โตโยต้า...พาคิด


"ลักษณะการทำงานซ้ำๆ" นั้น เป็นสาเหตุของ ความเบื่อ ใช่หรือไม่?
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มีนาคม)  ได้มีโอกาสไปดูงาน The Toyota Way  ร่วมกับคณาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  (UKM)

 

ช่วงแรกคุณสุทิน  เห็นประเสริฐ   มาบรรยายในห้องประชุมให้เราฟังถึงวิถีโตโยต้า   จากนั้นก็นั่งรถตู้ไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์     เสร็จแล้วกลับมาดู วิดิทัศน์แนะนำโตโยต้าอีกครั้งหนึ่งก่อนเดินทางไปยังร้านอาหาร 13 เหรียญ  บางนา  เพื่อทำ AAR (After Action Review) และทานข้าวเย็นพร้อมกัน

 

ทั้งหมดทั้งปวง   ทุกช่วง  ทุกตอน   คล้ายๆว่ามีสิ่งเร้าบางอย่างที่มาชักชวนให้เราคิดได้เป็นระยะๆ   ช่วงแรกที่เป็นการบรรยาย   ฟังไปก็คิดไป  

 

จุดแรกที่กระแทกความจำ    ก็คือ  คำว่า  "Continuous Improvement"     หากใครเข้าฟัง  ดร.ปรอง  กองทรัพย์โต  นำเสนอ KM  ของ Spansion   ก็คงจำได้   ที่เปรียบเทียบสมองขององค์กร  เป็นเหมือน   "การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและการสร้างนวัตกรรมใหม่"    และ KM เป็นแค่วิตามิน  เท่านั้นเอง    ทั้งสองบริษัทจึงมีรูปแบบสมองที่ใกล้เคียงกัน        ผมจึงตีความว่า  การที่องค์กรจะมีพัฒนาการ หรือ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้นั้น   ต้องมีแบบแผนวิธีคิดที่เป็นเชิงบวกมากๆ   มองปัญหาเป็นความท้าทาย (มองด้วยความรู้สึกจริงๆ แล้วเกิดความรู้สึกท้าทายจริงๆ)      บีบคั้นเอาความคิดสร้างสรรค์   ความสามารถของคนในองค์กรออกมาให้ได้มากที่สุด      ด้วยเหตุนี้กระมัง  ที่จำเป็นต้องคิดออกแบบกิจกรรม  กุศโลบายจำนวนมาก  ทำให้คนรู้สึกเป็นอิสระที่จะคิด  มั่นใจตัวเองมากขึ้น        เสาที่ 2 ของ Toyota  จึงเข้ามาค้ำชูในเรื่องหัวจิตหัวใจคนมากขึ้น  นั่นก็คือ   Respect for People          ทั้ง 2 เสาหลักของ Toyota  จึงเป็นเสาที่ค่อนข้างแข็งแรงในมุมของการทำงาน  และขณะเดียวกันมีส่วนผสมของความนุ่มนวลงดงามในเรื่องทางจิตใจของคนทำงาน    ยังมีอีกหลายจุด  โดยเฉพาะจุดเล็ก  จุดน้อย  อาทิ  Kaizen , Genchi Genbutsu  ฯลฯ  ที่ยิ่งตอกย้ำ  เชื่อมโยงกันเพื่อให้ได้ผลออกมาเป็นวิถีโตโยต้าในที่สุด

 

ช่วงถัดมา   ดูขั้นตอนการประกอบรถยนต์  ที่ช่างรวดเร็วจริงๆ    ความรู้สึกหนึ่งที่หลายคนเห็นแล้วมักคิดตาม  คือ   การทำงานแบบหุ่นยนต์    ประมาณว่า  ทำงานเดิมซ้ำๆในช่วงเวลาหนึ่ง  และต้องทำแบบเร็วๆ      ภาพการทำงานแบบนี้  ผมมองเป็นภาพปกติ   ภาพลักษณ์ของงานประเภทโรงงาน  ที่ต้องมีสายการผลิต  ต้องทำงานแข่งกับเวลา  และต้องรักษาคุณภาพสินค้าควบคู่ไปด้วย    ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อครั้งทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์    เป็นงานการผลิตเหมือนกัน  แต่ต่างกันที่ตัวสินค้าเป็นสิ่งมีชีวิต  คือ  กุ้งกุลาดำ          ผมถูกฝึกให้ทำงานแบบมีสายการผลิตเหมือนกัน  เอาตั้งแต่เตรียมบ่อ   วางอุปกรณ์ระบบระบายน้ำ  เตรียมน้ำให้พร้อมที่จะปล่อยลูกกุ้ง (ต้องทำให้น้ำในบ่อมีสีเขียวของแพลงค์ตอนพืชในระดับที่ต้องการ)   ปล่อยลูกกุ้ง   ให้อาหาร ให้ยา  สังเกตการเจริญเติบโต   สุ่มตรวจคุณภาพน้ำ, การกินอาหารของกุ้ง, การโตของกุ้ง เป็นต้น    และขั้นตอนอื่นๆอีกเยอะจนครบรอบประมาณ 4 เดือน    พักบ่อประมาณ 2 อาทิตย์  แล้วก็ทำรอบใหม่ต่อไป   ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ    ผมทำอย่างนั้นจนครบ 1 ปี  เริ่มเกิดความรู้สึกเบื่อกับความซ้ำมาซ้ำไปเลยเกิดจุดหักเห   เบนเข็มตัวเองไปเส้นทางอื่นอีกครั้งหนึ่ง           อีกภาพหนึ่งที่ต่างออกไปนิดหน่อยคือ  เพื่อนของผมทำงานในองค์กรหนึ่ง   ที่นั่งทำงานในสำนักงาน   วันหนึ่งเขาก็มาบ่นให้ฟังประมาณ  เหมือนทำงานในโรงงานเลย   รู้สึกซ้ำวน  -ไปมาจนกลายเป็นความเบื่อ  คล้ายๆครั้งหนึ่งในชีวิตผม   

 

จุดนี้   ชวนให้ผมเกิดคำถามว่า    "ลักษณะการทำงานซ้ำๆ"  นั้น  เป็นสาเหตุของ ความเบื่อ  ใช่หรือไม่?      ถึงตอนนี้   ผมตอบตัวเองได้เพียงว่า   ถ้าซ้ำแล้วยังอยู่กับที่  อันนี้  เบื่อแน่นอน   แต่  ถ้าซ้ำแล้วโต (หมายรวมถึงได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆด้วย)   อันนี้ ช่วยให้หายเบื่อได้    

 

ผมตั้งคำถามเอาเองว่า    ขณะที่พนักงานโตโยต้าคนหนึ่ง  กำลังทำหน้าที่  ติดตั้งชิ้นส่วนอย่างหนึ่งลงบนตัวถังรถ   ในใจของเขากำลังคิดอะไรอยู่หรือเปล่า?   หรือว่าว่างเปล่า  สมองสั่งการเพียงให้มือหมุนไปตามเข็มนาฬิกา   หรือสมองคิดอย่างอื่นมากกว่านั้น?  

 

Toyota  เขาทำอย่างไร?   ที่ทำให้เกิดความรู้สึกท้าทายต่อพนักงานขันน๊อตคนนั้น   ให้เขาคิดหาวิธีขันน๊อตที่ดีที่สุด   ในระหว่างที่เขาทำงาน    แล้วเอามาคุยเสวนากันในวงพนักงานด้วยกัน  และทำอย่างไร?    ให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับการยอมรับ    ยกย่อง   ให้เกียรติเขาเป็นอย่างดี   แม้จะเป็นเรื่องแค่การขันน๊อตเท่านั้น

 

ในช่วง AAR   บางแง่มุมที่ได้จากท่านอื่น   เป็นจุดที่ผมไม่ได้คิดถึงเลย  เช่น    เนื้อหาการนำเสนอ  กับ  การลงไปดูสายการผลิตในโรงงาน  ที่ไม่เชื่อมโยงกันเท่าไร

 

ชวนคิดได้อีกเหมือนกัน...

 

ผมนึกไปถึงสมัยเด็ก   ที่มีฤดูกาล "ของเล่น"  วนเวียนไปตามฤดูกาล  อาทิ  ขว้างราวเม็ดมะม่วงฯ, ลูกข่าง, ลูกแก้ว, ว่าว  ฯลฯ    ในช่วงฤดูกาลเล่นว่าว   ผมและเพื่อนต้องไปหาบ้านเพื่อนคนใด  คนหนึ่งที่เขามีผู้ใหญ่ทำว่าวเก่ง    ผู้ใหญ่เขาจะเหลาไม้และมัดโครงว่าวให้เด็กๆ   แต่หน้าที่ของเด็กที่จะเป็นเจ้าของว่าวนั้น   คือ   ต้องไปหากระดาษมาแปะเอง   ใครอยากทำลวดลายอะไร  ก็ตามใจชอบ   โครงว่าวของผมและเพื่อนผมมาจากคนทำคนเดียวกัน   แต่แน่นอน  สีสัน  ลวดลายที่จะถูกส่งขึ้นไปสวยงามเต็มฟ้านั้น  ต่างกันแน่นอน       เพราะว่าบางอย่างเราชอบไม่เหมือนกัน  และบางอย่างเราอยากจะตกแต่งตามที่ใจเราคิดเอง

 

ชวนให้ผมคิดย้อนมาโยงกับการดูงานโตโยต้าว่า     ครั้งนี้  ผมได้แค่  "โครงว่าวตัวหนึ่ง"  จากผู้ใหญ่คนหนึ่ง      และคงต้องไปหากระดาษสี   ตัดแต่งลวดลายเอาเองแล้วหล่ะ  เหมือนที่เคยทำเมื่อสมัยสามสิบปีที่แล้ว

คำสำคัญ (Tags): #company#aar
หมายเลขบันทึก: 18745เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2006 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

capture ความรู้ได้ยอดเยี่ยมเลยครับ อ่านแล้วให้ความรู้ดีมากครับ

เขียนต่อยอดความรู้ไม่ค่อยเป็น ขอเห็นด้วยคนกับ อ.หนึ่ง แล้วกันนะคะ
     "ให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับการยอมรับ ยกย่อง ให้เกียรติเขาเป็นอย่างดี แม้จะเป็นเรื่องแค่การขันน๊อตเท่านั้น" คงเป็นเพราะน๊อตตัวนั้น อาจจะสำคัญกับความปลอดภัยและชีวิตของคนขับและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ (ไม่ใช่เล็ก ๆ เลยครับ)

ได้ไปดูงานที่ TOYOTA เหมือนกันค่ะ

      การทำให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับการยกย่องนับถือนั้น และเกิดความภาคภูมิในตัวเองนั้น จริงๆไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากมากกว่า คือ ทำอย่างไรให้เขามีพฤติกรรมที่ดพึงประสงค์เช่นนั้นอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของผู้บริหารองค์กร

    

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท