การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (4)


      หลังจากที่เล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 2/2549  ในวาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้วนะคะ  (เพิ่มเล่าจบเมื่อวานนี้เองค่ะ) วันนี้เรามาคุยกันในวาระใหม่ก็แล้วกันนะคะ  คือ  วาระที่ 4  เรื่องเสนอเพื่อทราบ  เนื้อหาใจความมุ่งเน้นไปที่ การรายงานกองทุน  มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
      วาระที่ 4   เรื่องเสนอเพื่อทราบ
      สำหรับวาระที่ 4  เรื่องเสนอเพื่อทราบนั้น ประธานเริ่มต้นโดยการกล่าวว่า  ในการรายงานกองทุนนั้นต้องรายงานให้มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  คือ
     1.เรื่องสมาชิก  กลุ่มแต่ละกลุ่มต้องรายงานรายละเอียดต่างๆของสมาชิก เช่น  ในเดือนนี้กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมดกี่คน  เป็นชายกี่คน  เป็นหญิงกี่คน  ขาดสมาชิกภาพกี่คน  เข้าใหม่กี่คน  เป็นต้น
     2.เรื่องฐานะการเงิน  กลุ่มรับเงินมาเท่าไร  เช่น  ได้รับเงินมา 100% แบ่งไปให้กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต 50% เป็นเงินเท่าไร , 30% เข้ากองทุนธุรกิจชุมชนเป็นเงินเท่าไร , อีก 20% เป็นกองทุนสำรอง (กลาง) เป็นเงินเท่าไร  ก็ต้องรายงานออกมาว่าเป็นเงินเท่าไร
     3.การรายงานผลของการจัดสวัสดิการให้สมาชิกในรอบเดือนนี้  ท่านได้จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกกี่คน  เป็นเงินเท่าใด  เรื่องอะไรบ้าง  น่าจะมีการรายงานความก้าวหน้าใน 3 เรื่องนี้  เพราะว่าจะได้บันทึกไว้ในบันทึกรายงานการประชุม  เป็นการรายงานเชิงสถิติ
     อีกประการหนึ่ง 4.เรื่องปัญหา  อุปสรรค  ที่อยากจะให้มีการรายงานว่าการดำเนินงานของสมาชิก  ของคณะกรรมการ  ขององค์กร  มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง  ปัญหาเรื่องเงิน  ปัญหาเรื่องคน  ปัญหาของสมาชิกมีไหม  อยากจะให้รายงาน  ไม่ทราบว่าพอจะรายงานได้ไหมครับ?
     อ.ธวัช  ยกมือขึ้นขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า  แบบรายงานต่างๆที่จะให้กลุ่มรายงานไปยังเครือข่ายฯ  ถ้าจะให้ดีผมอยากให้ออกแบบฟอร์มมาให้เหมือนกันหมดเลย  แจกให้แต่ละกลุ่มๆละ 1 ชุดก็พอ  จากนั้นให้แต่ละกลุ่มไปถ่ายเอกสารแล้วรายงานตามแบบฟอร์มที่แจกให้ทุกเดือน  ทำให้เป็นรูปแบบเดียวกัน  จะทำให้เก็บข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น
     ประธาน  บอกว่า  ผมก็อยากทำแบบนั้น  แต่ไม่มีใครทำแทนผม
     คุณปิยชัย  ได้กล่าวขึ้นมาว่า  ความจริงทุกเดือนก็ทำอยู่แล้ว  รายงานมาที่เครือข่ายฯอยู่แล้ว
     ประธาน  กล่าวว่า  ผมอยากให้ต่อไปนี้ทุกเดือน  ปกติก็ส่งเอกสารมาอยู่แล้วก็ให้ส่งมาเหมือนเดิม  แต่อยากให้มารายงานด้วยปากเปล่าด้วย  ผมอยากให้พวกเราฝึกพูดซะบ้าง  ไม่ใช่มานั่งประชุมแล้วมานั่งเฉย  ให้รายงานเป็น  เผื่อเวลาให้ไปเป็นตัวแทนในระดับจังหวัด  ระดับภาค  น่าจะรายงานได้  เราจะรายงานทางเอกสารก็รายงานไป  เราจะได้ข้อมูลเชิงสถิติว่าเดือนนี้มีสมาชิกเข้าเท่าไร  ออกเท่าไร   สมาชิกแต่ละกลุ่มมีเท่าไร  คือ  แทนที่จะปัดความรับผิดชอบให้กับคนๆเดียวในเรื่องการบริหารจัดการ  ก็ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องการเสนอ  ไม่เป็นไรครับ  ถ้าวันนี้ยังไม่พร้อมที่จะรายงาน  ก็หารือว่าอาจต้องนำไปครั้งต่อไปที่จะรายงานข้อมูล  ทีนี้ อ.ธวัช  ได้เสนอแนวคิดว่าน่าจะมีการร่างแบบฟอร์มของการรายงาน  ในส่วนของฝ่ายบริหารรับไปนะครับ  ฝ่ายเลขาพอจะทำให้ได้ไหมครับ?
      อ.ธวัช  ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า  การที่เสนอให้มีแบบฟอร์มแบบเดียวกันนั้นก็เพื่อให้เกิดความสะดวกในการรายงาน  และเครือข่ายฯก็จะทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย  เพราะ  เป็นฟอร์มเดียวกัน  เครือข่ายฯทำหน้าที่เพียงรวบรวมเท่านั้น  ง่าย  สะดวก  และรวดเร็วด้วยครับ
 ประธาน  กล่าวเสริมว่า  ผมก็อยากให้เป็นอย่างนั้น  แต่ขอเพิ่มเติมว่าในการรายงานควรรายงานในที่ประชุม  ให้ที่ประชุมทราบร่วมกัน  ไม่ใช่ส่งเป็นเอกสารให้กองเลขา  แล้วไม่มีการรายงานให้สมาชิกทราบเลย  เพราะฉะนั้น  ความเคลื่อนไหวหรือการกระตุ้นมันจะไม่เกิด  แต่ถ้าหากต่อไปกลุ่มต่างๆรายงาน  เช่น  นาก่วมใต้บอกว่าเดือนนี้มีสมาชิก 800 คน , เถินบอกว่ามีสมาชิก 2,000 คน เป็นต้น  ก็จะทำให้เกิดการกระตุ้นที่จะต้องไประดมของตนเอง  ที่ผ่านมาข้อมูลมันเงียบ  เงียบฉี่  เงียบ คือ  ไม่รายงาน  ไม่ทำ  มีแต่พูด  ขอให้ทำหน่อย ทำเป็นเอกสาร  สิ่งที่ทุกกลุ่มต้องรับผิดชอบ คือ
     1.เวลาจะมาประชุมทุกกลุ่มต้องทำรายงานว่าจะต้องรายงานอะไรต่อที่ประชุมบ้าง 
     2.เอาเงินมาจ่าย
     ถ้าเดือนนี้ไม่สามารถรายงานได้  ขอให้ยกยอดไปเป็นเดือนหน้านะครับ  เอาเป็นวาระสืบเนื่อง  ตามเรื่องนี้ด้วยนะครับ
     วาระนี้ก็จบเพียงแค่นี้ค่ะ  เดือนต่อไปซึ่งกลุ่มเกาะคาจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมเครือข่ายสัญจร  เราคงต้องมาดูกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้หรือไม่ 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18612เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจัดการความรู้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน กลุ่ม และเครือข่าย ในการจัดการกลุ่มก็มี(ก)เรื่องแบบเอกสารที่ได้จาก1)การเลียนแบบกลุ่มอื่น 2)พัฒนาขึ้นมาเอง หรือ3)เลียนแบบแล้วพัฒนาเพิ่มเติม (ข)วิธีการจัดการ คือใช้เอกสารนั้นทำอะไร และทำอย่างไร? ผมคิดว่า 5 กลุ่มตัวอย่างน่าจะถอดรายละเอียดเหล่านี้ ออกมาเป็นลำดับขั้นตอน รวมทั้งระบบจัดการในระดับเครือข่ายด้วย
เป็นความเห็นในส่วนของระบบจัดการที่คิดออก
นอกจากนี้ก็น่าจะศึกษาเรื่องการบริหารว่าแต่ละกลุ่มมีการบริหารงานอย่างไร
ผมไม่ได้เรียนมาทางการบริหารจัดการ
เข้าใจว่าการบริหารเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อองค์กรหรือกลุ่ม การจัดการเกี่ยวข้องกับงานหรือภารกิจขององค์กร

ผู้บริหารต้องครอบคลุมอาณาบริเวณเรื่องวิสัยทัศน์ พันธกิจ

ส่วนยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการเพื่อบรรลุพันธกิจและ      วิสัยทัศน์น่าจะอยู่ในขอบข่ายของการจัดการ

เมื่อเป็นกลุ่มของชุมชน มิใช่องค์กรธุรกิจ ก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในวิสัยทัศน์และพันธกิจของกลุ่มซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งของผู้บริหาร เพราะสมาชิกเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้บริการ

การบริหารรัฐกิจก็มีเนื้อหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นสมาชิกด้วย

การจัดการความรู้ลำปางน่าจะระดมความคิดจากประสบการณ์ของคนทำงานบริหารและทำงานจัดการว่า 1) บทบาทของ       ผู้บริหารมีอะไรบ้าง ควรมีคุณลักษณะในแต่ละบทบาทที่ต่างๆกันอย่างไร เช่น ประธาน เหรัญญิก เป็นต้น 2)บทบาทของฝ่ายจัดการมีอะไรบ้าง ควรมีคุณลักษณะในแต่ละบทบาทที่ต่างๆกันอย่างไร เช่น คนทำบัญชี เป็นต้น โดยที่คนทำงานส่วนใหญ่ก็ทำทั้งสองบทบาท โดยที่ประสบการณ์ของผมพบว่า ส่วนใหญ่ชุมชนจะมีความสามารถในระดับการจัดการในขอบเขตจำกัด ส่วนใหญ่เป็นหน้างานที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งทำได้มีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบมาก แต่ถ้ากว้างขึ้นในเชิงระบบจัดการที่ต้องลำดับวิธีการและคนทำงานให้เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีคนจำนวนน้อยที่ถนัดหรือทำได้ และหากเป็นงานบริหารก็จะยากยิ่งขึ้น

การจัดการความรู้ ต้องแยกองค์ประกอบรวมของเครือข่าย/กลุ่มว่าใครมีบทบาทในวิสัยทัศน์พันธกิจและยุทธศาสตร์แผนงาน/กิจกรรม(แผนที่ภาคสวรรค์)อย่างไร ถ้าความเห็นผมก็แบ่งเป็น2เรื่องใหญ่ๆคือการบริหารและการจัดการ ซึ่งคน2ประเภทนี้มีลักษณะต่างกัน จัดคนให้ตรงกับลักษณะและความชอบ         ใช้ตารางอิสรภาพแบบประยุกต์เป็นแนวทางในการกำหนดคุณลักษณะและเป้าหมายในการพัฒนา ยกระดับความสามารถของตนเอง จากนั้นจัดการเรียนรู้ระหว่างกันภายในเครือข่าย     ใน5กลุ่มต้นแบบและกลุ่มอื่นๆในเครือข่ายอย่างเป็นขั้นตอน   

ก็จะสามารถพัฒนากลุ่มไปสู่เป้าหมายตามที่ตั้งไว้(แผนที่ภาคสวรรค์)ได้ กระบวนการอาจทำพร้อมกันทั้งในระดับเครือข่ายและระดับสมาชิกด้วยก็ได้ หรืออาจทำเหลื่อมกันโดยตั้งหลักที่กลุ่มก่อน เพราะแกนนำกลุ่มจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความรู้ทั้งในระดับเครือข่ายและสมาชิก เริ่มแรกจึงต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างเข้มข้นกับแกนนำกลุ่มในบทบาทคุณอำนวยและคุณวิจัยแบบเดียวกับอ.อ้อม อ.พิมพ์และคุณสามารถก่อน เมื่อได้ตัวคนที่เข้าใจชัดเจนเป็นนิวเคลียสในกลุ่มๆละ3คนแล้ว(คุณประสาน คุณลิขิต และคนนำกระบวนการประชุม)ก็ให้3คนจัดกระบวนการเรียนรู้กับกรรมการทั้งหมดตามบทบาท1)ผู้บริหาร 2)ฝ่ายจัดการโดยมีทีมวิจัยและคุณอำนวยหลักเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง อาจใช้ฐานกลุ่มละ 3 คนตามบทบาทดังกล่าวรวมเป็น15คนเป็นกลุ่มเรียนรู้เข้มข้นกับทีมวิจัยหลัก3คนเพื่อติดตั้งกระบวนการจัดการความรู้ภายในกลุ่มของตนเองและนำมา   แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การทำเช่นนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวชุดความรู้ในกลุ่มเป้าหมายหลักได้อย่างละเอียด จากนั้นพัฒนาเป็นขุมความรู้และแก่นความรู้ รวมทั้งเป็นแกนในการขยายการจัดการความรู้ไปยังกลุ่มอื่นๆที่เหลือ ขยายลงลึกระดับสมาชิกและรวมคิดค้นรูปแบบการจัดการระดับเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

ผมเขียนแสดงความเห็นไปเรื่อยๆอย่างสนุกสนาน คนทำจริงอาจเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท