ศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยในฝันที่......พ่อแม่ควรมองหา


พ่อแม่ก็ยังเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในการอบรมเลี้ยงดูลูกให้ปลอดภัยและเจริญเติบโตสมวัย

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับพ่อแม่ยุคนี้ที่มีลูกเล็กวัยแรกเกิดถึง 5 ขวบ ที่ต้องหาสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงของครอบครัวกับการเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยตนเอง ดังนั้น พ่อแม่จึงพยายามมองหาสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อเอาเจ้าตัวเล็กไปฝากก่อนวัยอันสมควร เนื่องจากถึงเวลาที่แม่ต้องกลับไปทำงาน เมื่อลูกน้อยต้องไปอยู่ในความดูแลของคนอื่นๆ ความกังวลกับสิ่งต่างๆรอบตัวที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก ก็ย่อมตามมา อาทิเช่น เรื่องความปลอดภัย การกิน การนอน หรือแม้แต่ความเจ็บป่วยที่มักตามมาและพบได้บ่อยเมื่อลูกต้องอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่น

            อย่างไรก็ตามในสถานการณ์อันเหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดความกังวลและอาจช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดกับลูกรัก พ่อแม่จึงควรมีองค์ความรู้เรื่องการเลือกศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐาน

            บันได 10 ขั้น ที่พ่อแม่ควรซักถามและศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจพาลูกไปเข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็กมีดังนี้คือ

1. ศูนย์ควรมีใบรับรองจากกระกรวงมหาดไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขและควรซักถามเรื่องนโยบายของศูนย์ ซึ่งที่ดีควรเน้นเรื่องการเล่นและส่งเสริมพัฒนาการโดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง

2. ดูเรื่องสถานที่ ความสะอาดและความปลอดภัย

            -พื้นที่ใช้สอย โดยเฉลี่ย   2 ตารางเมตรต่อเด็ก 1 คน ควรมีการแยกห้องเด็กเล็กอายุ ต่ำกว่า 3 ปีและเด็กโต 3-5 ปี เพื่อประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย

            -ควรมีพื้นที่ให้เด็กเล่นทั้งในร่มและกลางแจ้ง

            -ควรมีรั้วกั้นปลอดภัยจากถนนและสระน้ำ

            -มีห้องน้ำที่สะอาดและโถส้วมขนาดเหมาะสมกับเด็กและอยู่ภายในอาคารที่คุณครูสามารถ       ดูแลใกล้ชิด

            -แนวทางและระบบป้องกันเด็กจากบุคคลภายนอกที่แปลกหน้า

3. วุฒิภาวะและการศึกษาของคุณครูและผู้เลี้ยงดูเด็ก ศูนย์เอกชนอาจจ้างคุณครูที่จบปริญญาตรีและผู้ช่วยครู โดยทั่วไปผู้ดูแลเด็กควรจบขั้นต่ำมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งควรมีประสบการณ์และผ่านการอบรมด้านเด็กประถมวัย และควรมองหาประกาศนียบัตรที่ผ่านการอบรมของคุณครูและผู้ดูแลเด็กถ้าไม่พบอาจซักถามเพิ่มเติมจากหัวหน้าศูนย์

4. จำนวนเด็กต่อจำนวนผู้ดูแลที่เหมาะสม

            อายุ 0-1 ปี   ไม่เกิน 1: 3 (มาตรฐานในอเมริกา 1:2)

                        อายุ 1-3 ปี   ไม่เกิน 1: 6-8 (มาตรฐานในอเมริกา 1:3-5)

                        อายุ 3-5 ปี   ไม่เกิน 1: 12 (มาตรฐานในอเมริกา 1:7-10)

                        อายุ 5-6 ปี   ไม่เกิน 1: 20 (มาตรฐานในอเมริกา 1:12)

5. ตารางกิจกรรม...ควรมองหาตารางกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยที่หลายหลาย และสังเกตการณ์ว่าคุณครูและพี่เลี้ยงปฏิบัติตามนั้นหรือไม่....สังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลเด็กและเด็กอื่นๆในระหว่างการทำกิจกรรม

6. แนวทางการประเมินเด็ก ซึ่งศูนย์ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการติดตามพัฒนาการเด็กและรายงานให้พ่อแม่รับทราบเป็นระยะหรืออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และการติดตามช่วยเหลือในปัญหาที่พบ..ควรขอดูตัวอย่างรายงานหรือซักถามจากพ่อแม่ท่านอื่น

7. โภชนาการและการดูแลสุขภาพฟัน ควรซักถามเรื่องตารางอาหาร ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งดูความสะอาดและการส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมในเด็ก เช่น ล้างมือก่อนกินอาหาร และให้เด็กได้มีโอกาสกินเอง หรือแนวทางการแก้ปัญหากรณีเด็กไม่กินและการแปรงฟัน หรือล้างปากก่อนนอนตอนบ่าย......

8. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้มาตรฐานไม่ควรมีทีวีในห้องเด็ก หรือถ้ามีก็ไม่ควรเปิดทีวีให้เด็กดูโดยตามลำพัง... ...พ่อแม่ควรสังเกตและซักถาม

9. แนวทางการดูแลเด็กป่วย การแยกเด็ก การช่วยเหลือและการให้ยา รวมทั้งการมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนวทางดูแลเด็กกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ..ถามข้อมูลการช่วยเหลือและการให้ยา ศูนย์ควรมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนวทางส่งต่อเด็กกรณีฉุกเฉิน ควรมีแบบบันทึกรายงานกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในศูนย์และมีแผ่นป้ายเบอร์โทรศัพท์ติดต่อสถานพยาบาล

10. การให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของศูนย์ หรือการจัดประชุมผู้ปกครอง

            โดยสรุปพ่อแม่ควรขออนุญาตทางศูนย์เด็กเพื่อไปสังเกตการณ์สัก 1-2 วัน ควรดูบรรยากาศทุก ๆ ห้องและหาโอกาสพูดคุยกับผู้ปกครองท่านอื่น นอกจากนี้ควรจะพาลูกไปด้วยเพื่อดูเรื่องการปรับตัวของเด็กกับสถานที่และคุณครู 

            แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรฐานและค่าใช้จ่ายที่อาจแตกต่างกันไปแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องอื่นๆ เช่น การเดินทางและความสะดวก  ดังนั้นพ่อแม่อาจจะต้องพิจารณาถึงปํจจัยด้านเหล่านี้ด้วยในการเลือกศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยของท่าน

            ท้ายที่สุดนี้ถ้ายังไม่สามารถมองหาศูนย์ที่ดีหรือไว้ใจได้ พ่อแม่ก็ยังเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในการอบรมเลี้ยงดูลูกให้ปลอดภัยและเจริญเติบโตสมวัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าอนุบาลและระบบการศึกษาในโรงเรียนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.      การสาธารณสุขไทย ปีพุทธศักราช 2548-2550 สถานการณ์และแนวโน้มด้านประชากร ครอบครัว และการอพยพย้ายถิ่น. http://www.moph.go.th/ops/health_50/2548-2550.html

2.      เกณฑ์มาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กต่ำกว่า 3 ปี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด กรุงเทพฯ 2545

3.      เกณฑ์มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ปี 2548 กลุ่มงานอนามัย สถานบริการสาธารณะ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

4.      Committee on Early Childhood, Adoption, and Dependent Care. Quality Early Education and Child Care from Birth to kindergarten. Pediatrics 2005;115:187-91.

 

หมายเลขบันทึก: 182495เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท