จุดหมายของขยะรีไซเคิล?


ไม่ต้องพึ่งทั้ง “มอเตอร์เวย์” “โลคัลโรด” แค่ “คันดินตามทุ่งนา” ก็ยังมีทางเดินเสมอสำหรับขยะรีไซเคิล

สถานที่เกิดเหตุ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

เวลา น่าจะเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
<p>       วันหนึ่งในฤดูร้อนที่ร้อนมากมาก (ถ้าใครเคยไปภาคเหนือตอนหน้าร้อนจะรู้ว่าร้อนขนาดไหน) โรงพยาบาลของฉันประกาศดีเดย์ รณรงค์การคัดแยกขยะ โดยจัดการซื้อถังสีเหลือง กับสีเขียวใหม่ทั้งล๊อตสำหรับขยะมูลฝอยและขยะรีไซเคิลพร้อมทั้งทำสติกเกอร์แปะบอกว่าถังอันไหนไว้สำหรับใส่อะไร แล้วนำไปวางไว้ตามที่ต่างๆในโรงพยาบาล รวมถึงบริเวณบ้านพัก</p>

       ถ้าโรงพยาบาลทำแค่นี้ พอจะรู้ใช่ไหมคะ ว่ามันจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นเลย เหมือนกับที่การรณรงค์แยกขยะไม่เคย สำเร็จ (เท่าที่ฉันรู้) เลยไม่ว่าที่ไหนในเมืองไทย เพราะมีหลายคนคิดว่า ไม่รู้จะแยกไปทำไม แถมบางทียังได้ยินให้เจ็บใจอีกว่า พี่ๆ ถึงพี่แยกนะ ผมก็เอาไปรวมกันอยู่ดี อ้าว แล้วกัน

       แต่………โรงพยาบาลของฉันโชคดีกว่านั้นค่ะ ในจังหวัดพิษณุโลกมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ฉันแอบนิยมมานานชื่อ บริษัทวงษ์พาณิชย์ เป็นบริษัทรับซื้อขยะรีไซเคิลที่ใหญ่มากๆ ของจังหวัด (น่าจะใหญ่ติดอันดับภาคหรือประเทศด้วยซ้ำ) เข้ามารับซื้อขยะในโรงพยาบาลทุกอาทิตย์ แต่ละหน่วยงานก็จะคัดแยกขยะรีไซเคิล แล้วเก็บรวบรวมเอาไว้ พอถึงวันนัดหมายก็จะนำออกไปขายให้กับบริษัทดังกล่าว ส่วนเงินที่ได้ (อันน้อยนิด) ก็ให้แต่ละหน่วยงานบริหารจัดการกันเอง 

      หน่วยงานของฉัน เราทำที่ใส่คล้ายคอกสุนัขอันเบ้อเริ่ม มี 3 ช่องสำหรับใส่กระดาษ พลาสติก แล้วก็ขวดแก้ว เมื่อก่อนฉันเองก็ทิ้งปนๆกัน (ก็แหม มันง่ายจะตายไป ถังขยะอยู่ใกล้ๆ ตัว) แต่พอโรงพยาบาลและหน่วยงานเริ่มทำ ฉันก็เห็นดีด้วย และเริ่มปฏิบัติตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้ว่าจะต้องเดินลงไปทิ้งท้ายตึก แต่เวลาเดินไปเห็นแต่ละช่องมันเต็มไปด้วย ขยะ รู้สึกดีชมัด ทั้งๆที่ปกติเรารังเกียจขยะกันจะตาย 

      ฉันยังโชคดีมากกว่านั้นค่ะ ห้องพักตรงข้ามกับฉันเป็นรุ่นพี่หมอหูคอจมูกท่านหนึ่ง  ฉันและพี่เขาเป็นพันธมิตรกันในการแยกขยะ หน้าห้องของเราจะมีถุงใบโตๆใบหนึ่งวางไว้ เวลาที่เรามีขยะพวกพลาสติกหรือ กระดาษเราก็จะนำไปทิ้งในถุงใบนี้ เวลามันเต็มไม่ฉันก็พี่เขาจะเอาไปแขวนไว้ข้างๆ ถังขยะ เพื่อคนเก็บขยะที่ฉันรู้ว่า ปกติตอนที่เขาเก็บขยะ เขาก็จะแยกพวกขยะรีไซเคิลพวกนี้ไปขายอยู่แล้ว จะได้เอาไปได้เลย  ไม่ต้องมาแยกอีก ฉันรู้ว่าขืนใส่ลงไปในถัง มันคงผสมกับขยะที่คนอื่นไม่ได้แยก แทนที่จะได้เอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ก็ต้องมาแยกอีก แถมร้ายกว่านั้นอาจจะเอาไปขายไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

       เราโชคไม่ดีที่โรงพยาบาลไม่มีการรณรงค์อย่างนั้นหรือ หรือเป็นเพราะว่าเราไม่มีบริษัทแบบนั้นหรือเปล่า

       ฉันว่าโรงพยาบาลหรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยมีแนวคิดอยู่แล้ว เพียงต้องการคนที่จะดูภาพรวม เส้นทางเดินของขยะ ว่าควรใช้เส้นทางเส้นไหน เริ่มออกสตาร์ทอย่างไร ควรแวะหยุดพักที่ใด และที่หมายคือตรงไหน ลำพังเราแยกขยะเอง แต่รอบๆตัวเราไม่มี ระบบ ที่มันรองรับ หน่วยงานเราแยก แต่หน่วยที่รับผิดชอบจัดการขยะเอามารวมกันอีกก็คงไม่เกิดอะไร ทำไปก็ไลฟ์บอย (งงๆ! ว่าทำไมต้องทำไปไลฟ์บอยด้วย เดี๋ยวจะลองไปหาดูว่าคำนี้มันมาจากอะไร)

       แต่ถ้าเราไม่มั่นใจว่า มอเตอร์เวย์ ของโรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัยมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ฉันก็ยังเชื่อว่า เราสามารถหา โลคัลโรด และไปถึงที่หมายได้เหมือนกัน แถมไม่ต้อง จ่ายค่าผ่านทาง ด้วย เพราะเท่าที่เห็น ฉันก็ว่ามีคนพร้อมที่จะมา "พา" ขยะรีไซเคิลเหล่านี้ออกจากหน่วยงานของเราอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ใช่บริษัทใหญ่โตแบบวงษ์พาณิชย์ แต่อย่างน้อยเขาก็ทำให้เรารู้ว่าทางเส้นนี้ จะนำขยะรีไซเคิลของเราไปยังจุดหมายได้ ไม่ต้องไปบุกป่า ลุยโคลน (ปนกับขยะเน่าเสีย)  หรือหลงทางที่ไหน

       เหนือกว่าสิ่งอื่นใดอีกคือ ตัวเราเอง  มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นความสำคัญ และมีใจ พร้อม ที่จะทำอยู่แล้ว (อย่างน้อยก็ทีม ปาโถโฟอาร์ ของเรา) แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี เราเริ่มที่ตัวเราก่อนนี่ล่ะค่ะ ฉันว่าในช่วงแรกของประเทศญี่ปุ่นที่พี่ไมโตฯ เล่าให้ฟังก็คงไม่ต่างกัน คนไม่กี่คนที่แยกขยะอาจโดนมองด้วยสายตาแปลกๆ แต่นานๆ ไปพอคนที่แยกขยะเพิ่มจำนวนมากขึ้น คนที่เคยมองเราด้วยสายตาแปลกๆ ก็จะกลายเป็นคนที่โดนมองด้วยสายตาแปลกๆ แทน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สุดท้ายทุกคนก็คงต้องทำตาม "วัฒนธรรม" ที่คนส่วนใหญ่เขาถือปฏิบัติ

      ฉันเองก็หาถุงใบใหญ่ๆ เอาไว้ใส่พวกขวดพลาสติก
กระป๋องอลูมิเนียมที่ใส่ขนมต่างๆ แม้มันดูไม่ "มืออาชีพ" เท่าไหร่ แต่บรรลุวัตถุประสงค์เหมือนกัน พอมันเต็มถุง ฉันก็ยกให้แม่บ้านที่ทำความสะอาดหอพัก เห็นไหมคะ ไม่ต้องพึ่งทั้ง มอเตอร์เวย์ โลคัลโรด แค่ คันดินตามทุ่งนา ก็ยังมีทางเดินเสมอสำหรับขยะรีไซเคิล

      คราวหน้าจะเริ่ม "มหากาพย์" ที่มาของ "เด็กดื้อ" แล้วค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17935เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 00:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นแนวคิดที่รู้สึกว่าน่าจะหาแนวร่วมรอบๆตัวไปเรื่อยๆนะคะ ดูจะมีคนอยากทำแต่หาแกนนำยังไม่ได้

เรื่องไลฟ์บอยนี่ ขอเดาตามประสาคนชอบภาษาหน่อยนะคะ คิดว่าเป็นยี่ห้อสบู่ซึ่งสมัยก่อน คุณเทิ่ง สติเฟื่อง ยังเป็นพิธีกรในรายการต่างๆ แล้วเป็นคนใช้ศัพท์คำนี้ ล้อเสียงกับคำว่า ไร้ผล

ไม่ยืนยันว่ามีที่มาอย่างนี้จริง เป็นสันนิษฐานจากที่เคยได้ยินสมัยเด็กๆ (กว่านี้เยอะ...) นะคะ

   อ่านแล้วมีกำลังใจแยกขยะต่อค่ะ อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะคำนึงถึงด้วย ก็คือ การลดพื้นที่ขยะ เช่นกล่องโฟม กล่องกระดาษ กล่องนม ควรจะ ย่อย ออกเป็นชิ้นเล็กๆก่อนทิ้งลงถังนะคะ
   ..บางทีเวลาเราทิ้งขยะลงในถุงพลาสติก (กรอบแกรบ) แล้วมัดปากถุงแบบ "ป่องๆพองลม" แล้วหย่อนลงขยะ  ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสักหน่อย เป็นการบีบถุงเพื่อ ไล่ลม ออกก่อนทิ้ง จะช่วยลดพื้นที่ขยะได้มากที่เดียวค่ะ

อยู่ที่พักก็ทำอยู่เช่นกัน กล่องนมบีบให้แบน ขวดplastic ขวดแก้วก็แยกต่างหาก วางไว้ข้างถังขยะ เผื่อให้คนเก็บขยะเอาไปขายได้สะดวก เอ.....ไม่รู้ว่าจะเก็บไปรวมอีกหรือเปล่า   อย่างไรก็ตามเราทำในสิ่งที่พอจะทำได้  คิดว่าน่าจะมีหลายคนที่เห็นความสำคัญของการแยกขยะ และกำลังทำอยู่แต่ไม่อยากแสดงตัว  

ขอปรบมือให้ดัง ๆ   อยากให้มีการแยกขยะมาตั้งนานแล้วตั้งแต่เริ่มมีตาวิเศษ แต่ไม่ค่อยจะมีคนร่วมมือกันเท่าไร

ข้อดีของการแยกขยะมีตั้งหลายข้อ เช่น ลดพื้นที่การทิ้งขยะ, ขยะ recycle ก็ขายได้สตางค์, ลดการตัดต้นไม้เพราะใช้กระดาษ recycle (มีต้นไม้มากขึ้น อากาศจะได้เย็นลง( ช่วยลดความร้อนของอารมณ์คนตอนนี้ลงด้วย), น้ำจะได้ท่วมน้อยลง), ขยะที่แยกแล้วตั้งทิ้งไว้จะมีคนมาเก็บไปขายเป็นการกระจายรายได้สู่รากหญ้า (เหมือนนโยบายใครนะ (?))

ขยะที่ recycle ขายได้สตางค์ แยกตั้งทิ้งไว้ข้างถังขยะตามแฟลตต่าง ๆ นั้นไม่ต้องห่วงว่าจะรกแล้วถูกแม่บ้านว่า  เพราะจะมีคนเก็บไปช่วยขายมากมาย บางทีแม่บ้านเองก็มาแยกขยะในถังด้วยเหมือนกัน

ที่หน่วยฯเองก็แยกขยะขายได้สตางค์เป็นล่ำเป็นสันมานานพอควร มีการช่วยกันขนขยะจากบ้านมารวมขายกับที่ทำงาน ได้เงินพอเป็นค่าอาหารเที่ยงเด็ก ๆในหน่วยเวลามี journal club กัน

อุ๊ย......เจอที่รับขยะแห่งใหม่แล้ว  อยู่ใกล้กับห้องเรานี่เอง  จะให้ขนจากแฟลตมาแจมด้วยไหมเนี๊ยะ  เพิ่งรู้ว่าที่หน่วยนี้    "เลิกขายข้าวยำ มาขายขยะแทน" เลยอดกินข้าวยำอร่อยๆเพราะเหตุนี้เอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท