รางวัล จตุรภาคีแห่งการจัดการความรู้


รางวัล จตุรภาคีแห่งการจัดการความรู้ 
      สคส. จะมอบ รางวัลจตุรภาคีแห่งการจัดการความรู้ เดือนละ ๔ รางวัล   เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๘  แก่ผู้ทำหน้าที่ยอดเยี่ยมใน ๔ บทบาทหลักของ KM ได้แก่
                รางวัล “คุณเอื้อ” แห่งเดือน  ๑ รางวัล
                รางวัล “คุณอำนวย” แห่งเดือน  ๑ รางวัล
                รางวัล “คุณกิจ” แห่งเดือน  ๑ รางวัล
                รางวัล “คุณลิขิต” แห่งเดือน   ๑ รางวัล
ผู้ได้รับรางวัลแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมาจากหน่วยงานเดียวกัน     คือเป็นรางวัลที่ไม่ผูกพันกัน    พิจารณาผลงานแยกกัน
                 โดยที่รางวัลประจำเดือนสิงหาคมจะประกาศภายในวันที่ ๓๐ กันยายน   คือคณะกรรมการจะใช้เวลา ๑ เดือนตรวจสอบหลักฐานการปฏิบัติของ “ยอดคุณ --- แห่งเดือน” เพื่อนำมาเขียน “คำประกาศเกียรติปฏิบัติ” (เกียรติปฏิบัติ ไม่ใช่เกียรติคุณ)   และจะเชื้อเชิญให้ผู้ได้รับรางวัลเขียนเล่าวิธีปฏิบัติหรือวิธีดำเนินการ KM ของตน   ในลักษณะของภาพรวม และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหรือเคล็ดลับในการปฏิบัติ
                  ในบางเดือนอาจไม่มีผู้สมควรได้รับรางวัลบางรางวัล ก็ได้     คือมีการให้รางวัลจตุรภาคีไม่ครบ ๔     แต่ในแต่ละเดือนจะไม่มีการให้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง ๒ รางวัล    คณะกรรมการต้องหาเกณฑ์แยกแยะจนได้ผู้ได้รับรางวัลเพียงคนเดียว
                 ที่มาของ candidate จะมาจากหลายช่องทาง ได้แก่
       ๑. จากการเขียนเล่าใน บล็อก GotoKnow ด้วยตนเอง    หรือโดยผู้อื่นเล่าก็ได้
      ๒. จากการเสนอแนะเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบุคคลภายนอก   เสนอแนะชื่อ หน่วยงาน   รายละเอียดของการแสดงบทบาท   และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กร    เสนอไปยัง สคส. ทางไปรษณีย์  ทาง บล็อก  หรือ ทาง อี-เมล์ ก็ได้
      ๓. จากการไปเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยทีมประชาสัมพัธ์ หรือทีมผู้ประสานงานของ สคส.
      ๔. จากการสืบเสาะหาของคณะกรรมการ
      ๕. จากช่องทางอื่นๆ ที่คณะกรรมการคิดขึ้น   หรือได้รับคำแนะนำจากภาคีเครือข่าย
                คณะกรรมการตัดสินรางวัลจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ และประกาศให้ทราบทั่วกัน   โดยที่เกณฑ์ของต่างเดือนอาจไม่เหมือนกันทั้งหมด   คือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ได้
                แนวทางของเกณฑ์ในการสรรหาและตัดสินได้แก่
     ๑. มีการดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอมาแล้วเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน
    ๒. มีผลสัมฤทธิ์ให้เห็นได้   โดยอาจเป็นผลในเชิงกระบวนการ (เช่นเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานในหน่วยงาน เป็นทำงานเป็นทีม,    มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งอย่างไม่เป็นทางการ และอย่างเป็นทางการมากขึ้น)  หรืออาจเป็นผลในเรื่องงาน (เช่นมีการแก้ปัญหาบางอย่าง,   มีการบรรลุเป้าหมายคุณภาพงานบางด้าน)
    ๓. ได้ปฏิบัติหรือแสดงบทบาทอย่างมีชีวิตชีวา   มีการริเริ่มแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ
    ๔. มีหลักฐานผลงานที่เป็นรูปธรรม  เช่นตัวเลขลดค่าใช้จ่าย   ตัวเลขนักเรียนที่ขาดเรียนลดลง   หรือผลงานด้านกิจกรรมตลาดนัดความรู้   ขุมความรู้   แก่นความรู้    ประกาศขององค์กร    รายงานการประชุมหรือรายงานประจำปีขององค์กร  เป็นต้น
 
                ลักษณะของรางวัลจะประกาศภายในสัปดาห์นี้
                หลังจากให้รางวัลจตุรภาคีไปครบ ๑๒ เดือน   จะมีรางวัลใหญ่ เป็นรางวัลแห่งปี   ได้แก่ “คุณเอื้อแห่งปี ๒๕๔๙”    “คุณอำนวยแห่งปี ๒๕๔๙”    “คุณกิจแห่งปี ๒๕๔๙”   และ “คุณลิขิตแห่งปี ๒๕๔๙”
วิจารณ์ พานิช
๓๑ กค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 1807เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2005 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท