บันทึกปฐมฤกษ์


การทำงานที่จะถูกใจกับสมาชิกทุกคนมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การทำงานให้ถูกใจกับการทำงานให้ถูกต้องนั้นทั้งสองเรื่องนี้มักเป็นสิ่งที่แปรผกผันกันอยู่เรื่อย

      การปฏิบัติงานในการเริ่มจัดตั้งกองทุนตามลักษณะของการให้สิทธิประโยชน์  คือ  การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  วันที่เริ่มก่อตั้งกองทุนสวัสดิการนี้กว่าจะเริ่มจัดตั้งก็ต้องจัดตั้งคณะแกนนำที่จะเป็นผู้ศึกษาข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชน  เราก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในทีมศึกษานี้  วันแรกที่ทีมแกนนำชุมชนบ้านดอนไชยได้ไปศึกษาและดูงานกลุ่มที่มีอยู่แล้วว่าการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นกองทุนที่ชาวบ้านได้เสียสละแค่คนละ 1 บาทต่อวัน  และเก็บรวบรวมให้เป็นเงินกองทุนสวัสดิการชมชนในพื้นที่ของชุมชนและดูแลคนในชุมชน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน  ทำให้ชุมชนได้พึ่งตนเอง  และเผื่อแผ่ให้ผู้ที่ด้อยโอกาสในชุมชน  ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ  ทำให้คนในชุมชนรู้จักการออมที่ใช้เงินเพียงแค่ 1 บาทเป็นกำหนด  โดยการลดรายจ่ายของตนเอง  และพัฒนาให้เกิดความร่วมมือกับคนในชุมชน  กลุ่มองค์กรต่างๆ  รวมตัวกันทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง  พึ่งตนเองได้ 
      ตามที่ได้ไปศึกษาหลักการมาแล้วเลยทำให้เกิดโจทย์ที่เป็นหัวข้อใหญ่ๆ หลายข้อที่เกิดขึ้นตามความคิดของเราที่ได้นึกคิดเอาไว้ว่ามันจะทำได้อย่างที่เราคาดฝันไว้หรือไม่  ถ้ามันสำเร็จตามความคิดที่เราวางเป้าหมายไว้มันก็เป็นความโชคดีของชุมชน  แต่ถ้าเกิดมันไม่เป็นไปตามที่เราคิดเสียสวยหรูแล้วพวกเราจะทำอย่างไร?  เพียงแค่คิดก็เป็นงานหนักแล้ว  เมื่อเราได้ถูกคัดเลือกให้มาเป็นตัวแทนของชุมชนในการทำงานครั้งนี้  หมายความว่า  จากที่เรามีภาระในหน้าที่ของตัวเอง  เราจะต้องแบ่งเวลาที่เหลือให้กับชุมชน  ก็เป็นโจทย์ให้เราคิดอีกแล้วว่าเราจะหาคนที่มีอุดมการณ์เหมือนเรานี้ได้สักกี่คนเราถึงจะทำงานนี้ได้สำเร็จตามที่ฝัน  แต่กลุ่มของเราก็โชคดีที่ยังมีผู้ที่เสียสละเวลาอันมีค่าของตัวเองเพื่อมาให้ชุมชนอยู่ก็คือ  ประธานของกลุ่มเราเอง  ที่เป็นข้าราชการแต่มีใจเสียสละให้กับชุมชนมาก  ความฝันของเราก็เป็นจริง 1 เรื่องแล้ว 
      จากนั้นกลุ่มของเราก็เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง  โดยมีกลุ่มทอผ้าและผู้สูงอายุในชุมชนเป็นผู้ที่พาพวกเราไปศึกษาดูงานตามที่ต่างๆ  เมื่อกลับจากศึกษาดูงานมาแล้วเลยทำให้เราเกิดการเริ่มคิดและเริ่มศึกษางานมากขึ้น  วางแผนจะเริ่มขบวนการออมให้กับชุมชนในการปฏิบัติ  โดยขั้นแรกได้ศึกษาชุดสมัคร  กฎระเบียบของกองทุน  โครงสร้างการทำงานของคนทำงาน  ควรจะใช้คนทำงานแบบไหนที่จะทำให้กองทุนมีความเป็นไปได้สูง  แค่ยังไม่รับสมัครก็หนักเอาการแล้ว  เรากลับไปถามประธานกลุ่มอีกว่าประธานงานกองทุนนี้เป็นงานที่หนักมากและต้องพัฒนาตลอดนะมันถึงจะไปได้ตามที่เราคิด  เมื่อประธานให้คำตอบกับเราแล้วว่างานนี้เราต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเป็นกองทุนที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์  ชุมชนจะเข้มแข็งเราต้องฝึกให้ชาวบ้านรวมตัวกันให้ได้  จากที่มีคณะแกนนำที่ทำงานด้านเอกสารไม่ไหว  เราจึงได้ขอเรียกประชุมอีกทีจะได้คนที่มีความรู้ด้านต่างๆให้มากขึ้น  และเลือกคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขบวนการ  คิดเป็น  ทำเป็น  เสียสละ  และสามารถช่วยให้ชุมชนเกิดความสามัคคีกันมากขึ้น  ก็เป็นความโชคดีของกลุ่มที่มีคนร่วมคณะกับเราในการจัดตั้งกองทุนนี้  เราจึงกำหนดสถานที่ที่เราจะเริ่มทำงานให้กับกองทุนสวัสดิการนี้  คือ  วันที่ 15 สิงหาคม  2545  ให้มารวมตัวสมัครกันได้ที่วัดดอนไชย  บ้านดอนไชย  ตำบลล้อมแรด  อำเภอเถิน  จังหวัดลำปาง   
      เมื่อเราได้กำหนดวัน  เวลา  และสถานที่ได้แล้วก็เริ่มทำงานกันครั้งแรกเราก็เจอปัญหาแล้ว  คือ  การเก็บเงินออมไม่ได้ตามชุดสมัคร  เป็นการทำงานครั้งแรกทำให้เราอึดอัดในการทำงาน  ไม่กล้าที่จะออกความคิดเห็น  ไม่กล้าที่จะแก้ไขปัญหากลัวไม่ถูกใจกับคนทำงาน  เพราะ  เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน  เราจึงเก็ยบเรื่องนี้มาทบทวนใหม่อีกทีว่าเราจะทำให้เกิดปัญหานี้บ่อยๆไม่ได้แล้ว  มันจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี  สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดในช่วงนี้  คือ  การต้องบริหารคนให้เป็น  คือ  จะต้องทำอย่างไรให้คนที่เรามีอยุ่แล้วสามารถทำงานและควบคุมการทำงานที่ตนเองทำอยู่ให้เกิดผลที่ดีมากกว่าผลเสีย  ถึงจะไม่ได้ผลดี 100%  แต่ก็ขอให้ได้ 80%  ขึ้นไป  ฉะนั้น  คนทำงานจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองจะต้องทำอีกมาก  อย่างเช่น  เรื่องของการบริหารเรื่องเงิน  คน  อารมณ์  และเหตุผล  การทำงานที่จะถูกใจกับสมาชิกทุกคนมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  การทำงานให้ถูกใจกับการทำงานให้ถูกต้องนั้นทั้งสองเรื่องนี้มักเป็นสิ่งที่แปรผกผันกันอยู่เรื่อย  เพราะเมื่อไหร่ที่ใช้อารมณ์มาก  เหตุผลก็มักจะมีน้อย  ถ้าต้องการที่จะให้ถูกใจ  แต่อาจขาดความถูกต้องชอบธรรม  ฉะนั้น การทำงานให้กองทุนนี้มันเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของคนในชุมชนมาก  บางครั้งเราอธิบายให้กับคนที่สนใจฟัง  เขาก็ถามกลับกลับมาว่าทำแล้วเราจะได้อะไรบ้างนอกจากการจัดสวัสดิการให้  โชคดีว่ากลุ่มของเรามีคณะคนทำงานที่เป็นคนอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่เกิด  ความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีให้กับชุมชนจึงไม่เป็นเรื่องยาก  แต่ทุกคนก็ต้องยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ  คือ
     1.ความซื่อสัตย์
     2.ความเสียสละ
     3.ความตั้งใจ
     4.ความโปร่งใส
     5.ความรับผิดชอบ
     คุณธรรม 5 ประการที่เรากำหนดมันเป็นตัวบังคับให้คนทำงานต้องยึดปฏิบัติให้ได้
     แค่เราเขียนมาแค่ผู้ปฏิบัติงานกองทุน  เราว่ามันเป็นงานหนักพอแล้ว  สิ่งที่เราจะเขียนต่อไปข้างหน้าก็เป็นงานที่เราปฎิบัติทั้งสิ้น

ยุพิน  เถาเปี้ยปลูก/ผู้เขียนบันทึก
วิไลลักษณ์  อยู่สำราญ/ผู้พิมพ์บันทึก
หมายเหตุ : ความผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบันทึกนี้ผู้พิมพ์บันทึกขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18678เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
หมายถึงพิมพ์ผิดใช่มั้ยครับ ถ้าเป็นเนื้อหาไม่มีผิดมีถูกหรอกครับ อ.อ้อมจะไปรับไว้คนเดียวทำไมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท