สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่
สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่ สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยจากกากมันสำปะหลัง


ผลิดไว้บริโภคเหลือไว้ขาย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน

                เห็ดฟาง  เป็นเห็ดที่คนไทยนิยมบริโภคมานาน  มีรสชาติดีคุณค่าทางอาหารสูง  เป็นอาหารพวกผักแต่มีคุณค่าสูงกว่าผักพบได้ตามธรรมชาติข้างกองฟางที่มีความชื้น  ปัจจุบันได้นำมาเพาะเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม  ซ้ำยังสามารถเพาะได้ง่ายใช้วัสดุเศษเหลือทางการเกษตรมาเพาะได้  เช่น  ฟางข้าว  กากเปลือกถั่ว  ไส้นุ่น   ต้นกล้วย  ผักตบชวา  ทลายปาล์ม กากเปลือกมันสำปะหลัง  มีวิธีการเพาะหลายรูปแบบ  เช่น  การเพาะแบบกองสูง  การเพาะแบบกองเตี้ยประยุกต์  การเพาะในโรงเรือน  การเพาะในเข่ง 

                ในที่นี้จะแนะนำการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยโดยใช้กากมันสำปะหลังและการเพาะเห็ดโดยใช้ตอซังฟางข้าว  เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้สนใจได้นำไปเพาะเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน  หรือเพาะเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้ในครัวเรือนได้

วัสดุอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยจากกากมันสำปะหลัง/ตอซังฟางข้าว

1.       กากมันสำปะหลัง  ( กากดิน )

2.       ไม้แบบขนาด 20+40+20 , 20+50+20  ซม.  20+70+20  ซม.

3.       ไม้โครง ( ไม้ไผ่ผ่าซีก  กว้าง 1 นิ้ว  ยาว  1.60  เมตร

4.       บัวรดน้ำ

5.       น้ำสะอาดควรเป็นน้ำสระไม่เค็มจะดีที่สุด

6.       อาหารเสริม ( มูลสัตว์แห้ง , ราละเอียด หรือ วัสดุอื่นที่หาได้  เช่น  กากไส้นุ่น , จอกแห้ง ,

        คายข้าว )

7.       พลาสติกสำหรับคลุมกองเห็ด

8.       EM/น้ำหมักชีวภาพ

9.       ปูนขาว

10.    ฟางสำหรับคลุมกอง

11.    จอบ

วิธีการเพาะ

                        1.  เตรียมแปลงเพาะโดยขุดตากดินยกแปลงเพื่อฆ่าเชื้อโรคตากทิ้งไว้ประมาณ   7  วัน

ย่อยดินให้ละเอียดขนาดแปลง  กว้าง  1  เมตร  ยาวตามความต้องการ

  

                        2.  นำกากมัน ( กากดิน ) มาบรรจุในไม้แบบอัดเป็นแท่งพอแน่นจากนั้นถอดไม้แบบ  แล้วอัดแท่งกากมันเรียงในแปลงที่เตรียมไว้ห่างกันแต่ละแท่ง  10-15  ซม.  ถ้าอากาศเย็นให้ห่างกันน้อย  ถ้าอากาศร้อนให้ห่างกันมากขึ้น

       

                        3.  ขณะอัดแท่งกากมัน  ถ้าแห้งให้รดน้ำพอชุ่มไม่ให้แท่งพังแตก

                        4.  อัดแท่งกากมัน  อย่างน้อย  แปลงละ  20  แท่ง  เพื่อให้การควบคุมอุณหภูมิในแปลงไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป

                        5.  โรยอาหารเสริมระหว่างช่องว่างของแท่งกากมันบางๆ 

                        6.  โรยเชื้อเห็ดฟาง  บนอาหารเสริม  โดยเชื้อเห็ดฟางต้องนำมาขยำรวมกันก่อน  อัตราการใช้  1  ถุง   ต่อ  2  ตารางเมตร (แล้วแต่ขนาดถุง)   แล้วรดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง

 

                        7.  คลุมด้วยพลาสติกให้ชิดกองใช้พลาสติก  1  ผืนกลบชายพลาสติกด้วยดินให้สนิท

 

                        8.  คลุมด้วยฟางแห้ง

                        9.  ทิ้งไว้ประมาณ  3-4  วัน  แล้วแต่ฤดูกาล 

                        10.  เส้นใยเห็ดจะเดินขาวฟูในกอง  ให้ทำการตัดใย  โดยใช้น้ำสะอาดผสม EM  และ  กากน้ำตารดบางๆ  พอเส้นใยขาด

         

                        11.  ขึ้นโครงโดยใช้ไม้ไผ่ปักโค้งห่างกันพอควรแล้วคลุมพลาสติกแบบเกยทับ  2  ผืน  แล้วคลุมด้วยฟาง

                        12.  หมั่นตรวจดูอุณหภูมิในกองเห็ด  ถ้าร้อนจัดให้เปิดข้างกองตอนเช้าหรือเย็น  ครั้งละ  5-10  นาที  แล้วปิดตามเดิม

                        13.  จากนั้นประมาณ  5-7  วัน  ดอกเห็ดจะโตสามารถเก็บมาบริโภคและจำหน่ายได้

                        14.  การเก็บดอกเห็ด  ควรเก็บในช่วงเช้ามืดและเก็บเมื่อเห็ดขนาดดอกตูมหัวแหลมจะได้น้ำหนักดี   แต่ถ้าจะเก็บเพื่อทำป่นให้เก็บดอกบานมาย่างไฟจะอร่อย

                        15.  จะสามารถเก็บเห็ดได้  ประมาณ  3-5  วัน  ก็จะหมดรุ่น  จากนั้นให้เปิดกองรดน้ำพอชุ่ม  ปิดไว้อีก  5-7  วันเห็ดจะเกิดดอก  ให้เก็บอีก  1  รุ่น  แต่ดอกเห็ดจะเกิดน้อย

                        16.  หลังเก็บดอกเห็ดหมด  นำเศษที่เหลือไปหมักทำปุ๋ยชีวภาพต่อไป  หรือนำไปใส่  แปลงนา  ไม้ผล  แทนปุ๋ยเคมีได้  หรือถ้าเพาะในแปลงนาให้หยอดเมล็ดผัก  แตง ถั่ว จะงอกงามดี

                        17.  ถ้าใช้ฟางเพาะแนะนำให้ใช้ตอซังฟางข้าวจะให้ผลผลิตดีกว่าปลายฟาง  โดยใช้การถอนทั้งรากแต่ฟางที่ใช้เพาะต้องแห้งสนิทไม่เคยผ่านความชื้นหรือโดนฝนมาก่อนจะเกิดเชื้อราเพาะเห็ดไม่ขึ้น  โดยใช้ไม้แบบขนาดใหญ่ขึ้น  ลักษณะเป็นสีเหลี่ยมคางหมู  ขนาดฐานกว้าง  35-40  ซม.     กว้าง  25-30  ซม.  สูง  35-40  ซม.  มีความยาว  1-1.5  เมตร  ขั้นตอนการเพาะ

        17.1  แช่ฟางให้ชุ่มประมาณ  1  ชม.

        17.2  นำมากองใส่ไม้แบบในแปลงที่ขุดเตรียมไว้โดยวางด้านโคลนฟางออกด้านนอกสูง  3-4  นิ้ว  จากนั้นโรยอาหารเสริมรอบขอบไม้แบบบนฟางหน้ากว้าง  2  นิ้ว  โรยเชื้อเห็ดที่ขยำไว้แล้วบางๆ  แล้ววางฟางทำชั้นต่อไปเหมือนชั้นที่  1  ทำ  3-4  ชั้น  ชั้นสุดท้ายโรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดให้เต็มหลังกอง

        17.3  ปิดด้านบนด้วยฟางชุ่มหนา  1-2  นิ้ว  ย้ายไม้แบบไปทำกองต่อไปห่างจากกองเดิม  10-15  ซม.  จนเต็มแปลง  ควรทำกองฟางอย่างน้อย  10  กอง  ต่อ  1  แปลง  เพื่อให้อุณหภูมิในกองพอเหมาะในการเกิดดอกเห็ด

        17.4  คลุมด้วยพลาสติก  คลุ่มด้วยฟางแห้งตรวจดูความชื้นในกอง  ถ้าแห้งมากให้รดน้ำบนดินรอบแปลง  8-10  วัน  ก็จะสามารถเก็บดอกเห็ดได้การเพาะด้วยฟางไม่ต้องตัดเส้นใบและทำโครงไม้ไผ่

        17.5  หลังจากเก็บเห็ดหมด  ฟางกองเห็ดสามารถนำไปกองทำปุ๋ยหมักใช้บำรุงดินต่อไป  หรือนำไปเป็นวัสดุเพาะเห็นในถุงพลาสติกต่อไป

                     ลักษณะเชื้อเห็ดฟางที่ดี

1.       มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้  โดยสอบถามจากผู้มีประสบการณ์เคยเพาะมาก่อน

2.       ถุงเชื้อเห็ดต้องก้อนแน่น  เส้นใยเดินเต็มก้อน

3.       ไม่มีเชื้อราชนิดอื่นๆ  เจือปนรวมทั้งหนอน  แมลง  ไร  อยู่ในถุง

4.       ไม่มีดอกเห็ดอยู่ในถุง  เพราะเชื้อแก่เกินไปจะเกิดดอกน้อย

5.       มีกลิ่นหอมของเห็ดฟาง

6.       เชื้อเห็ดซื้อมาควรเพาะภายใน  7  วัน  ถ้าเป็นเชื้อพร้อมเพาะควรเก็บรอไว้ในที่เย็นไม่ให้        ถูกแสงแดด

 สิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดฟาง

-          วัตถุดิบที่ใช้เพาะ                                       -      อาหารเสริม

-          เชื้อเห็ด                                                       -      สถานที่เพาะ

-          ไม้แบบ                                                        -      ผ้าพลาสติก

-          บัวรดน้ำ

 ปัจจัยที่สำคัญในการเพาะเห็ด

1.       สภาพอากาศที่เหมาะสม

2.       ความชื้น

3.       แสงแดง

 

หมายเหตุ  :  หน้าร้อนและหน้าฝนจะดี  อุณหภูมิอยู่ระหว่าง  35-37 องศา 

                       ช่วงเก็บผลผลิต  อุณหภูมิ  30  องศา

 

เรียบเรียงจากประสบการณ์จริง/ของผู้ที่เคยเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

นายวิเชียร   จันทาทุม   และ  นายอดิศร   วิลัยวรรณ

รวบรวมและเผยแพร่โดย       นายขัญติภาณ    ศรีใส

นักวิชาการส่งเสริมเกษตร ระดับชำนาญงาน

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 185831เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอทู ฟลาโวเจน ช่วยเร่งการงอกของเห็ด เห็ดน้ำหนักดี ผลผลิตเพิ่มขึ้น กว่า 2 เท่า ศึกษาข้อมูล www.otworich.blogspot.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท