การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (3.3) จบ


       วันนี้ขอเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 ซึ่งองค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริกเป็นเจ้าภาพต่อนะคะ (หลังจากที่เบี้ยวมา 3 วันแล้ว) ตอนจบของการเล่าเมื่อ 3 วันที่แล้ว อยู่ที่ อ.ธวัช ตั้งคำถามว่าตกลงจะเอาอย่างไร (เกี่ยวกับแผนและการดำเนินการ)

        วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง (จบ)

           อาจารย์พิมพ์ ยกมือขึ้นเพื่อขอสรุปสิ่งที่พูดคุยกันมาทั้งหมดว่า พิมพ์มองว่าตั้งแต่เมื่อกี้นี้ที่คุณอุทัยได้ให้นักวิจัยทั้ง 2 คน ช่วยมอง สะท้อน โครงการที่เสนอมา โดยส่วนตัวตัวเองไม่ได้มองแยกส่วน แต่มองเป้าหมายทั้ง 3 ข้อ คือ การบริหารจัดการ การขยายผล และการเชื่อมประสาน ก็อย่างที่บอกว่าผู้นำกลุ่มที่อาสามาทำงานตรงนี้เป็นผู้นำทางสังคมที่เป็นที่ยอมรับ มีศักยภาพ มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในการทำงาน แต่อาจต้องนำมาจัดการความรู้ เอามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนร่วมกัน ซึ่งกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันก็มาจาก

        1.จากการที่ไปแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ต่างๆ เมื่อเราไปร่วมประชุมกับทีมกลาง อย่างอีกไม่กี่วันนี้เราก็ต้องไปที่ตราดกัน สิ่งที่ก็เป็นสิ่งที่เอามาเสริมเติมเต็มสิ่งที่กลุ่มต้องการจะทำ เช่น กรณีของบ้านดอนไชย ที่พี่นกบอกว่า เมื่อไปดูงานที่สมุทรปราการมาแล้ว ก็เอาแนวคิดของที่นั่นมาเปิดร้านค้าสวัสดิการชุมชน เป็นต้น

        2.การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ก็เป็นการเรียนรู้ว่าแต่ละกลุ่มทำกันอย่างไร มีการบริหารจัดการอย่างไร ก็อย่างที่คุณสามารถ (ประธาน) บอกว่า ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละกลุ่มจะทำกันอย่างไร จะเอาไปปรับใช้อย่างไร เช่น จากการที่กำหนดว่ากรรมการต้องมีทั้งหมด 15 คน ก็สามารถนำไปปรับให้เหลือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อม ศักยภาพ ธรรมชาติ เอกลักษณ์ ของแต่ละกลุ่ม เป็นต้น หรืออย่างที่ไปกลุ่มป่าตันเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ละกลุ่มจะเห็นว่ากลุ่มป่าตันมีการจัดการอย่างไร มีชาร์ทแสดงข้อมูลต่างๆ มีที่ทำการเรียบร้อย จากห้องเล็กๆที่มีการผลิตน้ำผลไม้ใส่แก้วพลาสติก สร้างรายได้ขึ้นมา คิดว่าแต่ละกลุ่มคงไม่มีกลุ่มที่ที่ต้องการย่ำอยู่กับที่ คงจะเกิดการกระตุ้นเมื่อเห็นอย่างนี้ หรืออย่างมาที่แม่พริก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ความคืบหน้าของกลุ่มนี้

       นอกจากนี้แล้วในการประชุมเครือข่ายฯสัญจร หากผู้นำหรือใครที่ออกไปทำอะไรมา เช่น ออกไปขยายผล เป็นต้น แล้วได้ความคืบหน้าอย่างไร มีปัญหา มีอุปสรรคอย่างไร ก็มาเล่าสู่กันฟัง เอาปัญหามาคุยกันก็ได้ หรือถ้าไม่เข้าใจแผนที่ภาคสวรรค์ส่วนไหนก็สามารถเอามาถามไถ่กันได้ หรือถ้าเกินกำลังของผู้นำก็อาจประสานให้ประธานลงไปช่วยก็ได้ คิดว่ามีหลายรูปแบบ

       ในส่วนของการเชื่อมประสาน จากแผนก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่ามีการเชื่อมประสานกับหน่วยงานต่างๆอยู่แล้ว

       สำหรับการบริหารจัดการ คิดว่าแต่ละกลุ่มก็ทำกันอยู่แล้ว มีที่ทำการค่อนข้างชัดเจน ในส่วนของระบบบัญชีของกลุ่ม เราก็มีการอบรมคอมพิวเตอร์ไปแล้ว ถ้าทุกกลุ่มนำข้อมูลลงครบ บัญชีก็จะเป็นปัจจุบัน สะท้อนสถานการณ์ของกลุ่มได้ บางสิ่งที่เราทำไปแล้วก็ข้ามไป ไม่ต้องมาทำอีก เพียงแต่ติดตามว่าผลเป็นอย่างไร เมื่อมีปัญหาก็หาทางแก้ไข ดังนั้น ทุกส่วนจึงบูรณาการกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแยกส่วนกัน

       พี่นก ยุพิน กล่าวเสริมเมื่ออาจารย์พิมพ์กล่าวจบว่า เท่าที่ฟังอาจารย์พูด นกก็รู้ว่า ถ้าแต่ละกลุ่มพร้อมที่จะลงพื้นที่เพื่อขยายผล คิดว่าแต่ละกลุ่มก็มีประสบการณ์ มีบทเรียนสอนตัวเองอยู่แล้ว ปัญหา การแก้ปัญหาต่างๆก็คงจะรู้อยู่แล้ว เพราะ มีประสบการณ์ทำกันมาตั้งหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นเหมือนเราได้เรียนรู้ ได้อบรมทุกวันอยู่แล้ว ในส่วนของตัวชี้วัดนั้น อยากให้อาจารย์ลงพื้นที่แต่ละพื้นที่แล้วเข้าไปดูว่าตรงตามเป้าหมายหรือไม่ หรือต่ำกว่าเป้าหมาย หรือสูงกว่าเป้าหมาย

       คุณกู้กิจ ก็ช่วยเสริมต่อว่า หมายความว่าไม่ต้องเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง

       อาจารย์พิมพ์ บอกว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องงบประมาณ แต่มันเป็นเรื่องของใจ ความทุ่มเท เวลา ไม่ทราบว่าที่ประชุมเห็นว่ายังไงบ้างคะ?

       ประธาน พยายามสรุปว่า ตกลงที่ฟังมาได้ข้อสรุปหรือยังครับ ว่าจะเอายังไงกับงานที่ต้องทำภายใน 3 เดือน หรือ 6 เดือนนี้? ตกลงทำเวทีทุกเวที ทุกกลุ่มจะลงพื้นที่ภายในเดือนมีนาคมใช่ไหมครับ? แล้วอำเภอเมือง อำเภอเกาะคา ล่ะครับ? ตกลงเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปนะครับ ทำตามแผนที่วางไว้ ก็ลองดู จากนั้นประธานได้หันมาพูดกับผู้วิจัยว่า ให้ผู้วิจัยลองเสนอเรื่องเวลา เพราะ ถ้าทำไปเรื่อยๆเดี๋ยวจะไม่ทันตามกำหนด

       ผู้วิจัย จึงกล่าวว่า ประเด็นที่หนึ่ง ตัวเองกำลังคิดว่าในการทำงานเท่าที่แต่ละคนพูดมาทั้งหมดนั้นไม่ได้มีความขัดแย้งกัน แต่ความคิดอาจไม่ตรงกัน สำหรับประเด็นที่สอง ก็ต่อเนื่องกับประเด็นที่หนึ่ง คือ ความคิดที่ไม่ตรงกันอาจมาจากประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มองเห็นมุมที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าเราจับโจทย์ให้ดีๆ ถ้าเรามองการจัดการความรู้ใน 3 ระดับ คือ ระดับเครือข่าย ระดับกลุ่ม และระดับสมาชิก ตัวเองมีข้อเสนออย่างนี้นะคะ คือ เครือข่ายฯจังหวัดน่าจะเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ ตอนนี้ 5 กลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็น (หนู) ทดลองหรือเป็นอะไรก็ได้ให้กลุ่มอื่นๆเกิดการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น รูปแบบหรือแผนในการทำงานอาจเหมือนกันก็ได้หรืออาจไม่เหมือนกันก็ได้ แต่เวทีแห่งการเรียนรู้ ก็คือ เครือข่าย จะต้องเป็นเวทีให้ทั้ง 5 กลุ่มมานำเสนอว่าตัวเองทำไปแล้วเป็นอย่างไร ประเด็นตรงนี้โดยส่วนตัวเห็นว่าตอนนี้อาจพูดได้ไม่ชัดเจน เพราะ ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ อีกทั้งบางทีระยะเวลาสั้นๆ (การประชุมแต่ละครั้ง) บางทีเราก็คิดอะไรได้ไม่ทุกมุม ดังนั้น ในฐานะที่ทีมวิจัยมีอยู่ด้วยกัน 3 คน คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นบทบาทของทีมวิจัยอีกอย่างหนึ่งในการลงไปเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ (ไม่ใช่ชี้นำ) นะคะ ทีนี้ในกรณีนี้เรามีกันอยู่ 5 กลุ่ม รวมเครือข่ายฯด้วยก็เป็น 6 ถ้าสมมติว่าจะให้เราลงไปหมดในความเป็นจริงคงจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งที่ความจริงเราอยากลงไปหมด (และต้องลงไปทั้งหมดด้วย) จึงขอเสนอว่า น่าจะแบ่งไปเลย อย่างตอนนี้มีอยู่ 5 กลุ่ม รวมเครือข่ายด้วยเป็น 6 (หมายถึงทีมวิจัย 3 คน) นะคะ น่าจะแบ่งกันดูแลไปเลยคนละ 2 พื้นที่ เช่น ผู้วิจัยอาจช่วยดูเครือข่ายฯ กับ กลุ่มป่าตัน , อาจารย์พิมพ์ก็ช่วยดูอีกส่วนหนึ่ง , คุณสามารถก็ช่วยดูอีกส่วนหนึ่ง แล้วเราก็เอามาคุยกัน เป็นการทำงานไปพร้อมกัน คือ ตัวนักวิจัยก็จะได้อยู่ใกล้กับพื้นที่ด้วย และการที่ทีมวิจัยมาคุยกันก็เป็นการแชร์ Vistion ไปในตัวด้วย ก็จะรู้ว่าแต่ละส่วนไปถึงไหนแล้ว มันจะได้มิติความลึก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแบ่งแยกกันเด็ดขาดโดย ไม่ไปดูหรือไม่สนใจพื้นที่ที่ตัวเองไม่ได้ดูแล ที่เสนออย่างนี้ก็เพราะว่า คิดว่าเราน่าจะมีคนที่เป็นแกนหลัก แกนประสาน หรือพี่เลี้ยงให้แต่ละกลุ่ม เมื่อทำไปแล้วเราอาจจะพบ Model 5 แบบ หรือ 6 แบบเลยก็ได้ หรืออาจออกมารูปแบบเดียวก็ได้ ถ้าเราทำความเข้าใจเบื้องต้นตรงนี้แล้ว โดยเอาเครือข่ายและกลุ่มเป็นตัวตั้ง แล้วเรา 3 คนลงไปช่วยเขาตรงนี้ เขาจะคิดได้รอบด้านมากขึ้น ส่วนเรื่องงบประมาณ เราค่อยคุยกันอีกครั้งก็ได้ คิดว่าเรื่องนี้ยืดหยุ่นได้ เพราะ เครือข่ายฯ , กลุ่มก็อยู่ได้มา 5-6 ปีแล้ว โดยที่ไม่มีเงินจากภายนอกมาช่วยก็อยู่ได้        เมื่อผู้วิจัยพูดจบ ประธานจึงกล่าวสรุปว่า การจัดการในเรื่องทีมวิจัย

3 คนก็ลองแบ่งพื้นที่กันนะครับ เดี๋ยวเรา 3 คนก็คงจะต้องไปคุยกัน ส่วนในระดับพื้นที่คงเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2549 ทีนี้ต้องมาดูว่าในแต่ละโซน (อำเภอเมือง , อำเภอแม่ทะ , อำเภอเกาะคา , อำเภอเถิน , อำเภอแม่พริก) จะทำอะไรต่อไป อาจลองกลับไปคิดแผนของตัวเอง อาจลองยืนพื้นแผนที่คิดกันวันนี้ก็ได้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

       จากนั้น ประธานได้หันมาถามผู้วิจัยว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องได้แผนในวันนี้?

       ผู้วิจัยจึงตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้ถือว่าเราคุยกันในหลักการจนเข้าใจแล้ว ทุกคนจะต้องทำงานของตัวเอง อย่างตอนนี้ทีมวิจัยก็ต้องรู้ว่าตัวเองจะต้องมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง จะต้องดูแล กลุ่มไหน เครือข่าย ,กลุ่ม ก็ต้องรู้แล้วว่าตัวเองจะต้องทำอะไร

       พี่นก ยุพิน ได้กล่าวขึ้นมาว่า เอาอย่างนี้ได้ไหมค่ะ ถ้ากลุ่มไหนพร้อมให้ติดต่อทีมวิจัยได้เลยดีไหมคะ เราจะได้มาลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน ตอนนี้อาจารย์ปิดเทอมแล้วคงไม่มีปัญหาอะไร

       ผู้วิจัยจึงตอบกลับไปว่า อาจต้องทำตารางกัน อย่างที่พิจิตรเขาทำ เขาจะเอาแต่ละพื้นที่มาพูดคุยกันเลย แล้วมีคนที่ทำหน้าที่จัดตารางการทำงาน (ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ คือ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ซึ่งเป็นองค์กรพี่เลี้ยงของชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ จังหวัดพิจิตร) เช่น วันที่ 1 เวลา 18.00. ไปขยายพื้นที่ที่…… , วันที่ 2 เวลา………. ไป……….. เป็นต้น ถ้าเราทำตารางตรงนี้ขึ้นมามันจะง่ายมากเวลาทีทีมชุมชนกับทีมวิจัยทำงานร่วมกัน รวมทั้งถ้าเรามีตารางแน่นอน เวลามีหน่วยงานไหน หรือมีกลุ่มไหนอยากมาดูงาน เราจะสบายมาก คือ เราจะบอกได้ทันทีว่าถ้ามาวันนี้คุณจะต้องไปพื้นที่ไหน หรือ ถ้าอยากดูอะไร ต้องมาวันไหน มันจะไม่ฉุกละหุก ซึ่งแผนนี้อาจเป็นแผนรายเดือนก็ได้ ถ้าเป็นแผนรายอาทิตย์อาจสั้นเกินไป

       ประธาน กล่าวต่อจากผู้วิจัยว่า ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวเราคงต้องมาคุยกันว่าจะแบ่งกันอย่างไร ตกลงอย่างนี้นะครับ ในเรื่องของการคิดแผนก็ถือว่าลงตัว ได้ข้อสรุป ในส่วนของทีมวิจัย เดี๋ยวเราจะแจ้งว่าใครจะรับผิดชอบพื้นที่ไหน เพื่อให้แต่ละคนลงไปช่วยในเรื่องของการเขียน การบันทึก

       วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ค่ะ

       ป.. : หลังการประชุม ก่อนแยกย้ายกันกลับที่พัก ทีมวิจัยทั้ง 3 คนได้มาคุยกัน และได้ข้อสรุปในเรื่องการดูแลแต่ละพื้นที่ ดังนี้ค่ะ

       1.คุณสามารถ ดูแลพื้นที่กลุ่มนาก่วมใต้ (อำเภอเมือง) และ กลุ่มป่าตัน (อำเภอแม่ทะ)

       2.อาจารย์พิมพ์ฉัตร ดูแลพื้นที่กลุ่มเกาะคา (อำเภอเกาะคา)

       3.อาจารย์วิไลลักษณ์ ดูแลพื้นที่กลุ่มบ้านดอนไชย (อำเภอเถิน) และ กลุ่มแม่พริก (อำเภอแม่พริก)

       สำหรับในส่วนของเครือข่ายฯ รับผิดชอบร่วมกันค่ะ

     
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18528เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2006 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้มากเลยครับ

ผมพบว่า มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เช่น
นกจากกลุ่มเถินเรียนรู้จากสมุทรปราการนำมาเปิดร้านค้าชุมชน อ.อ้อมเรียนรู้จากพิจิตร นำแนวทางการจัดตารางทำงานมาเป็นตัวอย่างให้เครือข่ายพิจารณา
ทีมวิจัยช่วยชูธงหลักหรือเป้าหมายของขบวนการทำงานอย่าง   สม่ำเสมอ อีกทั้งช่วยแจกแจงธงย่อยตามรายทาง อีกทั้งบันทึกกระบวนการทำงานไว้ค่อนข้างละเอียด ถ้าได้ถ่ายทอดโดยการเรียนรู้จากงานในวิธีการดังกล่าวผ่านแกนนำให้เกิดทีมวิจัย/คุณอำนวยในกลุ่มแกน5พื้นที่เพื่อบันทึกการทำงานในกลุ่มและการทำกิจกรรมกับสมาชิกเช่นเดียวกับที่อ.อ้อม อ.พิมพ์และคุณสามารถทำในระดับเครือข่ายอยู่ในตอนนี้ เราก็จะมีเรื่องราวใน5พื้นที่มาบอกเล่าอย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ผมเห็นว่า การแบ่งความรับผิดชอบของทีมวิจัยใน5พื้นที่และรับผิดชอบร่วมกันในระดับเครือข่ายนั้นดีแล้ว และหากทีมวิจัยได้เสริมสร้างให้เกิดทีมวิจัยและคุณอำนวยย่อยในระดับกลุ่มทั้ง5กลุ่มดังกล่าว โดยมีคุณลิขิตอย่างน้อยทีมละ1คน(ซึ่งอาจจะจัดอบรมเรื่องนี้ขึ้นมา)ก็จะเป็นการเพิ่มพลังการเรียนรู้เป็นอย่างมาก

ถ้าเครือข่ายลำปางไม่ติดยึดรูปแบบเดิมๆมากเกินไป แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายชัดเจนเรื่องสวัสดิการและความเข้มแข็งของชุมชนก็จะสามารถสร้างนวัตกรรมการจัดการเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้เครือข่ายมีภูมิคุ้มกันพร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น

อ.อ้อม อ.พิมพ์และคุณสามารถคือผู้สนับสนุนสำคัญในบทบาทนักวิจัยจัดการความรู้ที่จะผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างดีที่สุด ขอเอาใจช่วยให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท