Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๓)


บทสรุปปรากฏการณ์ มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 (3) 
(Executive Summary)

เสวนาบทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน

          CKO (chief knowledge officer) เป็นบุคคลที่มีความหมายและสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการความรู้ ตามหลักฐานทางวิชาการและจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติพบว่า ผู้นำองค์กรมีอิทธิพลโดยตรงต่อความสำเร็จใดๆ ขององค์กร ดังนั้นในช่วงเสวนานี้จึงได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่เป็น CKO สองท่านได้มาเล่าประสบการณ์และจุดประกายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่  อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข จากโรงเรียนเพลินพัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน และอาจารย์ชาญเลิศ อำไพวรรณ จากโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม ทั้งสองท่านได้เล่าประสบการณ์ที่ทำให้เห็นบทบาทของ CKO ในกระบวนการจัดการความรู้ดังนี้
  1. CKO มีบทบาทหลักในการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง เพื่อให้เกิด learning unit หรือ community of practice หรือที่วิทยากรเรียกว่าเป็น “โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่” กล่าวคือให้การเรียนรู้มันเกิดจากกลุ่มเล็กๆ ต่างๆ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายร่วมกัน
  2. CKO มีบทบาทในการจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดการแบ่งปันความรู้ (knowledge sharing) คือ เมื่อกลุ่มต่างๆ ทำงานจนเกิดเป็นความรู้แล้ว ต้องนำความรู้มาแบ่งปัน CKO ต้องสนับสนุนการจัดเวที หรือการประชุมที่ให้แต่ละกลุ่มได้แสดงออก นอกจากนี้ยังต้องเสริมแรงหรือให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน อีกด้วย
  3. CKO มีบทบาทในการตรวจสอบขุมความรู้ในภาพใหญ่ ว่าเดินไปอย่างไร ติดขัดตรงไหน
  4. CKO มีบทบาทในการจัดหา infrastructure มาใช้เพื่อการจัดการความรู้ เช่นระบบ intranet รวมทั้งหาแหล่งเรียนรู้ภายนอกในกรณีที่ความรู้จากภายในไม่พอเพียง


         เพื่อให้บรรลุตามบทบาทนั้น วิทยากรเสนอว่า CKO ควรมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้
  1. CKO ต้องปรับวิธีคิด มาสู่การเห็นคุณค่าของผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะทำให้สามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ได้
  2. CKO ต้องมีความชัดเจนในวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายขององค์กร คือจะต้องพยายามมองไปข้างหน้า กระบวนการ KM จึงจะมุ่งไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้
  3. CKO ควรมีความสามารถในการจุดประกายความคิดของสมาชิกในองค์กร เห็นความสามารถดีๆ ในบุคลากรทุกคน 
  4. CKO ต้องเห็นความสำคัญของตัวชี้วัด ที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารองค์กร จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดของ KM เพื่อจะได้ monitor ภาพรวมขององค์กรได้

Wikipedia: ขุมความรู้บนอินเทอร์เน็ต

         สารานุกรมบนอินเทอร์เน็ต (www.wikipedia.org) ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเสรี รวมทั้งสามารถแก้ไข (เพิ่ม-ลด) ข้อมูลในสารานุกรมได้อย่างง่ายดาย
Wikipedia เป็นโครงการที่สร้างโดยอาสาสมัครที่ไม่มีค่าตอบแทน เป็นทั้งผู้เขียนและผู้ดูแลระบบ  เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2544 มีหลายภาษา มีการใช้ลิขสิทธิ์เป็นแบบเสรีทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีนโยบายที่เป็นกลาง เช่นห้ามบอกว่าเมืองไทยสวยที่สุดในโลก แต่จะบอกว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่น่ายกย่อง  มีกลไกตรวจสอบต่างๆ เพื่อช่วยให้เนื้อหามีคุณภาพ ปัจจุบันมีบทความกว่า 2 ล้านบทความ กว่า 200 ภาษา  โดยภาษา ภาษาอังกฤษมีมากที่สุดถึงเกือบ 1,000,000  บทความและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน นับเป็นสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก  มีกว่าสองหมื่นคนที่เขียนประจำ ห้าหมื่นบทความใหม่ทุกๆ วัน  มีการแก้ไขนับแสนครั้งทุกๆ วัน จัดอยู่ใน อันดับ 30 ของ website ยอดนิยมมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
         การใช้งาน Wikipedia มีสองลักษณะคือการสืบค้น และการแก้ไขข้อมูลในสารานุกรม การสืบค้นสามารถสืบค้นจากคำเฉพาะเจาะจง (keywords) ที่ผู้ต้องการสืบค้นป้อนลงไป เมื่อได้ข้อมูลหรือบทความแล้ว หากต้องการแก้ไขก็สามารถ  click ไปที่ edit this page เพื่อแก้ไขบทความ และทุกๆ ครั้งที่เข้ามาแก้ไข   ก็สามารถเก็บของเก่าไว้ได้เผื่อว่าบางคนมาแก้ไขแล้วทำผิดพลาด ก็จะดึงเอาของเก่ากลับคืนได้  เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ข้อมูลในสารานุกรมมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

สรุปภาพรวมของการจัดนิทรรศการและ KM Tour

         การจัดนิทรรศการเป็นสีสันอันหนึ่งของงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 โดยในครั้งนี้มีนิทรรศการทั้งหมด 30 บูธ แบ่งเป็น 29 หน่วยงาน และบูธจำหน่ายหนังสืออีกหนึ่งบูธ โดยสามารถจัดเป็นกลุ่มของนิทรรศการได้ จาก 5 ภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการจัดการความรู้ (KM) ในสังคมไทย ได้แก่ พลังภาคี : การส่งเสริมและการเรียนรู้ KM, การจัดการความรู้ภาคประชาสังคม, การจัดการความรู้ภาคราชการไทย,      การจัดการความรู้ ภาคการศึกษาและการจัดการความรู้ภาคเอกชน นิทรรศการในส่วนของพลังภาคีทำให้เห็นถึงเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน การจัดการความรู้ของภาคีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สคส., สกว., สสส., พรพ. ในส่วนของการจัดการความรู้ทั้ง 4 ภาคส่วนนั้น ได้เห็นว่ามีการดำเนินการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ มีเป้าหมาย  มีรูปแบบแนวทางการดำเนินงานเป็นของตัวเอง (model) และเริ่มดำเนินการไปจนเกิดผลเป็นรูปธรรมบ้างก็จะนำมาแสดง หรือบางองค์กรก็อยู่ในระหว่างการดำเนินงานก็จะเห็นแนวโน้มว่าจะเกิดผลดีในอนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการความรู้ในสังคมไทยเริ่มแพร่ขยายไป เกิดพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ตัวเองผูกมัดอยู่ เช่น เป้าหมายขององค์กร เป้าหมายของชีวิตก็ตาม ถือเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับเจ้าของนิทรรศการแต่ละบูธนั้นยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการเก็บสะสมข้อมูล (knowledge base) เช่น ถ่ายภาพ ขอเอกสาร หรือซักถามในผลิตภัณฑ์

สรุปภาพรวมของคลินิกให้คำปรึกษา

         คลินิกให้คำปรึกษา เป็นอีกสีสันหนึ่งของงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 2 นี้ ที่มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กันของสมาชิกผู้เข้าร่วมคลินิกและวิทยากร ภายในงานมหกรรมได้มีการแบ่งคลินิกออกเป็น  3  คลินิกที่มีประเด็นเนื้อหาต่างกัน   คือ  คลินิก KM Thesis    คลินิก Weblog   และคลินิก Faci Service       โดยในคลินิก KM Thesis  จะมีเนื้อหาแนวทางการให้คำปรึกษา    แนะนำข้อมูล    สำหรับผู้เข้าร่วมคลินิกซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท-เอก    และมีความสนใจหรือกำลังอยู่ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ด้านการจัดการความรู้  ซึ่งประเด็นที่พูดคุยในคลินิคจะเป็นเพียงการจุดประกายและร่วมกันกำหนด research problem ที่เกี่ยวข้องกับ KM ว่าจะทำในปัญหาวิจัยใดได้บ้าง ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของ research methodology ส่วนคลินิกที่สอง Weblog  เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำ  เทคนิคและวิธีการสมัครใช้งาน   รวมทั้งตัวอย่าง Weblog   เสนอแก่ผู้เข้าร่วมคลินิก และด้วยความที่คลินิกนี้มีการสาธิตการใช้งานจริง จึงมีผู้สนใจค่อนข้างมาก และสามารถนำไปใช้ได้ คลินิคสุดท้าย Faci Service มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคุณอำนวยในแวดวงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากภาครัฐ การแลกเปลี่ยนในเวทีนี้จะเป็นเรื่องทั่วไป ทั้งที่เกี่ยวกับ KM และที่เกี่ยวกับตัวของคุณอำนวย แม้ว่าจะไม่ได้ลงรายละเอียดที่ตัวคุณอำนวยมากนักแต่บรรยากาศก็เป็นไปด้วยดี
โดยสรุปในการให้คำปรึกษาทั้งสามคลินิก เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความชื่นชม และมีการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กันมากช่วยทำให้บรรยากาศโดยรวมของงานมหกรรมฯ มีสีสันมากยิ่งขึ้น

บทสรุปงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2

         การสังเคราะห์ภาพรวมของงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 นี้ ไม่มีอะไรดีกว่าการกลับไปทบทวนจุดตั้งต้นของงาน กับปาฐกถาพิเศษ “การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์ สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข” ที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวไว้ การสรุปต่อไปนี้จะเป็นการนำภาพที่เกิดขึ้นในงานทั้งสองวัน กลับไปทบทวนหรือทาบกับภาพใหญ่ที่องค์ปาฐกได้กล่าวไว้ เพื่อจะให้เห็นรูปธรรมของการเคลื่อนตัวของการจัดการความรู้ในสังคมไทย ดังนี้
  1. สิ่งที่องค์ปาฐกกล่าวถึงเรื่องกระบวนการปลดปล่อยมนุษย์ นั้นสอดคล้องกับแนวคิดของการใช้ความรู้เพื่อการปลดปล่อย (emancipatory knowledge) ของฮาเบอร์มาส และหากตีความว่าหน่วยการวิเคราะห์ที่องค์ปาฐกและฮาเบอร์มาส มองเป็นสังคมในภาพใหญ่ หรือสังคมไทยโดยรวมแล้ว สิ่งที่กรณีศึกษาต่างๆ ได้ดำเนินการเรื่องจัดการความรู้ไปนั้น ยังไม่ได้ลดทอนพลังอำนาจของโครงสร้างใหญ่ของสังคม ที่ยังคงเป็นโครงสร้างในแนวดิ่ง มีการจัดการโดยใช้อำนาจมากกว่าการจัดการโดยใช้ความรู้ หากแต่ถ้าลดขนาดของหน่วยวิเคราะห์ลงมาให้เหลือระดับที่เล็กลง เป็นองค์กร โรงเรียน หน่วยงาน โรงพยาบาล ก็จะพบว่าหลายกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ผู้คนได้รับการปลดปล่อย เหมือนที่กรณีศึกษาหนึ่งพูดว่า “เกิดโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่” เกิดความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้น ตรงนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่สะท้อนการขยับตัวของจุดเล็กๆ ถ้ามีมากๆ ก็อาจขับเคลื่อนสังคมได้เช่นกัน
  2. คำถามหลักคือว่าทำอย่างไร จึงจะทำลายโครงสร้างหลัก ให้เกิดความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายได้ แม้ว่าจะมีคำตอบหลายประการ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่เป็นคนกุมสภาพของโครงสร้างนั้น คือ ผู้นำ ต้องทำตัวให้เป็น “คุณเอื้อ” หรือ CKO ต้องมีคุณธรรมที่องค์ปาฐกได้กล่าวไว้สองข้อ คือ การเห็นคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และการไม่ใช้อำนาจ ตรงนี้เองที่ได้เห็นในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เป็นหน่วยงานราชการ เป็นโรงเรียน โรงพยาบาล ผู้นำล้วนปรับวิธีคิดมาตามหลักคุณธรรมนี้ทั้งสิ้น ทำให้เกิดบรรยากาศที่เปิด (openness) และผู้คนก็เกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนรู้ กระบวนการ KM จะเลื่อนไหลได้มาก ถ้าใช้อำนาจจะไม่ได้ผล
  3. เงื่อนไขที่สำคัญประการที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยมนุษย์ ก็คือการทำอะไรที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้ง 4 มิติ หรือที่เรียกว่าบูรณาการทั้ง กาย จิตใจ สังคม และปัญญา หากทำเพียงบางมิติ ก็จะกักขังตัวเองอยู่ตรงนั้น ในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่า การมาสนใจงานด้านการจัดการความรู้ของกรณีศึกษาส่วนใหญ่ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงาน ล้วนอิงอยู่กับบางมิติของตัวเองทั้งสิ้น เช่น อิงอยู่กับ    พันธกิจขององค์กร  การเชื่อมโยงกับองค์กรที่ต่างมิติกันก็ทำได้ยาก การเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่   ว่านั้นก็จะถูกกักอยู่  ยังไม่ทะลุออกนอกกรอบ ขณะนี้อาจเริ่มเห็นว่ามีชุมชนนักปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว ทำอย่างไรที่จะนำเอาชุมชนนักปฏิบัติเหล่านี้มาเชื่อมกันทำในสิ่งที่ cross-domain ของตน จึงจะเกิดเป็นเครือข่ายอย่างบูรณาการได้ ตัวอย่างที่ว่านี้อาจมีกรณีศึกษาของภาคประชาสังคมที่ทำให้พอเห็นได้ว่า พอเกิดกลุ่มที่สนใจเกษตรอินทรีย์ กลุ่มต่างๆ มารวมตัวกันเป็นเครือข่าย แล้วเขาร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ     เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของสังคมได้อย่างไร
  4. ถ้าพิจารณาจากการดำเนินงาน KM ในแทบทุกกรณีศึกษาที่มานำเสนอในงานมหกรรมฯ    มักเริ่มต้นที่ปัญหา หรือเริ่มต้นที่ทุกข์ เช่นว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรอยู่รอดได้ เลี้ยงตัวเองได้ ทำอย่างไรจึงจะหมดหนี้สิน มีสุขภาพดี พบว่ามีน้อยรายที่เริ่มดำเนินงาน KM ตามแนวทางการใช้วิธีการทางบวก คือสำรวจว่าใครทำอะไรดีๆ ในองค์กร ก็เอามาเรียนรู้ร่วมกัน แล้ววางแผนว่าจะทำอะไรต่อจากกรณีดีๆ อย่างนี้ แต่ก็เหมือนอย่างที่หลายท่านได้กล่าวในงานว่า KM ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะทำอย่างไร นี่เป็นเพียงบทสะท้อนให้เห็นแบบแผนของ KM ในสังคมไทยเท่านั้น
  5. ต้นทุนของกลุ่ม องค์กรที่มาทำ KM ก็นับว่ามีความสำคัญยิ่ง กรณีศึกษาต่างๆ ที่มานำเสนอนั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เขาเหล่านั้น เริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว    บางกลุ่มทำมาเป็น 10 ปี จนเป็นธรรมชาติของคนที่ชอบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่หยุดนิ่ง ตรงจุดนี้เป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ที่จะเริ่มการจัดการความรู้ว่า ไม่ควรมองว่าเป็นกระแส หรือเป็นเครื่องมืออย่างเดียว ใครๆ ก็ทำได้ เหมือนอ่านตามคู่มือ ต้องมองว่าควรมีวัฒนธรรมของการใช้เครื่องมือนั้นด้วย ต้องรักที่จะเรียนรู้ ดังเช่นที่ห้องภาคเอกชนได้สะท้อนว่า คนที่อยู่ในองค์กรสำคัญมาก ต้องมีความพร้อมที่จะพัฒนา การใช้วิธีการเชิงบวกแบบที่องค์ปาฐกได้เสนอไปนั้น อาจช่วยสร้างวัฒธรรมแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้คนในองค์กรก็เป็นได้
  6. กระบวนการ KM ในแต่ละกรณีศึกษานั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งโดยภาพรวม หากจะต่างก็เพียงในรายละเอียดเท่านั้น คือ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทดลองหาความรู้ในตัวคน และใช้ความรู้จากภายนอกอย่างสมดุลย์กัน มีการจดบันทึกสกัดขุมความรู้ มีเวทีเผยแพร่ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในแนวระนาบ คือระหว่างองค์กรที่ทำเรื่องเดียวกัน หรือในแนวตั้ง คือระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ต่างเนื้อหากัน ความแตกต่างในรายละเอียด เช่น บทบาทและคุณสมบัติของคุณอำนวยในแต่ละภาคส่วน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการความรู้ในบางภาคส่วน ความยากง่ายของการสกัดความรู้ เป็นต้น แม้จะมีอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงความแตกต่างที่สะท้อนธรรมชาติของแต่ละกลุ่ม/องค์กร ที่ทำงานด้านจัดการความรู้เท่านั้น กระบวนการโดยทั่วไปถือว่าเป็นแนวทางเดียวกัน
  7. การแบ่งปันความรู้ (knowledge sharing) หรือการร่วมเรียนรู้นั้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะทางหนึ่งเกิดข้อมูลป้อนกลับ ทางหนึ่งเกิดการพัฒนาตัวเอง ทางหนึ่งเกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ และในกระบวนการ KM นั้นการแบ่งปันความรู้ที่ถือว่าดีที่สุดก็คือ การแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่ม ข้ามองค์กร ข้ามพันธกิจ เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องสะท้อนถึงวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้แล้ว ยังเกิดการแผ่ขยายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะร่วมอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่พบเห็นในกรณีศึกษาทุกกรณี ที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะแลกเปลี่ยนกันในหน่วยงาน หรือในกลุ่มที่มีพันธกิจคล้ายคลึงกัน มีเพียงน้อยรายที่เรียนรู้ข้ามกลุ่มพันธกิจ ซึ่งเห็นได้ว่ากรณีหลังนี้จะนำไปสู่การบูรณาการได้อย่างชัดเจน
  8. ผลการดำเนินงาน KM ถือว่าได้เห็นการประสบความสำเร็จของการดำเนินงานจัดการความรู้ คือบรรลุผลตามเป้าหมายที่แต่ละกลุ่ม/องค์กรได้ตั้งไว้ หรือไม่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามเป้า ดำเนินการไป และมีบทเรียนหรือบทสะท้อนที่นำไปขบคิดต่อได้อีกมาก มีข้อสังเกตว่า การบรรลุผลได้เพียงใดบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของตัวปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาเกี่ยวข้องกับการพัฒนา/ปรับปรุงเทคโนโลยี หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบคิด วิธีคิดของคนที่มีความซับซ้อน ย่อมต้องการเวลาในการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน

         ทั้ง 8 ประการข้างต้นเป็นการสังเคราะห์ในภาพรวมของงาน ที่ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการเปิดพื้นที่ทางสังคม ที่จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมาก แม้ว่าจะมีลักษณะต่างคนต่างทำภายใต้มิติของตัวเอง แต่ก็เพิ่มขึ้นทั่วทุกภาคส่วน ในอนาคตจะเกิดชุมชนนักปฏิบัติขึ้นทั่วสังคมไทย และถ้าชุมชนเหล่านี้ได้มาทำงานจัดการความรู้ร่วมกันเป็นเครือข่ายจะมีพลังมาก เพียงแต่ต้องยึดถือคุณธรรมทั้ง 8 ประการที่  องค์ปาฐกได้กล่าวไว้ในตอนต้น โดยเฉพาะเรื่อง การเห็นคุณค่าของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน การไม่ใช้อำนาจ ตรงนี้จะช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มองค์กรได้ และการทำอะไรที่บูรณาการทั้ง 4 มิติ จะช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เป็นระบบที่สมดุลย์ได้ และนำไปสู่การแก้ปัญหายากๆ ที่สลับซับซ้อนของสังคมได้จริง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18576เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท