กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพิษณุโลกสัญจรไปสระบุรี เยี่ยมประธานและสมาชิกชมรมฅนรักผึ้ง (ภาค 1)


แท้ทุกหยด สดจากผึ้ง

            ผมอาจารย์สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์ (อาจารย์ผึ้ง) ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มฯ ได้พาประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่าง อ.เสวก พ่วงปาน และ อ.วีรวัฒน์ เรืองเพชร กรรมการกลุ่มฯ ไปเยี่ยมคุณอรพินธ์ โรจนะหรือคุณตุ๊ก เจ้าของ "กระท่อมทิพย์ฮิลล์รีสอร์ท" ความจริงจะว่าผมพาไปก็ไม่ถูกนัก ที่ถูกควรพูดว่าแกไปผมต่างหาก คณะของเราอยู่คนละทิศละทาง อ.เสวก พ่วงปาน ไปเยี่ยมคุณแม่ ซึ่งอายุถึง 94 ปีแล้ว ก็ขนาด อ.เสวก ซึ่งเป็นลูกคนที่ 3 ยังอายุ 63 ปีเข้าไปแล้ว (ความจริงแกคงไม่อยากให้บอกอายุหรอก อายุเป็นเพียงตัวเลข) คุณแม่อ.เสวก อยู่กรุงเทพฯ อ.เสวก  ออกเดินทาง วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2548 ขับรถมาแต่เช้า แต่ไม่รีบมากนัก มาพบ อ.วีระวัฒน์ ที่เพชรบูรณ์ ตรงที่เรียกว่าซับบอน แกไปถึงราว ๆ เที่ยง แล้วโทรมาหาผมซึ่งยุ่งกับงานหลายอย่าง จนบ่ายสามถึงออกเดินทาง วันนี้ฝนตกทั้งวันเลข (ฝนทำหน้าที่ได้ดี เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงเข้าพรรษา หรือหน้าฝน) ผมขึ้นรถเมล์บ้านเราสาย 12 คาดแดง ไปที่สถานีขนส่งพิษณุโลก ซึ่งขณะนี้ไม่มีหลังคา ไปถึงสถานีฝนยังตกหนักอยู่ โชคดีที่ผมนำร่มติดตัวไป แต่ต้องลุยน้ำไปหารถที่จะไปทางเขื่อนป่าสักฯ ได้รถนครชัยทัวร์ ซึ่งมาจากเชียงใหม่จะไปโคราช คาดว่าเข้าสถานีเวลา 15.55 น. และออก 16.05 น.เวลานั้นเป็นเวลา 15.45 น.  นายท่าออกมาต้อนรับผมด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี (เสียดายที่ผมไม่ได้ถามชื่อ) ถามว่าผมจะไปที่ไหน ผมว่าจะไปแถว ๆ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.วังม่วง จ.สระบุรี แกแนะนำให้ไปลงที่ใกล้ที่สุด ผมจึงโทรไปหาอ.เสวกว่าจะให้ไปพบกันที่ไหน แกว่าที่ใกล้ที่สุดเป็นที่หนองบัว จ.นครสวรรค์ ผมจึงขอไปลงที่นั่น ค่ารถ 101 บาท

      แม้ฝนจะตกแต่รถก็เข้าตรงเวลา มีคนลงที่สถานีนี้มาก พอขึ้นไปรถก็ว่างดี เป้าหมายคือหนองบัว ซึ่งน่าจะใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมง นัดหมายให้อ.เสวกมารับให้ตรงเวลากัน อ.เสวก ออกจากซับบอนตอน 17 น. เศษ มาหนองบัวประมาณ 45 นาที ผมไปถึงก่อนราว 5 นาที ออกจากหนองบัวเกือบ 18.30 น. รถของเราวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราวิ่งฝ่าสายฝนไปทางชัยบาดาลจังหวัดลพบุรี เราไปเวะทานอาหารระหว่างทางตอน 20.30 น. พอ 3 ทุ่มเศษเราก็เดินทางต่อ แล้วก็ไปถึงทางเลี่ยวเข้าเขื่อนป่าสักซึ่งเลี้ยวซ้าย แต่เราแยกไปทางขวามือ   เข้าอำเภอ วังม่วง ไปตลาดถามพ่อค้าก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมีอัธยาศัยดี บอกทางไป "กระท่อมทิพย์ฯ" ให้ เราเลี้ยวเข้าซอยไป คุณตุ๊กซึ่งรออยู่โทรตามหา แต่เราเลี้ยวผิดไป กว่าจะถึงที่หมายปลายทางปาเข้าไป 4 ทุ่มครึ่ง คุณตุ๊กกุลีกุจอมารับ เข้าไปสนทนากับวิทยากรอบรมเรื่องผึ้ง คือผู้อำนวยการศูนย์ฯผึ้ง จันทบุรี คุณรุ่งโรจน์ ซึ่งอาจารย์เสวกรู้จักดี เราสนทนากันถึงเกือบเที่ยงคืน คุณตุ๊กขอตัวไปนอนเพราะต้องตื่นตี 5 ไปตลาดพพรุ่งนี้

      คุณตุ๊กจัดให้เรานอนห้องเดียวกัน ซึ่งมี 4 เตียง ผมได้เตียงกลาง กว่าจะได้นอกก็ตีหนึ่งกว่า เข้าไปแล้ว เมื่อวานผมทำงานดึกก็อดนอนไปคืนหนึ่งแล้ว

      ตอนเช้าตื่นมาก่อน 7 โมง ได้สูดอากาศบริสุทธิ์และมองดูวิวที่เป็นภูเขา 8 โมงเช้าคือเวลานัดสำหรับอาหารเช้า ซึ่งพอเราเกือบไปถึง คุณตุ๊กก็โทรตาม

      เราร่วมโต๊ะอาหารเช้ากัน 5 คน อาหารเช้ามีไข่ดาว 2 ฟอง ไส้กรอก 2 แท่งหั่นเป็น 4 ชิ้น ผมซึ่งทานมังสะวิรัติ ต้องตักไส้กรอกให้คนอื่น สิ่งที่พิเศษหน่อยคือโรตีแป้งทอดหอมหวานครึ่งชิ้น และข้าวเหนียวสังขยา เรารอผู้ที่จะมาอบรมผึ้งวันที่ 3 (อบรม 5 วัน) อยู่ ซึ่งตามกำหนดการจะเริ่ม 9 โมง แต่นิสัยคนไทยมักจะ late กัน ระหว่างรอเราก็ได้สนทนา เนื้อหาที่สนทนามักจะเป็นเรื่องผึ้ง แต่ผมอยากฟังเรื่อง "การจัดการความรู้เรื่องผึ้ง" อยากฟังถึงความเป็นมาที่มีวันนี้

      ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ผมได้บันทึกไว้ในสมุดแห่งการเรียนรู้ของผม ซึ่งผมจะติดตัวไปตลอด เพื่อบันทึกเรื่องราวการเรียนรู้ของผม และยังเป็นบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เรียกว่า Share ประสบการณ์ สมุดเล่มนี้ รศ.มาลินี ธนารุณ ได้พบเห็นแล้ว และในวันที่ 26 ขณะที่ผมอยู่บนรถทัวร์ เธอได้กระตุ้นให้ผมมาเขียน Story telling มาให้คุณ ๆ ที่หลงเข้ามาอ่านนี่ไง ซึ่งผมก็ได้สนองตอบ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ต่อวันที่ 29 และถ้ามีเวลาก็จะมาเล่าต่อ โดยเฉพาะถ้ามีคนเข้ามาอ่านมากก็จะเป็นการให้กำลังใจกัน ผมเปิด weblog 2 blog คือ "การจัดการความรุ้เรื่องผึ้งฯ" และ "กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างฯ" พวกคุณช่วยอ่านและส่งข่าวกันบ้างนะครับ

       เริ่มบันทึกแล้วครับ   "ตุ๊ก  เดิมทำงานด้านการท่องเที่ยวของหอการค้าจังหวัดสระบุรี และเป็นที่ปรึกษาชมรมธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดสระบุรี มีความรู้เรื่องดอกทานตะวันเป็นอย่างดี  วันหนึ่งในปี 2543 เห็นรังผึ้งมาวางไว้ ได้สอบถามผู้เลี้ยงผึ้งที่เอามาวางดู จึงได้รู้ว่าเป็นผึ้งที่เอามาจากทางเหนือ 700 กิโลเมตร มาเก็บน้ำหวานจากดอกทานตะวัน จึงเกิดคำถามในใจว่า ทำไมมาไกลตั้ง 700 กิโลเมตร การเลี้ยงผึ้งมันต้องคุ้มค่าแน่เลย จึงไปหาหนังสือเรื่องผึ้ง เรื่องผึ้งนางพญามาอ่าน เป็นหนังสือของมติชน ถึงแม้ว่าข้อมูลจะไม่ถูกทั้งหมด แต่หนังสือเล่มนี้ได้จุดประกายความคิด ถึง ความมหัศจรรย์ของผึ้ง มีความคิดอยากเลี้ยงผึ้ง ใจมันชอบแล้ว  เลยไปปรึกษากับเกษตรอำเภอวังม่วง คุณอิทธิศักดิ์ แสงเรือง ให้ช่วยจัดให้มีการอบรมเรื่องผึ้ง ปรึกษาไปตั้งปียังไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงไปปรึกษาอีก ไปกระตุ้น ในที่สุดไปของบประมาณของศูนย์เทคโนโลยีประจำตำบลวังม่วง มาจัดอบรมผึ้ง เริ่มจัดอบรมปี 2545 (งบ 8,000 ยาท) จัด 3 วัน ช่วยค่าใช้จ่ายด้วย มีคนมาอบรม 20 คน เหลือเลี้ยงผึ้ง 1 คน คือ ตู๊ก อบรมตอนปี 2545 เดือนกันยายน แล้วซื้อผึ้งมาเลี้ยงเลย ได้มา 9 รัง แต่จ่ายแพงมาก ทั้งรังผึ้ง ตัวผึ้ง 9 รัง  ประมาณ 25,000 บาท รวมค่าอุปกรณ์แล้วประมาณ 50,000 บาท พอเดือนพฤศจิกายน เก็บน้ำผึ้งเลย สลัดน้ำผึ้งเลย น้ำผึ้งมันสวยเลยเก็บไว้เป็นที่ระลึก มีความประทับใจมาก จากนั้นก็ค้นคว้าเรื่องผึ้งมาตลอด พบว่าผึ้งมันให้แต่สิ่งดี ๆ  พอปี 2546 ของบเกษตรอำเภอ ของบอบต และของบจากกรมส่งเสริมการเกษตร รวมแล้วประมาณ 150,000 บาท มาจัดอบรมและซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งให้กับสมาชิกซึ่งอยู่ในอำเภอวังม่วง ปีนั้นมี 22 คน จึงตั้งกล่มผู้เลี้ยงผึ้งอำเภอวังม่วง ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่ม ซึ่งก็ได้ไปอบรมและหาความรู้กับกรมส่งเสริมการเกษตรเรื่อยมา จบภาคแรก

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1782เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2005 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 06:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท