เมล็ดเทียมกล้วยไม้ (Artificial seed of orchid)


เมล็ดเทียมกล้วยไม้

เมล็ดเทียมกล้วยไม้ (Artificial seed of orchid)
เทคโนโลยีอาหารและการเกษตร

            ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม หนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ คือเรื่องของการทำเมล็ดเทียมซึ่งอาจฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับบางท่านที่เพิ่งเคยได้ยิน หรือเป็นเรื่องที่หลายท่านเคยได้ทราบมาบ้างแล้ว คำว่า เมล็ดเทียม (Artificial seed หรือ Synthetic seed) แปลตรงตัวก็คือเมล็ดที่ไม่ใช่เมล็ดจริงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการเลียนแบบเมล็ดพืชที่ได้จากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเมล็ดเทียมนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนได้แก่ (1) เอ็มบริโอหรือ ต้นอ่อน (2) เอ็นโดสเปิร์มเทียม (Artificial endosperm) ที่สร้างขึ้นมาแทนเอ็นโดสเปิร์มของเมล็ด เพื่อให้อาหารแก่เอ็มบริโอหรือต้นอ่อน (3) เปลือกหุ้มเมล็ดเทียม (Artificial seed coat) ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับเอ็มบริโอหรือต้นอ่อน การผลิตเมล็ดเทียมนั้นมีข้อดีในแง่ของการเก็บรักษาพันธุ์พืช ประหยัดเวลาการย้ายเลี้ยงในหลอด

ทดลองประหยัดพื้นที่ในการเก็บรักษา และสะดวกในการขนส่ง
                   ในต่างประเทศได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดเทียมนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 มีงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นเมล็ดเทียมกล้วย โสม มะละกอ เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากในระดับหนึ่ง หากพูดถึงการทำเมล็ดเทียมในประเทศไทยนั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก

ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงการทำเมล็ดเทียมกล้วยไม้ ซึ่งถือเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้ทั้งที่เป็นพันธุ์แท้ดั้งเดิมและลูกผสม อยู่มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย ฟาแลนนอบซิส แคทลียา หรือรองเท้านารี ดังนั้นเมล็ดเทียมกล้วยไม้หนึ่งเมล็ดจะประกอบด้วย ต้นอ่อนกล้วยไม้หรือที่เรียกว่า โพรโทคอร์ม (Protocorm) และอาหารเลี้ยงต้นอ่อนหรือเอ็นโดสเปิร์ม

              วิธีการทำเมล็ดเทียมกล้วยไม้    จะเริ่มจากการใช้สารควบคุมความเหนียวข้น เช่น  โซเดียมแอลจิเนต (Sodium alginate) ละลายในอาหารสังเคราะห์สูตรที่นิยมใช้ในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในหลอดทดลองเช่น สูตร VW หรือ MS จากนั้นนำโพรโทคอร์มมาใส่ในสารละลายโซเดียมแอลจิเนต แล้วดูดสารละลายโซเดียมแอลจิเนตโดยให้มีโพรโทคอร์มติดมาด้วย นำไปหยดลงในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride) จะเกิดการฟอร์มตัวเป็นเมล็ดกลมมีเปลือกหนาแข็งแรงหุ้มโพรโทคอร์ม ซึ่งเมล็ดเทียมกล้วยไม้ที่ได้สามารถนำไปเพาะให้เจริญเป็นต้นกล้วยไม้ที่สมบูรณ์ หรือเก็บรักษาไว้ในที่แห้งและอุณหภูมิต่ำได้เป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 184214เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับที่มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ๆแบบนี้

ผมอยากได้รายละเอียดเพิ่มขึ้น ใครมีช่วยส่งต่อด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ [email protected]

ยินดีที่มีคนสนใจเรื่องนี้นะคะ แต่น่าจะเขียนอ้างอิงไว้สักหน่อยนะคะว่า copy มาจากไหน ใครเป็นคนเขียนบทความน่ะคะ

 

นิอร คงประดิษฐ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท