การไปศึกษาดูงานที่เกาะพระทอง ของนักศึกษา ยุทธศาสตร์การพัฒนา ม.ราชภัฏ


การเข้าถึง และเข้าใจ ก่อนไปพัฒนาเกาะพระทอง

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้  คือการ หา need   assessment (NA) ยังไม่ดีพอเลยทำให้การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ไม่ได้ผลอย่างที่มุ่งหวังไว้

และนี่คืองานวิจัยของนักวิจัยอิสระได้ศึกษาเกี่ยวกับเกาะพระทองไว้ ซึ่งน่าจะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการลงพื้นที่ได้เป็นอย่างดี หากมีการเดินทางเข้าไปในเกาะพระทองใหม่

ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพชุมชนเกาะพระทองจากคลื่นยักษ์สินามิ
 
ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ
 
คลื่นยักษ์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันที่เรียกว่า “สึนามิ” เป็นคลื่นยักษ์ใต้น้ำ    ขนาดใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหว หรือการเคลื่อนตัวของผิวโลกบริเวณใต้น้ำทะเลหรือมหาสมุทร จะเริ่มก่อตัวขึ้นจาก    จุดกำเนิดในขนาดเพียงไม่กี่นิ้ว แต่เมื่อมาถึงบริเวณชายฝั่งทะเลอาจมีขนาดสูงหลายสิบเมตรหรือหลายสิบเท่า        จากคลื่นทะเลระดับปกติ จากนั้นจะพุ่งเข้ามาหาฝั่งด้วยความเร็วและแรง  สามารถทำลายบ้านเรือนและสิ่งกีดขวางอื่นๆให้พังพินาศไปในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น  นอกจากนี้ คลื่นยักษ์สึนามิหลายๆ ลูก  สามารถเดินทางจากจุดกำเนิด  ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ไกลหลายพันกิโลเมตร ขณะที่ความเร็วและความแรงของคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นอยู่กับระดับความแรงของแผ่นดินไหวนั้นๆ รวมทั้งความลึกของพื้นทะเลในบริเวณที่เกิดเหตุด้วย
            เวลา 10.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณเหนือเกาะ   สุมาตราของอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือน 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลให้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเป็นคลื่นยักษ์สึนามิถล่มพื้นที่ชายฝั่ง ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต  ทรัพย์สินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล โดยระดับน้ำในทะเลลดลงอย่างผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านและ     นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งออกไปยืนดูโดยไม่ได้คิดว่าจะเกิดคลื่นยักษ์ตามมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการ     สูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เกาะพระทองประกอบด้วยชุมชุน 4 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากร 1,064 คน แบ่งเป็นชาวไทยเดิมและไทยใหม่(มอแกลน) สภาพพื้นที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศจำนวนมาก เช่น ป่าชายหาด ป่าพรุ ทุ่งหญ้าป่าเสม็ด         ป่าชายเลน บึงน้ำจืด ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น กวาง นกตระกรุม สัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำเค็ม  ล้วนแล้วแต่สร้างมูลค่า    ให้ชุมชนทำมาหากินเลี้ยงชีพและผู้ประกอบการท่องเที่ยวสร้างรีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยว  หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ  ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและระบบนิเวศ ประชาชนเสียชีวิตประมาณ 60 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก (ไม่รวมนักท่องเที่ยว) ทรัพย์สินเสียหายโดยเฉพาะบ้านเรือนพังทั้งหลัง เครื่องมือประกอบอาชีพประมง  สูญหายและเสียหาย  ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะเปลี่ยนแปลงชายหาดอย่างรุนแรง  น้ำเค็มไหลเข้าแทนที่            เกิดลำคลองใหม่ ชายหาดเปลี่ยนรูป สวนเกษตรโดยเฉพาะสวนมะม่วงหิมพานต์เริ่มใบร่วงยืนต้นตาย  ส่งผลกระทบ  ต่อการดำรงชีวิตในด้านที่อยู่อาศัย ด้านการประกอบอาชีพ และการสร้างชุมชนใหม่
  
ทีมศึกษาชุมชนเกาะพระทองประกอบด้วยองค์กรที่เข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพังงา มูลนิธิสืบ  นาคะเสถียร เครือข่ายฟื้นฟูอันดามัน ได้ดำเนินการช่วยเหลือชุมชนและ     เก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อรองรับการช่วยเหลือและฟื้นฟูชุมชนร่วมกัน ซึ่งในระยะแรก ชุมชนต่างรอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ  ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน คือการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การสร้างโรงเรียน /วัด /อนามัย มีการจัดหาแหล่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัย จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทำประมงให้กับชาวบ้าน          ส่วนแนวทางการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากร   การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนและสังคม      เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งชุมชน คนในชุมชนต้องอพยพออกจากที่อยู่เป็นการชั่วคราว ภายหลังเหตุการณ์ มักจะมีปัญหาการปรับตัวทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียชุมชนและสังคมที่ตนเคยใช้ชีวิตอยู่  ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า  จะต้องมีการปรับแนวคิดในการฟื้นฟูฐานทรัพยากรมนุษย์ ฐานทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน  โดยใช้แนวคิดตั้งอยู่ บนฐานชุมชนเป็นหลัก วางแผนหาทางออกสำหรับอนาคตของตนเอง สร้างความสัมพันธ์อาศัยพึ่งพากันและกัน      รวบรวมครอบครัวกลับมาฟื้นฟูบ้านเรือนในเบื้องต้นและเชื่อมโยงกันเป็นชุมชน  โดยการช่วยเหลือสนับสนุนของ   หลายฝ่าย โดยผ่านการจัดการของชุมชนเป็นหลัก จึงสมควรที่จะมีรูปแบบในการดำเนินงานวิจัยชาวบ้านโดยมีทีมศึกษาชุมชนเกาะพระทองเป็นพี่เลี้ยงในระยะแรกและร่วมกันฟื้นฟูชุมชนโดยชุมชนเองได้
อย่างไรก็ตาม  การศึกษาวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ การปรับตัว และการพัฒนาและ ฟื้นฟูคน/ชุมชน/ทรัพยากรตลอดจนความช่วยเหลือจากภายนอกและความร่วมมือของชุมชน  ต้องอาศัยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสืบค้น เรียนรู้ ผลกระทบและเข้าถึงความเปลี่ยนแปลงและการปรับเปลี่ยนสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นฐานข้อมูลและองค์ความรู้จะไปหนุนเสริมภาคีพัฒนากระบวการการฟื้นฟุชุมชนในพื้นที่ให้มีทิศทาง รูปแบบ วิธีการที่เหมาะสมและยั่งยืน                 
             
กระบวนการศึกษา / สำรวจและการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ
ได้ดำเนินการศึกษาเก็บข้อมูล โดยใช้กระบวนการวิจัยมานับแต่เดือนมกราคม 2548 ตามโครงการ “การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพชุมชนเกาะพระทองจากคลื่นยักษ์สินามิ .คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา” มีการสำรวจและจดบันทึก สัมภาษณ์พูดคุยและใช้วิธีการสังเกต พฤติกรรม สภาพแวดล้อม แล้วนำไปสู่การตั้งคำถามที่สงสัย รู้จักการแก้ไขปัญหาทั้งในเหตุการณ์เฉพาะหน้าและมีการวางแผนในระยะยาว เกิดกระบวนการเรียนรู้ หาเหตุผลมาสนับสนุนในสิ่งที่ลงมือกระทำทุกครั้ง เพื่อที่จะตอบคำถาม   ให้กับตัวเอง ชุมชน และสังคมได้ การค้นหาคำตอบเป็นการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมดังนี้
1. สำรวจความสูญเสีย สาธารณูปโภคและสาธารณประโยชน์ชุมชน
2. สังเกต สัมภาษณ์ ผลกระทบต่อวิถีชุมชนความเชื่อ พิธีกรรมและความเป็นอยู่
3. สำรวจความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน 4 หมู่บ้าน
4. สังเกต สัมภาษณ์ผลกระทบต่ออาชีพ รายได้ การเกษตร
5. เวทีพูดคุยกลุ่มย่อยผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ
6. สำรวจเก็บข้อมูลแหล่งทรัพยากรธรรมชาติส่งแวดล้อม ภูมินิเวศ (บันทึก/จับพิกัดจีพีเอส/วัดระดับน้ำ/ดินถ่ายภาพ)
7. สังเกต สัมภาษณ์ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ชุมชน และวัฒนธรรมสังคม เศรษฐกิจ
9. กิจกรรมเรียนรู้กระบวนการสำรวจ ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงแหล่งผักอาหารพื้นบ้านและแหล่งอาหารสัตว์น้ำ
10. กิจกรรมเยาวชนสะท้อนภาพสิ่งที่หายไป สิ่งที่เหลืออยู่และจินตนาการวันพรุ่งนี้
11. กำหนดแปลงแหล่งทรัพยากร 7 ภูมินิเวศ สำหรับการติดตามประเมินความเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะ  เวลา 3 เดือน (มีนาคม - พฤษภาคม)
12. เวทีประชุมนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง
13. สังเกตรูปแบบวิธีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของคนชุมชนและทรัพยากร
14. วิธีพูดคุยวิธีการ กระบวนการ การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์แหล่งอาหารธรรมชาติ
15. สำรวจการเปลี่ยนรูปทรงพื้นที่ เกาะ แหล่งน้ำ คลองทางระบายน้ำจากทุ่งหญ้าสะวันนา
16. เวทีกลุ่มย่อย 4 หมู่บ้านๆ ละ1ครั้ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปรับสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
17. เวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอวิเคราะห์ข้อมูล
 
กระบวนการปรับตัวเพื่อจัดการตัวเองของชุมชนเกาะพระทอง
หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งดาบ : ในช่วงแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา  ชาวบ้านทุ่งดาบได้อพยพมาพักอยู่ที่ศูนย์อพยพผู้ประสบภัยที่วัดสามัคคีธรรม (วัดป่าส้าน) ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรีและที่ศูนย์อพยพหลบภัยวัดบางวัน ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี ในระยะแรกชาวบ้านอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจและ   หวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายครอบครัวสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตของคนที่เป็นที่รักไป และเป็นสภาวะสะเทือนใจของชาวบ้านในขณะนั้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่อยู่ในอาการเข้มแข็งพอ ก็พากันไปช่วยเจ้าหน้าที่ค้นหาศพญาติพี่น้องที่ยังสูญหาย  
สถานการณ์ตอนนั้นไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับอนาคตของตนเอง ความช่วยเหลือจากภายนอกก็เริ่มเข้ามา  มีการบริจาคอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ในช่วงแรกก็ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของผู้ประสบภัย  หลังจากนั้น ก็มีของบริจาคจากทั่วประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากมาย เป็นดั่งคลื่นน้ำใจของคนไทยทั่วประเทศ  และสิ่งที่ตามมาคือมากจนไม่มีที่เก็บของบริจาค  จึงได้มีการกระจายของบริจาคไปเก็บไว้ตามบ้านของผู้นำในท้องถิ่น หน่วยงานราชการต่างๆ และองค์กรเอกชน เมื่อผ่านเหตุการณ์มาได้ ในระยะหนึ่งก็เริ่มมีการคิดถึงเรื่องอนาคตและด้านการประกอบอาชีพมากขึ้นว่าจะมีการจัดการอย่างไรต่อไป
เมื่อได้ข้อสรุปว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะกลับไปอยู่ที่เกาะเหมือนเดิม แต่ต้องการย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นแทน    เนื่องจากพื้นที่เคยสร้างที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายอย่างหนัก และ ในพื้นที่ก็ยังขาดน้ำใช้ที่สะอาดเพราะขณะนี้น้ำเค็มได้เข้าผสมกับน้ำจืดจนไม่สามารถใช้ดื่มได้ ต่อมาชาวบ้านทุ่งดาบได้อพยพมาพักอยู่ที่พักชั่วคราว ณ บ้านทุ่งละออง โดยการจัดการของผู้นำในท้องถิ่น และได้มีหน่วยงานของวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช, ชุมพร, หาดใหญ่ และวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง  มาช่วยกันสร้างบ้านพักชั่วคราวให้ใกล้บริเวณท่าเรือบ้านทุ่งละออง จำนวน 73 ครอบครัว   (จากเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์มี 68 ครอบครัว ประชากร 210 คน) และเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา จากการประชุมหารือกับชาวบ้านทุ่งดาบ ผู้นำในท้องถิ่นและกลุ่มคนที่ทำงานในพื้นที่ รวมทั้งองค์กรภายในและภายนอกสามารถสรุปแผนการดำเนินงานได้ดังนี้      
1.  แก้ปัญหาเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ภายในเกาะที่ได้รับผลกระทบจนน้ำเค็มและเน่าเสีย
2.  สร้างบ้านให้กับผู้ที่บ้านพังเสียหายโดยผู้ใหญ่พจน์เป็นแกนนำหลัก
3. สร้างโรงเรียน ถนน สะพาน            
 
ข้อเสนอแนะเร่งด่วน                                                                                                                                                                               
1 การสร้างรายได้เร่งด่วนให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ/หรือผลักดันให้รัฐจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้นให้แก่     ผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ดังนี้
1.1  จ่ายเงินชดเชยเพื่อการยังชีพเบื้องต้นรายละ 3,500 บาท จำนวน 49 ราย
                        1.2  ชดเชยความเสียหายตามความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นโดยแบ่งเป็นบ้านเรือนเสียหาย        จำนวน 13 หลังคาเรือน กระชังปลา 6 แห่ง เรือและเครื่องยนต์ 19 ลำ
                        1.3 จัดสร้างที่อยู่อาศัยถาวรให้กับประชาชนที่สูญเสียบ้านเรือนโดยแบ่งเป็นสูญเสียทั้งหลัง     จำนวน 11 หลังคาเรือน และเสียหายบางส่วนจำนวน 2 หลังคาเรือน
2. ดำเนินการซ่อมแซมบูรณะโรงเรียนบ้านทุ่งดาบพร้อมบ้านพักครู รวมทั้งจัดหาบุคลากรเพื่อสอนเด็กนักเรียนในพื้นที่ ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ประชาชนยังพักพิงอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัย  ให้ครู/อาจารย์ลงมาสอนเด็กนักเรียน       ในศูนย์ฯ หรือที่โรงเรียนทุ่งละออง
3. จัดหาแหล่งน้ำสะอาดและปลอดภัยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นให้ดำเนินการฟื้นฟู       แหล่งน้ำตื้นจำนวน 20 บ่อ
4. จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การทำประมง ได้แก่ อุปกรณ์ในการทำลอบ กระชัง เรือและเครื่องยนต์เพื่อใช้ ในการประกอบอาชีพ
5. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมกับชาวบ้านดำเนินการตรวจตรา ดูแลและ   เฝ้าระวังการลักลอบล่าสัตว์ป่า เช่น กวางป่า ในพื้นที่เกาะระ-เกาะพระทอง
6. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งค้นหาศพตกค้างจำนวน 7 ราย เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและความหวาดระแวงของ    ชาวบ้าน
7. ให้ทำฝนเทียมชะล้างน้ำเค็มบนพื้นที่เกาะพระทองเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและพื้นที่การเกษตร
 
ข้อเสนอในระยะยาว
1. ให้สิทธิที่ทำกินและที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนในพื้นที่
2. ยกเลิกการประกาศเขตพื้นที่หมู่เกาะพระทองเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนแทน
3. แก้ไขปัญหาเรืออวนลากชายฝั่งในระยะ 6,000 เมตร
4. จัดทำปะการังเทียมฟื้นฟูบริเวณชายฝั่งและดำเนินการปล่อยสัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
5. ฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ป่าบกและป่าชายหาดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและสนับสนุนให้ชุมชน       ดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชนพื้นที่เกาะพระทอง
 
หลังจากชาวบ้านทุ่งดาบได้เข้ามาอยู่ที่บ้านพักชั่วคราว ณ บ้านทุ่งละอองแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2547  ชาวบ้านได้มีการพูดคุยถึงอนาคตตัวเองมากขึ้น และได้มีหน่วยงาน/องค์กรหลายองค์กรเข้าช่วยกันในด้านต่างๆ  มีการทำงานซ้ำซ้อนกันบ้างในระยะแรกที่เกี่ยวข้องกับงานฟื้นฟู มีการจัดตั้งอู่ซ่อม/สร้างเรือบ้านทุ่งดาบ ตำบลเกาะพระทอง ตั้งอยู่บริเวณบ้านพักชั่วคราวทุ่งละออง ดำเนินการโดยกองทุนฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือซีเมนต์ไทย เริ่มตั้งอู่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548  และชาวบ้านทุ่งดาบก็มีส่วนร่วมในการเลือกช่างซ่อมเรือเองซึ่งเป็นคนในบ้านทุ่งละออง มีหัวหน้าช่าง 1 คน และผู้ช่วยช่างอีก 1 คน (ค่าจ้างหัวหน้าช่าง 600/วัน และผู้ช่วยช่าง 400/วัน) มีเงื่อนไขข้อตกลงว่าเจ้าของเรือจะต้องมาช่วยงานด้วย และจะมีการดำเนินการจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งชาวบ้านสามารถกู้เงินจากกองทุนมาใช้ในการประกอบอาชีพ การซื้ออุปกรณ์ประมง
 
ต่อไปเมื่อสร้าง/ซ่อมเรือเสร็จ มีการประเมินราคาในการซ่อม/สร้างเรือของแต่ละราย ได้กำหนดระยะเวลาในการจ่ายคืนกองทุนเป็นรายเดือน  อย่างน้อยเดือนละ 500บาท และจะเริ่มจ่ายคืนในเดือนมิถุนายน 2548 และจะจ่ายในวันที่ 1 ของทุกเดือน แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 ถ้าหากเกินจากวันที่ 5 จะต้องจ่ายค่าปรับ 20 บาทต่อเดือน ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนเองเป็นคนเลือกคณะกรรมการขึ้นมาเองมีผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ปรึกษา และมีคนทำงานในพื้นที่ของเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน เป็นพี่เลี้ยง 
นอกจากการสร้างเรือแล้ว ยังดำเนินงานในเรื่องช่อมแซม-สร้างบ้านให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่บ้านปากคลอง โดยทำการซ่อมแซมบ้าน สร้างบ้านใหม่ โดยชาวบ้านเป็นคนช่วยกันคนละไม้คนละมือในการซ่อมสร้างเป็นเงื่อนไขที่ชาวบ้านเป็นผู้ตั้งขึ้นมา (แต่พื้นที่บ้านปากคลองชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบในด้านที่อยู่อาศัยจาก       เหตุการณ์สึนามิ )
            มีการดำเนินการสร้างบ้านให้กับกลุ่มคนไทยโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้านจากมูลนิธิสืบ  นาคะเสถียร ขึ้นบริเวณบ้านปากคลองทางไปท่าเรือห้างสูง
            หน่วยงานของสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เข้ามาฟื้นฟูชุมชนพื้นที่บ้านทุ่งดาบ มีการสร้างถนนตั้งแต่ท่าเรือห้างสูงจนไปถึงบ้านท่าแป๊ะโย้ย (ขณะนี้ยังดำเนินการไม่เสร็จ)  สร้างโรงเรียนบ้านทุ่งดาบ ในขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว ส่วนเรื่องเรือทางสถานทูตสวิสฯ ต้องการมอบเรือให้กับผู้ที่เสียหาย และยังไม่ได้รับค่าชดเชยจำนวน 23 ลำ ให้แก่ชาวบ้านเกาะพระทองทั้งสี่หมู่บ้านคือบ้านทุ่งดาบ บ้านท่าแป๊ะโย้ย บ้านเกาะระ และบ้านปากจก สำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและผ่านการพิจารณาจากทางสถานทูตสวิสฯ ได้ทำการรับมอบเรือเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา
          โรงเรียนรุ่งอรุณมาสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบริเวณบ้านปากคลอง มีครูอาสาสมัครมาสอนหนังสือและมาทำ     กิจกรรมกับเด็กในวันเสาร์-อาทิตย์ ในขณะที่องค์กรของคริสต์เตียนได้เข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อให้การช่วยเหลือและในขณะเดียวกันก็เข้ามาเพื่อเผยแพร่ศาสนา ชาวบ้านบางส่วนมีความศรัทธาในศาสนาจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริตส์แทน   ซึ่งจากเดิมชาวบ้านปากคลองนับถือศาสนาพุทธ และทุกๆ วันเสาร์ชาวบ้านจะไปทำพิธีที่โบสถ์ในจังหวัดภูเก็ต
           ความพยายามของชาวบ้านทุ่งดาบ ที่ต้องการให้โรงเรียนบ้านทุ่งดาบยังคงอยู่และไม่ให้ถูกยุบตัวลง อันเนื่อง มาจากจำนวนนักเรียนที่มีอยู่น้อย และในขณะนั้นยังไม่มีครูมาสอนประจำและโรงเรียนบ้านทุ่งดาบยังเป็นโรงเรียนลูกของโรงเรียนเกียรติประชา และเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 ได้มีครูมาสอนประจำอยู่ที่โรงเรียนบ้านทุ่งดาบ  และในขณะนี้ มีนักเรียนทั้งหมดจำนวน 13 คน ซึ่งได้เปิดเรียนตามปกติแล้ว
 
หมู่ที่ 2 บ้านท่าแป๊ะโย้ย : จากเหตุการณ์สึนามิบ้านท่าแป๊ะโย้ย นับว่าเป็นหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น ความช่วยเหลือเร่งด่วนจึงได้รับความสนใจน้อย  ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็ได้รับความเสียหาย ในเครื่องมือประมงบางส่วนที่ต้องการช่วยเหลือซ่อมแซม  สิ่งที่ชาวบ้านท่าแป๊ะโย้ยได้รับความเสียหายมากที่สุด ณ ตอนนี้คือสภาพทางจิตใจ หลังจากประสบปัญหา ชาวบ้านขึ้นมาพักอยู่ที่วัดสามัคคีธรรมและเกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมและโดนดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา  จึงพากันกลับลงไปอยู่ที่เกาะ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2547   แต่ก็อยู่กันได้ไม่นาน  เพราะมีข่าวลือเรื่องการกลับมาของคลื่นสึนามิกันบ่อยครั้ง  ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพกันขึ้นมาพักที่ท่าเรือบางแดด  พอข่าวสงบก็ลงกันไปใหม่
เมื่อมีข่าวลือก็หนีกันขึ้นมา เป็นแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านบนเกาะพระทองส่วนใหญ่เป็นชาวมอแกน ซึ่งค่อนข้างที่จะมีความเชื่อเรื่องการโดนธรรมชาติลงโทษและมีความกลัวเรื่องผีจากคนตายจำนวนมากบนเกาะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และความไม่มั่นใจว่าคลื่นสึนามิจะเกิดขึ้นมาอีกเมื่อไหร่  ทำให้ชาวบ้านไม่เป็นอันทำมาหากิน ซ้ำร้ายอาหารทะเลก็ไม่มีใครรับซื้อ ถึงรับซื้อราคาที่ให้ก็ไม่คุ้มกับการลงทุน  บางคนที่ออกไปหาปลาในทะเลลึกก็ไปเจอชิ้นส่วนคนเข้า กลัวกันจนไม่กล้าออกไปทำมาหากิน นอกจากนี้ ภาพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังทำให้ชาวบ้านหวาดผวา ไม่เคยจางหายไป ยิ่งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548 มีข่าวทางโทรทัศน์ ออกมาว่า เกาะระซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะพระทองจะถล่มอีก ชาวบ้านที่เป็นมอแกนจึงอพยพกันขึ้นมาบนฝั่งกันหมด เหลือไว้แต่กลุ่มคนไทยที่ยังอยู่ที่เกาะ
ตอนนี้ชาวบ้านท่าแป๊ะโย้ยที่อพยพขึ้นมาพักอาศัยอยู่ที่วัดสามัคคีธรรมเชื่อว่า ถ้าเกาะระถล่ม เกาะพระทองก็คงไม่เหลือ เพราะเกาะพระทองมีโครงสร้างที่เปราะบางกว่าเกาะระ  อีกทั้งเกาะพระทองก็อยู่ต่ำกว่าเกาะระมาก ถ้าเกิดเกาะระถล่ม กลัวว่าน้ำจะเอ่อล้นขึ้นมาจนท่วมเกาะพระทอง จึงได้รีบอพยพกันขึ้นมาเพื่อหนีภัยที่เกิดจากความหวาดกลัว ตั้งใจขึ้นมาอยู่ที่วัดสามัคคีธรรมประมาณ 2-3 สัปดาห์ รอให้สถานการณ์ของปรากฎการณ์ธรรมชาตินิ่งกว่านี้แล้วค่อยลงกลับไปอยู่ที่เกาะ  เพราะตอนนี้ถึงลงไปก็ทำมาหากินไม่ได้
         นอกจากปัญหาเรื่องความตื่นกลัวแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านท่าแป๊ะโย้ยประสบ ณ ตอนนี้คือ ปัญหาเรื่องยุงที่เพิ่มปริมาณขึ้นมาอย่างมหาศาลในช่วงหลังเกิดคลื่นสึนามิ เนื่องจากเกิดแหล่งน้ำขังขึ้นบนเกาะมากมาย ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องน้ำดื่มขาดแคลน เนื่องจากฝนไม่ได้ตกติดต่อกันเป็นเวลานานน้ำฝนที่กักเก็บมาก็เริ่มหร่อยหรอ น้ำประปาที่เคยใช้ดื่มก็เป็นสีสนิมจนไม่มั่นใจว่าใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัยจากเชื้อโรคหรือไม่
          หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ชาวบ้านต้องประหยัดน้ำมากขึ้น โดยการเปิดให้ใช้น้ำช้าลงและปิดน้ำเร็วขึ้น เพราะปีนี้แล้งมากกว่าปกติ อีกทั้งน้ำเค็มท่วมถึงบนเกาะเข้ามาประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้แหล่งน้ำจืดหลายแห่ง    กลายเป็นน้ำเค็ม และเมื่อเวลาประมาณสี่ทุ่มของวันที่ 28 มีนาคม 2548 ได้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตรา       วัดได้ 7.5 ริกเตอร์ มีการประกาศเตือนภัยให้อพยพชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในที่สูง ชาวบ้าน          ท่าแป๊ะโย้ยได้พากันอพยพหลบภัยมาที่ท่าเรือบ้านบางแดด
            ด้านความช่วยเหลือเรื่องเครื่องมือประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบมีหลายหน่วยงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเรื่องเรือและเครื่องยนต์
หมู่ที่ 3 บ้านเกาะระ : ชาวบ้านเกาะระได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับชาวบ้านทุ่งดาบเนื่องจากมีการเสียชีวิต 1 คน และยังคงสูญหายอีก 1 คน ชาวบ้านเกาะระ 32 ครอบครัวยังคงอาศัยอยู่ที่วัดป่าส้าน (วัดสามัคคีธรรม) และทางวัดป้าส้านร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยสร้างที่พักชั่วคราวให้ชาวบ้านเกาะระจำนวน 32 ครอบครัว ส่วนเรื่องบ้านถาวร ทางวัดได้ร่วมกับมูลนิธิฝรั่งใจดีดำเนินการหาที่ดินสร้างบ้านถาวรให้ชาวบ้าน 32 หลังคาเรือน   สร้างอยู่บริเวณคลองบางหลุใกล้กับตลาดอุ่นเจริญ อำเภอคุระบุรี พื้นที่ด้านหลังติดกับคลองบางหลู และมีโครงการขุดลอกคลองเพื่อที่จะสามารถนำเรือมาจอดได้ ส่วนการสร้างบ้านได้ดำเนินการสร้างบ้านแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง รอให้สร้างเสร็จพร้อมกันก่อนจึงจะเข้าอยู่ในลำดับต่อไป
ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือการประกอบอาชีพ ทางมูลนิธิฝรั่งใจดีได้ร่วมกับทางวัดได้ต่อเรือให้กับชาวบ้าน พร้อมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ประมง  ในขณะนี้  ชาวบ้านได้นำเรือลงทะเลออกหาปลา เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
 
หมู่ที่ 4 บ้านปากจก : ชาวบ้านปากจกได้อพยพออกจากวัดป่าส้านมาอยู่ที่บริเวณสนามหลังโรงเรียนคุระ   ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอ โดยมีการกางเต็นท์พักอาศัย มีสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ในขณะนั้นมีสภาพอากาศร้อนจัด  พื้นที่มีความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ
ต่อมาได้มีการอพยพชาวบ้านปากจกที่อยู่บริเวณหลังโรงเรียนคุระมาอยู่ที่บ้านพักชั่วคราว  ก่อสร้างบริเวณ แพเหมือนฝัน (หมู่ที่ 3 บ้านหินลาด ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี) สร้างบ้านพักชั่วคราวโดยทหารช่าง  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 วัน (เริ่มสร้างวันที่ 1- 10 มกราคม 2548) 
บ้านปากจกเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และได้รับความเสียหายอย่างหนักด้านที่อยู่อาศัย         จนชาวบ้านปากจกไม่ต้องการกลับไปอยู่ที่เดิมบนเกาะอีก ทางมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับทางสภากาชาดไทยได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องบ้านถาวรให้กับชาวบ้านปากจก มีการเลือกสถานที่สร้างบ้านอยู่ที่บริเวณบ้านบางแบก ตั้งอยู่ในตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี (ใกล้กับบริเวณที่มีโครงการที่จะสร้างพระตำหนักของสมเด็จพระเทพฯ) จำนวน 150 หลังคาเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวไทยใหม่ พื้นที่อยู่ไม่ไกลกับท่าเรือบ้านบางแดดมากนัก บ้านพักถาวรอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณหลังโรงแรมเอ๊กซ์ดร้า หรือซอยท่าเรือ
 
สถานการณ์ของชุมชนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ภายหลังจากชาวบ้านผ่านเหตุการณ์คลื่นสึนามึถล่มชุมชน ต้องอพยพหลบภัยมาอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือ            ผู้ประสบภัยชั่วคราวที่วัดป่าส้าน อำเภอคุระบุรี และที่วัดบางวัน ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี ในระยะแรกชาวบ้านยังคงมีความหวาดกลัว ไม่สามารถตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับอนาคตของตนเองได้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปในช่วงหนึ่งชาวบ้านสามารถตั้งหลักได้ และทำใจให้ยอมรับการสูญเสียได้ จึงมีการพูดคุยในเรื่องอนาคตของตนเองกันมากขึ้นโดยสามารถจำแนกตามหมู่บ้านได้ดังนี้
ชาวบ้านปากจก ส่วนใหญ่ยังทำใจไม่ได้ ขอเวลาเพื่อได้ปรับสภาพจิตใจอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวที่ทางการสร้างขึ้น ซึ่งทางทหารช่างได้ขอเวลา 10 วันเพื่อทำการสร้างให้แล้วเสร็จ (นับจากวันที่ 10 มกราคม 2548) ก่อสร้างที่บริเวณแพเหมือนฝัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของนายดิษฐ์พงศ์ โชคนาพิทักษ์ (เจ้าของกิจการแพเหมือนฝันและรีสอร์ทที่เกาะระ) ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านหินลาด ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี ชาวบ้านบางส่วนได้แจ้งความต้องการที่จะไปขอปลูกบ้านอยู่บริเวณหมู่บ้านท่าแป๊ะโย้ย  ซึ่งได้มีการติดต่อแสดงความจำนงผ่านทางผู้ใหญ่บ้านท่าแป๊ะโย้ยแล้ว ทางด้านผู้ใหญ่นุ (ผู้ใหญ่บ้านปากจก) และแป๊ะหมาย ได้แสดงความจำนงให้ชาวบ้านกลับไปสร้างบ้านในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่อันเป็นสิทธิ์ของตนได้ (เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกบ้านในลักษณะขอกันอยู่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นของตนเอง)
ชาวบ้านท่าแป๊ะโย้ย ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางกายภาพน้อยกว่าชุมชนแรก สูญเสียเครื่องเมือประกอบอาชีพและบ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายบางส่วน แต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ เนื่องจากเกิดความกลัวและไม่มั่นใจในการอยู่อาศัยที่เกาะ ในขณะที่ลูกหลานของชาวบ้านก็ได้ไปทำงานอยู่ที่รีสอร์ทต่างๆ  โดยเฉพาะที่รีสอร์ทสุดขอบฟ้า และคนกลุ่มนี้ยังเป็นผู้ที่อยู่ในสถานการณ์คลื่นสึนามิถล่มโดยตรง เพื่อความปลอดภัยชาวบ้านจึงได้อพยพมาอยู่ที่วัดป่าส้านร่วมกับชาวบ้านปากจกที่หนีรอดมาได้ ชาวบ้านเกาะระและชาวมอแกนเกาะสุรินทร์
เมื่ออาศัยอยู่ในระยะหนึ่ง ชาวบ้านก็กลับลงไปอยู่ที่เกาะตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2548 แต่ก็ยังคงตื่นกลัวและเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ก็อพยพกันขึ้นมาอีกเนื่องจากข่าวเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อค การขึ้นมาของชาวบ้านมิได้ขึ้นมาอยู่ที่วัดอีก แต่ตั้งหลักอยู่ที่ท่าเรือบ้านบางแดด ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี และเมื่อระยะเวลาผ่านไป          ชาวบ้านอยู่ที่บางแดดไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกเรื่องสุขอนามัยและอาหารการกิน จึงได้กลับไปที่เกาะภายหลังจากนั้น มีการอพยพกันขึ้นมาอีกประมาณ 3 ครั้ง เนื่องจากเกิดความหวาดกลัวจากภัยสึนามิและกลัวภูติผีวิญญาณ อันเป็นความเชื่อของชาวบ้าน ต่อมาก็ได้อพยพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากข่าวเกาะระที่ถูกประกาศเป็นเขตไม่ปลอดภัยจากกรมทรัพยากรธรณี คราวนี้ต้องเข้าไปอาศัยอยู่ที่วัดป่าส้าน หรือวัดสามัคคีธรรม อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
            นายยศพล  แซ่เด่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ระบุว่า “ชาวบ้านยังคงฝังใจกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวงและตื่นกลัวได้ง่าย ดังนั้น  เมื่ออพยพไปอยู่ที่เกาะแล้วก็อพยพขึ้นลงหลายครั้ง ผมและคณะกรรมการหมู่บ้านจึงเห็นสมควรให้ชาวบ้านพักอยู่บนฝั่งก่อน จนสภาพจิตใจพร้อมที่จะลงไปที่เกาะแล้วจึงค่อยลงไป อีกทั้ง    เนื่องจากลงไปที่เกาะแล้วชาวบ้านไม่ได้ประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว อยู่กันอย่างลำบาก และไม่มีใคร  เข้าไปให้ความช่วยเหลือเหมือนครั้งที่เกิดเหตุใหม่ๆ
ชาวบ้านเกาะระ  ได้รับผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับบ้านทุ่งดาบ เนื่องจากมีชาวบ้านเสียชีวิต 1 คน และยังสูญหายอีก 1 คน ทั้งนี้ชาวบ้านยังคงอาศัยอยู่ที่วัดป่าส้าน ไม่ออกมาร
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17833เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท