กรุงสุโขทัย - บุคคลสำคัญ - พ่อขุนรามคำแหง - พระราชประวัติ ตอนที่ ๑


พระราชประวัติ

          พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก   เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน

ภาพถอดตัวอักษรบางส่วน จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๑

พระราชสมภพ

          จากศิลาจารึก ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงแต่เพียงคร่าวๆ ไม่ได้บ่งบอกถึงรายละเอียดชัดเจนนัก ว่าทรงพระราชสมภพแต่เมื่อปีพระพุทธศักราชใดแน่ชัด พระองค์ทรงมีพี่น้อง ๕ คน เป็นชาย ๓ คน เป็นหญิง ๒ คน พี่ชายคนโตได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็ก และพระองค์ทรงเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพระนางเสือง 
          มีท่านผู้รู้หลายท่านที่กล่าวถึงเรื่องศิลาจารึกนี้ โดยส่วนใหญ่ได้แบ่งเรื่องราวในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงออกเป็น ๓ ตอน

ตอนที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑ ถึง ๑๘  เป็นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ว่าเป็นใคร จนกระทั่งได้เสวยราชสมบัติ โดยใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก
ในส่วนนี้ คาดเดาว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้บันทึกเอง..

ตอนที่ ๒ ไม่ได้ใช้คำว่า "กู" เลย แต่ใช้คำว่า "พ่อขุนรามคำแหง" ในส่วนนี้จะเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียม และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นของเมืองในขณะนั้น
ในส่วนนี้ ผู้ที่ศึกษาศิลาจารึกได้คาดเดาออกเป็นสองทางว่า
          ๑.มีผู้บันทึกไว้หลังจากสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง เนื่องจากในตอนที่ ๒ นี้ เริ่มที่ว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง... "
          ๒.พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นผู้รับสั่งให้มีการบันทึกต่อ เพื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยที่พระองค์กำลังครองราชย์

ตอนที่ ๓ ตั้งแต่ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒ ถึงบรรทัดสุดท้าย เป็นส่วนสรรเสริญพระเกียรติคุณพ่อขุนรามคำแหง และอาณาเขตเมืองในครั้งกระโน้น  
ในส่วนนี้ เข้าใจว่าได้บันทึกโดยคนรุ่นหลัง ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากการบันทึกในตอนที่ ๒ แล้วหลายปี

          จากพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระสหายสนิทกับพญางำเมือง เจ้าเมืองพระเยา และพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่  จึงมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกัน   
          ตามพงศาวดารและจดหมายเหตุเมืองเหนือกล่าวว่า 
                    พญางำเมืองสมภพเมื่อปีจอ จุลศักราช ๖๐๐ (ปีพระพุทธศักราช ๑๗๘๑)  
                    ส่วนพญาเม็งรายสมภพเมื่อปีกุน จุลศักราช ๖๐๑ (ปีพระพุทธศักราช ๑๗๘๒)

พระนาม

          สำหรับพระนามของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ท่านผู้รู้และผู้ศึกษาในศิลาจารึก ได้ระบุเอาไว้หลายพระนามด้วยกัน เช่นทรงพระนามว่า "ราม" บ้าง "เจ้าราม" บ้าง "รามราช" บ้าง "พระราม" บ้าง ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพระนามเดิมของพระองค์นั้นว่าอย่างไร  ทราบแต่เพียงว่าทรงได้รับการตั้งพระฉายานาม โดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ว่า "พระรามคำแหง" เนื่องจากทรงชนช้างชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา 
          หากพิจารณาในอีกด้านหนึ่ง 
                    คำว่า "ราม" ในบางความหมาย แปลว่า "กลาง" บางความหมาย แปลว่า "เล็ก" 
                    คำว่า "คำแหง" ความหมาย แปลว่า "ผู้กล้าแข็ง" หรือ "เก่งกาจ" 
          คำว่า "พระรามคำแหง" จึงอาจมีความหมาย แปลว่า "หนุ่มน้อยผู้มีความเก่งกล้า สามารถเป็นเลิศ" ก็อาจเป็นไปได้  ทั้งนี้เพราะพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษาเท่านั้น ก็สามารถชนช้างชนะขุนสามชนได้แล้ว 
          หรืออีกนัยหนึ่ง คำว่า "พระรามคำแหง" อาจมีความหมาย แปลว่า "ลูกชายคนเล็กที่เก่งกล้า สามารถเป็นเลิศ" ก็อาจเป็นได้เช่นกัน 

การศึกษา

          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ใน "สำนักสุกกทันตฤษี" ณ เมืองละโว้ (ลพบุรี) พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนเป็นอันมาก โดยเป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน กับพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ซึ่งเป็นพระสหายสนิท ขณะที่ทรงศึกษาร่วมกันนั้น พญางำเมืองเจริญพระชันษาได้ ๑๖ ปี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17827เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2006 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท