ได้อะไรจาก KM สัญจร...บุรีรัมย์


การเรียนรู้จากของจริง เมื่อตั้งใจจริงและลงมือทำ ก็สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เหลือคือกระบวนการเรียนรู้และจัดการที่ไม่มีวันจบ
ได้อะไรจาก KM สัญจร บุรีรัมย์

ขบวน KM สัญจร ครั้งที่ 3 ที่ประกอบด้วยฝ่ายวิชาการ ของ สกว. ศ.ดร.วิชัย  บุญแสง ได้ชักชวนเมธีวิจัยอาวุโส  ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่สำคัญคือนักวิจัยรุ่นใหม่ ได้มาเห็นความเป็นจริงของวิถีชีวิตและองค์ความรู้ที่ชาวบ้าน/ชุมชนสร้างขึ้นในการดำเนินชีวิต เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมีฐานของการดูงานอยู่ที่เรื่องของการจัดการความรู้ระดับชุมชนอยู่ที่สวนป่าครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์  และเครือข่ายการเรียนรู้ถึง 8 พื้นที่ ซึ่ง สคส.กำลังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนากลไกการจัดการความรู้ระดับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและหวังสร้างคน(ชาวบ้าน)ที่จะไปขยายผลต่อ

                ในบทบาทของคนที่ไม่ได้เป็นนักวิจัย และไม่ใช่นักวิชาการ ถามว่า ดิฉันเห็นอะไรจากกิจกรรมครั้งนี้ ก็ขอบอกว่าได้เกินคุ้ม  จากจุดประสงค์เมื่อเริ่มเดินทาง คือ ตั้งได้เพียง 2  ข้อ คือ  ข้อ 1. เป็นวัตถุประสงค์ส่วนตัว จะไปดูต้นแบบการทำเกษตรพอเพียงหรือเกษตรปราณีต ที่ได้ยินและรับรู้มามากว่าส่วนใหญ่มาเรียนรู้จากภาคอีสาน  ซึ่งรวมถึง สวนป่าครูบาสุทธินันท์  ครั้งนี้ก็จะได้ไปดูของจริงอีกครั้ง  ข้อ 2. เป็นวัตถุประสงค์ในหน้าที่ที่รับผิดชอบคือการเป็นฝ่ายเผยแพร่งานของ สคส. จึงอยากเห็นการต่อยอดองค์ความรู้ชาวบ้านของนักวิจัยรุ่นใหม่ และความเข้าใจเรื่องจัดการความรู้ (ส่วนตัวรู้สึกว่านักวิจัยใหม่ ๆ ที่สนใจอะไรก็จะทำเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจโดยขอทุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ และก็ได้ผลประโยชน์ win win กันไปทั้งตัวเอง มหา’ลัยที่สังกัด และแหล่งทุน  แต่ไม่รู้ว่าความรู้ที่ทำมานั้นใช้ได้จริงแค่ไหนในระดับวิถีชีวิต จึงหวังลึก ๆ ว่านักวิจัย เหล่านี้จะเปิดโลกทัศน์และมองเห็นสิ่งที่เป็นชีวิตคนจริง ๆ และตระหนักในบทบาทของเขาว่าจะช่วยได้อย่างไร)

วัตถุประสงค์ข้อแรกก็ไม่ผิดหวัง เพราะสวนป่าครูบาสุทธินันท์มีการจัดการทุกอย่างอย่างเป็นระบบเป็นต้นแบบการทดลอง เรียนรู้ และถ่ายทอด ทั้งด้านการทำเกษตรพอปราณีต การปลูกพืช ผัก  รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่คาดว่าจะสร้างทางเลือกอาชีพให้กับเกษตรกรได้ ทั้ง การเลี้ยงหมู ไก่ ปลา วัว หรือแม้แต่นกกระจอกเทศ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาและสร้างช่องทางการตลาดสำหรับผลิตผลหรือผลผลิตที่เกิดขึ้น เป็นการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของครูบาสุทธินันท์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบุรีรัมย์ เราจึงเห็นความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่จะทำให้บรรลุผลได้ไม่ยาก แล้วก็คิดต่อไปว่าในระดับชาวบ้านจริง ๆ แม้จะมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแต่เขาจะทำได้หรือ การเริ่มต้นคงไม่ใช่ง่าย

และจากการไปดูกรณีศึกษาในวันต่อมา (7 มี.ค.) ซึ่งดิฉันมีโอกาสได้ดูเพียง 2 แห่ง คือ สวนที่เพิ่งเริ่มต้นได้  8-9 เดือน ของ “น้องกิ่ง” บัณฑิตคืนถิ่นที่เรื่องราวของเธอทำให้ตัวเองฉุกคิดหลายเรื่อง   อีกแห่งคือเกษตรผสมผสาน คันนาเงินหมื่น บ้านแก้จนคนสู้ชีวิตของพ่อทอง   ซึ่งทั้งสองแห่งอยู่ที่บ้านส้มกบ อ.พุทไธสง

กรณีของ “กิ่ง” ดิฉันจะไม่เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตัวเธอเพราะมีหลายท่านได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว จะขอพูดเฉพาะสิ่งที่เรื่องราวของ “กิ่ง” ทำให้นึกถึงคนหนุ่มสาว รวมทั้งตัวเองที่นับวันก็ตกหลุมการศึกษาที่ทำให้เด็กไกลบ้าน เรียนจบ ก็ต้องทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือน สังคมชนบทจึงจะถือว่าดี พ่อแม่ภูมิใจ ที่ส่งเสียให้ลูกเรียนจนได้งานดี “เป็นเจ้าคนนายคน” ซึ่งผู้สูงอายุจะให้พรแบบนี้  เป็นค่านิยมที่ดิฉันเองก็คิดหนัก กับการวางแผนกลับบ้าน  เรื่องของ “กิ่ง”ก็ทำให้ดิฉันเห็นถึงความตั้งใจและกล้าที่จะลงมือทำ แม้ผลที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งปัญหาความไม่เข้าใจของคนในครอบครัวจนเกิดความแตกแยก และภาระด้านการเงินที่ต้องแบกรับ อีกทั้ง”กิ่ง”ก็ยังขาดความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรที่ตัวเองเลือกทำทั้งที่ไม่เคยได้สัมผัสเลย  ความเครียดจากปัญหาที่เผชิญ จะจัดการกับผลผลิตอย่างไร อนาคตจะสำเร็จหรือล้มเหลว  “กิ่ง”จึงต้องการการสนับสนุนและ”พี่เลี้ยง”ในเส้นทางอาชีพเกษตรของเธออย่างใกล้ชิด  ซึ่ง “กิ่ง”ก็มีโอกาสดีเพราะมีผู้ใหญ่และผู้รู้ให้ได้เรียนรู้และช่วยเหลือ  และเท่าที่เห็นทุกคนก็พร้อมจะช่วยเธอ....

   "กิ่ง" บัณฑิตคืนถิ่น
 

 

 

 

"แม่" กำลังใจของกิ่ง

 

 

 

บ้านหลังน้อยและสวนที่กำลังจะให้ผลผลิต

   
 

 

แปลงมะเขือกำลังติดผล

อ.วันชัย พี่เลี้ยงคนสำคัญ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18592เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
      ขอบพระคุณครับ สำหรับบันทึกดีๆ ที่ได้นำมาเผยแพร่  และในกรณีของ "น้องกิ่ง" อาชีพการเกษตรเพื่อการยังชีพ หรือพอเพียงนั้น เป็นทางหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนและพึ่งตนเองได้ของบ้านเราครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท