การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความด้วยเทคนิค KWL


KWL

การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความด้วยเทคนิค เค ดับเบิ้ลยู แอล (K.W.L.)

ผู้นำเสนอ  นางฐิติกมณฑ์  จันทโกศล ครูชำนาญการพิเศษ (ภาษาไทย)

 ผู้สอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านคลองหวะ(ทวีรัตน์ราษฎร์บำรุง) อำเภอหาดใหญ่ 

ความเป็นมา

            การอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เกิดนิสัยรักการอ่าน ผลการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.) ระบุว่าโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศยอมรับว่า มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โดยเฉพาะภาษาไทย เด็กอ่านและเขียนไม่ได้ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้จากผลการประเมินความรู้พื้นฐานด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ของโรงเรียนบ้านคลองหวะ(ทวีรัตน์ราษฎร์บำรุง) พบว่า นักเรียนร้อยละ ๓๕.๖๔ มีทักษะการอ่านจับใจความอยู่ในระดับปรับปรุง และขาดการฝึกกระบวนการอ่าน ผู้สอนจึงหาทางพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอ่าน โดยเลือกใช้วิธีการสอนอ่านโดยใช้เทคนิค K.W.L.

วิธีดำเนินการ/ขั้นตอนที่สำคัญ

                การสอนอ่านโดยใช้เทคนิค K.W.L. ได้รับการพัฒนาโดย คาร์และโอเกิล (Carr and Ogle)  ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการอ่านที่ทำให้นักเรียนใช้ความรู้ทักษะ ทัศนคติที่มีอยู่ไปช่วยตีความเนื้อเรื่องที่อ่าน ใช้ทักษะการคาดคะเน การตั้งคำถาม การใช้ความรู้ประสบการณ์เดิมของนักเรียน  และเป็นการบูรณาการทักษะต่างๆ เช่น การอ่าน การคิด การพูด การเขียนและแสดงออกไปพร้อมกัน

รูปแบบของกิจกรรมการสอนอ่านด้วยเทคนิค K.W.L.

กิจกรรมสอนอ่าน

ขั้นก่อนการอ่าน : Pre Reading

-กระตุ้นความรู้เดิมให้นักเรียนอภิปราย

-คาดคะเนสิ่งที่จะมีในเนื้อเรื่องแล้วเขียนข้อความลงใน ช่อง K

- บันทึกสิ่งที่อยากรู้จากบทอ่าน ลงในช่อง W

ขั้นกิจกรรมระหว่างอ่าน :During – Reading

ค้นหาข้อความที่เกี่ยวข้องหรือตอบคำถามที่อยู่ในบทอ่าน

-          กระตุ้นให้นักเรียนคิดจับประเด็น หาใจความสำคัญ รายละเอียดของ

เรื่อง(นักเรียนตีความและตรวจสอบความถูกต้อง)เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม

ขั้นกิจกรรมหลังการอ่าน : Post – Reading

-          ย่อบทอ่านทั้งหมด

-          ตรวจสอบจุดประสงค์การอ่าน

-          กล่าวสรุปสิ่งที่ได้จากการอ่าน/ แสดงความรู้สึกต่อสิ่งที่อ่าน

หลังสอนอ่าน

-          ประเมินผลการอ่าน

-          สะท้อนผลการอ่านของนักเรียนเป็นรายบุคคล

ขั้นกิจกรรมหลังอ่าน : Post – Reading

-          ย่อบทอ่านทั้งหมด บันทึกลงในช่อง L

-          ตรวจสอบจุดประสงค์การอ่าน

-          ซักถามถึงสิ่งที่อ่านทั้งหมด

-          ให้นักเรียนสรุปความคิด หรือความรู้สึกต่อสิ่งที่อ่าน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ

๑.       การสร้างบทอ่านที่น่าสนใจ โดยนำเรื่องราวที่นักเรียนสนใจ และสอดคล้องกับบทเรียน

๒.     การตั้งคำถามของครู ที่กระตุ้นให้นักเรียนคิด อภิปราย ตีความ ตรวจสอบเนื้อเรื่อง และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม

ผลสำเร็จของการดำเนินงาน

            พบว่า การสอนอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิค K.W.L. ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาการอ่านจับใจความได้ดียิ่งขึ้นเนื่องจาก

             นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่การกำหนดจุดประสงค์ของการอ่าน การตีความสิ่งที่อ่าน การคิดอภิปรายร่วมกับกลุ่ม  ฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล  นำเสนอสิ่งที่อ่านในรูปของแผนภูมิโครงสร้างความเรียง หรือการสรุปบันทึกย่อ  ซึ่งทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะการพูดและฝึกทักษะการเขียนสรุปใจความสำคัญไปพร้อม ๆกัน

            นอกจากนี้ จากประสบการณ์ตรงในการจัดการเรียนรู้ ยังพบว่า การใช้เทคนิค K.W.L ในการสอนอ่านนั้นมีประโยชน์ ดังนี้

๑.      เป็นการสอนที่นักเรียนได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกลุ่ม เป็นการฝึกการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

๒.      เป็นการสอนการอ่านที่ทำให้นักเรียนไม่เบื่อหน่าย เพราะได้ทำกิจกรรมเองโดยตลอด

๓.      เป็นการสอนอ่านที่นักเรียนสามารถประเมินความเข้าใจในการอ่านได้ด้วยตนเอง

๔.      นักเรียนได้ฝึกการคิด วินิจฉัย ตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่พบ

๕.      เป็นการสอนอ่านที่นักเรียนสามารถตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่าน และสามารถคิดคาดการณ์ล่วงหน้าจากเรื่องที่อ่านด้วยตนเอง

๖.      เป็นการฝึกให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ เขียนสรุป และนำเสนอด้วยตนเอง

๗.      สามารถนำเทคนิค K.W.L. มาใช้สอนการอ่านได้ทุกวิชา

คำสำคัญ (Tags): #kwl
หมายเลขบันทึก: 185982เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ยินดีกับความสำเร็จค่ะ ขอนำไปใช้ด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

แอ่น..แอ้น...

เยี่ยมมากค่ะ คุณครูฐิติกมณฑ์ พวกเราชาวศูนย์ICT ยินดี และดีใจเป็นอย่างยิ่งคะ

ขอให้เสริมแรง และนำสาระความรู้ดี ๆ มาลงให้เป็นประจำนะคะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ระหว่างครูที่เข้มแข็ง เต็มไปด้วยไฟแรงอย่านี้พวกเราตบมือให้...

เป็นกำลังใจในสิ่ง ดี ๆ ในครั้งนี้นะคะ

ขอบคุณคะกับขัอมูลดี

เยี่ยมมาก เป็นเทคนิคที่ดี น่าจะให้ตัวอย่างแผนการจัดกิจกรรมซัก 1 แผนนะ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับความรู้ที่ได้รับเพิ่มเติม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท