข"

       จุดหักเหของชีวิต (อีกครั้ง) ไปเยี่ยมบ้านภรรยา

        "และแล้วผมก็เจอภรรยา เธอมาจากจังหวัดขอนแก่น ไปอยู่กรุงเทพฯ ไม่นานนักเราก็มีลูก ผมเริ่มคิดหนัก แต่ก่อนอยู่คนเดียวไม่มีปัญหา มีความสุขหรือไม่มีก็คนเดียว ไม่ยากหรอก เมื่อมีเมียมีลูก มันต้องรับผิดชอบผู้อื่นด้วย จะไปนั่งกินเหล้าเฉยๆ ไม่ได้หรอก คิดว่าทำอย่างไร ให้เมียกับลูกอยู่ได้

         ผมรู้แน่ๆ ถ้าผมอยู่ในสังคมเมือง และทำงานแบบนี้ ผมจะเป็นคนแย่มาก จะกินเหล้า สูบบุหรี่ ติดยา เที่ยวอย่างเดียว จึงตัดสินใจตัดตัวเองออกจากสังคมเมือง ไปอยู่บ้านนอก แฟนผมมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น (บ้านคำป่าหลาย ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น) ช่วงปีใหม่ผมไปเที่ยวบ้านของแม่ยาย เห็นว่าเป็นธรรมชาติดี

        ต้องเข้าใจว่าคนอังกฤษอยู่บ้านนอกไม่ได้ เพราะชนบทมีพื้นที่นิดเดียว พวกขุนนางยึดหมด คนยากจน จึงอยู่ชนบทไม่ได้ ต้องไปอยู่ในเมืองที่สกปรก แออัด คนอังกฤษที่ยังรวยไม่ถึงขั้น เช่น พ่อของผม มีเงินเยอะ แต่ก็ยังรวยไม่ถึงขั้น เพราะยังอยู่ในเมือง

       วัดจากคนที่อยู่กลางเมืองใหญ่ๆ จะเป็นคนจนที่สุด ที่อยู่ชานเมือง จะเป็นพวกครู ข้าราชการ อะไรแบบนั้น เป็นผู้จัดการ ก็ยังอยู่ในเมือง ส่วนคนที่จะได้อยู่บ้านนอก จะต้องเป็นคนรวย ถึงขั้นจริงๆ เป็นพวกขุนนางใหญ่โต

      มันเป็นเรื่องที่แปลกมาก ผมมาอยู่ที่ขอนแก่น เห็นแต่ละคน มีที่ดินเยอะมาก ชาวบ้านธรรมดา คนเดียวมีถึง ๕๐ ไร่ ๒๐๐ กว่าไร่ก็มี (ก็พ่อแม่ผมมีที่ แค่ครึ่งไร่เท่านั้นเอง)  แต่บ้านนอกที่นี่ โอ้โฮ..มีที่เยอะมาก สะอาดด้วย แถมอากาศก็ดี

     ตอนแรกผมได้กลิ่น ก็นึกว่ากลิ่นอะไร อ๋อ มันกลิ่นธรรมชาติ ผมไม่เคยดมมาก่อน โอ้สุดยอดเลยบ้านนอก คนอื่นว่าฝรั่งอย่างผมมันบ้า เพราะเขาไม่คิดว่า ทำไมฝรั่งอยากไปอยู่บ้านนอก เขาคิดว่าฝรั่งมีแต่คนรวย ฝรั่งไม่มีคนยากจน เขาไม่รู้จริงๆ ว่าฝรั่งส่วนมากลำบาก บ้านก็ไม่มี ที่ดินก็ไม่มี เป็นขี้ข้าเขาหมด ลูกก็ไม่มีอนาคต

     ต้องเข้าใจอีกอย่างว่า ฝรั่งตัวขาวๆ เป็นพวกไม่มีเงิน เพราะอยู่ในประเทศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด ส่วนคนมีสตางค์หรือคนรวย เขาจะมีเงินไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ไปอาบแดด จึงมีผิวสีแทน.. ดังนั้นถ้าเป็นฝรั่งขาวๆ ไม่รวยจริง ที่รวยจริงต้องผิวสีแทน

      ปัญหาของระบบทุนนิยมคือเรื่องเงิน เงินถูกจำกัดเป็นก้อนเล็กๆ คนรวยกวาดเงินไปเยอะ จนเหลือนิดเดียว มันแบ่งกันไม่ลงตัว ทำให้มีคนจนเยอะ ถ้ามีคนรวย ๑ คน จะมีคนจนเป็นร้อยเลย ระบบทุนนิยมจึงอยู่ได้

      ปัญหาของคนยากจนคือ ทำยังไง จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เราจะหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างไรถ้าใช้เงินเป็นตัวชี้วัด ดังนั้นต้องหาตัวชี้วัดที่ไม่ใช่เงิน อันนี้ผมคิดว่าเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ชาวบ้านธรรมดา อาจจะไม่มีเงินเยอะ แต่เขาสามารถจะหาหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มีคุณค่า มาทดแทนสิ่งที่เรียกว่า เงิน ได้ตั้งเยอะ"

       ตัดสินใจไปอยู่บ้านนอกเพื่อหาคำตอบให้ชีวิต

       "ผมตกลงกับแฟนว่าเราจะไปอยู่บ้านนอก ผมจะไม่รับจ้างสอนภาษาอังกฤษ เขาก็ตกลง แต่ปัญหาคือ ผมทำเกษตรไม่เป็น ช่วงแรกก็ลำบาก ต้องกลับมาแบกอิฐเหมือนเดิม วันละร้อยยี่สิบบาท โอ้โฮ...เหนื่อยมากเพราะอากาศมันร้อน  ไม่เหมือนที่อังกฤษ ถึงจะแดดร้อน แต่อากาศเย็น เดินเฉยไม่ได้ ต้องวิ่งถึงจะอุ่น

       ขอนแก่นช่วงนั้น เป็นเดือน ๔ อากาศร้อนมาก ๔๐ กว่าองศา บางครั้ง ผมเป็นลม เขาเอาน้ำมาสาด โอ๊ย.! ฝรั่งมันบ้า ทำไม ไม่กลับบ้าน คิดผิดหรือเปล่า ทำไมต้อง มาลำบากขนาดนี้ เขาคิดว่า ผมเป็นฆาตกร ไปฆ่าคนที่อังกฤษ แล้วกลับบ้านไม่ได้ หนีคดีมา

       ความจริงไม่ใช่ ผมก็แค่อยากหาคำตอบของชีวิต ในบางเรื่องเท่านั้น อยากหาความสุข ที่เป็นแบบ ยั่งยืนสักหน่อย บางครั้งก็คิดหนีไปที่อื่นเหมือนกัน แต่ผมไม่รู้ว่า ถ้าอยู่ที่นี่ไม่ได้จะไปอยู่ที่ไหน คิดว่า เราต้องหาคำตอบให้ได้

       ปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวของผมเอง แต่ในภาพรวมที่นี่ดี สิ่งแวดล้อมดี สะอาด ถ้าเรามีลูก เราอยากให้ลูกของเราอยู่ในที่สะอาด อาหารธรรมชาติฟรีๆ ก็มีเยอะมาก ในภาคอีสาน เห็ดแดง หน่อไม้ ไข่มดแดง ดอกกระเจียว ผักอีหรอก แมงคับแมงคาม ขี้กะปอมเยอะ แต่บางคนก็ไม่กินนะ บางคนก็กิน

       ซึ่งมันดีมากเพราะว่า ๑.สะอาด เป็นอาหารธรรมชาติ ปลอดจากสารพิษ ไม่มีใครไปใส่ปุ๋ยใส่เคมี ที่อังกฤษ คนธรรมดากินอาหารที่มีสารพิษ ๒.ได้มาฟรี ไม่ได้ซื้อ ไม่ได้ใช้เงิน ขอให้ขยันเดินไปเก็บหน่อย

      สมัยก่อน ที่อังกฤษ ผมจะเดินแบกอิฐทั้งวัน เมื่อได้เงินแล้ว ก็เอาเงินเกือบทั้งหมดไปซื้ออาหารในร้าน ฝรั่งส่วนมาก ทำงานหนักทุกวัน แต่เงินที่เขาได้ มันเพียงพอที่จะซื้ออาหารกินเท่านั้น ไม่มีเงินเหลือ ฝากธนาคาร"

      นิยามความรวยของมาร์ติน

      "มันเป็นเรื่องแปลกนะที่ประเทศไทย คนยากจนมีหนี้สินเยอะ ที่อังกฤษมีแต่คนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็นหนี้สิน คนจนไม่มีหนี้ เพราะเขาไม่ให้คนจนยืมเงิน เนื่องจากกลัวจะไม่มีปัญญาใช้คืน จึงไม่มีสิทธิ์มีหนี้สิน แต่คนรวยยืมเงินได้

      คำว่ารวยกับคำว่าจน มันคืออะไรกันแน่ ที่ขอนแก่นเขาว่าผมบ้าบ้าง ฝรั่งยากจนบ้าง ฝรั่งตกอับบ้าง ฝรั่งขี้นก ฝรั่งไม่มีเงิน แต่ผมบอกว่า ไม่ใช่ ผมรวยนะ เขาถามว่ารวยได้ยังไง ผมบอกว่า

  1. ผมมีบ้าน ผมทำบ้านเล็กๆ เป็นกระท่อมน้อยๆ เอาหญ้ามามุงหลังคา ชาวบ้านเรียกว่า เถียงนา ไม่ใช่บ้านหรอก ผมบอกว่าใช่ มันบ้านของผม ไม่ใช่บ้านเจ้านาย ราคาหนึ่งหมื่นสองพันบาท อยู่ได้ครับ มันกันแดดกันฝนได้ แค่นั้นผมก็รวยแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องมีบ้านเป็นของตัวเองไว้ก่อน ซึ่งผมก็มีบ้าน คิดว่าลูกของผม จะต้องมีบ้านที่ดีกว่าผมแน่ๆ เพราะผมปลูกไม้ยืนต้นไว้ ให้ลูกๆ เอาไปทำบ้านในอนาคตด้วย
  2. ผมมีที่ดิน แค่ ๖ ไร่เท่านั้นเอง (ของเมียผม-มันก็เหมือนของผม) ที่นั่นเขาบอกว่ากระจอก มีนิดเดียว แต่สำหรับฝรั่ง มันเยอะมาก จริงๆ ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นพื้นฐานของชีวิต ขนาดพี่สาวผมจบด๊อกเตอร์ที่อังกฤษ ยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองเลย (ของพ่อแม่มีแค่ครึ่งไร่) เราต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นของเรา ไม่ใช่ของเจ้านาย เพราะว่าถ้ามันเป็นของเจ้านาย เราต้องไปหาเงินให้เขา ถ้าเราไม่หาเงินให้เขา เขาก็ไล่เราออก เราก็ไม่มีที่อยู่นะ
  3. มีที่ดิน ก็หมายความว่า ผมมีงานทำแน่ๆ ไม่ตกงาน มีงานทำทุกวัน (ถ้าไม่ขี้เกียจ) ผมจึงมีความมั่นคงในชีวิต...พี่สาวผมที่อังกฤษ จบด๊อกเตอร์มา ยังไม่มีงานทำเลย...ที่อังกฤษ คนไม่มีงานทำประมาณ ๒ ล้านคน
  4. มีอาหารปลอดสารพิษกิน...ที่อังกฤษ คนจนกินแต่อาหารที่มีสารพิษเพราะต้องซื้อจากห้าง ส่วนคนรวยจึงมีสิทธิ์เลือกอาหารที่ปลอดสารพิษ
  5. อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่บ้านขอนแก่นของผม มีน้ำประปาภูเขาที่ดื่มได้ ที่อังกฤษน้ำแบบนี้เขานำมาขายขวดละ 500 บาท
  6. มีสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ครอบครัวอบอุ่น มีเพื่อนบ้านที่ดี สุขภาพกายดี สุขภาพใจก็ดี

        เรื่องเกษตรผมทำไม่เก่ง แต่ที่ทำได้ง่ายคือ ปลูกต้นไม้ พวกไม้ประดู่ ไม้สะเดา ไม้ยาง ปลูกไว้ให้ลูกสร้างบ้าน ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้โตเร็วมาก แค่ ๒๕-๓๐ ปีตัดได้แล้ว ไม่เหมือนอังกฤษ ๑๕๐-๒๐๐ ปีถึงตัดได้ เพราะอากาศเย็น

       เป็นเรื่องแปลก ที่คนไทยจะบ่น โอ๊ย..มันร้อนๆ ผมว่ากลับเป็นเรื่องดี แสงแดดเยอะ จะทำการเกษตรได้ ตลอดเวลา ๑ ปี ทำได้ทุกวัน แต่คนไทยจะบ่นร้อนๆ ไม่เอาๆ อยากเป็นคนผิวขาวดีกว่า แต่คนอังกฤษ เขาถือคนผิวขาวเป็นคนจน เพราะว่าไม่มีปัญญา จะไปเมืองนอก ซึ่งกลับกันเลย แม้แต่พ่อของผม เขาก็ยังมีเครื่องอาบแดดเพื่อให้ผิวเป็นสีแทน ให้ดูเป็นแบบคนมีสตางค์ แต่คนไทย กลับอยากมีผิวขาว และทำผมสีทองด้วย..

        วิธีคิดไม่ธรรมดาของมาร์ติน วีลเลอร์

       "ผมมีลูก ๓ คน ชาย ๒ หญิง ๑ (ภรรยาชื่อ นางรจนา วีลเลอร์ บุตรคนโต ชื่อ ด.ช.อิริค วีลเลอร์ Eric Wheeler บุตรคนที่สองชื่อ ด.ญ.แอนนี่ วีลเลอร์ Anne Wheeler ห่างจากคนพี่ ๒ ปี ส่วนบุตรคนเล็กชื่อ ด.ช.ดิเรก วีลเลอร์ Derek Wheeler อายุห่างจากพี่สาว ๕ ปี)

       สิ่งสำคัญที่สุด ๒ เรื่องในชีวิตของเรา คือ ๑. ต้องมีบ้าน เป็นของตัวเองให้ได้ จึงจะถือว่า ชีวิตประสบความสำเร็จ ๒. ต้องมีงานทำทุกวัน ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นงานอะไร แต่ขอให้ มีงานทำทุกวัน ชีวิตจึงจะไม่สูญเปล่า

      วิธีเดียวที่รับประกันได้ว่า ลูกจะมีงานทำ คือการมีที่ทำกินให้เขา และเราต้องช่วยให้เขาทำเป็น ผมคิดว่าคนชนบทจริงๆ ใครมีที่ดินทำกินแล้วจะไม่ตกงาน เว้นแต่คนขี้เกียจ ซึ่งบางคนมีที่ดินเยอะ แต่ไม่ยอมทำ ถ้าเราสั่งสอน ให้ลูกรู้จักทำมาหากิน เขาก็ไม่ตกงาน

      ผมถือว่างานที่อิสระ และมีประโยชน์ มากที่สุด คืองานเกษตรซึ่งช่วยให้เรากินอิ่มทุกวัน คนอังกฤษกินไม่อิ่มเยอะมากนะ ผมไม่อยาก ให้ลูกของผมอดอาหาร อยากให้ลูกกินอิ่มในลักษณะที่ส่งเสริมสุขภาพด้วย กินอาหาร ที่ไม่มีสารพิษ กินอาหารแบบเรียบง่ายก็ได้ แต่อิ่มทุกวัน

      เมื่อมีบ้าน มีงาน มีอาหาร ลูกของผม ก็จะรวยที่สุด ผมอยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เพราะว่าสะอาด จ้างเท่าไหร่ก็ไม่อยากให้ไปอยู่ในเมืองหรอกเพราะสกปรก แออัด สำคัญที่สุดคือเรื่องของสังคม ผมไม่อยากให้ลูกไปอยู่ในเมือง เพราะว่าคนในเมืองเห็นแก่ตัว วิ่งไปหาเงินอย่างเดียว แข่งขันกันเยอะ เดี๋ยวก็ฆ่ากัน ด่ากันทุกวัน ไม่สงบ อยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เขาจะได้สิ่งที่หายากที่สุดในโลก

      คนอีสานบ้านนอกเป็นคนดีมากนะ มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือคนอื่น เอื้ออาทรกัน เกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน ไม่แข่งขันกัน ความเป็นชุมชนเป็นสิ่งที่หายากนะ ถ้าเราไปอยู่ในเมือง จะอยู่แบบของใครของมัน บ้านคนละหลัง ครอบครัวคนละหลัง ไม่รู้จักกัน ถ้าเราอยู่ในชุมชนเล็กๆ เราก็ช่วยเหลือกันได้ คุยกันได้ แบ่งปันกันได้

     ในที่สุดเราก็จะเป็นคนมีน้ำใจได้ลูกของผมเขาเป็นคนมีน้ำใจ เขาอาจจะไม่มีเงิน ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่เขาจะมี สิ่งที่ดีกว่านั้นเยอะ คือเขาจะมีที่อยู่อาศัย มีชุมชนที่ดี ไม่มียาเสพติด ไม่มีการพนัน ไม่มีอาชญากรรม มันน่าอยู่ ขอให้เราอยู่ในชุมชนที่เป็นแบบนั้น มันก็ดีนะ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเป็นห่วง ลูกก็จะเป็นคนดี ไม่ติดยา ไม่ขี้ขโมย ไม่เล่นไพ่ มีน้ำใจและรู้จักช่วยเหลือคนอื่น

     ลูกผมเรียนหนังสือไม่เก่ง ในปีหนึ่งเขาได้คะแนนเป็นอันดับที่ ๑๙ ในห้องของเขามีนักเรียน ๓๙ คน มันเดินสายกลางพอดีเลย (หัวเราะ) แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องอันดับคะแนนหรอก ครูเขาเขียนถึงอุปนิสัยของลูกว่า เป็นคนที่มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่น

     ซึ่งผมไม่ได้สอนแบบนั้น ฝรั่งส่วนมากจะเห็นแก่ตัว ผมเคยอยู่ ในสังคม อย่างนั้นมาก่อน มันเปลี่ยนยากครับ ผมจึงไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ แต่มันเป็นที่ชุมชน เป็นวิถีชีวิต ของคนอีสาน ที่เริ่มซึมเข้าไปในกระดูกของเขา ทำให้ลูกอายุแค่ ๘ ขวบ เป็นคนมีน้ำใจ ผมถือว่าสุดยอดแล้ว ผมภูมิใจในตัวของลูกมากๆ เรื่องเรียนไม่สำคัญหรอก สำคัญที่สุดนั้น เป็นความมีน้ำใจ ถ้าเขาสามารถรักษาสิ่งนี้ไว้ตลอดชีวิต ผมคิดว่า เขาคงมีความสุขแน่" 

     ศึกษาชีวิตจริงของลูกอีสานบ้านเฮา

     "ผมเคยบังคับลูกชายคนแรก ตอนอายุประมาณ ๓ ขวบ จับมานั่ง สอนภาษาอังกฤษ เขาก็ร้องไห้ ๆ ไม่เอาๆๆ ผมก็คิดว่า เอ๊ะ..เราน่าจะเลิกทรมานเด็ก ปล่อยให้เขามีความสุข ตั้งแต่วันนั้น ผมบอก จะไม่สอนเขาอีก แต่ถ้าอยากเรียนมาบอกผม จะสอนให้

      ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ เขายังไม่บอกผมเลย ผมก็มาคิดว่า จะให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษเพื่ออะไร ในหมู่บ้าน ของผมมี ๕๐ ครอบครัว ทุกคนพูดอีสานอย่างเดียว แม้แต่ผมก็ยังพูด แล้วจะให้เขาเรียนภาษาอังกฤษ เพื่ออะไร

      สมมุติว่าลูกของผมอยากอยู่ในหมู่บ้านนี้ตลอดชีวิต ภาษาอังกฤษก็จะเป็นความรู้ที่ไม่เป็น ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ผมเคยเรียกว่า มันเป็นวิชาขี้ข้า เอาไว้รับจ้างเฉยๆ เอาไปหาเงิน คนที่มีความรู้ ภาษาอังกฤษ จะเอาอันนี้แลกกับเงินอย่างเดียว เขาไม่ได้เรียนเพื่อชีวิตของเขา เขาอยากเอาเงิน ไปทำงานสูงๆ หน่อย

     ปัญหาของคนอีสานมีมากในเรื่องของการศึกษา คนอีสานส่วนมากไม่อยากให้ลูกเป็นคนอีสาน ไม่อยากให้ลูกเป็นคนบ้านนอก ไม่อยากให้ลูกพูดภาษาอีสาน อยากให้พูดไทย ชาวบ้านส่วนมาก คิดอยากให้ลูกได้ดีในชีวิต คิดว่าสิ่งที่ดีในชีวิตของลูกคือ
     ๑.ไม่ได้พูดอีสาน พูดแต่ภาษาไทย
    
๒. พูดภาษาอังกฤษด้วย
     ๓. เล่นคอมพิวเตอร์ได้
     ๔. ไปอยู่ในเมือง
     ๕. ไปรับจ้างเขา
     ๖. ไปสร้าง หนี้สิน ไปซื้อบ้านหลังเล็กๆ ราคา ๒ ล้าน ๓ ล้านบาท

      เขาคิดว่า อย่างนี้ลูกของเขาได้ดี ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมก็อยากให้ลูกของผมได้ดีเหมือนกัน แต่ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ปัจจัยที่จะช่วยให้เขาได้ชีวิตที่ดี อาจจะเอาไปแลกเงินในบางช่วงได้ แต่ผมหวังว่า ลูกของผม จะมีความคิด สูงกว่านั้น

      ชีวิตน่าจะมีไว้เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่เงิน ถ้าเขาเรียนรู้ เพื่ออยากจะหาเงินอย่างเดียว ก็น่าเสียใจนะ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เราต้องทำทุกวันตลอดชีวิต เราหยุดเรียนรู้ไม่ได้ แต่เราไม่น่าจะเรียน เพื่อเอาความรู้ เอาปริญญา ไปแลกกับเงิน ทำให้ความรู้ไม่มีคุณค่า"

จุดอ่อนจุดแข็งของคนไทย

      "ผมคิดว่าคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจระบบทุนนิยม เห็นฝรั่งที่ไหน ก็คิดว่ารวยหมด คิดว่าการพัฒนา ในระบบทุนนิยมจะทำให้ทุกคนมีเงิน ไม่เข้าใจว่าประเทศที่พัฒนาระบบทุนนิยม นานแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐ มีปัญหาเยอะมาก

      แต่คนไทยก็คิดว่า เมืองนอกดีกว่า อันนี้จุดอ่อนครับ คือคนไทยสนใจเมืองนอก ไม่ได้สนใจ ประเทศไทย ผมเป็นฝรั่ง คุณเลยนั่งฟังผม ถ้าผมเป็นชาวบ้าน คุณจะไม่สนใจผม อันนี้เป็นจุดอ่อนนะ จุดอ่อนก็คือ ไม่ภูมิใจในความเป็นคนไทย

     แต่จุดแข็งคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แผ่นดินประเทศไทย อุดมสมบูรณ์มากๆ ที่ดินเยอะมาก น้ำเยอะมาก แสงแดดเยอะมาก ทำเกษตรอยู่รอดแน่ เป็นพลังแผ่นดิน ใครๆ ก็อยากได้ประเทศไทย ผมก็ได้ถึง ๖ ไร่

     คนไทยโชคดีมากๆ ที่ได้ในหลวง เป็นผู้นำ พระองค์ท่านเป็นคนที่ทำงานหนักมาก เพื่อช่วยให้คนคิดได้ ช่วยให้คนอยู่ได้ จะหากษัตริย์ ในประเทศอื่น ไม่ค่อยมีแบบนี้ ปัญหาคือคนไทยส่วนมากนับถือในหลวง แต่ไม่ยอมปฏิบัติ ตามคำสอนของในหลวง

      พระองค์ท่าน บอกมา ๒๗ ปีถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทย ก็ไม่รู้จักพอเพียง เอาอย่างเดียว ถึงยกมือไหว้ในหลวง แต่เวลาดำรงชีวิต ไม่ได้ทำตามในหลวง ก็ในหลวงบอกไว้แล้วว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเสือ ขอให้มีอยู่มีกินไว้ก่อน

     ถ้าทุกคนเริ่มคิดจริงๆ ถึงสิ่งที่ในหลวงพูด เราน่าจะช่วยให้ประเทศไทยอยู่ได้ เพราะความคิด ของในหลวง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ต้องอาศัย พลังแผ่นดิน ทำได้เฉพาะประเทศไทยนะ เศรษฐกิจพอเพียง ที่อื่นทำไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ เหมือนประเทศไทย พวกคุณโชคดีที่ได้แผ่นดินดีๆ ได้ผู้นำที่ดีด้วย

      เรื่องต่อมา คือเรื่องศาสนา ผมคิดว่าศาสนาพุทธ มีความสำคัญมากๆ สำหรับคนไทย ไม่ใช่แค่นับถือไหว้พระ แค่นั้นไม่พอ แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ด้วยนะ มักน้อย สันโดษ พอเพียง ธรรมะคือธรรมชาติ เป็นเรื่องง่ายๆ พึ่งตนเองก็ได้

      ปรัชญาของ ศาสนาพุทธ ทำได้นะ แต่คนไทยจำนวนน้อยที่เข้าใจ จริงๆ แล้วศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ ออกแบบให้เหมาะสม สำหรับคนบ้านนอก ให้ใช้ชีวิตร่วมกับ ธรรมชาติโดย ไม่ทำลาย ไม่เอาเปรียบ แต่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

อยากบอกอะไรคนไทย

     คุณโชคดีมากๆ ที่เกิดในประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปรบกับใคร ไม่ต้องไปเอาน้ำมันจากใคร ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ประเทศไทยอยู่ได้ กินอิ่ม มีเหลือแจกด้วย อย่าไปคิด เรื่องเงินอะไรมาก อย่าลดคุณค่าความเป็นไทยของตัวเองลง

      คนไทยส่วนมาก นิสัยดีจริงๆ คนไทยมีน้ำใจ หายากนะ คนไทยมีพระเจ้าอยู่หัว มีแผ่นดินท

หมายเลขบันทึก: 187452เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2008 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

หมายเหตุ (ใส่บันทึกไม่ได้ เพราะเนื้อที่บันทึกเต็ม)

  1. อ้างอิง ปราชญ์ชาวบ้าน "มาร์ติน วีลเลอร์" สะท้อนแก่นปัญหาไทย
  2. เรื่องราวของมาร์ติน ใน Gotoknow อ่านได้ที่ <Click>

เรื่องนี้โดนใจมากเลยค่ะอาจารย์

ที่คณะทันตะเคยใช้ CD เรื่องนี้สอน นทพ. ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

แต่ตอนนี้แผ่น CD หายไป ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะมีต้นฉบับให้ขอยืมบ้างไหมคะ

เรียน อ.Ninko

  • VCD เรื่องนี้ได้มาจาก มูลนิธิข้าวขวัญ
  • ต้นฉบับชัดพอใช้ได้ ความยาวประมาณชั่วโมงกว่าๆ ตอนท้ายๆ จะติดขัดหน่อย
  • ยินดีให้ยืมได้ครับ

ไปรับได้ที่ไหนดีคะอาจารย์

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับ

ที่นำเรื่องดีๆ มานำเสนอ

ผมเคยดูทางโทรทัศน์ ไม่ละเอียดเท่าที่อ่านเลย

เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากครับ

อยากจะให้มีคนต่างชาติ หัวใจไทยแบบนี้เยอะๆ

วันหนึ่งจะได้มี "แขกอินเดียหัวใจไทย " บ้าง

เรียน อ.ninko

  • มารับได้ที่สำนักงานภาคชีววิทยาครับ ฝากไว้ที่คุณเพ็ญ

สวัสดีค่ะอ.บีแมน

  • มาอ่านด้วยความอบคุณเรื่องดี ๆ ค่ะ
  • และส่งข่าวเรื่องการคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 6 ซึ่งเลื่อนกำหนดให้ส่งข้อมูลเข้ามาได้อีกจนสิ้นเดือนมิย.51 ค่ะ

 

สวัสดีครับ ได้อ่านเรื่องราวแล้วผมรู้สึกมีความสุข อยากให้คนไทยอีสานมีควมคิดแบบคุณมาร์ตินบ้าง ถึงตอนนี้ผมก็พยายามที่สอนลูกๆและหลานให้ปฏิบัติตัวเหมือนสมัยที่ผมยังเด็กๆอยู่ แต่ก็ทำไม่ได้นะครับ เพราะสังคมรอบข้างเค้าปฏิบัติตัวไปไกลเกินกว่าที่เราจะพยายามสอนลูกๆเราแล้วละครับ ทุกวันนี้ข้างบ้านเค้ามีเกมส์ มีคอมพิวเตอร์ พอหลานไปเห็นและอยากเล่นบ้างก็มารบเร้าเราให้หาสิ่งที่เขาต้องการให้เหมือนเพื่อนให้ได้ ซึ่งต้องพยายามทำความเข้าใจอยู่นานกว่าจะดีขึ้น ต่ไม่รู้ว่าเมื่ไหร่ที่เขาจะคิดได้แล้วมาขอเราอีก ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไปเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆครับ

ถ้าใครมีคำแนะนำดีๆก็บอกผมหน่อยนะครับ

ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณ

  • Pคุณพลเดช วรฉัตรครับ...คนแบบมาร์ติน เกิดต่างชาติหัวใจไทย คงยังมีอีกมากครับ..บางทีก็มาบวชเป็นพระ..พอดีเรื่องของมาร์ติน นำมาใช้สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ดี..ครับ
  • P คุณคนไม่มีราก สำหรับข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 6 ครับ..ผมไม่ได้ส่งเข้าประกวดครับ
  • P คุณนักเรียน..เรื่องที่นำมา Share กัน มันดีมากเลย..ผมก็มีปัญหา ลูกๆ เล่นเกมส์เหมือนกัน ก็พูดผัดผ่อนไปเรื่อยๆ มา 2-3 ปี แล้ว ไม่ซื้อเครื่องเล่นเกมส์ให้...แต่อนุญาติให้ไปเล่นเกมส์ได้ที่ร้าน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ครั้ง..และที่บ้านมีเครื่องคอมฯ notebook ไว้ให้ค้นหาข้อมูล..ผมได้แต่สอนให้ลูกๆ ใช้จ่ายอย่างประหยัดเข้าไว้ เผื่อวันหน้าจะไม่ลำบากมาก..

ขอบคุณอาจารย์ Beeman มากค่ะ ที่นำเรื่องดีดี เรื่องช่วยสร้างพลังใจมาเผยแพร่

เรียน อ. beeman

ninko เอาแผ่นซีดีไปคืนไว้ที่ภาควิชาแล้วนะคะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

  • นึกไม่ถึงว่าท่านอาจารย์มาลินีจะมาเยี่ยมบันทึกนี้ ขอบคุณครับ
  • ขอบคุณ อ.ninko ที่มาแจ้งข่าว..ผมได้แผ่นคืนแล้วครับ

ผู้มีอุปการะคุณหนูอยากได้ cd สัมภาษ มาร์ติน วีลเลอร์มากกกกกกกกกกกกคะ

  • ส่งชื่อและที่อยู่สำหรับส่งไปรษณีย์มาหน่อย..จะได้ส่งไปให้..

เรื่องนี้ดีมากๆนะครับผมเห็นด้วยกับความคิดของชาวฝรังคนนี้แลน่าจะเผยแผ่ไห้มากๆๆกว่านี้นะครับจะได้ไห้คนรู้จักการอยู๋อย่างอเพียงดีมากๆ

สังสมไทยก็เป็นเสียอย่างนี้ ต้องรอให้ฝรั่งมาสอนก่อน จึงจะเกิดความนึกสำนึกว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร อะไรคือเป้าหมายของชีวิต อย่างนี้เป็น....

จากการเจอตัวจริง(ร.ร. ตักสิลา มหาสารคาม)

เพิ่งมาเจออาจารย์ในโลกไซเบอร์ ลิ๊งค์ตามเรื่อง มาร์ติน วีลเลอร์ จึงเจอ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวครับอาจารย์

ขณะนี้กำลังเลียนแบบชีวิตของฝรั่งคนนี้อยู่ครับ

  • ยินดีครับ
  • ขอให้ประสบความสำเร็จดังตั้งใจครับ

สวัสดีค่ะ เคยได้ฟังสัมภาษณ์จากรายการหนึ่งค่ะ แต่เล็กน้อยเท่านั้น เมื่อได้อ่านข้อความนี้อีกครั้ง

เหมือนปลุกพลังชีวิตค่ะ ความสุขอยู่ใกล้นิดเดียวจริง ๆ ค่ะ

เรียนคุณ aoyjung

  • ผมกลับมาอ่านอีกครั้งก็มีพลังเพิ่มขึ้นครับ
  • ผมไปเรียนวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ "บ้านหนองกุลา" ที่จ.พิษณุโลกนี่เอง เป็นสถานที่ของครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 6 ชื่อ ครูทองปาน เผ่าโสภา ครับ

ขอบคุณมากค่ะ ที่แบ่งปัน อ่านแล้วคิดได้เยอะเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท