มายุติปัญหาโดย...วิถีแห่งปัญญากันเถอะ


แนวทางการยุติปัญหาวิกฤตของชาติ "รู้รัก สามัคคี"

กลิ่นอายของประชาธิปไตยท่ามกลางกระแสแห่งเกลียวคลื่น
         ในท่ามกลางกระแสเกลียวคลื่นของสังคมที่กำลังเคลื่อนเข้ามากระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น
        - คลื่นแห่งเศรษฐกิจ
        - คลื่นแห่งสังคม
        - คลื่นแห่งการเมือง
        - คลื่นแห่งมหาชนที่ท้องสนามหลวง
        - และอื่นๆ
        เกลียวคลื่นของทะเลที่มีพายุพัดโหมกระหน่ำ ยังมีโอกาสอ่อนแรงลงเมื่อไปกระทบชายฝั่งทะเล มหาสมุทร  
        กระแสคลื่นของสังคมไทย ยังไปไม่ถึงฝั่งและจำเป็นจะต้องผ่อนแรงลง เพื่อไม่ให้แรงคลื่นกระทบฝั่งเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้  นั่นคือบ้านเมืองของเรามีขื่อมีแป จำเป็นจะต้องดำเนินการตามครรลองประชาธิปไตย

ใส่ใจแนวพระราชดำรัส "รู้รักสามัคคี"
        การที่ผู้คนในชาติมีความคิดเห็นแตกต่างกัน  ตามครรลองประชาธิปไตย เมื่อมีฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมีฝ่ายค้าน  เมื่อมีคนชอบก็มีคนชัง ถือเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเป็นสิทธิส่วนบุคคล
        สำหรับเรื่องส่วนรวม "เสถียรภาพความมั่นคงของประเทศชาติ และความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายเทิดไว้สูงสุด"

        ทางออกที่ดีควรจะใช้กลยุทธ์"ที่ทุกฝ่ายWin - Win" ซึ่งมีแนวทางดังนี้
        ๑) ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (รักษาการ) ควรแสดงสปิริตทางการเมือง เยี่ยงรัฐบุรุษ โดยการประกาศ "ลาออก" และให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วเสร็จ
        ๒) ผู้นำฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เป็นกลาง ควรหาทางเจรจายุติปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง โดยให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปจากวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ออกไปอีก ๓๐ วัน เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทุกพรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและมีเวลาหาเสียง
        ๓) ขอเชิญชวนประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยทุกคนพร้อมใจกัน "เปิดไฟหน้ารถ" เพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่า ขอให้ทุกฝ่ายยุติปัญหาความรุนแรงและหันหน้าเข้ามาแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งโดยใช้วิถีแห่งปัญญา "รู้รัก สามัคคี"
       
เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส "พลิกสถานการณ์กลับคืนสู่สภาพบ้านดีเมืองดี"
       
จากวิกฤตการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา ทำให้ได้รับบทเรียนอันทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่
        ๑) การเลือกผู้นำ หรือผู้แทนทุกระดับ - ต้องพิจารณาไตร่ตรองเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นสำคัญ
        ๒) การบริหารประเทศ - ต้องยึดถือกรอบกติกา (รัฐธรรมนูญ) ถ้ากติกาบางอย่างไม่เหมาะสมกับยุคสมัยก็สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้
        ๓) การยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ  - ใครจะคิดจะทำอะไรก็ตามในบ้านนี้เมืองนี้ขอให้มีหลักยึด เทียบเคียงและชั่งน้ำหนักดูว่า "ทำแล้วประเทศชาติไม่เสียหาย ประชาชนไม่เดือดร้อน" ก็สมควรทำต่อไป

        ขอเป็นกำลังใจ และพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติโดยใช้วิถีแห่งปัญญา ตามแนวพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ "รู้รัก สามัคคี" แล้วประเทศชาติของเราจะกลับคืนสู่สภาพบ้านดีเมืองดีในไม่ช้านี้

        ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
           ๙ มี.ค. ๔๙

       

หมายเลขบันทึก: 18157เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นการใช้วิถีแห่งปัญญาที่ได้ประเด็นสาระที่ตรงกับที่หลายคนคิดทีเดียวครับ แต่ในความเป็นจริง ไม่ทราบว่า แต่ละคนแต่ละฝ่าย จะสามารถถอยได้หรือไม่ หรืออาจจะมาไกลจนเกินที่จะถอยกันได้แล้วกระมัง
การจัดการความรู้ที่น่าคิด
เรียน นายบอน ที่นับถือ
       ขอขอบคุณที่กรุณาแสดงความคิดเห็นเฉกเช่นปัญญาชน
และคาดว่าคงมีหลายคนที่อยากจะเห็นบ้านเมืองของเราสงบสุข
วันนี้ถ้าทุกฝ่ายยอมถอยเพื่อให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า จะได้รับการสรรเสริญยกย่อง...จากพี่น้องประชาชนผู้รักสันติ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท