Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๑)_๒


สรุปความรู้จากห้องประชาสังคม

         เวทีเสวนาการจัดการความรู้ในห้องภาคประชาสังคมมีสาระสำคัญหลักมุ่งไปที่เรื่องการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่แบ่งความนุ่มลึกในการพูดคุยเป็นสองระดับ โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติของเกษตรกรและ “คุณอำนวย” ในจังหวัดพิจิตรและจังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับวันที่ 2 ธันวาคม 2548 เป็นการเสวนาเรื่องการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกร เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งบรรยากาศเต็มไปการเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์อย่างแท้จริง

การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ: การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร

         การนำเสนอความสำคัญและการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มข้าวสะอาด โดยคุณผดุง เครือบุษผา และคุณจรัญ  ต้งฉิ่น ทั้งสองท่านเล่าประสบการณ์ของคุณกิจที่สามารถยกระดับเป็นคุณอำนวย เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดในการทำนา ที่เห็นทุกข์ว่า ทำนาจำนวนมาก แต่รายได้ต่ำ เพราะมีต้นทุนสูง ดินเสื่อม ประสบกับวิกฤตปัญหาหนี้สิน  ถึงทางตันจึงเป็นแรงบันดาลใจให้หาทางออกในการทำการเกษตร ประกอบกับถูกชักชวนจากสมาชิก วปอ. เข้าร่วมการอบรม วปอ. (วิทยากรการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเอง) ในช่วงที่เป็นคุณกิจนั้น หลังจากที่อบรมจาก วปอ.มาแล้วก็ไปแสวงหาความรู้จากภายนอก มีการดูงานที่มูลนิธิข้าวขวัญ และที่ต่างๆ  รวมทั้งจากการเรียนรู้ความรู้ที่มีอยู่ในปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ คิดใคร่ครวญจนเกิดปัญญา  แล้วนำมาพัฒนากับตัวเอง คือทดลองใช้จริง โดยไม่ใช้สารเคมีเลย มีการสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ (ทั้งสองท่านสามารถอธิบายตัวเลขต่างๆ ที่เคยจดบันทึกไว้ได้เป็นอย่างดี) ทำให้ความรู้นี้สามารถตรวจสอบได้จริง และเปรียบเทียบกันได้ การทำเช่นนี้เป็นการดึงความรู้ฝังลึกออกมา จากนั้นก็มีการแบ่งปันความรู้ การเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่มีกับกลุ่มอื่น ๆ ร่วมกับการพัฒนาความรู้ที่มีอยู่ในตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง เมื่อพัฒนาไประยะหนึ่งนอกจากเกิดผลกับตัวเองและครอบครัว หนี้สินลดลง สุขภาพดีขึ้น มีความสุข และเริ่มคิดถึงสังคมทำให้ยกระดับการเรียนรู้ขึ้นเป็นคุณอำนวย โดยท่านทั้งสองมีความเห็นว่า คุณอำนวยคือ คุณกิจที่มีความสามารถและเป็นผู้ใฝ่รู้ที่ทดลองพิสูจน์การปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง สามารถเป็นผู้นำในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีปฏิบัติในการเกษตร แสดงให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับ และยอมรับ ขณะนี้ได้ขยายผลต่อยอดไปสู่การปลูกฝังเกษตรกรรุ่นใหม่ให้กับเยาวชน การจัดทำโครงการทายาทเกษตรในโรงเรียน
         ประเด็นสำคัญในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีค่ามากอันหนึ่งคือ ความสำคัญของการเปลี่ยนวิธีคิดอยู่ตรงที่ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดได้ พฤติกรรมเราจะเปลี่ยนหมด ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด พฤติกรรมอาจเปลี่ยนได้แต่ไม่ถาวรและไม่เชื่อมโยง เช่น ถ้าเราแค่เปลี่ยนการผลิตมาใช้สารชีวภาพ แต่วิถีชีวิตยังคงพึ่งพาวัตถุอย่างนี้ไม่เปลี่ยนวิธีคิด หากเปลี่ยนวิธีคิดพฤติกรรมทั้งหมดต้องเปลี่ยนไปสู่การแอบอิงอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาธรรมชาติ รวมไปถึงมีชีวิตอยู่อย่างเพียง

การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ: การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

         การนำเสนอบทเรียนของการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ผ่านรูปแบบที่เรียกว่า โรงเรียนชาวนา โดยคุณณรงค์ อ่วมรัมย์ ซึ่งเป็นคุณอำนวย และคุณสนั่น  เวียงขำ ที่เป็นคุณกิจ มาเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนชาวนาที่วัดดาวนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชาวนาในการทำนาที่ไม่ใช้สารเคมี  ระบบการผลิตแบบลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อครอบครัวเป็นสุข เกษตรกรรมยั่งยืน โดยพยายามชี้ให้เกษตรกรเห็นถึงวิกฤตปัญหาสุขภาพการใช้สารเคมี แพ้ยา และตกอยู่ในกับดักเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจหลุดพ้นไปได้มาหลายชั่วอายุคน เพื่อหาทางหลุดพ้นไปจากสภาพปัญหานี้ ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเน้นการหาสารทดแทนสารเคมี จากการศึกษาดูงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากที่ต่าง ๆ  สรุปประเด็นจากเวทีระดมปัญหา ทั้งด้านเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน ปุ๋ย  จนทำให้พัฒนาเป็นหลักสูตร 3 หลักสูตร ในการจัดการจัดกระบวนการเรียนรู้ของชาวนา คือหลักสูตรแมลง หลักสูตรปรับปรุงดิน และหลักสูตรการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว
         กิจกรรมของโรงเรียน ใช้การเรียนการสอนในแต่ละครั้งเป็นเวทีในการเรียนรู้ในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเอาความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลออกมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วนำไปทดลองจริง มีการจดบันทึก วาดรูป เขียนเป็นสูตรสำเร็จต่างๆ เพื่อให้ไปทดลองใช้กัน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนในเวที ที่สำคัญคือ การสร้างพลังในการการสร้างแรงจูงใจ การให้กำลังใจกันภายในกลุ่มด้วยวิธีการเขียนให้กำลังใจตัวเองกับเพื่อน ถือว่าสำคัญมาก เพราะชาวนาที่มาทำอย่างนี้จะถูกมองว่าแปลกกว่าคนอื่น จึงต้องเติมพลังให้กัน นอกจากนี้ยังมีเวทีเรียนรู้ข้ามกลุ่ม คือ เรียนรู้กับโรงเรียนอื่น และมีการถอดบทเรียนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดเป็นขุมความรู้ทั้งเอกสารต่างๆ มากมาย
         บทเรียนที่น่าสนใจของลุงสนั่นก็คือ บางครั้งการเปลี่ยนความคิดอย่างสิ้นเชิงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความกังวลถึงผลที่ตามมา อาจจำเป็นต้องทดลองทำแต่น้อย เมื่อได้ผลแล้วผลนั้นจะมาช่วยปรับความคิดให้มั่นใจขึ้นและจะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดอย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

         การสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ : การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวบ้าน     เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่สุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเวทีดังกล่าวมีลักษณะของการอภิปรายกลุ่มย่อยแล้วนำผลของแต่ละกลุ่มมานำเสนอ พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ คือ คุณลุงประยงค์  รณรงค์ แม่ทองดี โพธิยอง และลุงสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ มาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย การนำเสนอจะเริ่มจากประเด็นของชาวบ้าน (คุณกิจ) ก่อน และค่อยต่อยอดเป็นองค์กรต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการมาช่วยกันเสริม
         บทเรียนการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ตามคำบอกเล่าของที่ประชุม สรุปได้ว่าเริ่มจากหน่วยเล็กๆ ในครัวเรือน คือเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม จากการทำการเกษตรแบบใช้สารเคมี หรือกระบวนทัศน์แบบทุนนิยม จนเกิดผลกระทบต่อตัวเองและสมาชิกในครอบครัว มาเป็นการพึ่งตนเองและอยู่กับสภาพแวดล้อม ทดลองทำ โดยนำวิธีการบางอย่างมาใช้เพื่อให้เห็นจริง เช่น การบันทึก การสังเกต การวัดต่างๆ ทำจนเกิดเป็นวิถีชีวิตหรือกลืนไปกับการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดความสุข มีเกษตรกรหลายท่านเล่าถึงความสุขจากการที่หนี้สินลดลง สุขภาพดีขึ้น ส่งผลต่อครอบครัวอย่างมากจนน่าประทับใจ จากนั้นจะเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความต้องการอยากที่จะรวมกลุ่ม ของคนที่ทำเรื่องเดียวกัน มาแลกเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำการเกษตรกัน จะทำให้เข้มแข็งขึ้น มีการดูแลจัดสรรผลประโยชน์แก่สมาชิกกลุ่ม ต่อมาเป็นการพัฒนามาเป็นเครือข่าย ซึ่งก็คือการเชื่อมระหว่างกลุ่ม (องค์กร) ต่างๆ  2 องค์กรขึ้นไปมาร่วมทำกิจกรรมกันเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้เกิดพลังมาก และไม่ควรมองว่าความแตกต่างเป็นปัญหา เพราะแต่ละองค์กรมีความถนัดไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันนี้จะเป็นจุดแข็งเรียกว่าความหลากหลาย และจากการเชื่อมความสัมพันธ์กันนั้น ทำให้หลายเรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกันจับมือกันเหนียวแน่น มีผลประโยชน์ร่วมกันมีการต่อเชื่อมกิจกรรมเอาวัตถุดิบจากการผลิตกลุ่มหนึ่งไปผลิตกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นมามีการตลาดร่วมกัน เครือข่ายมีพลังมากขึ้นที่จะไปต่อสู้กับทุนนิยมต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็งต่อสู้ตนเองได้ในอนาคต ดังตัวอย่างของหลายๆ จังหวัดที่มีการเชื่อมองค์กรเป็นเครือข่าย เช่น พิจิตร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี เป็นต้น เมื่อแปรสภาพกลายเป็นสถาบันเช่นนี้จะมีความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายแนวตั้งได้แก่ ภาคราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะของท้องถิ่นดังเช่นที่พบในกรณีของจังหวัดพิจิตร

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18161เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท