อาจารย์ยม
อาจารย์ อาจารย์ยม บทบาทนักวิชาการ คือการชี้ทางสว่างให้สังคม นาคสุข

มาตรฐาน 5 ส


การทำ 5 ส. ต้องเริ่มจาก ส.สะสาง ของจำเป็นกับของที่ต้องการออกจากกัน ให้เกิด ส.สะดวก ในการทำงาน การทำความสะอาด จะเกิด ส. สะอาด ทำให้สะอาดเป็นนิจ 5 ส. เป็นกิจกรรมพื้นฐาน ของภาวะผู้นำ เป็นเรื่อง เก่า มาเล่าใหม่ ตามที่มีนักศึกษาถามมมา

มีนักศึกษา ถามผมมาเกี่ยวกับ มาตรฐาน 5 ส.   ผมอธิบายสั้น ๆ ดังนี้ครับ

5 ส. เป็นกิจกรรมพื้นฐาน ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทุกสาขา 5 ส. ต้องเริ่มจาก ส.สะสาง ของจำเป็นกับของที่ต้องการออกจากกัน ให้เกิด ส.สะดวก ในการทำงาน การทำความสะอาด จะเกิด ส. สะอาด สถานที่ทำงานสะอาด ย่อมทำให้เกิด ส.สุขลักษณะ  การทำงานที่เป็นสุข ฝึกทำให้ ส. ดังกล่าวให้เป็นนิจ  เป็น ส.นิสัย  ครบ  5 ส. ครับ

กิจกรรม 5 ส. เป็นกิจกรรมพื้นฐาน ของภาวะผู้นำ เป็นเรื่อง เก่า มาเล่าใหม่ ตามที่มีนักศึกษาถามมมา และเห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักศึกษา  และผู้สนใจที่เริ่มงานใหม่ และปรารถนาที่จะพัฒนาตน พัฒนางานง่าย  ๆ แต่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการทำ 5 ส.

การทำ 5 ส. ควรใช้การการ P D C A คือ มีการวางแผน (Plan) ว่าจะสะสางที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใครเป็นเจ้าภาพ ใครมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องบ้าง กำหนดเสร็จเมื่อไหร่ จากนั้น ทำ (Do) ตามที่เขียนแผนไว้ และควรให้ผู้คนรอบข้างมีส่วนร่วม ทำงานไป สร้างความสัมพันธ์ไป  และตรวจสอบการทำงานตามแผน (Check) ว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร มีปัญหาติดขัดอะไร ใกล้เสร็จหรือไม่อย่างไร  และต้องพยายามทำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง(Action)

ในการทำกิจกรรม 5 ส  เมื่อจัดการสะสาง จนสะดวก สะอาดแล้ว ก็ควรมองภาพที่สะอาดที่เห็นอยู่นั้นว่าเป็นอย่างไร  เช่น โต๊ะ ปราศจากฝุ่น และของใช้ที่ไม่จำเป็น  ก็กำหนดเป็นมาตรฐานโต๊ะทำงานขึ้นมา  เห็นอะไรดีที่ได้จากการทำ   5 ส ในแต่ละที่ ก็เขียนเป็นมาตรฐานขึ้นมา แล้วหารือร่วมกับทีมงานว่าจะมีสิ่งใดต้องเพิ่มเติมหรือตัดออก ก่อนที่จะกำหนดเป็นมาตรฐาน และเป็นข้อกำหนดของพื้นที่ ต่อไป

การทำ 5 ส.ดังกล่าว เป็นการฝึกความมีวินัย นิสัยการทำงานพื้นฐานที่ดี เท่ากับเป็นการฝึกภาวะผู้นำไปด้วย  จึงเหมาะกับสถาบันการศึกษาทุกระดับ  สถานประกอบการ องค์การทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างดี  

ที่สำคัญคือ ระดับผู้นำควรทำเป็นแบบอย่างที่ดีแล้วเชิญชวนให้ทีมงานทำให้ดีกว่า  ครับ  มาตรฐาน  5 ส ที่ผมนำมาให้ศึกษาตอนท้ายนี้  เป็นงานที่ผมทำไว้นานมาก แล้ว ประมาณ 10 ปีน่าจะได้  นักศึกษา หรือผู้สนใจท่านใดจะนำไปใช้ที่ทำงานหรือที่บ้านก็ควรบูรณาการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของตนเอง ครับ

ขอให้ทุกท่านโชคดี

 

  

ในภาพ ถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนในกลุ่มอาเซี่ยน ขณะที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปสัมมนาและศึกษาดูงานด้าน 5ส และการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ในสถานประกอบการ ณ โรงงานทำกระดาษ ประเทศญี่ปุ่น

หมายเลขบันทึก: 179904เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2008 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีครับอาจารย์ยม

 ผมเรียน ป.โท กับอาจารย์ที่ ลาดกระบังฯ หวังว่าอาจารย์ยม กับ ศ.ดร.จีระ คงสบายดี  สิ้นปีนี้ผมเคลียร์พื้นที่ ทำ 5 ส ครั้งใหญ่ในที่ทำงานครับ กำลังทำอยู่ และต้องการจัดให้เป็นมาตรฐานพื้นที่ทำงาน 

ตอนที่เรียนกับอาจารย์  อาจารย์เล่าให้ฟังว่าอาจารย์เคยอยู่กับญี่ปุ่นมา  คงจะมีประสบการณ์เรื่องการทำ 5 ส.  อย่างเป็นระบบ  ผมขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยว่า ถ้าจะทำมาตรฐาน 5 ส.ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ห้องประชุม ห้องทำงาน โต๊ะทำงาน ทางเดิน ห้องน้ำ ฯ ควรจะมีมาตรฐานอย่างไร ครับ  ขอคำแนะนำด้วย 

 

ขอให้อาจารย์มีความสุข ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ครับ

 

สวัสดีครับ

ตัวอย่างมาตรฐานการปฏิบัติ  5  

เรื่องมาตรฐาน 5 ส. ทำได้ด้วยการนำเอาผลการตรวจและการปรรับปรุงแต่ละพื้นที่มาเขียนเป็นมาตรฐาน โดยใช้หลักการ องค์กรแห่งการเรียนรู้ และ Knowledge Management จะได้เป็นมาตรฐาน 5 ส ที่เป็นธรรมชาติเหมาะกับพื้นที่และบุคลากรในพื้นที่  

อย่างไร ก็ตามผมเคยทำตรงนี้ มาและให้เป็นแนวทางไว้ ตามข้อมูลตอนท้ายนี้  แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่สุตรสำเร็จ ตายตัว มาตรฐานต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มาตรฐานวันนี้ อาจจะไม่ใช่มาตรฐานในอนาคต ขอให้ศึกษาเปรียบเทียบให้ดี และควรทำจากของจริงหน้างาน

 

 

ตัวอย่างมาตรฐานการปฏิบัติ  5 ส จำแนกตามพื้นที่ใช้งาน  มีดังนี้

พนักงาน 

  • แต่งกาย ถูกต้อง   ติดบัตรประจำตัว ติดแถบสีบอกสถานะ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล
  • รักษาเวลาทำงาน   ตั้งใจทำงาน
  • มีกิริยาวาจา สุภาพ เรียบร้อย มีมารยาทการทักทาย
  • ปฏิบัติตามกฎฯ ประกาศ คำสั่ง วัฒนธรรม อันดีงาม ของบริษัทอย่างเคร่งครัด

ทางเดินในบริเวณที่ทำงาน

  • ใช้เส้นสีเหลืองหรือขาวกำหนดทางเดินในบริเวณที่ทำงานอย่างชัดเจน
  •  ห้ามวางสิ่งของต่าง ๆ บนบริเวณทางเดินโดยเด็ดขาด
  • หากไม่ได้รับอนุญาต ห้ามทำงานในบริเวณที่กำหนดให้เป็นทางเดิน
  • ควรทำความสะอาดเส้นแสดงทางเดินทุกเดือน
  • พนักงานควรจะเดินบนทางเดินที่กำหนดเสมอ
  • พนักงานควรจะเดินบนทางเดินที่กำหนดเสมอ
  •  บริเวณทำงานและทางเดินควรแยกกันให้ชัดเจน

ตู้เก็บของ

  • อย่าวางสิ่งต่าง ๆ เหนือตู้เก็บของ 
  • จัดวางสิ่งต่าง ๆ ในตู้เก็บของ  ของแต่ละบุคคลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
  • ทำความสะอาดตู้เก็บของ
  • อย่าเก็บอาหารไว้ในตู้เก็บของ
  • ควรจะรื้อตู้เก็บของทั้งหมดทำความสะอาด อย่างน้อยเดือนละครั้ง

ตู้เอกสาร

  • สะอาดปราศจากฝุ่น หรือคราบสกปรก
  • เอกสารจัดเป็นประเภท หมวดหมู่เรียงลำดับ มีดัชนีการจัดเก็บให้ครบถ้วน
  • แฟ้มเอกสารต้องไม่หนา จนเกิดการชำรุด ของแฟ้ม หากมีเอกสาร

ถานที่ทำงานในบริเวณหน่วยงาน

  • หมั่นรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบของสถานที่ทำงาน
  • อย่าทิ้งขยะไว้ตามจุดต่าง ๆ รอบบริเวณหน่วยงาน
  • ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ
  • อย่าวางเครื่องจักรหรือเอกสารที่ไม่ใช้ภายในบริวณที่ทำงานในบริเวณหน่วยงาน
  • ควรทำความสะอาดและจัดบริเวณที่ทำงานให้เป็นระเบียบตลอดเวลาเพื่อให้ลูกค้าและแขกประทับใจ     

อุปกรณ์ดับเพลิง

  • เลือกสถานที่ตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงอย่างระมัดระวัง
  • ต้องมั่นใจว่า  อุปกรณ์ดับเพลิงทั้งหมดตั้งอยู่ในที่มองเห็นได้ง่าย
  • ห้ามวางสิ่งของใด ๆ ขวางทางอุปกรณ์ดับเพลิง
  • ต้องมั่นใจว่าทุกคนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง
  • ต้องตรวจสอบอุปกรณ์ดับเพลิงอย่างสม่ำเสมอ

โต๊ะทำงาน

  • มีป้ายชี้บ่ง เห็นชัดเจน ว่าเป็นใคร ตำแหน่งอะไร
  • ไม่วางสิ่งของต่าง ๆ ใต้โต๊ะทำงาน
  • กำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน
  • จัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน
  • ไม่ควรวางของใช้ส่วนตัวบนหรือในโต๊ะทำงาน
  • ไม่กองเอกสารบนโต๊ะทำงาน
  • ควรจัดเก็บโต๊ะทำงานของท่านให้สะอาดและเป็นระเบียบอยู่เสมอ
  • ซ่อมแซมโต๊ะทำงานของท่านหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
  • ทำความสะอาดโต๊ะทุกเช้า
  • ก่อนกลับบ้านไม่ควรวางสิ่งใดบนโต๊ะทำงาน ยกเว้นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานในวันต่อไป
  • ไม่ควรใช้โต๊ะทำงานเป็นที่เก็บของ และควรทำความสะอาดโต๊ะทำงานทุกซอกทุกมุม อย่างน้อยปีละครั้ง
  • ใต้โต๊ะทำงานให้มีเฉพาะถังขยะ 1 ถัง และกระเป๋าเอการ จัดวางเป็นระเบียบเรียบร้อย

การจัดเก็บเอกสารโต๊ะทำงาน

  • โต๊ะทำงานที่มีลิ้นชักอยู่เพียงด้านขวามือ หรือซ้ายมืออย่างใด อย่างหนึ่ง
  • ชั้นบนเก็บเอกสารที่ใช้ทำงานและเครื่องใช้สำนักงานขนาดเล็ก
  • ชั้นล่างใช้เก็บของส่วนตัวได้
  • โต๊ะทำงานที่มีชั้นและลิ้นชักทั้งสองข้าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
  • ให้แยกการเก็บเอกสารที่ใช้ใน การทำงาน  เครื่องใช้สำนักงานและเก็บของส่วนตัวออกจากกัน โดยเก็บไว้ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ปะปนกัน
  • จัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมที่จะรับการตรวจ

เก้าอี้

  • เก็บเก้าอี้ไว้ใต้โต๊ะก่อนออกจากที่ทำงาน
  • ไม่พาดเสื้อคลุมไว้บนพนักเก้าอี้
  • ทำความสะอาดเก้าอี้โดยใช้แปรงหรือผ้าอย่างสม่ำเสมอ
  • หากเก้าอี้มีเสียงดังหรือโยก ควรจะทำการซ่อมแซมเสีย

   

โทรศัพท์

  • ทำความสะอาดเครื่องโทรศัพท์และแป้นหมายเลขอย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาล้างจานหรือสบู่อ่อน ๆ
  • ติดตั้งสายโทรศัพท์รอบโต๊ะของท่านอย่างมีระเบียบ
  • ติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ในจุดที่สะดวกต่อการใช้
  • จัดวางโทรศัพท์อย่างมีระเบียบก่อนออกจากที่ทำงา

อุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงาน

 

  • ทำความสะอาดเครื่องพิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาล้างจานหรือสบู่อ่อน ๆ
  • ติดตั้งสายไฟอย่างมีระเบียบเพื่อความปลอดภัย และสวยงาม
  • เตรียมอุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงานให้พร้อมที่จะให้ผู้อื่นใช้ต่อจากเรา
  • จัดวางกระดาษตามชนิด และขนาดอย่างมีระเบียบในที่ที่กำหนด
  • ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ทุกชนิดอยู่เสมอและจัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมทันทีหากมีสิ่งผิดปกติ
  • ควรจะกำหนดพนักงานดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานแต่ละชนิด

ตู้เอกสาร

  • ควรติดป้ายหน้าตู้เอกสารบอกรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ในตู้
  • จัดแบ่งลิ้นชักภายในตู้เพื่อเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็ก
  • ติดป้ายที่สันแฟ้มทุกแฟ้มเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้และเก็บคืนที่
  • เพื่อความสวยงามอย่าวางสิ่งของใดใดบนหลังตู้
  • ควรจัดตู้เอกสารทุก ๆ 3 เดือน และต้องทำอย่างรอบคอบ ป้องกันการสูญหายของเอกสารที่สำคัญ

ห้องประชุม

  • ไม่อนุญาตนำสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่ไม่ใช้สำหรับการประชุมไว้ในห้องประชุม
  • นำที่เขี่ยบุหรี่ วัสดุต่าง ๆ เครื่องใช้สำนักงาน วีดีโอ ฯลฯ เก็บเข้าที่ทุกครั้งหลังใช้งาน
  • เก็บโต๊ะและเก้าอี้ให้เข้าที่ภายหลังใช้งาน
  • ปิดไฟและเครื่องปรับอากาศทุกครั้งหลังจากใช้ห้องประชุม
  • เข้าประชุมให้ตรงเวลา
  • มอบหมายให้พนักงานทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นเจ้าของห้องประชุมแต่ละห้อง

หน้าต่าง

  • ม่านหรือมู่ลี่บังแสงต้องสะอาดและใช้งานได้ดี
  • ขอบหน้าต่างที่เป็นไม้หรือวงกบต่าง ๆ ต้องสะอาด ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน
  • ไม่มีสิ่งของ เสื้อผ้า กระดาษปิดหรือแขวนตามหน้าต่าง
  • ไม่มีของวางเกะกะหรือปิดบังหน้าต่าง
  • หน้าต่างสามารถเปิดปิดได้โดยง่าย กระจกไม่แตกและสามารถป้องกันน้ำรั่วซึมตลอดจนฝุ่นและเสียงจากภายนอกได้ดี
  • ก่อนกลับบ้าน พนักงานได้ปิดหน้าต่างลงกลอนเรียบร้อย (ฝนอาจสาดเข้ามาหรือของอาจหายได้)

พื้นที่รับแขก

  • ภายหลังการใช้ทุกครั้งจะต้องนำแก้วกาแฟออกจากพื้นที่รับแขกทันทีที่แขกกลับแล้ว
  • ทำความสะอาดที่เขี่ยบุหรี่ภายหลังการใช้
  • ทำความสะอาดโต๊ะและพื้นทุกวัน
  • เก็บโต๊ะและเก้าอี้เข้าที่เดิม
  • เข้าประชุมให้ตรงเวลา

พื้นห้อง

  • ตะกร้าใส่เศษกระดาษถังผง หรือถังขยะต่าง ๆ ต้องวางในที่ ๆ กำหนด
  • ต้องไม่มีเศษขยะกองล้นออกมานอกตะกร้า / ถังขยะ
  • สายโทรศัพท์และสายไฟต่าง ๆ ต้องเดินไว้อย่างมีระเบียบ
  • มีการกำหนดตำแหน่งที่วางของต่าง ๆ อย่างแน่นอน
  • ไม่มีคราบน้ำมันหรือน้ำนองพื้น
  • ไม่มีของวางกองอยู่ที่พื้นเป็นเวลานานทำให้เปลืองพื้นที่
  • ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงสาบ มด ปลวก หรือสัตว์ใด

ห้องอาหาร

  • ไม่ทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นใด ๆ บนโต๊ะอาหารหลังการใช้งาน
  • เก็บเก้าอี้ไว้ใต้โต๊ะอาหารหลังการใช้งาน
  • หากมีการดึงโต๊ะและเก้าอี้ออกไปใช้จะต้องนำไปเก็บที่เดิมทุกครั้ง
  • เก็บถ้วยชามทันที หลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดโต๊ะอาหารทันทีที่รับประทานอาหารเสร็จ

ห้องน้ำ

  • กดชักโครกหลังใช้ห้องน้ำทุกครั้ง
  • ล้างมือทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดห้องน้ำและอ่างล้างหน้าทุกวัน
  • หมั่นดูแลกระดาษชำระ สบู่ ผ้าเช็ดมือให้พร้อมอย่าให้ขาด
  • ผู้ใช้ห้องน้ำทุกคนควรจะพยายามรักษาห้องน้ำให้สะอาด และเป็นระเบียบเสมอ
  • ตรวจสอบการทำงานของพัดลมดูดอากาศ ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานอยู่

ทางเดินห้องโถง

  • เช็ดรองเท้าก่อนเข้าไปในสำนักงาน
  • ห้ามสูบบุหรี่ขณะเดินอยู่ในทางเดิน
  • ห้ามวางสิ่งของใด ๆ บริเวณทางเดินโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • เก็บและทิ้งขยะหรือเศษกระดาษในบริเวณทางเดิน
  • ไม่พูดหรือส่งเสียงดังตามทางเดิน

ขยะ

  • ตั้งในที่เหมาะสม สะดวกใช้และนำไปทิ้ง ควรแยกประเภทขยะเปียก แห้ง หรือ RECYCLE
  • มีป้ายบ่งบอกว่าให้ทิ้งขยะประเภทใด  กำหนดการเก็บขยะมีให้เห็นชัดเจน

กำแพง ฝาผนัง

  • นาฬิกาแขวนบอกเวลาถ้ามี ต้องใช้การได้ดี บอกเวลาถูกต้องและแขวนไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม มองเห็นได้ง่าย
  • แผ่นโปสเตอร์ ประกาศ รูปภาพ และอื่นๆ ที่ติดอยู่นั้น มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และสวยงามไม่เอียง ไม่เฉแต่ได้ระดับ และอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้น
  • ไม่มีแผ่นประกาศที่หมดสภาพ คือ อ่านไม่ออก ชำรุด ฉีกขาด ล้าสมัย หรือไม่น่าดู
  • ไม่มีสกอตเทป หรือแผ่นเทปกาวหรือตะปูติดเหลืออยู่
  • สิ่งที่อยู่นั้นต้องมีประโยชน์ หรือมีความสำคัญที่ต้องการให้ทุกคนมองอยู่เสมอ
  • การติดหรือแขวนสิ่งต่าง ๆ ในข้อควรติดไม่เกิน 20%  ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพของกิจการ ถ้าเป็นร้านขายรูปจะติดเกิน 50% ก็ได้   

กราบสวัสดีอาจารย์ยมค่ะ

หนูจบ ป.โท แล้วค่ะอาจารย์ ตอนนี้เข้าทำงานอยู่องค์กรของหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งนโยบาย 5ส. เป็นนโยบายที่กำหนดมาตรฐานให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติอย่างชัดเจนค่ะ ปัจจุบันงานด้านนี้พัฒนาไปไกลมากค่ะอาจารย์ จาก 5ส. เริ่มแตกยอดออกเป็น 7ส. และ 9ส. ไปแล้ว แต่พื้นฐานทั้งหมดก็ยังคงอยู่ที่ SEIRI - SEITON - SEISO - SEIKETSU - SHITSUKE อยู่นั่นเอง และด้วยความที่องค์กรที่หนูทำงานอยู่มีการตื่นตัวเรื่องนี้มาก ๆ จึงส่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับงานด้าน 5ส. ซึ่งหนูก็โชคดีที่ได้รับโอกาสนั้น ๆ พอไปรับการอบรมมา ก็จำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้คนในองค์กรฟังค่ะ แต่ด้วยความที่ เรื่องพื้นฐานของ 5ส. ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว การถ่ายทอดความรู้จึงออกมาในรูปของการเชื่อมโยงค่ะ หัวข้อที่หนูต้องพูดคือ หัวข้อ การเชื่อมโยง 5ส. กับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนค่ะอาจารย์

ตอนนี้หนู Scope หัวข้อในการบรรยายไปอยู่ที่ ส.สะสาง ซึ่งจะมีการแยกประเภทขยะอยู่ด้วย การแยกประเภทขยะที่ถูกต้องจะนำไปสู่การนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ หรือเกิดการ Recycle ขึ้นเพื่อการประหยัดทรัพยากร และช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ แต่หนูอยากเรียนถามอาจารย์ว่า อาจารย์ยังมีข้อแนะนำอื่น ๆ อีกบ้างมั้ยคะเกี่ยวกับความสัมพันธ์อื่น ๆ ของ 5ส. ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่หนูพอจะนำไปบรรยายได้ หนูต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

คำถาม นี้ นักศึกษา ป.โท ถามมา   จับประเด็นได้ดังนี้

  1. หนูจบ ป.โท
  2. เข้าทำงานอยู่องค์กรของหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่ง
  3. ซึ่งเน้นนโยบาย 5ส.
  4. เป็นนโยบายที่กำหนดมาตรฐานให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติอย่างชัดเจน
  5. ปัจจุบันงานด้านนี้พัฒนา จาก 5ส. เริ่มแตกยอดออกเป็น 7ส. และ 9ส. ไปแล้ว
  6. แต่พื้นฐานทั้งหมดก็ยังคงอยู่ที่ SEIRI - SEITON - SEISO - SEIKETSU - SHITSUKE อยู่นั่นเอง
  7. องค์กรที่ทำงานอยู่มีการตื่นตัวเรื่องนี้มาก ๆ
  8. จึงส่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับงานด้าน 5ส.
  9. พอไปรับการอบรมมา ก็จำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้คนในองค์กรฟัง
  10. การถ่ายทอดความรู้ออกมาในรูปของการเชื่อมโยง
  11. หัวข้อที่หนูต้องพูดคือ หัวข้อ การเชื่อมโยง 5ส. กับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน
  12. Scope หัวข้อในการบรรยายไปอยู่ที่ ส.สะสาง
  13. จะมีการแยกประเภทขยะอยู่ด้วย การแยกประเภทขยะที่ถูกต้อง
  14. จะนำไปสู่การนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ หรือเกิดการ Recycle ขึ้น
  15. เพื่อการประหยัดทรัพยากร และ
  16. ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้

อยากเรียนถามอาจารย์ว่า

  1. อาจารย์ยังมีข้อแนะนำอื่น ๆ อีกบ้างมั้ย
  2. เกี่ยวกับความสัมพันธ์อื่น ๆ ของ 5ส. ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่หนูพอจะนำไปบรรยายได้

เรื่อง  5 ส. ผมมีคำแนะนำดังนี้

  1. เรื่อง 5 ส.  ต้นตำหรับ ทำไว้ดีแล้ว ถึงแม้แต่ละองค์การ จะไปต่อเติมเสริมแต่ง เป็น 6 ส. 8 ส.หรือ 9 ส. ก็หนีไม่พ้น พื้นฐาน 5 ส.
  2. องค์การที่แตก ออกเป็น ส. มากกว่านี้ มีกี่องค์การ คงมีมาก แต่มีกี่องค์การ ที่ประสบความสำเร็จบ้าง
  3. การจะทำ 5 ส. ให้ได้ดี นั้น ญี่ปุ่น บอกว่า 3 ส.แรก ต้อง แม่น ต้อง แน่น ต้องปฏิบัติให้คล่อง แคล่าว คือ ส.สะสาง (ของจำเป็น ของที่ต้องการออกจากกัน)  ส.สะดวก (เหลือไว้เฉพาะของที่จำเป็น ส่วนของที่ต้องการ ให้จัดเก็บ ให้สะดวก เมื่อต้องการหยิบใช้ หยิบก็ง่าย หายก็รู้  ดูก็งามตา)  ส.สะอาด  เมื่อสะสาง และเกิดสะดวก ก็ทำความสะอาดง่าย ๆ  สบายใจ สบายตา สบายอากัปกริยา จะนั่ง จะเดิน จะทำงานก็เป็นสุข เกิด ส.สุขลักษณะ   ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้เป็นนิสัย ก็จะเกิด ส.นิสัย  ที่ดีดังที่กล่าวมา  แต่นี้ก็พอ
  4. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ จึงไม่ใช่เชิงปริมาณ (เอา ส. ส. ส. ให้มากขึ้น) แต่อยู่ที่คุณภาพ 

การนำ 5 ส. มา บูรณาการใช้  คือ เชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่น ๆ ผมแนะนำให้ใช้คำว่า "บูรณาการ"  "กับการ......"  ซึ่งควรเริ่มจากเรื่อง ใกล้ ๆ ตัว  ปัญหา ใกล้ๆ ตัว ปัญหาในสถานที่ทำงาน ในหน่วยงาน สะก่อน เช่น

  • 5 ส. กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน
  • 5 ส. กับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
  • 5 ส. กับการพัฒนาบุคลากร(พฤติกรรมพึงประสงค์)
  • 5 ส. กับการสร้างวัฒนธรรมองค์การ สมรรถนะสูง
  • การพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน ด้วยหลักการ 5 ส.
  • 5 ส. กับแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหน่วยงาน
  • 5 ส. กับการประหยัดต้นทุน
  • 5 ส. กับการพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้า
  • 5 ส. กับการเพิ่มขีดควาสามารถขององค์การ
  • 5 ส. กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
  • 5 ส. กับการลดปัญหา อุบัติเหตุในการทำงาน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม  การจะนำ หลักการ 5 ส. ไปบูรณาการใช้ หรือ นำไปอบรม เผยแพร่ ประยุกต์ใช้กับอะไรก็ตาม ก็ควรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ไข (อริยสัจสี่) หรือให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์การด้วย  

และนำหลักการวางแผน และการบริหารโครงการเข้ามาเป็นเครื่องมือ ในการบริหารจัดการ กิจกรรมดังกล่าว   ก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น  ก็แนะนำให้เข้าไปศึกษา เรื่องการวางแผน และการบริหารโครงการ ที่ผมเขียนไว้
 

นอกจากนี้  การนำ 5 ส. ไปปฏิบัติ ควรเน้นการสร้างวินัย แห่ง "องค์การแห่งการเรียนรู้"  องค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นองค์กรที่ซึ่งคนในองค์กรมีการขยายขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์กร เพื่อนำไปสู่จุดหมายที่บุคคลในระดับต่าง ๆ มีความต้องการอ่างแท้จริง

วินัย แห่ง "องค์การแห่งการเรียนรู้" มี 5 ประการ ประกอบด้วย

วินัยประการที่ 1:  ความรอบรู้แห่งตน (Personal Mastery)

วินัยประการที่ 2:  แบบแผนความคิดอ่าน (Mental Models)

วินัยประการที่ 3:  วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)

วินัยประการที่ 4:  การเรียนรู้ของทีม (Team Learning)

วินัยประการที่ 5:  การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking)

หวังว่า คำตอบที่ให้ จะเป็นประโยชน์ กับสังคมแห่งการเรียนรู้นี้

กราบขอบพระคุณอาจารย์ สำหรับคำแนะนำมากๆ ค่ะ

เรียน  ท่านอาจารย์ยม   

       มาขออวยพรในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๒

     ให้     มั่งมี       พูนทรัพย์      อเนกอนันต์

     ให้     สุขสันต์   หรรษา         พาสดใส

     ให้     รุ่งเรือง    พร่ำพร้อม    ทุกปัจจัย

     ให้     พรชัย      จงบันดาล    แด่ท่านเทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท