scenario ความ (ไม่) มั่นคงของมนุษย์


ทำไมอยู่ห่าง ๆ กันแล้วกลับมีความสุขกว่า

ฟ้าครับ

พวกเราที่ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีฯ มักจะสนใจและคอยสอดส่องสังเกตว่า มีใครบ้าง ที่ใช้กระบวนการมองอนาคต แบบที่พวกเรามักใช้กัน เช่น การฉายภาพเหตุการณ์อนาคต การทำโร้ดแมป ฯลฯ

เมื่อมาอ่านพบจากข้อเขียนของคุณหมอสมศักดิ์ (ดู ความมั่นคงมนุษย์) ทราบว่า กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กำลังทำภาพฉายเหตุการณ์อนาคต (scenario) ในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ก็เลยเกิดความสนใจ ว่าเขาทำกันอย่างไร ได้อะไรออกมาบ้าง ...

ศึกษาดูจากเอกสาร รายงาน สักพักหนึ่ง ในที่สุดก็เลยตัดสินใจเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยตรง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ท่านผู้นั้นก็คือ ผอ. สุวินัย วัตตธรรม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งท่านก็ดีเหลือหลาย ตกลงรับคำเชิญ ให้เกียรติมาเล่าให้เราฟังเรื่องงานของท่าน พร้อมทั้งผู้ช่วยสาวสวยอีกหนึ่งท่าน ชื่อคุณสนธยา

ก็อย่างที่คุณหมอสมศักดิ์ท่านได้สรุปไว้ให้ฟังแล้วครับ คืองานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เขามีขอบเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ามหาสมุทรแปซิฟิก คิดดูง่าย ๆ ก็แล้วกันว่า คำว่าความมั่นคงของมนุษย์ กว่าจะตีความหมายออกมาได้ ก็ต้องใช้ตัวชี้วัดถึง 10 มิติ รวมแล้วเกือบร้อยตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์

แต่ละตัวชี้วัดก็พยายามจะเจาะลึกเข้าไปหาเนื้อแท้ หาความเป็นจริงของสภาพความมั่นคงของชีวิต แต่ยิ่งเจาะลึกมากเท่าไร ก็ยิ่งวัดยากเท่านั้น แต่ถ้าตัวชี้วัดไม่เจาะลึก ถึงจะวัดง่ายก็ไม่บอกอะไรเท่าไหร่นัก นอกจากนี้กลายเป็นว่าหลาย ๆ เรื่องเป็นการชี้วัด "ความสุข"

เรื่องนี้มีัการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชนิดมองต่างมุมเล็กน้อย เช่น ถกกันว่าการนับเวลาที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากัน ถือว่าเป็นการวัดความสุขในครอบคร้ัวได้จริงหรือไม่ (ถ้าอยู่แล้วตีกัน) หรือถ้าอยู่บ้านกันหมดแต่อยู่คนละห้องถือว่าพร้อมหน้าหรือไม่ (บางทีต้องโทร.คุยกัน) หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์กับคนในครอบครัวว่า อยู่ห่าง ๆ กันแล้วกลับมีความสุขกว่า คอยแสดงความคิดถึง ความห่วงใยผ่านทางอีเมล์ หรือการ chat กลับทำให้รู้สึกดีกว่าอยู่ด้วยกัน แล้วต้องขัดใจกันบ่อย ๆ ก็มี

หรือความถี่ในการปฏิบัติศาสนกิจ หมายถึงการมีความสุขจริงหรือ (ถ้าติดอยู่ที่รูปแบบ ไม่ได้เข้าถึงจิตวิญญาณ) อันนี้ก็แล้วแต่จะคิดล่ะครับ

จากนั้นก็เลยขอต่อความรู้ในเรื่อง scenario ของทางกระทรวงฯ ได้ทราบว่าเขามีความตั้งใจที่จะใ้ช้ scenario เป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจว่า จะเลือกมุ่งเป้าลงไปทำงานในเรื่องที่ยังเป็นพื้นที่ว่าง ที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนดูแลเป็นพิเศษ หรือควรจะดูแลให้ครอบคลุมไปเสียทั้งหมดทีเดียว และควรจะเลือกทำเรื่องไหนก่อน เรื่องไหนหลัง ซึ่งดูเหมือนกระทรวงฯ กำลังเริ่มเดินไปในทิศทางที่ค่อย ๆ มั่นใจมากขึ้นแล้ว ส่วนตัว scenario ก็คงจะต้องได้รับการพัฒนาต่อไป

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยังทำให้รู้อีกว่า ในความเหมือนมีความแตกต่าง เช่น แนวทางการทำ scenario ของกระทรวงฯ จะเน้น (หรืออย่างน้อยได้รับคำแนะนำให้เน้น) ที่อนาคตอันมีความแน่นอน (trend) มากกว่าสิ่งที่ไม่แน่นอน ในขณะที่พวกเราที่ศูนย์ฯ พยายามมองไปที่ "ความไม่แน่นอน (uncertainty)" เป็นหลัก เพราะเชื่อว่า ตรงนั้นคือจุดบอดสำคัญของการวางแผนแบบทั่ว ๆ ไป และเป็นส่วนที่ควรได้รับการดูแล เพื่อให้เราพยายามมองหาทางลดความเสี่ยง

ในเรื่องนี้ก็อาจจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว คงแล้วแต่จุดมุ่งหมายว่า ผู้จัดทำกระบวนการต้องการเห็นอะไร ทำไปเพื่ออะไรมากกว่า

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันแบบนี้ พวกเราจัดกันอยู่เป็นประจำ และพยายามทำให้สม่ำเสมอ ใช้คำเรียกกิจกรรมนี้ว่า Foresight Thinking Club ถ้าใครสนใจจะมาร่วมวงสนทนากันก็ยินดีนะครับ สำหรับครั้งที่ผ่านมานี้เราเป็นฝ่ายได้เรียนรู้มาก และแน่ใจว่าจะได้กลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอีกแน่นอน พวกเราขอบคุณผอ. สุวินัยและคุณสนธยามา ณ ที่นี้ด้วยครับ

คำสำคัญ (Tags): #มองอนาคต#foresight#scenario
หมายเลขบันทึก: 18452เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2006 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พอดี... ผมมีส่วน "สร้างและพัฒนาตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์" ในปีแรก... ไว้เจอกันจะหยิบเล่มไปฝากครับ ความมั่นคงของมนุษย์บางข้อ จะตอบคำถามตาม แถบเหลืองได้

ขอบคุณคุณสังคมนะครับ แล้วเมื่อไหร่จะได้เจอกันหนอ... (ไม่ใช่ว่าอยู่ห่างกันแล้วมีความสุขมากกว่านะ อิอิ)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท