จุดเริ่มต้นในการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร


จะทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้การจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรเกิดเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้

                " การจัดการความรู้ หรือ KM คืออะไร และทำอย่างไร ?"

                 ข้อความข้างต้นนั้น น่าจะเป็นคำถามยอดฮิต หรือเป็นข้อฉงนสงสัยของคนส่วนใหญ่ ที่ยังไม่เคยรู้จักหรือสัมผัส KM  มาก่อน  ซึ่งยอมรับว่าตัวเองเคยมีคำถามในใจอย่างนั้นมาก่อนเช่นเดียวกัน และยังคิดต่อไปอีกว่า ก็คงจะเหมือนเครื่องมือตัวอื่นๆ  ที่หน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรของเราด้วย ที่นำมาใช้ตามกระแสในช่วงนั้นๆ  แล้วก็ค่อยๆ จางหายไป  และเมื่อมีเครื่องมือตัวใหม่ๆ ออกมาตามกระแสโลกาภิวัฒน์ เราก็ต้องรีบวิ่งตามคว้าจับมาใช้  เพื่อให้ไม่ตกยุคตกสมัยเท่านั้นเอง  

                  แต่เครื่องมือ KM ตัวนี้ มาแปลกกว่าเครื่องมือตัวอื่นๆ  ซึ่งเราจะไม่นำมาใช้คงไม่ได้ โดยเฉพาะในหน่วยราชการต่างๆ  เพราะเป็นภาคบังคับ ของ กพร. เป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่ง ที่อยู่ในคำรับรองผลการปฏิบัติงานของหน่วยราชการ มาตั้งแต่ ปี 2547  โดยในตัวชี้วัดนี้ ระบุว่า ให้หน่วยงานราชการ มีการบริหารองค์ความรู้ในองค์กร  โดยมีวัดจากผลผลิต 3 ข้อ คือ  1. ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความรู้ในองค์กร 2. ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารความรู้ในองค์กร และ 3. ให้มีการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างน้อย 5 หลักสูตร

                 ซึ่งในปี 2547 สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบตัวชี้วัดนี้   และสำนักฯ ก็ได้มอบหมายให้ดิฉันเป็นผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดนี้อีกต่อหนึ่ง  จำได้ว่า ในตอนนั้น  รู้สึกหนักเหมือนแบกก้อนหินก้อนใหญ่ไว้คนเดียว..เพราะว่าเป็นเรื่องใหม่..  มึนงงมาก...  การบริหารองค์ความรู้ คืออะไรกันนะ  แล้วทำอย่างไรละ  คิดว่ามันเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ยากมาก เป็นนามธรรม ไม่น่าจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้เลย โดยเฉพาะในหน่วยราชการ  ที่ผ่านๆ มา เราเคยได้รับรู้แต่คำว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และวินัย 5 ประการของนาย Peter Senge    ซึ่งก็คิดว่าเป็นเพียงทฤษฎีเสียมากกว่า มองไม่เห็นว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้  ก็มึนงง อยู่พักหนึ่ง..

                  ต่อจากนั้น ดิฉันก็มาตั้งสติ และตั้งหลักใหม่  โดยเริ่มต้นจากทำการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองก่อน ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้เรื่อง KM จาก เว็บไซด์ หนังสือ เอกสารวิชาการต่างๆ ที่ผู้รู้ได้เขียนไว้ อย่างจริงจัง เพื่อศึกษาถึงแนวคิด  วิธีการ ของ KM  และศึกษาว่ามีที่ไหนทำมาแล้วบ้าง เขาทำกันอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเองครั้งนั้น ทำให้ดิฉันได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง KM มากขึ้น  แต่ก็ยังไม่มั่นใจนัก ยังขาดในส่วนของการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง...           

                  หลังจากนั้น ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง การจัดการความรู้ ที่ กพร. จัดขึ้นเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2547 ถ้าจำไม่ผิด ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี รังสิต กรุงเทพฯ ซึ่งจากการสัมมนาฯ ในครั้งนั้น ได้มีโอกาสฟังการบรรยายเรื่อง KM จาก อ. หมอวิจารณ์    พานิช และ อ.ดรประพนธ์ ผาสุขยืด ที่เป็นวิทยากรในครั้งนั้นด้วย ก็ทำให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง KM มากขึ้น  แต่ก็ยังไม่ปิ๊งแว๊บ... เพราะยังไม่ได้ทำจริง...  

                  อย่างไรก็ตาม ในปีแรก ดิฉันก็พยายาม จัดทำคำรับรองผลการปฏิบัติงาน สำหรับตัวชี้วัดนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยคะแนนเต็ม 5 ขอบอก..ไม่ใช่เพราะเก่งกาจอะไรหรอกคะ  แต่เพราะในปีแรก กพร. ยังไม่วัดผล ถึงการปฏิบัติ  คงคาดหวัง เพียงการกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ได้รู้จักการบริหารความรู้ในองค์กร โดยวัดจากผลผลิต 3 ข้อที่กล่าวมาแล้ว    ถ้าทำได้ 3 ข้อนี้ ก็ได้คะแนนเต็มแล้ว ยังไม่ลงลึกถึงการปฏิบัติงานตามแผน   จึงทำให้สามารถผ่านตัวชี้วัดนี้มาได้ด้วยความโล่งอกของตัวเอง และเหมือนได้ยกก้อนหินหนักๆ ที่แบกไว้ มาตั้งแต่รับผิดชอบตัวชี้วัดตัวนี้ ลงได้.......(เหมือนรูปคนแบกก้อนหินในสไลด์ของ อ.ประพนธ์  เลยคะ)

                  เมื่อผ่าน ปี 47 มาแล้ว ดิฉันก็ยังอดคิดห่วงกังวล (ตามประสาคนขี้กังวล) ไปถึงในปีต่อไป (ปี 2548) ไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้การจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรเกิดเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ เพราะในปี 2548  กพร. จะวัดผลถึงการปฏิบัติงานตามแผนฯ ที่วางไว้แล้วนะ  จะวางแผนการทำงานกับตัวชี้วัดนี้อย่างไรดี จึงจะขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้ของกรมฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้... 

                   โดยสรุปจุดเริ่มต้นในการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 47 นับเป็นประสบการณ์ก้าวแรก ที่ทำให้ดิฉันได้รู้จัก   KM  และขอบอกว่า...ดีใจที่ได้รู้จัก.. 

            

           

           

 

 

 

 

 

 

 

                                                                                           

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18416เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2006 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
           ทำไป...เรียนรู้ไป  ยิ่งทำยิ่งรู้ ยิ่งทำยิ่งเห็นนะครับ   กำลังรออ่านตอนต่อไปอยู่ครับ

เป็นน้องใหม่ฝึกเขียน ยินดีรับการ ลปรร.จากทุกท่านค่ะ 

ไพโรจนฺ ลิ้มจำรูญ
แวะมาแล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท