การช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง โดยเทคนิคทางรังสีในยุคเศรษฐกิจพอเพียง


รังสีร่วมรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง

การช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง โดยเทคนิคทางรังสีในยุคเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

สราณัฐ จันทร์เพ็ญมงคล
สมชาติ มาศรี
รัชนีย์ คนใหญ่
นันทนา แก้วเพชร
กนกพร บุญยัง
นรา แววศร             พ.บ.
เสาวณีย์ ศรีรัตนพงษ์ พ.บ.
ชัยพร กันกา            พ.บ.
ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ


สราณัฐ จันทร์เพ็ญมงคล, สมชาติ มาศรี, รัชนีย์ คนใหญ่ และคณะ. การช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโดยเทคนิคทางรังสีในยุคเศรษฐกิจพอเพียง.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(1) : 1-8

คำนำ
ศูนย์มะเร็งลพบุรี จังหวัดลพบุรี ได้เปิดบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งทางด้านศัลยกรรม รังสีรักษา และเคมีบำบัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยมีเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ,สระบุรี ,สิงห์บุรี ,อ่างทอง ,ชัยนาท ,ชัยภูมิ , เพชรบูรณ์ ,อุทัยธานี ,สุพรรณบุรี ,พิจิตร ,นครสวรรค์ และกำแพงเพชร โดยมีเตียงเริ่มรับผู้ป่วยครั้งแรกเพียง 30 เตียง แต่ได้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับจนปัจจุบันมีเตียงรับผู้ป่วยภายในได้ถึง 164 เตียง มีแพทย์ประจำ 12 ท่าน และแพทย์ที่ปรึกษา 15 ท่าน

ตั้งอยู่เลขที่ 11 ถนนพหลโยธิน ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สังกัดสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เหตุผลและที่มา
ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคมะเร็งทวีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป และผู้ป่วยส่วนใหญ่ในชนบทยังขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก ดังนั้น การบำบัดรักษาจึงเป็นแบบการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นการรักษาอีกรูปแบบหนึ่งที่จำเป็น สำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการของศูนย์มะเร็งลพบุรี ซึ่งส่วนมากมารับการรักษาเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว

นับตั้งแต่งานด้าน “ รังสีร่วมรักษา ” (Interventional Radiology) ได้เริ่มเข้ามามีบทบาททางด้านรักษาโรคในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การรักษาโดยวิธีของ “ รังสีร่วมรักษา ” มีประโยชน์อย่างมากในการนำมาใช้ในการรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยวิธีอื่น ประโยชน์ที่ได้จากการรักษาแบบนี้ คือ
1. ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

1.1 ช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งหยุดโตหรือโตช้าลง
1.2 ช่วยลดความเจ็บปวด
1.3 ระงับการตกเลือดซึ่งอาจเกิดจาก

- แผลมะเร็งลามกว้างไปถึงหลอดเลือด
- ก้อนมะเร็งแตก เช่น มะเร็งตับแตกเกิดเลือดออกในช่องท้อง
- เลือดออกจากก้อนมะเร็งอุดตันหลอดเลือดดำ Portal vein ในตับ ทำให้มีการตกเลือดในทางเดินอาหาร
- ช่วยแก้ไขผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษาโดยวิธีอื่นมาก่อน เช่น ช่วยระงับการตกเลือดที่เกิดภายหลังผ่าตัด , ช่วยระบายน้ำดี , น้ำปัสสาวะ , หนองที่เกิดขึ้นในอวัยวะภายในหรือในช่องท้องที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับการดมยาผ่าตัดได้


2. ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและของผู้ป่วย เพราะการรักษาด้วยวิธีของรังสีร่วมรักษาใช้เพียงเครื่องมือพื้นฐานของการตรวจหลอดเลือดทางรังสีทั่ว ๆไป และถ้าสามารถดัดแปลงเครื่องเอกซเรย์ชนิดที่ใช้ตรวจทางเดินอาหารทั่วไปขึ้น และปรับปรุงเทคนิคให้เหมาะสม ก็สามารถจะใช้วิธีการนี้ช่วยผู้ป่วยมะเร็งในแบบประคับประคองได้อย่างเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในชนบทของเราในยุค
“เศรษฐกิจพอเพียง” นี้

ศูนย์มะเร็งลพบุรีได้เริ่มดัดแปลงวิธีการทางรังสีเทคนิคขึ้นใช้เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2548 ที่ผ่านมานี้

หลักการและวิธีการ
การทำงานของ “ รังสีร่วมรักษา ” เพื่อให้การรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งของศูนย์ฯ เป็นการทำงานแบบ “ทีม” คือ จะต้องมีการประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่าง

1. แพทย์ซึ่งได้รับการฝึกฝนทาง “ รังสีร่วมรักษา ”
2. พยาบาลซึ่งจะต้องเข้าใจวิธีการรักษาตั้งแต่การเตรียมผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา ช่วยแพทย์ขณะให้การรักษา และดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา
3. รังสีเทคนิค ซึ่งจะมีส่วนอย่างสำคัญในการถ่ายภาพรังสีของหลอดเลือดและอวัยวะที่จะตรวจให้ถูกเทคนิคเพียงพอที่แพทย์จะใช้ในการวางแผนการรักษา

เครื่องมือหลักที่ใช้
รังสีเทคนิคจะดัดแปลงเครื่องมือที่มีอยู่แล้วขึ้นใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของแพทย์เพื่อบริการแก่ผู้ป่วย เครื่องมือเหล่านี้ได้แก่

  1. เครื่องเอกซเรย์แบบตรวจด้วยจอเรืองแสง (Fluoroscopy)
  2. ฟิล์มที่ใช้ถ่ายหลอดเลือดทางรังสี เป็นฟิล์มขนาด 14 x 17 นิ้ว จะใช้ประมาณ 3 - 5 ฟิล์ม
  3. สารทึบรังสีชนิดที่ใช้ตรวจหลอดเลือดโดยทั่วไป ขนาดที่ใช้ประมาณ 50–100 ml
  4. เครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในการตรวจหลอดเลือดทางรังสี คือ เข็มเจาะหลอดเลือดขนาดเบอร์ 18G – 20G หลอดสวนหลอดโลหิต (Angiographic catheter) , ลวดนำ (Guide wire)
  5. เครื่องมือประกอบซึ่งดัดแปลงขึ้นเอง เช่น หม้อต้มน้ำ เพื่อใช้ดัดหลอดสวนหลอดโลหิตให้เป็นรูปแบบตามต้องการ ลวดทองแดงที่ใช้ช่วยดัดหลอดสวนให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ


การถ่ายภาพรังสีของหลอดเลือดในอวัยวะต่าง ๆ
ปกติการถ่ายภาพรังสีของหลอดเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคจะต้องถ่ายให้ได้ภาพครบทั้งหมดตั้งแต่หลอดเลือดแดงใหญ่ , กลาง , เล็ก ไปจนถึงหลอดเลือดฝอยปลายทาง รวมทั้งหลอดเลือดดำที่ไหลกลับสู่หัวใจจากระดับหลอดเลือดฝอยไปจนถึงหลอดเลือดดำใหญ่ การถ่ายภาพโดยวิธีนี้จะต้องใช้เครื่องถ่ายภาพรังสีที่ออกแบบมาโดยเฉพาะให้ถ่ายภาพได้เร็วถึง 2 – 6 ภาพต่อ 1 วินาที และจะต้องมีเครื่องเปลี่ยนฟิล์มได้เร็วพอ ๆ กัน แต่เครื่องแบบนี้มีราคาแพง และมีที่ใช้จำกัดอยู่ตามโรงเรียนแพทย์หรือสถาบันใหญ่ ๆ ที่มีความต้องการเฉพาะทางเท่านั้น ปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์ชนิดดิจิตอล ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ทันทีตามต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการตรวจรักษาโดยวิธี “ รังสีร่วมรักษา ” เลยทีเดียว แต่ราคาก็ยังสูงอยู่และศูนย์ลพบุรีเองก็ยังไม่มีกำลังพอจะจัดซื้อหามาไว้ให้บริการกับผู้ป่วยได้

พ.ศ. ชาย หญิง รวม
ม.ค.2548-ก.ย.2548 26 18 44
ต.ค.2548-ก.ย.2549 60 21 81
ต.ค.2549-ส.ค.2550 50 48 98


ปัจจุบันด้วยเครื่องเอกซเรย์ที่มีอยู่เดิม และด้วยเทคนิคของการถ่ายภาพรังสีของหลอดเลือดแบบที่ใช้สมัยก่อน คือ ฉีดสารทึบรังสีด้วยมือด้วยความแรงพอสมควรและใช้ขนาดของ Syringe และปริมาณของสารทึบรังสีที่พอเหมาะ และถ่ายภาพรังสีเกือบจะพอดีที่ฉีดสารทึบรังสีหมด ( Single shot technique )
ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติบางอย่างของหลอดเลือด เช่น มี Aneurysm ของหลอดเลือดแดง หรือมี A-V fistula ก็อาจจะต้องถ่ายเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยทั่วไปจะใช้ตามนี้


1. Syringe พลาสติก Tip lock ขนาด 10 ml.
2. สารทึบรังสีใช้ในการทำ single shot ประมาณ 10 ml. /ครั้ง ประมาณ 2-3 ครั้ง
3. ฟิล์มที่ใช้ขนาด 14 x 17 นิ้ว ประมาณ 3-5 ฟิล์ม ดังนี้ :-

• ฟิล์มที่ใช้ถ่ายรูปแรกเป็น Scout ฟิล์มเพื่อปรับเทคนิค
• ฟิล์มที่ใช้ถ่ายรูปที่สอง ขณะฉีดสารทึบรังสี
• ฟิล์มที่ใช้ถ่ายรูปที่สาม ขณะฉีดสารทึบรังสีหรือระหว่างให้ยา
• ฟิล์มที่ใช้ถ่ายรูปที่สี่ ภายหลังให้ยาเรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างการรักษา

กรณีที่ 1

ผู้ป่วยเป็นแผลมะเร็งตรงคอได้รับการฉายรังสีรักษา และระหว่างรับการรักษาเลือดออกไม่หยุดต้องใช้การอุดกั้นหลอดโลหิตตามวิธี “รังสีร่วมรักษา” (Transcatheter embolization) ช่วยให้เลือดออกน้อยลงมาก ถึงแม้จะไม่หยุดสนิทก็ตาม

  กรณีที่ 2

ผู้ป่วยเป็นแผลมะเร็งลามกว้างที่ขาหนีบได้รับการฉายรังสีรักษาและมีเลือดออกไม่หยุดต้องใช้การอุดกั้นหลอดโลหิตตามวิธี “รังสีร่วมรักษา” (Transcatheter embolization) ช่วยให้เลือดออกน้อยลงมาก ถึงแม้จะไม่หยุดสนิทก็ตาม

 

ผลการรักษาและข้อควรคิด
ผู้ป่วยในชนบทห่างไกลมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการรักษาแต่เริ่มแรก เพราะขาดความรู้ขาดการศึกษา เมื่อมาถึงโรงพยาบาลโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็ยิ่งมีโอกาสน้อยยิ่งขึ้น ถึงแม้ศูนย์มะเร็งลพบุรีมีศักยภาพพอที่จะรักษาโรคได้ให้หายขาดได้ แต่ก็ยังขาดกำลังคนและกำลังเครื่องมือที่จะรองรับผู้ป่วยจาก 12 จังหวัดที่กล่าวแล้วได้อย่างพอเพียง

ในยุค “ เศรษฐกิจพอเพียง ” นี้ ถ้าจะนั่งรอเพื่อให้ได้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้การรักษาตามแบบมาตรฐานตะวันตกคงจะไม่ทันการ บุคลากรทางการแพทย์ควรจะหาวิธีดัดแปลงเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นตามความเหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปตามลำดับ เปรียบเสมือนแรงเคลื่อนไปข้างหน้า ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยกำลังน้อยอย่างเชื่องช้า แต่ความคิดและพลังผลักดันที่ต่อเนื่องก็จะทำให้กงล้อของวิวัฒนาการหมุนต่อเนื่องไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถถึงระดับที่จะช่วยตัวเองได้ในที่สุดในยุค “ เศรษฐกิจพอเพียง ” นี้



* บางตอนของบทความนี้ได้นำเสนอในที่การประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย ณ.ห้องประชุมโรงแรมชะอำรีเจนท์ หัวหิน ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2550 และเสนอในการประชุมใหญ่วิชาการของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ณ.โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2550 (9th National Cancer Conference ‘Sufficiency Physiology in Oncology” from Treatment to Prevention)

บรรณานุกรม
1. ชรินทร์ เอื้อวิไลจิต. รังสีวิทยาหลอดเลือด. คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ, บริษัทโฮลิสติกพับลิชชิ่ง จำกัด, 2542.
2. นรา แววศร. รังสีร่วมรักษา. โครงการตำราศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ, เรือนแก้วการพิมพ์. 2530.

คำสำคัญ (Tags): #มะเร็ง#รังสี
หมายเลขบันทึก: 183496เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท