การพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สินครู) ที่จังหวัดสมุทรปราการ


            (4 มี.ค. 49) ไปบรรยายหัวข้อ “เจตนารมณ์อันแน่วแน่ต่อการพัฒนาที่ยังยืน” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548 ของ “สมาคมเครือข่ายพัฒนาชีวิตครู (ประเทศไทย) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอาจารย์พงศักดิ์ ธีระวรรณสาร เป็นนายก (จังหวัด) (0-9153-3172)
            ได้บรรยายโดยมีสาระสำคัญดังนี้
            แนวทางสำคัญในการพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สินครู) ระดับจังหวัด
            1. การมีทัศนคติพึ่งตนเองและร่วมมือกัน บนฐานของ “ความดี” และ “ความสามารถ”
            2. การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
            3. การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์
            4. การมีกลไก กระบวนการ และปัจจัยเอื้ออำนวยที่เหมาะสมและมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ
            5. การมีนโยบายในด้านต่างๆทุกระดับที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สินครู) ทั้งทางตรงและทางอ้อม
            ข้อเสนอแนะวิธีดำเนินการ (ในระดับจัหวัด)
            1. อาศัยเครือข่ายระดับจังหวัดที่มีอยู่แล้วเป็นฐานดำเนินการ
            2. จัดให้มี “คณะทำงาน”  ที่มุ่งมั่นจริงจังอย่างต่อเนื่องในการที่จะนำความสำเร็จมาสู่ขบวนการพัฒนาชีวิตครูของจังหวัดสมุทรปราการ
            3. ดำเนินการ “จัดการความรู้” อย่างมีคุณภาพ ให้บังเกิดผลดีอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมกับการเชื่อมโยงขยายวงไปเรื่อยๆ ทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด
            4. จัดให้มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรม “จัดการความรู้” และอื่นๆโดยมุ่งพึ่งตนเองเป็นหลักก่อน เช่นนำเงิน 5% ของ 1% ที่ได้จากธนาคารออมสินมาใช้เพื่อการนี้และอาจเสนอให้ ธนาคารธนาคารออมสินร่วมสมทบในจำนวนใกล้เคียงกันหรือมากกว่ากับขอให้ สกสค. และหรือกระทรวงศึกษาธิการสมทบเป็นเงินหรืออย่างอื่นอีกทางหนึ่งด้วย
            5. จัดให้มีการศึกษาข้อเท็จจริง สถานการณ์ ปัญหา ฯลฯ อยู่เป็นประจำ พร้อมกับการหารือเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีที่เป็นประเด็นหรือปัญหา เพื่อหาข้อยุติที่พึงพอใจหรือยอมรับได้ร่วมกัน
            6. ดำเนินการให้มีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับขบวนการพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สิ้นครู) ในระดับกลุ่มจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ
            7. เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการระดับชาติเท่าที่มีโอกาส เป็นไปได้ และเหมาะสม
            เอกสารประกอบการบรรยาย
            ได้นำบทสัมภาษณ์ในวารสาร “NewSchool” (สานปฏิรูป) ฉบับธันวาคม 2548 คอลัมน์ “ชีวิตกับการเรียนรู้ 091” เรื่อง ไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ‘ฟันธง’ ทางออกของปัญหาหนี้สินครู “เงินไม่ใช่ปัญหา หากเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ปล่อยแล้วได้คืน” ซึ่งมีข้อความในบทสัมภาษณ์ดังนี้

คอลัมน์   ชีวิตกับการเรียนรู้ 091

เรื่อง                 ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ‘ฟันธง’ ทางออกของปัญหาหนี้สินครู

“เงินไม่ใช่ปัญหา หากเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ปล่อยแล้วได้คืน”

            หนี้สินครูเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างหาเสียงว่าจะแก้ไขให้ได้ เมื่อพูดมากกว่าทำ เมื่อสร้างหนี้มากกว่าชำระหนี้ ปัญหาจึงหมักหมมมานานนับสิบปี และตกทอดมาจึงถึงรัฐบาลปัจจุบัน
            คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้หักเหชีวิตจากนายธนาคารเอกชนมาทำงาน “เอ็นจีโอ” พัฒนาสังคม สั่งสมประสบการณ์ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนยากไร้ทั้งหลาย เมื่อกลับเข้าสู่เส้นทางธนาคารอีกคำรบหนึ่งในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในปี 2542 ได้ริเริ่มโครงการ “พัฒนาชีวิตครู” ร่วมกับเครือข่ายครูและกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตครูจากที่เคยติดลบให้เป็นบวก เพื่อทำงานสร้างสรรค์ให้กับเด็กและวงการศึกษาได้อย่างมั่นคง
            บัดนี้ โครงการพัฒนาชีวิตครูได้ดำเนินงานมาแล้ว 5 ปี ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่าสี่หมื่นล้านบาท ให้กับครูประมาณห้าหมื่นชีวิต   ทว่ายังมีครูอีกนับแสนที่ต้องการสินเชื่อเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินรวมกว่าแสนล้านบาท 
            ปัจจุบัน คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาชีวิตครูและมีความห่วงใยการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จึงให้เกียรติสัมภาษณ์ทีมงานวารสาร NewSchool เพื่อเสนอแนะทางออกที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ดังความตอนหนึ่งที่ท่านฟันธงว่า “เงินไม่ใช่ปัญหา หากเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ปล่อยแล้วได้คืน” 
            และต่อไปนี้คือแนวทางและข้อเสนอแนะในการจัดการสินเชื่อสำหรับครูอย่างมีคุณภาพ

            คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นพิเศษ  ท่านได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า
            หนี้ครูถือว่าสำคัญ เพราะครูเป็นบุคลากรสำคัญต่อสังคม เป็นผู้ที่ดูแลให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสุขภาพด้วย ดังนั้นครูจึงมีความสำคัญมาก ครูจะทำหน้าที่ได้ดีก็ต่อเมื่อครูมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีชีวิตมั่นคง มีจิตใจมั่นคง การมีจิตใจที่ดีจะช่วยให้ปัญญาดี ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่ส่งไปถึงเด็กไม่ใช่แค่คำพูดที่ไปจากบทเรียนหรือคำสอน แต่จะไปทั้งตัวของครู ทั้งกิริยาท่าทางการแสดงออก สิ่งที่มาจากส่วนลึกของหัวใจครูจะดีไม่ได้ถ้าข้างในของครูยังมีความเดือดร้อน ครูควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ใช่เฉพาะคำสอน แต่ต้องเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ครูควรจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จกับชีวิต จึงจะเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนได้
            …ดังนั้นการที่ครูมีปัญหาหนี้สินมาก จนกลายเป็นความทุกข์ยากของครูจำนวนแสนๆ คงต้องถือเป็นวิกฤตไม่ใช่เฉพาะของครู แต่ต้องถือว่าเป็นวิกฤตของการศึกษาไทย ควรต้องช่วยกันหาทางแก้ไข และพัฒนาให้ครูมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีจิตใจปลอดโปร่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ครูได้อย่างดีที่สุด
ล้อมกรอบ        “หนี้ครู…ถือว่าเป็นวิกฤตของการศึกษาไทย ควรต้องช่วยกันหาทางแก้ไข และพัฒนาให้ครูมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีจิตใจปลอดโปร่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ครูได้อย่างดีที่สุด”
            มุมมองต่อสาเหตุที่ปัญหาหนี้ครูมีการสั่งสมหมักหมมมานานคุณไพบูลย์ได้วิเคราะห์ด้วยความเข้าใจว่า
            …ครูจำนวนมากมาจากครอบครัวที่อัตคัด ฐานะพื้นฐานไม่ดี เมื่อเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุในชีวิต เช่นเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย หรือบางครั้งต้องจำเป็นใช้รถ ก็จะทำให้ตกอยู่ในบ่วงของหนี้สินได้ง่าย ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือผู้ที่ไม่ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายใช้จ่ายเกินความสามารถในการหารายได้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิ้น เมื่อพอกพูนขึ้นก็หยิบตรงนี้ไปให้ตรงโน้น ยืมที่นั่นมาใช้ตรงนี้ไปคืนที่นั่น หนี้สินจึงพอกพูนมากขึ้นๆ
            …ครูเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สูงอยู่แล้ว ถ้าจะอยู่ได้ต้องประหยัดมัธยัสถ์ใช้จ่ายอย่างพอประมาณ ขยันหมั่นเพียร แล้วต้องมีอาชีพเสริมบ้าง ซึ่งแล้วแต่สถานการณ์และโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละคน โดยทั่วไปต้องยอมรับว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่รายได้ไม่สูงเลย ทำให้ครูสามารถตกหลุมวังวนของหนี้สินได้ง่าย เป็นภาวะที่น่าเห็นใจ
ล้อมกรอบ        “หนี้ที่มีปัญหาคือหนี้ที่สะสม กดดันชีวิตครู ประเภทชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนไม่พอใช้ …มีประมาณแสนล้านบาท”
            ก่อนที่จะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ครูนั้น คุณไพบูลย์มองว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้ครูน้อยและยังไม่เป็นระบบ เพราะ
            …รัฐบาลในอดีตพยายามแก้ปัญหาหนี้สินครูด้วยการสร้างกองทุนแต่จำนวนไม่มาก เริ่มต้นไม่ถึงพันล้าน ตอนหลังเติมเข้ามารวมเป็นพันกว่าล้าน ซึ่งไม่พอที่จะแก้ปัญหาหนี้ครูได้
            …หนี้ครูนั้นมีสองประเภท คือหนี้ที่มีปัญหา กับหนี้ปกติหรือหนี้ที่สามารถจัดการได้ หนี้ที่มีปัญหาคือหนี้ที่สะสม กดดันชีวิตครู ประเภทชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนไม่พอใช้ หนี้ที่มีปัญหาในวงการครูมีประมาณแสนล้านบาท อาจจะบวกลบประมาณสองสามหมื่นล้าน
            ดังนั้น การที่รัฐบาลตั้งกองทุนขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อนเพียงหลักพันล้านบาทจึงเทียบไม่ได้กับขนาดของปัญหา กองทุนนั้นใช้บรรเทาการแก้ไขเฉพาะหน้าได้เพียงเล็กน้อย โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ดูแลให้ครูได้กู้ยืมไป เข้าใจว่าคนหนึ่งอาจได้ประมาณหมื่นสองหมื่น แล้วก็ต้องชำระคืนซึ่งทำมาหลายปีแล้ว มีส่วนช่วยผ่อนคลายปัญหาได้บ้าง แต่ไม่ได้แก้ปัญหา
            …ที่จริงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูควรจะเป็นสถาบันการเงินของครูเพื่อครู ป้องกันปัญหา สร้างความมั่นคงทางการเงินและทรัพย์สินให้กับครู  แต่ในความเป็นจริง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่สามารถทำให้ครูมีความมั่งคงทางการเงินได้มากนัก อาจจะมีครูจำนวนหนึ่งที่ทำได้บ้าง ครูจำนวนมากทำไม่ได้ แต่กลับมาเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เหตุที่เป็นหนี้เพราะครูใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นแหล่งกู้ยืมในยามขัดสน แต่อาจไม่พอเพียงต้องไปกู้นอกระบบ หนี้สินยิ่งพอกพูนมากขึ้น ทำให้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ก็ใช้คืนไม่ได้ หรือไม่ก็หมุนไปหมุนมา ไม่สามารถเป็นไทแก่ตัว
            …รวมความแล้วยังไม่มีระบบการแก้ปัญหาหนี้ครูที่จริงจังและมีพลังพอ จึงเป็นเหตุให้ครูต้องใช้ความพยายามดิ้นรนแก้ปัญหากันเอง
            คุณไพบูลย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครู เมื่อครั้งที่ท่านเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ว่า
            …วันหนึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการมาขอคำปรึกษากับธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการได้ไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินเห็นว่าคงจะยาก เพราะเป็นปัญหาใหญ่มาก ไม่เคยมีธนาคารที่ไหนรับอาสาทำ
            …ในช่วงนั้นผมกำลังทำงานเกี่ยวกับหนี้สินของชาวบ้าน ซึ่งมีมากพอๆ กับหนี้ครู ได้เห็นการทำงานของชาวบ้านในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ของตัวเองโดยการรวมตัวกันจนเกิดพลังกลุ่ม ได้เห็นการจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินของชาวบ้านจนประสบความสำเร็จ กลุ่มออมทรัพย์ของชาวบ้านก็เทียบเท่ากับกลุ่มออมทรัพย์ของครู    นั่นเอง เพียงแต่ว่าเป็นสถาบันที่ไม่ได้จดทะเบียน  ผมจึงมีความคิดว่าน่าจะมีทางแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ ถ้ามีการรวมพลังแก้ปัญหาหนี้สินครู ทำนองเดียวกันกับที่ชุมชนรวมพลังกัน แล้วให้ครูมีบทบาทให้การแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้ใครไปแก้ปัญหาให้ คือต้องช่วยให้ครูแก้ปัญหาของครู ไม่ได้ไปแก้ปัญหาให้เขา
            …ด้วยความคิดเช่นนี้จึงชวนครูมาพูดคุยกันว่าเรามาช่วยกันหาทางแก้ปัญหา โดยครูเป็นหลักในการแก้ปัญหา กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาช่วยบริหารในฐานะเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ธนาคารออมสินจะสนับสนุนด้านการเงิน แต่สามฝ่ายจะต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง ครูเองยิ่งจำเป็นต้องรวมพลังกันอย่างเหนียวแน่น เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ทำกันเป็นเครือข่ายแล้วเชื่อมโยงกัน  การคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่แล้วมาการแก้ปัญหาหนี้สินจะมองปัญหาเป็นรายบุคคล ไปช่วยแก้เป็นรายบุคคล โดยเอาตัวเงินเป็นหลัก ไม่ได้เอาคนเป็นหลัก 
            …ทั้งสามฝ่ายได้พูดคุยกันประมาณ 6 เดือน จนกระทั่งตกผลึกความคิดเกี่ยวกับปรัชญา ความคิด หลักการ  และวิธีการดำเนินงาน กฎกติกาต่างๆ จากนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงกันสามฝ่าย  โดยส่วนของการกู้หนี้ยืมสินจะเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคารออมสิน ส่วนการหักเงินเดือนและการสร้างระเบียบวินัยเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นเราจึงเริ่มโครงการพัฒนาชีวิตครู ซึ่งจะใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเริ่มจากจังหวัดหนึ่งก่อน ทยอยเพิ่มทีละจังหวัดจนครบ 4 ภาค แล้วค่อยๆ ขยายไปทีละจังหวัด เริ่มจากจังหวัดที่พร้อม คือมีครูที่เข้าใจโครงการ รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 10 คน หลายๆ กลุ่มย่อยรวมกันเป็นเครือข่าย เราเรียกว่าว่ากลุ่มใหญ่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด เราใช้เวลา 2 ปีแรกในการขยายจากจังหวัดหนึ่งไปสู่อีกจังหวัดหนึ่งจนครบทั้งประเทศ เป็นการเริ่มที่ช้าแต่มั่นคง ปีแรกปล่อยเงินกู้ไปนับล้านบาท พอปีที่สองและสามเริ่มขยายตัวเร็ว จนกระทั่งปัจจุบันได้ปล่อยเงินกู้ไปแล้วถึงสี่หมื่นกว่าล้านบาท ให้กับครูประมาณกว่าห้าหมื่นคน
            คุณไพบูลย์ ได้อธิบายหลักการสำคัญของโครงการพัฒนาชีวิตครูหลายประการ มีพื้นฐานวิธีคิดอยู่ที่การพัฒนาตัวเองเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีกครั้ง  ซึ่งคุณไพบูลย์ชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และน่าเป็นห่วงเนื่องจาก
            …เรื่องสำคัญที่ได้เน้นไว้ตั้งแต่เบื้องต้นคือ กิจกรรมพัฒนา รวมถึงการพัฒนาตัวเอง พัฒนากลุ่ม พัฒนาเครือข่าย กิจกรรมพัฒนานี้ต้องมีกระบวนการ มีวิธีการ มีการจัดการ และมีงบประมาณ น่าเสียดายว่ากระบวนการพัฒนาไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบและต่อเนื่อง คือเริ่มต้นทำไปบ้างแล้ว แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อเริ่มโครงการนี้ได้ไม่นาน ผมก็พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงไม่ได้ดูแลกำกับต่อไป ความเข้มข้นเรื่องนี้ก็ลดลงไปบ้างตามธรรมชาติ
            …การที่จะให้ครูรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นหลายหมื่นคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายามและต้องมีกลไกทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประกอบกับเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของทางฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและเขตพื้นที่ก็ยังไม่ลงตัว ทำให้ไม่มีสมาธิกับการแก้ปัญหาหนี้ครูเท่าที่ควร  ดังนั้นการที่จะทำให้ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายครู ฝ่ายกระทรวงฯ และธนาคารออมสินประสานกันเป็นระบบ ช่วยกันทำกิจกรรมพัฒนา จึงทำไม่ได้มากนัก ในขณะเดียวกันกิจกรรมสินเชื่อก็ทำงานเดินหน้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเกิดปัญหาขึ้น ในเชิงปริมาณมีการเติบโตไปเรื่อย แต่กิจกรรมพัฒนาของครู กลุ่มครู และเครือข่ายครู ยังไม่เข้มแข็ง ไม่ทันกับการเติบโตทางปริมาณสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงเป็นจุดอ่อนของโครงการนี้
           
ล้อมกรอบ        “ สินเชื่อที่ธนาคารออมสินให้กับครูนั้นถือว่าเป็นสินเชื่อที่ดีที่สุด เป็นสินเชื่อที่ใหญ่ที่สุดที่ให้กับคนกลุ่มเดียว ”         
            หัวใจสำคัญของการบริหารสินเชื่อคือ ทำให้ลูกหนี้เข้มแข็ง มีกำลังที่จะชำระหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  คุณไพบูลย์เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จของโครงการดังนี้
            …หลักการของโครงการนี้มุ่งที่จะให้ครูแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยการสร้างคุณภาพของการเป็นหนี้ให้ครูสามารถชำระหนี้สินคืนได้ ส่งเสริมให้เกิดการออม ให้ครูทำงานเป็นเครือข่ายดูแลซึ่งกันและกัน ค้ำประกันซึ่งกันและกัน ชำระคืนด้วยระบบหักเงินเดือน แต่ละกลุ่มจะต้องจัดตั้งกองทุนของกลุ่มเพื่อสะสมเงินทุกเดือน เวลาคนในกลุ่มมีปัญหาก็จะใช้เงินส่วนที่สำรองไว้จุนเจือ เช่นหากครูหนึ่งคนมีปัญหา แทนที่จะให้ครูคนนั้นประสบกับสภาพที่ชำระหนี้ไม่ได้ กลุ่มจะไปช่วยให้ครูคนนั้นแก้ปัญหาได้ ด้วยการเอาเงินสำรองให้ครูคนนั้นนำไปชำระหนี้ได้ชั่วคราว แล้วก็ช่วยให้ครูคนนั้นกลับมาดีได้
            …ทางออมสินยังได้สร้างระบบแรงจูงใจ คือกลุ่มที่มีตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่หากมีการชำระหนี้คืนได้ 100% ในรอบปี ธนาคารจะคืนดอกเบี้ยให้ 1% เป็นแรงจูงใจ ซึ่งมีกลุ่มเครือข่ายครูจำนวนไม่ใช่น้อย หรือเกือบทั้งหมดที่ทำได้ จำนวนเงินที่คืนให้นับเป็นร้อยล้านๆ บาทต่อปี ทำให้ครูมีแรงจูงใจที่จะทำดี แล้วก็ได้งบที่จะไปทำกิจกรรมการพัฒนา แต่เนื่องจากระบบการพัฒนายังไม่ดีเท่าที่ควร ในบางพื้นที่งบนี้จึงกลายเป็นสาเหตุให้ทะเลาะกัน ซึ่งน่าเสียดาย เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาที่น่าจะราบรื่นมั่นคงดีแล้ว เกิดสะดุดขึ้น แต่ปัญหานี้ไม่ถึงกับวิกฤต ยังพอแก้ไขได้
            …การดำเนินงานทั้งหมดเหล่านี้ทำให้การที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ครูเป็นหนี้ที่ดี ธนาคารออมสินได้ผลตอบแทน แม้จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติเล็กน้อย กล่าวคือมีสูตรว่าถ้าคิดกับคนอื่นเท่าไรก็จะคิดครูน้อยกว่าคนอื่น 1% หรือน้อยกว่านั้น แล้วยังคืนให้อีก 1 % ถ้ากลุ่มนั้นชำระหนี้ได้ดี เป็นแรงจูงใจเพื่อแลกกับการที่ออมสินไม่ต้องเป็นภาระหนี้สูญ ผู้ตรวจสอบจากแบงก์ชาติได้พูดทำนองว่าสินเชื่อที่ธนาคารออมสินให้กับครูนั้นถือว่าเป็นสินเชื่อที่ดีที่สุด เป็นสินเชื่อที่ใหญ่ที่สุดที่ให้กับคนกลุ่มเดียว โดยให้ไปแล้วตั้งสี่หมื่นกว่าล้านบาท 
            เมื่อพิจารณาจากปริมาณครูและเงินที่เป็นหนี้แล้วยังมีความต้องการอีกมาก ทีมงานวารสาร NewSchool จึงเรียนถามถึงความเป็นไปได้ที่จะการแสวงหาแหล่งสินเชื่อใหม่ให้กับครู
            …เป็นไปได้ครับ ถ้าธนาคารออมสินทำได้ ธนาคารอื่นก็น่าจะทำได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าควรจะใช้หลักการและวิธีการคล้ายๆ กับที่โครงการนี้ทำ คือเน้นให้ครูเป็นคน แก้ปัญหาให้ตัวเอง มีการรวมกลุ่ม ค้ำประกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นต้น เพียงแต่ว่าขณะนี้ยังไม่มีธนาคารใดสนใจที่จะเข้ามาร่วม เคยถามธนาคารกรุงไทยแล้ว เขาเห็นว่าเมื่อออมสินทำได้ดีอยู่แล้วน่าจะปล่อยให้ออมสินทำต่อไป…
            …ผมว่าถ้าการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้คุ้มกับธนาคารออมสิน ธนาคารอื่นก็คุ้ม เพราะทุกวันนี้ธนาคารออมสินกับธนาคารอื่นต่างแข่งขันกันบนพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน อยู่แล้ว แม้ว่าธนาคารออมสินไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ามีกำไรก็ต้องจ่ายให้รัฐ จึงไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
            …ในช่วงไม่นานมานี้ทาง รมช. ดร.รุ่ง แก้วแดง ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้แก้ปัญหาหนี้สินครูให้หมด ในขณะนี้ออมสินได้แก้ไปส่วนหนึ่งคือห้าหมื่นกว่าคนแล้ว มีการประมาณว่าจำนวนครูที่เป็นหนี้มีไม่ต่ำกว่าแสนคน บางคนประมาณว่าถึงสองแสนคนด้วยซ้ำไป นั่นหมายถึงว่าถ้าจะแก้ปัญหาให้หมดก็ต้องเพิ่มความพยายามเข้าไปให้มากขึ้น จึงมีการพิจารณากันว่าน่าจะมีธนาคารอื่นหรือสถาบันการเงินอื่นเข้ามาร่วมอีก…
            …ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาร่วมให้สินเชื่อกับครู ซึ่งผมเห็นด้วยว่าน่าจะเพิ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาหนี้ และร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับครู เพราะเป็นสถาบันของครู เป็นแหล่งเงินทุนที่ครูกู้ยืมเงินกันอยู่แล้ว  ถ้ามาทำโครงการด้วยกันจะได้เป็น 4 ฝ่าย คือกระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายครู ธนาคารออมสิน โดยเพิ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้าไป
            …สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีข้อดีคือเป็นสหกรณ์ของครู บริหารโดยครู เพื่อครู ใกล้ชิดกับครู  มีสหกรณ์อยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งเป็นจุดแข็ง ถ้ามาทำความตกลงกันร่วมกันได้จะเป็นพลังที่สำคัญ  เริ่มต้นต้องคิดหลักการสำคัญให้ชัดเจนก่อน เช่น หลักการที่ให้ครูพึ่งตัวเอง ครูร่วมมือกัน มีการพัฒนาเป็นกิจกรรมสำคัญ แล้วค่อยคิดวิธีการ  ส่วนรายละเอียดที่ว่ากลุ่มครูจะไปทำสัญญากับสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างไร สหกรณ์ออมทรัพย์จะหาแหล่งเงินกู้จากที่ไหนเพิ่มเข้ามา ทั้งหมดนี้อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาบ้าง
ล้อมกรอบ        “กองทุนหมู่บ้านถือเป็นโครงการใหญ่ที่ทำทั่วประเทศ เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน แต่ว่าเป็นงานที่ง่ายกว่าการแก้ปัญหาหนี้ครู ซึ่งสะสมเรื้อรังมานาน เวลาแก้ปัญหาจึงต้องออกแรงมาก”
            จากการย้อนทบทวนโครงการพัฒนาชีวิตครู คุณไพบูลย์เห็นว่าสภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงจากเมื่อแรกเริ่มทำโครงการไปมาก  ควรที่จะมีการปรับปรุงการดำเนินงานหลายด้านด้วยกัน
            …โครงการพัฒนาชีวิตครูได้ทำมาประมาณ 5 ปีแล้ว สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันได้มีประสบการณ์และบทเรียนมากขึ้น จึงมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) พิจารณาปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับใหม่ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา…
            …ข้อบังคับที่ปรับปรุงใหม่จะสะท้อนปรัชญาและแนวคิดบางอย่างให้ดีขึ้นชัดเจนขึ้น นำสู่การปฏิบัติได้ดีขึ้น และหวังว่าจะมีการปรับปรุงกลไกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสำนักงานบุคลากร และงบประมาณที่จะไปดูแลกิจกรรมการพัฒนาให้ทำได้อย่างจริงจังและกว้างขวางต่อเนื่อง…
            …ผมอยากให้ลองเปรียบเทียบกับเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งง่ายกว่าเรื่องครู ยังต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ แล้วตั้งสำนักงานขึ้นมาเป็นองค์การพิเศษที่มีบุคลากรเป็นสิบๆ คน มีงบประมาณเป็นร้อยล้านบาทที่จะบริหารกองทุนหมู่บ้านถือเป็นโครงการใหญ่ที่ทำทั่วประเทศ เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน แต่ว่าเป็นงานที่ง่ายกว่าการแก้ปัญหาหนี้ครูซึ่งสะสมเรื้อรังมานาน เวลาแก้ปัญหาจึงต้องออกแรงมาก
            …จุดที่ผมอยากจะชี้คือว่าโครงการใหญ่อย่างนี้จำเป็นต้องมีคณะบุคคลดูแลต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาถือว่าโครงการพัฒนาชีวิตครูเป็นโครงการที่บริหารโดยกลไกปกติ ซึ่งคนทำงานนี้ต่างมีงานประจำอื่นๆ อยู่แล้ว เอาเวลามาประชุมกันเป็นครั้งคราว ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ ทำให้มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ สะสม พอมากเข้าก็กลายเป็นปัญหา อีกทั้งคนทำงานของทุกฝ่ายต่างมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา งานจึงไม่เดินหน้า
            …ผมคิดว่ามีเหตุผลมากมาย และคุ้มเกินคุ้มที่จะลงทุนจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ว่าให้เกิดขึ้นจริงจัง ใช้งบประมาณไม่ต้องมาก แม้กระทั่งจะใช้งบประมาณจากโครงการนี้ โดยกันส่วนหนึ่งจากที่ธนาคารออมสินคืนให้ ซึ่งมีตั้งหลายร้อยล้านบาท มาใช้เพื่อการพัฒนา ก็ย่อมมีเหตุผล เพราะว่าเกิดประโยชน์กับครูโดยตรง หรือใช้งบประมาณจากรัฐบาลก็ยังได้ เพราะใช้เงินเพียงแค่หลักสิบล้านบาท ที่เกิดประโยชน์ต่อครูนับแสนคน
            คุณไพบูลย์ ได้เสนอแนะว่า หน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลรับผิดชอบการ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นการเฉพาะควรจะมีภารกิจหลักๆ 3 ด้าน และควรมีคนระดับ “อธิบดี” มาดูแล ดังนี้
            …หากจะพัฒนากลไกการทำงานโครงการพัฒนาชีวิตครูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมคิดว่ามีงานหลักๆ อยู่ 3 ด้าน
            หนึ่ง การสร้างความเข้มแข็งกลุ่มครูและเครือข่ายครู เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มรวมตัวกันได้ดี แข็งแรงสามัคคี พึ่งตัวเอง ร่วมมือกันทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้สินโดยตรงและในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครู พัฒนาวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งช่วยพัฒนาชุมชนได้ การที่กลุ่มจะเข้มแข็งต้องมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย สานต่อจากระดับกลุ่มย่อยเป็นกลุ่มใหญ่  จากระดับตำบลมาเป็นอำเภอ จากอำเภอมาเป็นจังหวัด จังหวัดมาเป็นภาค จากภาคมาเป็นประเทศ  ต้องการกระบวนการพัฒนา มีการเก็บข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีการจัดการความรู้ เป็นต้น  ทั้งหมดนี้จะต้องมีทีมกลางเข้ามาดูแล ไปส่งเสริมให้เกิดทีมในจังหวัด ต้องไปสร้างกระบวนการดูแลพัฒนากลุ่มต่างๆ ให้ เข้มแข็งให้สามารถทำกิจกรรมพัฒนาได้ดี…
            สอง งานด้านสินเชื่อ ต้องมีการพัฒนาระบบการให้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการปล่อยกู้ แต่ต้องคอยดูแลเงื่อนไขข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดี มีการปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์ งานส่วนนี้จะต้องเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทำการปรึกษาหารือ สร้างข้อตกลงร่วมกัน อะไรที่เป็นปัญหาเล็กๆ ก็แก้กันในจุดที่เป็นปัญหา อะไรที่เป็นปัญหาด้านหลักการก็ต้องมาปรึกษาหารือที่จะแก้หลักการร่วมกัน เป็นงานที่ต้องอาศัยกระบวนการ เพราะว่าครูบางกลุ่มอาจต้องการยืดหยุ่นขยายเวลาชำระหนี้ ที่แล้วมาเป็นว่าธนาคารออมสินก็วางกติกาไป ทำได้ก็ทำ พอทำไม่ได้ก็มีการเรียกร้อง แล้วเกิดข้อขัดแย้งกัน ทำให้พลังที่จะเดินไปข้างหน้าอ่อนแอลง เพราะฉะนั้น จะต้องมีการดูแลพัฒนาเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับงานด้านสินเชื่อให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้กระทบกับกิจกรรมการพัฒนา…
            สาม งานด้านกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างครูกับกระทรวงฯ ครูกับโรงเรียน ครูกับชุมชน โยงมาถึงนโยบายจากกระทรวงฯ เรื่องเหล่านี้ต้องมีการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ ต้องดูแลเป็นอย่างดีเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา เพราะระบบทั้งหลายสัมพันธ์กัน ทางฝ่ายกระทรวงฯ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)  จะดำเนินการปรับปรุงพัฒนาสวัสดิการครูได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลด้วย…
            …ปัจจุบันงานทั้งสามด้านหลักนี้ไม่มีใครดูแลจริงจัง ดูแลกันเป็นครั้งคราว แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า คือตามหลังปัญหา ไม่นำหน้าปัญหา   หากมุ่งมั่นที่จะแก้ไข   ปัญหาหนี้ครูอย่างจริงจังต้องทำงานล้ำหน้าปัญหา โดยสร้างความเข้มแข็ง สร้างระบบ สร้างโครงสร้าง สร้างกติกา สร้างเงื่อนไขที่ดี  สร้างความเข้าใจ สร้างความสามัคคี สร้างนวัตกรรมให้ก้าวหน้าอยู่เรื่อย ในการนี้ต้องการทีมตรงกลางที่จะมาดูแล ต้องได้คนระดับอธิบดีหรือเทียบเท่ามาดูแล คือต้องเป็นผู้ใหญ่หน่อยว่างั้นเถอะ เพราะต้องทำงานสัมพันธ์กับกระทรวงและรัฐบาล ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องความรู้ความสามารถทางเทคนิคอย่างเดียว แต่จะต้องมีสถานภาพเหมาะสม มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถเพียงพอ แล้วก็มีทีมงานที่เหมาะสม ซึ่งไม่ต้องใหญ่มาก เพราะเน้นการประสานงาน       เน้นความเป็น ผู้นำในเชิงหลักการ หลักคิด นโยบาย ยุทธศาสตร์ที่ดี และกระจายงานไปในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น…
            ต่อข้อซักถามที่ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ควรจะมีบทบาทอย่างไรในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู คุณไพบูลย์มีความเห็นดังนี้
            สกสค. เป็นหน่วยงานที่ตั้งจขึ้นมาเพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครู โดยเจตนารมย์นี้ ถ้าสกสค.จะสร้างทีมตรงกลางเพื

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17911เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2006 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท