การจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ


การจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
วิจารณ์  พานิช
14 มิ.ย.48
          การจัดการความรู้ที่เป็น “ของแท้” ไม่จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง KM     วันนี้ (6 มิ.ย.48) ผมไปพบ KM ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่ จ.ตราด     ผู้เล่าคือ คุณอาคม  ภูติภัทร์ (01-525-7606, 039-532-001) แห่งชมรมนักพัฒนาภาคตะวันออก  จ.ตราด     เล่าในการประชุม “สร้างเสริมศักยภาพนักวิจัยและเครือข่ายเพื่อการจัดการความรู้ด้านคุณธรรม  จริยธรรม”    จัดโดยฝ่ายวิจัยและจัดการความรู้     ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ที่โรงแรมแก้วเจ้าจอม  มรภ.สวนสุนันทา

  รูปคุณอาคม (ซ้าย)

           คุณอาคม   มานำเสนอโครงการ “พัฒนาทุนทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเป็นสุข”   วิธีมอง “ทุน” ของคณะผู้เสนอโครงการ   เข้าหลัก KM แบบ “โดนใจ”   เลยทีเดียว     คือมองทุนทางสังคมเป็นทุนชีวิต   ประกอบด้วยทุน 10 ด้าน   คือ
·       ผู้คนในสังคมมีจิตใจที่ดีงาม   เอื้ออาทร   และเรียนรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง (ทุนปัญญา – จิตใจ)
·       มีความรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง   และรู้เท่าทันความรู้ใหม่ ๆ ที่จะเลือกใช้อย่างเป็นประโยชน์   และไม่ให้ตนเองตกอยู่ในวังวนของบริโภคนิยม (ทุนความรู้ – รู้เท่าทัน)
·       มีความรู้และการปฏิบัติตนเพียงพอกับการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง   และมีสมรรถนะ   เหมาะสมตามวัย (ทุนสุขภาพร่างกาย)
·       มีทัศนคติ   ค่านิยม   และวัฒนธรรมที่ดีงาม   เพื่อเป็นวิถีปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาในทุกด้าน (ทุนวัฒนธรรม)
·       มีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (ทุนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม)
·       มีความรู้ในการจัดการชุมชนร่วมกันด้านความปลอดภัย   ความเป็นธรรมในชุมชน (ทุนการเมือง)
·       มีประชาชนออกมาเสียสละ   ทำงานสาธารณะจัดการปัญหาชุมชนมากขึ้นควบคู่ไปกับคนทำงานสาธารณะในระบบ   คนที่ออกมาทำงานการเมืองของพลเมืองมากขึ้น (ทุนแกนนำ)
·       มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาในสาธารณะมากขึ้นในทุกพื้นที่ (ทุนเวทีสาธารณะ)
·       มีเศรษฐกิจที่ดี (รายได้เพิ่ม – รายจ่ายลด) ไม่เป็นหนี้ (ทุนเศรษฐกิจ)
·       มีกองทุนสวัสดิการกลางเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลในยามทุกข์ยาก (ทุนเศรษฐกิจและสวัสดิการกลาง)
ถ้อยคำของทุนทั้ง 10 ข้อ   ผมลอกเอามาจากข้อเสนอโครงการคำต่อคำโดยไม่ได้แก้ไข   เพื่อให้
ท่านผู้อ่านได้เห็น “ปัญญา” ของแท้ของชมรมนักพัฒนาภาคตะวันออก
          การจัดการความรู้เริ่มที่ความรู้หรือสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้วในองค์กรหรือในชุมชน   หา “ทุนเดิม” เหล่านั้นให้พบ   และนำมาตีความแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้งาน   แล้วเอาผลจากการใช้งานมาตีความแลกเปลี่ยนเรียนรู้   เกิดเป็นความรู้ใหม่รอบแล้วรอบเล่า
          การเชื่อตัวหนังสือ   อาจทำให้ถูกหลอก   ทุนชีวิต 10 ด้านตามเอกสารข้อเสนอโครงการอาจเป็นตัวหนังสือที่เขียนขึ้นให้จับใจ   เพื่อล่อเอาทุนสนับสนุนก็ได้
          ข้อพิสูจน์ “ของแท้” ปรากฏในขั้นตอนการสนทนาแลกเปลี่ยนการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ   ซึ่งได้แก่
1.      ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับบุคคลในการลด ละ เลิก อบายมุข   และเพิ่มคุณธรรมพื้นฐานคือ   สะอาด  ขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์   เสียสละ   กตัญญู   และอ่อนน้อมถ่อมตน
2.      สร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามระดับครอบครัว   ในกิจกรรมทุนทางสังคมทั้ง 9 ทุน
3.      พัฒนากิจกรรมกลุ่มที่เป็นรูปธรรม   การสร้างทุนทางสังคม
4.      เชื่อมโยงกิจกรรมกลุ่มของทุนทางสังคมต่าง ๆ ในชุมชนและตำบลเพื่อเรียนรู้การจัดการชุมชนร่วมกัน
   คุณอาคมเล่าเรื่องการดำเนินการของกลุ่มตนในพื้นที่ 2 ตำบล   ใช้วิธีไปเรียนรู้   แลกเปลี่ยนเรียนรู้
กับปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน   ทำบัญชีรับจ่ายครอบครัว   มีเวทีมาพบกันทุก 15 วัน   หรือทุกเดือนแล้วแต่พื้นที่   เพื่อเรียนรู้จากต้นแบบหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จตามการปฏิญาณตนของแต่ละคนว่าจะลดละอบายมุข   ยกตัวอย่างตนเอง   อบายมุขที่ตนมีคือ “กามสุข”    ตนถูกกัลยาณมิตรที่มาร่วมเวทีเตือนว่าชักจะอ้วนเกินไปแล้วนะ     ทำให้ได้สติที่จะลดละอบายมุขที่เป็นกามสุข   คือชอบกินข้าวมันไก่   ข้าวขาหมู   ก็จะต้องลด ละ เลิก    บางคนก็ติดอบายมุข “มานะ  อัตตา”
          เห็นภาพ “การจัดการความรู้” ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไหมครับ     ผมได้เสนอแนะให้มีการบันทึกเรื่องราวไว้ในรูปของถ้อยคำตามที่สนทนากันจริง ๆ   ไม่มีการขัดเกลาสำนวน   จะทำให้ได้ “ความรู้ในคน” (tacit knowledge) สำหรับการขัดเกลาตนเอง   เพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรม
          ตอนรับประทานอาหารเที่ยง   ผมนั่งคุยกับคุณอาคม     คุณอาคมบอกว่าเรื่องที่กลุ่มชมรมนักพัฒนาภาคตะวันออกขาดแคลนมากคือวิชาการ   หาที่พึ่งยาก   ตนได้โทรศัพท์คุยกับ ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด ไว้แล้ว     ว่าจะขอให้ไปช่วยเหลือชมรมในด้านการจัดการความรู้     เพราะ ดร. ประพนธ์ เป็นชาวจังหวัดตราด 
          ก็ดีซิครับ   สคส. จะได้เข้าไปช่วยต่อยอด KM ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ   ให้ยิ่งทรงพลังยิ่งขึ้นด้วยวิธีการ KM ตามรูปแบบของ สคส.
                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         6 มิ.ย.48
         

คำสำคัญ (Tags): #phd#program
หมายเลขบันทึก: 180เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2005 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท