J.D. หรือเจดีย์


ที่จริงก็ไม่ผิดนักถ้าเราจะเรียก J.D. ว่าเจดีย์ ก็กว่าจะก่อฐานรากเป็นเจดีย์ ก็ต้องการความร่วมมือร่วมใจของทุกส่วนในหน่วยงานเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนบริจาค (ฝ่ายจัดสรรงบประมาณ) สถาปนิกและวิศวกร (ฝ่ายบริหาร) ผู้คุมงาน (หัวหน้าฝ่าย/หัวหน้างาน) แรงงาน (ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาต่างกันไป) รวมถึงคนให้กำลังใจและรอคอยเจดีย์ที่สวยงาม (ผู้ใช้บริการ)

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นมากมายในหมู่สมาชิกห้องสมุด บางสิ่งอยากจำเราก็บันทึกไว้กันลืม บางสิ่งอยากลืมเราก็ควรลบทิ้งไป

สิ่งหนึ่งที่อยากบันทึกไว้ก็คือ การทำ Job Description ของห้องสมุด หลังจากไปอาบเหงื่อต่างน้ำที่ ธารทองรีสอร์ต มา 2 วันเพื่อทำแผนกลยุทธ์และปรับพื้นฐานความรู้เรื่อง Balanced Scorecard ให้ตรงกันแล้ว เราก็มาทำ Job Description กันต่อในมหาวิทยาลัย คำว่า Job Description เราเรียกสั้นๆ ว่า J.D. ซึ่งพ้องเสียงกับ เจดีย์ (มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณธนพร ชวนคุยเรื่อง J.D. ดิฉันถามว่า วัดไหน 555 และเดาว่าคงมีคนเข้าใจผิดบ่อยๆ เพราะวิทยากรก็พูดถึงมุกนี้เช่นกัน)  

การคุยเรื่อง J.D. ในกลุ่มพวกเราชาวห้องสมุด มักเป็นช่วงทานข้าวกลางวันด้วยกัน และคุณธนพร มักจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการพูดคุย ด้วยความห่วงใยในสถานภาพของห้องสมุดที่จะเป็นไปในสังคมสารสนเทศท่วมท้น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคนทำงาน ประกอบกับ โครงสร้างการทำงานของเรายังมองเห็นช่องโหว่หลายประการ เมื่อมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องนี้ เราจึงกระตือรือร้นที่จะรับรู้และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่โดยเฉพาะความรู้จาก วิทยากร ดร. มะลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ ซึ่งเป็นผู้ทรงความรู้ด้านการประกันคุณภาพห้องสมุดโดยตรง

ถามว่า เราได้อะไรจากการอบรมครั้งนี้ ดิฉันมองเห็นว่า พวกเราหลายคนเริ่มเข้าใจตรงกันมากขึ้น ถึงความมุ่งหมายของการทำ J.D. เพื่อให้องค์กรของเราตอบรับกับการมุ่งสู่องค์กรที่มีการทำงานที่ทรงประสิทธิภาพ (ซึ่งนั่นหมายถึงการอยู่รอดของคนทำงานด้วย) น้องๆ หลายคนที่ในอดีตอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในงานก็กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นเพราะจะมีใครรู้จักงานที่ทำดีเท่าเจ้าของงานเอง ทำให้เรามีเรื่องแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นและสนุกกับการปฏิบัติงาน ก่อนนำเสนอแก่ที่ประชุมให้รับรู้และแลกเปลี่ยนกันในเวทีใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยสมานฉันท์

น่าเสียดายที่เรามีเวลาแลกเปลี่ยนกันน้อยไปนิดนึง หลายๆ คนกำลังอยากแสดงความคิดเห็นต่องานที่ตนได้รับมอบหมายว่าตรงกับความสามารถ ตรงกับฝ่าย/งาน ที่ตนสังกัดหรือไม่ และอยากรับรู้มุมมองและข้อชี้แนะจากวิทยากรก็หมดเวลาเสียแล้ว หลังจากนั้น จึงได้ยินหลายคนบ่นคล้ายๆ กันว่า น่าจะคุยกันเรื่องนี้ให้จบ ด้วยเหตุผล ต่างๆ เช่น การตีเหล็กยามร้อน ของคุณอิงจันทร์  การมองเห็นเป้าหมายแค่เอื้อมแต่มีอุปสรรคเรื่องเวลา ของคุณขวัญตระกูล  ส่วน คุณกนกอร ก็ให้ความเห็นว่า รู้สึกสนุกและอยากคุยต่อ เพราะว่ารู้สึกว่ามีประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในการปรับปรุงระบบการทำงานและใกล้ตัวและเห็นผลชัดเจน เป็นต้น ส่วนตัวดิฉันแล้วอยากให้มีการนำมาปฏิบัติจริงให้เร็วที่สุดเพราะถ้าสำนักหอสมุดของเรามีโครงสร้างและเป้าหมายชัดเจน ทุกกคนทราบหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งทราบปัญหาและวิธีแก้ปัญหาในงานของตน การทำงานของเราจะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออนาคตของเราอย่างแน่นอน

ที่จริงก็ไม่ผิดนักถ้าเราจะเรียก J.D. ว่าเจดีย์ ก็กว่าจะก่อฐานรากเป็นเจดีย์ ก็ต้องการความร่วมมือร่วมใจของทุกส่วนในหน่วยงานเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนบริจาค (ฝ่ายจัดสรรงบประมาณ) สถาปนิกและวิศวกร (ฝ่ายบริหาร) ผู้คุมงาน (หัวหน้าฝ่าย/หัวหน้างาน) แรงงาน (ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาต่างกันไป) รวมถึงคนให้กำลังใจและรอคอยเจดีย์ที่สวยงาม (ผู้ใช้บริการ)

หวังว่าเราจะมี เจดีย์ที่มีฐานรากมั่นคงและยั่งยืน จะสวยงามคู่มหาวิทยาลัยของเราตลอดไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 18442เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2006 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
      ผมอยากเสนอแนะให้เราทำกิจกรรม J.D. โดยใช้วิถีของ KM อีก ถ้าไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรมากมาย ผมว่าเราอาจชวนคุณกิจ ในฝ่ายบริการตัวจริงร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยใช้ KPI ของ หอสมุดเป็นตัวตั้ง แต่ที่สำคัญผมว่า เหมือนที่คุณหมอประเวศพูดไว้ คือการยอมรับนับถือในตัวคนต่างหากที่จะทำให้ kM ประสบความสำเร็จ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท