บันทึกจากแดนซากุระ 20 : 12 ขั้นตอนในการสรรค์สร้างร่างบทความวิชาการ


     วันก่อนได้รับจดหมายจากจินตนา แล้วมีไฟล์แนบมาด้วยเป็นไฟล์เกี่ยวกับการเขียนร่างบทความวิชาการ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเราที่กำลังทำงานวิจัยและเขียนบทความวิชาการ ก็เลยจดหมายไปขออนุญาตคุณ Paul Ketchmer เจ้าของบทความซึ่งทำงานในบริษัทรับตรวจแก้ไขบทความวิชาการบนอินเตอร์เนต ชื่อบริษัท San Francisco Edit หลังจากได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้ ผมก็เลยแปลมาให้อ่านกัน ส่วนบทความต้นฉบับสามารถ load ได้จากที่นี่ครับ

12 ขั้นตอนในการสรรค์สร้างร่างบทความวิชาการ

Twelve Steps to Developing an Effective First Draft of your Manuscript

     บางคนอาจแนะนำว่าคุณควรเริ่มเขียนร่างบทความวิชาการจากบท introduction แล้วเขียนต่อเนื่องไปตามลำดับทีละบทจนจบ บางคนอาจแนะนำว่าคุณควรจะตั้งต้นเขียนบทที่ง่ายที่สุดก่อน ซึ่งทั่วไปแล้วมักเป็นบท Methods และ Results หลังจากนั้นจึงเขียนตามมาด้วยบท Discussion, Introduction, References และชื่อเรื่อง (Title) ส่วนบทคัดย่อ (Abstract) ค่อยเขียนเมื่อเขียนส่วนอื่นเสร็จหมดแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเริ่มต้นการเขียนไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์หรือจรดปากกาลงบนกระดาษก็ตาม

  1. รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีข้อมูลที่จะเขียนครบถ้วน เช่น ข้อมูลดิบ, เอกสารอ้างอิง, ร่างตาราง และร่างรูปภาพต่างๆ
  2. มุ่งเป้าว่าจะลงตีพิมพ์วารสารไหน คุณลองคิดดูว่าคุณจะส่งบทความนี้ไปตีพิมพ์ในวารสารใดเพื่อที่จะได้เขียนบทความได้ตามรูปแบบที่วารสารนั้นต้องการ ซึ่งรูปแบบที่จำเป็นต้องใช้อาจได้จากคำแนะนำในวารสารนั้นหรืออาจดูจากบทความต่างๆที่เคยตีพิมพ์ในวารสารนั้นมาก่อนก็ได้
  3. เริ่มต้นการเขียน เมื่อเริ่มต้นเขียนร่างครั้งแรก เป้าหมายใหญ่ก็คือการได้เขียนอะไรลงไปบนกระดาษบ้าง อย่าไปสนใจว่าประโยคที่คุณเขียนนั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ การใช้แกรมมาร์จะถูกต้องหรือไม่ ขอให้เนื้อหาที่ต้องการเขียนไม่เพี้ยนไปจากที่คุณต้องการเป็นใช้ได้ เขียนเมื่อยังรู้สึกกระฉับกระเฉงไม่ใช่เริ่มเขียนเมื่อร่างกายอ่อนล้าเต็มที พยายามหาช่วงเวลาหรือสถานที่ที่คุณคิดว่าว่าสามารถเขียนได้โดยไม่ถูกรบกวน
  4. เขียนไปเรื่อยๆ อย่าไปสนใจว่าคำจะถูกต้องหรือไม่ หรือใช้เครื่องหมายวรรคตอนถูกต้องหรือไม่ในขั้นตอนนี้ ขอเพียงแค่ลำดับความคิด แล้วเขียนมันออกมา โดยอาจใช้ตัวย่อหรือข้ามศัพท์บางคำไปเมื่อคิดไม่ออก
  5. เขียนโดยใช้ภาษาของตัวเอง แต่ละคนจะมีรูปแบบการใช้ภาษาของตัวเองที่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องตามที่ต้องการ ซึ่งการเขียนแบบนี้จะช่วยให้ผู้ที่มาแก้ไขภาษา สามารถเข้าใจว่าคุณต้องการเขียนอะไร
  6. เขียนโดยยังไม่ต้องกลับไปแก้ไข อย่าพยายามเขียนให้ถูกต้องในครั้งแรก ไม่เช่นนั้นแล้วคุณจะพบกับอุปสรรคในการเขียนและเสียเวลามาก หากคุณพยายามเขียนและแก้ไขไปด้วยในเวลาเดียวกัน คุณมักจะทำไม่ได้ดีทั้งสองอย่าง
  7. เขียนตามโครงร่างที่ร่างไว้ โดยใช้หัวข้อตามโครงร่างที่เขียนไว้ว่าคุณมีประเด็นอะไรบ้างที่จะเขียน ถ้าเขียนไปแล้วออกนอกประเด็น ก็ให้หยุด แล้วข้ามไปเขียนประเด็นอื่นก่อน
  8. เขียนโดยแยกเป็นส่วนๆ ทำเหมือนว่าคุณเขียนเรื่องสั้นในแต่ละบท โดยคิดถึงเป้าหมายหลักว่าแต่ละบทคุณต้องการสื่อสารอะไรลงไป อย่าพยายามเขียนบทความทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกันในครั้งแรก
  9. เขียนเสร็จก็ตั้งมันไว้สักพัก เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้ตั้งไว้อย่างน้อยหนึ่งวัน การตั้งไว้ก่อนช่วยให้คุณกลายเป็นคนอื่นเมื่อต้องมาอ่านและแก้ไขบทความที่ตัวเองเขียน
  10. ทบทวน ลองนั่งอ่านและทบทวนหลายๆครั้งจนกระทั่งรู้สึกว่าเราไม่สามารถปรับปรุงให้มันดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้แล้ว ในขั้นนี้เป็นการมองงานของคุณไม่ใช่จากมุมมองของนักเขียนแต่ให้ใช้มุมมองของนักวิจารณ์ ประโยคแต่ละประโยคสื่อสารได้ถูกต้องหรือไม่ ในบางประโยคที่ยาวๆ ยังคงอยู่ในประเด็นที่ต้องต้องการสื่อสารหรือไม่ ในบางย่อหน้าที่ค่อนข้างยาวและกล่าวถึงเพียงประเด็นเดียว สามารถทำให้สั้นลงโดยทำเป็นย่อหน้าใหม่ได้ไหม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่คุณต้องถามตัวเองทั้งสิ้น
  11. ทบทวนเพื่อความชัดเจนและทำให้กระชับ ค่อยๆทบทวนไปทีละประโยคและทีละย่อหน้าโดยตั้งใจที่จะทำให้ชัดเจน โดยปกติประโยคส่วนใหญ่ควรมีคำอยู่ประมาณ 15-20 คำ สำหรับบทความทางวิทยาศาสตร์ในแต่ละย่อหน้าควรมีอยู่ประมาณ 150 คำ และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่จำเป็น
  12. เขียนให้สอดคล้องกัน บทความหลายๆบทอาจเป็นการเขียนร่วมกันมากกว่าหนึ่งคน แต่ละคนก็จะมีรูปแบบการเขียนของตัวเอง รูปแบบการเขียนต้องให้สอดคล้องกันทั้งบทความ ดังนั้นเจ้าของบทความจะต้องอ่านบทความทั้งหมดและแก้ไขให้สอดคล้องกันก่อนที่จะส่งบทความไปยังวารสารที่ต้องการ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18305เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2006 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เป็นประโยชน์มากเลยค่ะพี่ mitocondria
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท