the_first_domino


การปฎิวัติประเทศไทยขั้นที่หนึ่ง

(ร่างบทความสำหรับเผยแพร่ในเว็บไซท์ของนรทุนรัฐบาล)

--------- ----------------------

บทความต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักเรียนทุนรัฐบาล แต่เป็นความคิดเห็นของนักเรียนทุนคนหนึ่งต่อการยกสถานะทางวิชาการของประเทศเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ ผมนำเสนอบทความนี้ต่อนักเรียนทุนเป็นกลุ่มแรกเพราะผมเห็นว่าสังคมนักเรียนทุนนี้เป็นสังคมวิชาการที่เข้มแข็งที่สุดสังคมหนึ่งของประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจ ความรู้ ประสบการณ์ และพันธมิตรที่หลากหลาย ท้ายสุดแล้วผมเชื่อว่าพวกเราต่างมีอุดมการณ์ลึกๆร่วมกันที่จะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เพื่อประเทศของพวกเรา

ผมเชื่อว่าพวกเราต่างเคยได้ยิน ได้อ่าน หรือได้คิดเล่นๆกันมาบ้างแล้วว่าอะไรคือปัญหาของการพัฒนาประเทศไทย บ้างก็โทษระบบการศึกษา บ้างก็อ้างสังคมอุปถัมภ์ บ้างก็ว่าขาดแคลนเงินทุน บ้างก็โยงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น แต่ละข้อที่ว่ามาล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และถูกพูดถึงมาหลายชั่วอายุคน น่าเสียดายที่ว่าข้ออ้างเหล่านี้กว้างเกินไป เป็นนามธรรมเกินไป

“ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่คน การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ตัวบุคคล”
ประโยคข้างบนเป็นเป็นจริงที่สุด และก็ถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็น Cliché ไป  “การแก้ปัญหาประเทศด้วยการพัฒนาตัวบุคคล” ถูกนำมาตีความหลายต่อหลายครั้ง แต่ส่วนมากคำตอบที่ออกมากลับนำไปใช้ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน
แก้ปัญหาที่ตัวบุคคลได้อย่างไร? อะไรควรจะเป็นบันไดขั้นแรกที่ควรทำ?
ที่ผ่านมาเรามักจะคิดถึง “พัฒนาตัวบุคคล” แบบ top down กับแบบ bottom up
แบบ top down คือแนวคิดที่ว่า ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ เป็นคนมีคุณภาพแล้ว ที่อย่างก็จะดีเอง เราฝันกันว่า ให้มี นายก รัฐมนตรี ปลัด อธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงาน เก่งๆดีๆทุ่มเทเสียสละ ลงมาจุติ เราภาวนากันให้คนที่มีอำนาจในมือจะกลับตัวกลับใจพัฒนาตัวเองกะทันหัน  …น่าเสียดายที่เราได้แค่ “ฝัน” กับ แค่ “ภาวนา” ลมๆแล้งๆ การจะ “พัฒนาคนบนจากบนยอดพีระมิด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอุปถัมภ์เป็นเรื่องยากสุดๆ…ข้อนี้ทุนท่านน่าจะทราบกันดี
แบบ bottom up คือแนวคิดที่ว่า เราควรจะเริ่มพัฒนาที่การศึกษาพื้นฐาน สร้างเด็กๆที่ เก่งและดี ขั้นมาเยอะๆ เราควรให้ความรู้กับคนระดับรากหญ้าที่เป็นประชากรส่วนมากของประเทศก่อน ถ้าประชากรส่วนใหญ่มีคุณภาพ ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า แนวคิดนี้ถูกเป็นอย่างยิ่งในระยะยาว
ผมขอย้ำว่า “ยาว”
ข้อแรก การจะเปลี่ยนแปลง “คนส่วนมาก” ของประเทศ และการปฎิรูปการศึกษาแบบยกเครื่องนั้นไม่สามารถทำได้ในห้าปีสิบปี นี่ยังไม่รวมไปถึงเวลาที่ต้องใช้กว่าฐานพีระมิดใหม่จะขึ้นไปเปลี่ยนระดับที่สูงๆขึ้น…ลองคิดเล่นๆนะครับว่าเด็ก ดีและเก่ง จะใช้เวลาเท่าไรถึงจะกลายเป็นรัฐมนตรีที่(ยัง)ดีและเก่งได้ ไม่น่าแปลกใจที่ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” จะอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาหลายฉบับแล้ว แต่เราก็ยังไม่เห็นผลงานสักที
ข้อสอง คนแต่ละคนมีอำนาจไม่เท่ากัน อันนี้เป็นความจริงที่เราไม่อาจปฎิเสธได้ อำนาจในที่นี่คือความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสี่งรอบตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคล เราไม่ปฎิเสธเรื่องความเท่าเทียมในคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่เราก็ยอมรับว่า รัฐมนตรีที่เก่งและดีหนึ่งคน ทำอะไรได้มากกว่า ชาวบ้านที่เก่งและดีหนึ่งคน การเปลี่ยนแปลงฐานพีระมิดจะไม่นำไปสู่การปฎิรูปประเทศในภาพรวม ตราบใดที่ดุลอำนาจของพีระมิดทั้งฐานยังเทียบไม่ได้กันชิ้นส่วนบนยอดไม่กี่ชิ้น
การพัฒนาฐานพีระมิดแบบค่อยเป็นค่อยไปจะนำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาว แต่ยังไม่ใช่กุญแจแห่งการปฎิรูป การปฎิรูปจะต้องสั้น ชัด การปฎิรูปจะต้องไม่มีคำว่า “เอาน่ารอไปก่อนเดี๋ยวก็ดีเอง” การปฎิรูปต้องจับต้องได้ เห็นได้ว่ามีอะไรดีขึ้นยังไง ท้ายสุดการปฎิรูปจะต้องจุดปฎิกริยาลูกโซ่ของความเปลี่ยนแปลงจะขับเคลี่อนประเทศไปข้างหน้าเต็มกำลัง

น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่ลืมคิดถึง การพัฒนาแบบ middle out –จากแกนพีระมิดออกไป
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - -
ความของคำว่า “กลางพีระมิด”ในที่นี้ต่างจากคำว่า “ชนชั้นกลาง”ที่นักสังคมศาสตร์ใช้กันอยู่เล็กน้อย ระดับชั้นของพีระมิดในบทความนี้จะเน้นไปที่เรื่อง อำนาจ ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่แวดล้อม จะด้วยพระเดชพระคุณ ยศ เงิน หรือความนับถือ อะไรก็ตามที “กลางพีระมิด”ที่ผมกล่าวถึงนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับจำนวนเงินในกระเป๋า อาชีพ การศึกษา หรือชาติกำเนิด
ชาว “กลางพีระมิด” ไม่ได้มีอำนาสิทธิขาดแบบพวกบนยอด ที่จะโยกคนนู้น ย้ายคนนี้ สร้างไอ้นู่น ทุบไอ้นี่ ได้ด้วยคำพูดไม่กี่คำหรือน้ำหมึกบนลายเซ็นไม่กี่หยด
แต่ ชาว”กลางพีระมิด”ก็ไม่ต้องดิ้นรนสุดๆเพื่อความอยู่รอด อย่างชาว “ฐานพีระมิด” ชาวกลางพีระมิดไม่ต้องใช้เวลาและพลังงานทั้งหมดที่ตัวเองมีกับ local problem พวกเขามีเวลาและพลังงานมากพอที่จะมองไกลออกไป…จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคนแต่ละสภาพแวดล้อม หลายคนเห็นปัญหาของท้องถิ่น หน่วยงาน องค์กร หลายคนคิด วิเคราะห์วิพากษ์ หลายคนมองไกลไปถึงทางแก้ไข …แต่เกือบทั้งหมดจะทำแค่มองกับพูดถึงนานๆครั้ง ด้วยความคิดที่ว่า
“เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ”
“ชั้นไม่ได้มีอำนาจอะไร”
“อย่างหาเรื่องใส่ตัวดีกว่า”
“ก้มหน้าก้มตาทำงานตัวเองไปให้ดีๆก็พอแล้ว..อย่างอื่นก็ทนๆเอาหน่อย”
“คนไม่กี่คนจะทำอะไรได้”
“ก็หวังว่ามันจะดีขึ้นซักวันละนะ”

…เริ่มเดาออกรึยังครับว่าใครกันบ้างอยู่ตรงกลางพีระมิด
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - -  - - -  - - - - -  - - - - - - - -- - - - - - - -  - - -- -  - - - -- - -- -
ชาว “กลางพีระมิด” ที่ผมกล่าวถึงประกอบด้วยคนหลายกลุ่มสังคม สถานะ และสาขาอาชีพ แต่ละคนก็มี “อำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลง” มากน้อยต่างกันออกไป ประเด็นอภิปรายในบทความชุดนี้ผมจะเน้นไปที่กลุ่มนักวิชาการไม่เพียงเพราะว่าเป็นชาว “กลางพีระมิด” ที่ผมรู้จักดีที่สุด แต่คนกลุ่มนี้ยังมีลักษณะที่น่าสนใจหลายๆอย่างประกอบกันที่ทำให้พวกเขาเป็นกุญแสำคัญในการปฎิรูป
นักวิชาการคืออะไร
นักวิชาการในที่นี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย คนจบดอกเตอร์ หรือ นักวิจัยมืออาชีพ นักวิชาการในที่นี้คลุมความหมายกว้างๆถึงคนที่ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ และเผยแพร่มันออกไปให้คนอื่นได้ใช้ มากกว่าจะเลี้ยงชีพด้วยการทำสิ่งที่เรียนมาซ้ำๆ ถ้าจะบังเอิญค้นพบอะไรใหม่ๆบ้าง ก็จำๆเอาไว้ใช้เองเท่านั้น ผมจะเรียกคนกลุ่มหลังว่า “นักวิชาอาชีพ”

ก๋วยเตี๋ยวกับนักวิชาการ
นักวิชาอาชีพเรียนวิชาทำก๋วยเตี๋ยวมาจากโรงเรียน ทุกๆวันเขาจะตื่นแต่เช้า ลวกเส้น ต้มน้ำซุป รอลูกค้าเข้าร้าน สายจนถึงบ่ายก็ทำก๋วยเตี๋ยวสารพัดชนิดตามสั่ง ตกเย็น ก็ปิดร้าน กลับบ้านนอนเอาเเรงรอวันใหม่
นักวิชาการเรียนวิชาทำก๋วยเตี๋ยวมาจากโรงเรียนเหมือนกัน แต่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ตระเวนไปตามร้านก๋วยเตี๋ยว เขาสังเกตว่าบางร้านลูกค้าเยอะบางร้ายลูกค้าน้อย เขาสังเกตว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวแต่ละร้านนุ่มเหนียวไม่เท่ากัน เขาสังเกตว่าบางร้านน้ำซุปหวานจัด บางร้านออมเปรี้ยว กับเค็มนิดๆ บางร้านจืดเป็นน้ำล้างตีน นักวิชาการคิดอยู่ว่าทำไมอย่างนั้น ทำไมอย่างนี้ เขาคุยกับนักวิชาอาชีพก๋วยเตี๋ยวบ้าง ถามลูกค้าบ้าง เปิดตำราบ้าง ลองทำเองที่บ้านบ้าง นานๆครั้งเขาก็ค้นพบสุดยอดวิชาลวกเส้น หรือ สุดยอดวิชาต้มน้ำซุป เขาก็จะมาออกมาเขียนตำราหรือไปเป็นที่ปรึกษานักวิชาอาชีพก๋วยเตี๋ยวแลกกับค่าตอบวิชาเล็กน้อย
คนส่วนมากรู้จักนักวิชาอาชีพ เพราะเห็นๆอยู่ว่าเป็นคนที่ยืนลวกๆต้มๆผัดๆก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าร้าน ถ้าร้านไหนอร่อยนักวิชาอาชีพก๋วยเตี๋ยวท่านนั้นก็จะดังมาก ตรงกันข้าม ไม่ค่อยมีคนรู้จักนักวิชาการก๋วยเตี๋ยว เพราะนักวิชาการก๋วยเตี๋ยวดูเหมือนพวกบ๊องๆที่ไม่มีงานทำ เดินไปเดินมาคุยกับคนนู้นทีคนนี้ที แถมพูดภาษาแปลกๆเข้ายาก อย่าง “ดัชนีความเหนียวของเส้นหมี่” หรือ “สัมประสิทธิ์ความหวานของน้ำซุป” อะไรพรรค์นั้น

ทำไมนักวิชาการจึงเป็นกุญแจสำคัญของการปฎิรูปจากแกนกลางพีระมิด?
นักวิชาการมีคุณลักษณะที่ผมเรียกว่า พวก”กลายพันธุ์ทางความคิด” คือคนพวกนี้คิดอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน เห็นอะไรที่คนอื่นละเลย และถามอะไรที่คนทั่วไปไม่ถาม พูดง่ายๆว่าคนกลุ่มนี้จะเพิ่มความหลากหลายของมุมมองให้สังคมในภาพรวม การปฎิรูป และการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีไอเดียใหม่ๆเข้ามาหล่อเลี้ยง
นักวิชาการยังมีคุณลักษณะอีกอย่างคือเป็นโรค “อั้นความคิดไม่อยู่”คือรู้แล้วต้องสอน ต้องแพร่ ต้องโต้เถียงพรีเซ้นต์ความคิด ดังนั้นเราไม่ต้องกลัวว่าพวกนี้จะอมความรู้ไว้ในปากและตายไปพร้อมกับมัน แนวคิดและการค้มพบจะเปลี่ยนโลกได้ก็ต่อเมื่อมันได้ถูกเผยแพร่และนำไปใช้โดย นักวิชาอาชีพ


เหตุผลพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดถึง อำนาจแห่งการปฎิรูป จากนักวิชาการก็เพราะความรู้สึกที่ว่านักวิชาการส่วนมากไม่ได้มีผลงานอะไรที่จับต้องและนำไปใช้ได้ ความรู้สึกที่ว่านักวิชาการอยู่แต่กับโลก “วิชาการ”ลอยๆ อ้างตำราแล้วพล่ามอะไรไร้สาระ ไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนน้อยเหลือเกินเชื่อว่าการสนับสนุนนักวิชาการเป็นไร้ประโยชน์ เทียบกับการสนับสนุน นักวิชาอาชีพ
อย่างน้อยนักวิชาอาชีพก็ทำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงพวกเราได้ทุกวัน

…ถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงเดาว่าผมคงจะเริ่มพร่ำพรรณนาถึงความสำคัญของ วิชาการและการวิจัย  ต่อด้วยบทความวิงวอนของบ ขอการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นเดียวกับหลายๆบทความที่ท่านเคยอ่านมา

…บทความนี้มีอะไรที่มากกว่านั้น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - -  - - - - - - - -- - - -  - - - -  - - -  - - -  --  - - - - - -  - -  -- - - - - -  -
ปัญหาของการปฏิรูปโดยนักวิชาการคล้ายๆกับปัญหาโลกแตกเรื่องไก่กับไข่นั่นล่ะครับ
เก้าในสิบของนักวิชาการที่ผมรู้จักเคยบ่นว่า จะทำงานวิชาการที่ก่อประโยชน์ได้ยังไงถ้าไม่มีใครสนไม่มีคนสนับสนุน อุปกรณ์ก็ไม่มี เงินทุนก็ไม่มา ทำงานปิดทองหลังพระทั้งชาติ
เก้าในสิบของคนที่ไม่ใช่นักวิชาการที่ผมรู้จักเคยบ่นว่า งานวิชาการไม่มีอะไรมากไปกว่าเขียนตำรากับสอนหนังสือ งานวิชาการร้อยชิ้นเอาไปใช้จริงได้สักชิ้นก็เก่งแล้ว สู้เอาเงิน เอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นดีว่าไหม มีปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้าในประเทศกำลังพัฒนานี้ที่เร่งด่วนกว่านั้น สาหัสกว่านั้น
ปัญหาคือคนไม่เชื่อในพลังของนักวิชาการ หรือ ปัญหาคือนักวิชาการเราขาดพลังจริงๆ?
…หรือทั้งสองอย่าง?

ถ้าจะกล่าวถึงทางแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดินก็คงพูดได้ง่ายๆด้วยประโยคคลาสสิกว่า
“ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันและช่วยกันแก้ไขจากมุมของตัวเองออกมา”
แต่ก็อีกนั่นแหละ ไอ้คำว่า “ทุกฝ่าย”นี่มันหลายฝ่ายเกินไป จะเหมารวมเอารัฐบาล ข้าราชการ เอกชน สื่อมวลชน ประชาชน คนโน้น คนนี้ ให้ บังเกิดสปิริต เข้ามาร่วมมือกันโดยไม่ได้นัดหมายนี่ท่าจะยากยิ่งกว่ายาก ประโยคสวยๆข้างบนนี้เลยเอาไว้พูดเล่นๆเท่านั้น
คนส่วนมากเชื่อว่าการปฎิรูปเริ่มขึ้นเมื่อคนกลุ่มใหญ่เปลี่ยนแปลงไป…เมื่อทุกฝ่ายเปลี่ยนแปลงไป
ผมเชื่อว่านั่นเป็น “ผลลัพธ์” ไม่ใช่ “จุดเริ่มต้น” ของปฎิรูป
การปฎิรูปต้องเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆที่มีไอเดียใหญ่ๆ
 …คนกลุ่มเล็กๆที่รู้ว่าโดมิโน่ตัวแรกของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ไหน

การปฎิรูปประเทศจะเริ่มจากกลางพีระมิดแห่งอำนาจ
การปฎิรูปกลางพีระมิดจะเริ่มจากสังคมวิชาการ
การปฎิรูปสังคมวิชาการจะเริ่มจากนักวิชาการไม่กี่คน
…ที่รู้ว่าอะไรที่ต้องปฎิรูปก่อน และ สามารถปฎิรูปได้เป็นอย่างแรก
…อะไรคือโดมิโนตัวเเรกของการปฎิรูป?
- -- - - - - - -- - - - -- - - - - --- - - -- --- - - - - -  -- - - - --  - - - - - -  -- - -

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18460เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2006 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     "การปฎิรูปต้องเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆที่มีไอเดียใหญ่ ๆ" ผมชอบจังเลย อ่านแล้ว ผมรู้เลยว่า สังคมเราน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดี ๆ แน่ ในอีกไม่นานนี้ รับรู้อย่างนั้น และเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า "คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก" การได้พยายามทำไปจากจุดเล็ก ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ จึงไม่น่าจะผิด หรือว่าผิด...อีกแล้วครับ! (ยิ้ม)

"...อะไรคือโดมิโนตัวแรกของการปฏิรูป..."

"จิตและใจ"...ของความเป็น "มนุษย์"..ของเราไงคะ
ดิฉันเชื่อและศรัทธาอย่างนั้น...เพราะนั่นเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
ที่ทำให้เรา..ก้าวพ้นบททดสอบ...แห่งชีวิต..ได้
หาก "จิตและใจ"...ใฝ่ในเรื่องใด...
ย่อมสะท้อนถึงจิตวิญญาณที่มุ่งมั่น...แห่งการเริ่มต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท