ฤา ความยากอยู่ที่การ "ตัดใจ"


ผลจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราได้เรียนรู้หรือเปล่า

ทักทายกันด้วยชื่อบันทึกที่ออกจะมีนัยยะแห่งความสิเน่หากันอย่างนี้ อาจทำให้ใครหลายคนหลงเข้ามาด้วยคิดว่าผู้เขียนคงกำลังมีปัญหา หรือบางท่านก็เข้ามาอ่านด้วยคิดว่าพอจะมีประสบการณ์ให้ต้อง "ตัดใจ" มาแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้เขียนขอบอกไว้ ณ ตรงนี้เลยว่าบันทึกนี้หาได้มีนัยยะแห่งความสิเน่หาแต่อย่างใดไม่ เพราะฉะนั้นใครที่รู้ว่าเข้าใจผิดซะแล้ว ผู้เขียนอนุญาตให้กดปุ่ม Back ที่ด้านบนซ้ายมือของหน้าจอกลับไปอ่านบันทึกอื่นได้ ไม่ว่ากัน

ทำไมต้องยกเรื่อง "ตัดใจ" มาพูดวันนี้ ก็มีเหตุผลหลายประการ เช่น อยากเขียนมานานแล้ว คิดว่าน่าจะตรงใจใครหลายคน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ น้องบอกว่า "พี่เขียน Competency แล้วเอามาลงจดหมายข่าวนะ" ซึ่งสำบัดสำนวนการเขียน blog กับเขียนบทความลงจดหมายข่าวจะต่างกัน ผู้เขียนไม่อยากเขียนเรื่อง Competency 2 รอบ ก็เลยเอาเรื่อง "ตัดใจ" มาเขียน blog แทน ก็เท่านั้น

ทำไมเรื่อง "การตัดใจ" จึงเป็นเรื่องยาก หรือคุณว่าไม่ยาก สมมติว่าคุณเป็นคนที่รับผิดชอบการงานดีมาก งานที่ทำนั้นได้ผลดี ถ้าเป็นภาคธุรกิจก็ทำกำไรให้องค์กรแบบถล่มทลาย แต่คุณจะทำงานอย่างนั้น แบบเดิม ความรับผิดชอบเดิม ไปตลอดหรือ คุณไม่ต้องการความก้าวหน้า ไม่ต้องการก้าวขึ้นไปยังตำแหน่งความรับผิดชอบที่สูงกว่าหรือ ซึ่งแน่นอนละ เมื่อคุณต้องขยับขยายจากตำแหน่งเดิม คุณก็ต้องสร้างคนรุ่นใหม่มาแทนที่ ชื่อก็บอกว่า "ใหม่" ความเสถียรในการทำงานย่อมไม่เท่าคุณ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การโน้มน้าว การนำเสนอ การคิดเชิงระบบ การคิดแบบองค์รวม อื่นๆ อีกมากมายย่อมต่างจากคุณ  แต่เมื่อคุณก้าวออกไปจากที่เดิม ออกไปเป็นผู้ชม หรือเป็นโค้ช ยืนข้างสนาม คุณคิดว่าคุณเป็นโค้ชของนักกีฬาประเภทใดระหว่างบาสเกตบอลกับเทนนิส  กีฬาประเภทหนึ่งที่โค้ชตะโกนโวกเวกอยู่ข้างสนาม แนะนำนักกีฬาได้ตลอดเวลา แต่กีฬาอีกประเภทหนึ่งที่นักกีฬาต้องการสมาธิและทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสูงมากโดยโค้ชได้แต่เอาใจช่วยอยู่บนอัฒจรรย์ นั่งอยู่ด้วยความเชื่อที่ว่า "นักกีฬาของเราต้องทำได้"

ผู้เขียนเลือกเป็นโค้ชเทนนิส เลือกที่จะ "ตัดใจ" ลุ้นอยู่ข้างๆ สนาม ให้นักกีฬาเป็นพระเอกเต็มตัวเลย ผลเป็นอย่างไรค่อยมาคุยกันเมื่อจบเกมส์แล้ว  เพราะเชื่อว่าการฝึกฝนที่ผ่านๆ มาจะทำให้ นักกีฬาฝ่าฟันการแข่งขันไปได้ เปรียบดังคำกล่าวที่ว่า "การเตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง"  แต่การแพ้ชนะคงไม่ได้อยู่ที่โค้ชเพียงอย่างเดียว เพราะคุณก็คงต้องดูว่า "นักกีฬา" ของคุณนั้นเหมาะกับกีฬาประเภทใดด้วย ใช่หรือไม่   ในเมื่อสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแพ้ชนะนั้นมีหลายอย่าง ถามว่าแพ้หรือชนะสำคัญหรือเปล่า โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าผลของเกมส์แรกไม่สำคัญ แต่ผลสำหรับเกมส์ต่อๆ ไป สำคัญ หากไม่มีการพัฒนา ไม่มีการเรียนรู้จากเกมส์แรก เล่นด้วยวิธีการเดิมๆ ผิดพลาดที่จุดเดิมๆ ไม่มีการปรับปรุงตัวเอง  ส่วนนี้สำคัญกว่า เพราะฉะนั้นหากผู้เขียนเป็นโค้ช ก็แอบหวังลึกๆ ว่านักกีฬาของผู้เขียนจะเรียนรู้เพือทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นในเกมส์ต่อๆ ไป แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไร

คมขำ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1857เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2005 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท