บทเรียนจากงานวิจัยคุณภาพ


บทเรียนจากงานวิจัยคุณภาพ

บทเรียนจากงานวิจัยคุณภาพ


ผาสุข  แก้วเจริญตา


               เช้านี้อากาศเริ่มเย็นๆ (เย้!!!  หน้าหนาวมาแว้ววววว)  ก็เลยตั้งใจว่าจะเขียนบทเรียนของการเรียนรู้เรื่องการทำวิจัยเชิงคุณภาพ  มาถ่ายทอดให้กับพี่ๆ น้องๆ  พยาบาลตัวนิดตัวน้อยอย่างเรา   ทั้งที่กำลังคิด  หรือว่าอาจจะไม่ได้เริ่มต้นคิดทำวิจัย  เอาไปใช้เป็นประโยชน์มั่ง   ลองนั่งทบทวนนอนทบทวน (อันนี้ติดมาจากห้องเรียน  เจงๆ )  คิดเรียบเรียงว่า  อะไรบ้างน้า????  ที่เราเรียนรู้และพอที่จะนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์มั่งเพราะมันเยอะจนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนทุกกระบวนการทุกขั้นตอนมันส์พะยะค่ะ!!   ยิ่งกว่าดูหนังแฮรีพอร์ตเตอร์ซะอีก  มันส์กว่ายังงัยน่ะเหรอ  ก็มันไม่ใช่แค่ตื่นเต้นๆ แล้วก็จบ  แล้วก็ลืม        แต่มันเป็นสิ่งที่สัมผัสได้   ได้ยิน  ได้เห็น    ได้คิด  ได้วิเคราะห์  จากชีวิตของคนจริงๆ  ทั้งชีวิตของพวกเรา     ผู้อยากเป็นนักวิจัย   นักพัฒนา (แล้วจะแอบเก็บมาเล่าให้ฟัง)  และชีวิตของกลุ่มคนที่เราได้เข้าไปพูดคุยรู้จัก  ที่ต่างมีวิธีคิดมุมมองที่แตกต่างกัน  ซึ่งกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ  ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่า ปัญหาที่พวกเรามองว่าเป็นปัญหาของคนไข้เหมือนๆ กัน  กลับมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน  มีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน กำลังคิดว่าจะเริ่มเล่าเรื่องอะไรให้เพื่อนๆ ฟังก่อนดี สายตาก็เหลือบไปเห็นหนังสือพิมพ์ที่วางอยู่ที่พื้น  พาดหัวข่าวตัวไม้ ตัวเบ้อเริ่มว่า  “รัฐบาลถังแตก เงินคงคลังเหี้ยน หวั่นเศรษฐกิจซ้ำปี 40”   โดนเลยครับ  โดนจริงๆ  สมาธิแตกกระเจิงไปชั่วขณะ เฮ้ย! นี่มันเกี่ยวกับเราเต็มๆ เลยนี่นาปีหน้าเราจะได้เงินเดือนมั้ยเนี่ย ???
                 หยุดตั้งสตินิดนึงก็คิดได้ว่า   จริงๆ แล้ว  รัฐบาลจะถังแตก  หรือจะร่ำรวย GDP พุ่งพรวดพลาด     มันก็กระทบกับเราทั้งนั้นแหละ  กระทบทั้งตัวเรา  ทั้งงานของเรา  เพราะคนจนมาก  ก็ป่วยมาก  เจ็บมาก   คนรวยมาก   ถ้าใช้ชีวิตไม่ระมัดระวัง  ขาดความใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพ  ที่พวกเราเห็นๆ กันอยู่ทุกๆ วัน   ปัญหาที่เกิดต่างโยงใยมาถึงทีมสุขภาพอย่างพวกเรา เป็นภาระงานให้กับเราวนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด (ไม่ต้องกลัวตกงานเลยจริงๆ )  แต่เราจะก้มหัวยอมรับมันแต่โดยดี  จะเป็นเพียงมนุษย์งาน  ถึงเวลาก็มาทำงาน     กลับบ้าน  นอน   แค่นั้นหรือ  “วิชาชีพ”  จริงๆ แล้วคำนี้มันมากกว่าความหมายแค่การทำงาน  แต่ต้องมีความเป็นมืออาชีพอยู่ด้วย  แล้วเราจะทำยังงัยดีล่ะ?   เมื่อก่อนก็คิดอยู่เหมือนกันนะว่าคงต้องรอให้โลกแตก ซะละมั้ง   อย่าเพิ่งท้อถอยนะจ๊ะ พยาบาลอย่างพวกเรายังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะแยะ 
                สิ่งหนึ่งที่อยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับพี่น้องๆ ได้เรียนรู้    จากกระบวนการของงานวิจัยเชิงคุณภาพ  คือได้เข้าใจในความหมายของความหลากหลายของคน  “คนแต่ละคนมีความแตกต่าง    แต่ละคนมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน  ทุกคนมีเหตุผลของการกระทำของตัวเอง ” ฟังดูเหมือนกับว่า  แหม๋ !  ก็เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว  คู่แฝดมันยังไม่เหมือนกันเลย  (แอบค้านเล็กๆ )  จริงค่ะ ถูกต้องแล้วคร้าบ  เพราะว่า  เมื่อก่อนก็เคยคิดอย่างนี้นี่แหละ  เหมือนจะเข้าใจ  แต่ก็ไม่เข้าใจ  ประสบการณ์ตรงตรงนี้ก็คือ เมื่อก่อนตอนทำงานจะรู้สึกว่า เราทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว เช่น  ตอนเราสอนคนไข้ เราก็ตั้งใจทำงาน ทั้งให้การพยาบาล  ให้สุขศึกษา   มีกี่เรื่องที่รู้ก็สอนๆๆๆๆ จนหมดไส้หมดพุง  แล้วเป็นงัย  คนไข้ก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม   คนไข้มาด้วยปัญหาเดิมๆ แถมมากขึ้นอีกต่างหาก  ตอนนั้นรู้สึกอึดอัดมากๆๆๆ  ว่า วิญญาณพยาบาลแสนดีหายหมด   นึกในใจเราก็สอนแล้วนี่นา  สอนแล้วไม่ฟัง  ก็ช่วยไม่ได้ (โห! อารมณ์ตอนนั้น  ประมาณ นางเอกถูกกลั่นแกล้ง อ๊ะอ๊ะ! อย่าเพิ่งอ๊อก)  มันเป็นเรื่องจริง  
งานวิจัยเชิงคุณภาพสอนมากกว่าการมองเห็นที่ปลายเหตุ สอนให้เราเป็นคนที่มองหาสาเหตุ   ก็ตอนที่เราไปคุยกับคนไข้ช่วงเก็บข้อมูล   มีคนไข้คนนึงเป็นเบาหวานมา 10 กว่าปี เคยถูกตัดนิ้ว  เพราะเป็นแผล  มาโรงพยาบาลครั้งนี้ก็เป็นแผลที่ตาตุ่ม  คนไข้ไปรักษาที่อนามัยแผลที่เท้าขยายใหญ่มากขึ้นเป็นหนองมีกลิ่นเหม็น  ตอนที่ได้ข้อมูลคนไข้ครั้งแรก  พี่ๆ น้องๆ ทีมพยาบาลส่งข้อมูลว่าคนไข้ดื้อมากให้คุมอาหารก็ไม่คุม     มานอนที่โรงพยาบาลเนี่ยน้ำตาลคุมไม่ได้เลย      พอบอกให้คุมอาหารก็ไม่กินเลย     เวรดึกกลางคืนก็น้ำตาลต่ำผิดปกติ     แต่มีข้อมูลน่าสนใจที่บอกว่า  พยาบาลในแผนกผู้ป่วยใน  หลายต่อหลายคนได้พยายามเข้าไปพูดคุยสอนสุขศึกษา  และก็ประเมินตามหลัก C3THER (ฟังแล้วคุ้นๆ มั้ย)  พี่ๆ บอกว่า ดูๆ แล้วคนไข้ก็น่าจะเข้าใจอะไรได้ดี  แต่ทำไมถึงดื้อไม่ดูแลตัวเอง สอนอะไรไปแป๊บเดียวตอบไม่ได้  ตอบไม่ถูก จะกลับบ้านอย่างเดียว  น้ำตาลก็ยังคุมไม่ได้เลย  ไม่สนใจตัวเองทั้งที่มีประสบการณ์ถูกตัดนิ้วเท้ามาแล้ว แผลก็ยังไม่ดีเลย   เสียดายถ้าต้องตัดขาอีกครั้ง   ก็เลยขอเป็นขุนอาสาเข้าไปคุยกับคนไข้ ตอนนั้นนึกสงสัยว่า  ทำไมถึงดื้อจัง  คุยกันไป  คุยกันมา  คนไข้บอกว่า  ดูแลเท้าทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนเหมือนที่หมอสั่งมาตลอด (ไม่รู้ว่าหมอไหน) เช้ามาก็ใช้แอลกอฮอล์เช็ดเท้า  เย็นก็เอาแอลกอฮอล์เช็ด  เท้าจะได้สะอาด  ที่เป็นแผลเพราะหนังที่ตาตุ่มมันแห้ง  มันแข็ง  (ก็จะไม่แข็งยังงัย  เล่นเช็ดจนผิวแห้งซะขนาดนั้น  ชักสงสัยเรื่องความรู้ที่ให้กับคนไข้ซะแล้ว) นั่งทำงานสานเข่งลางสาด ตาตุ่มมันเลยเป็นแผลก็ไปหาหมอที่อนามัย  หมอก็เอายามาเช็ดๆ  ทำอยู่ 3 วัน ก็ให้มาโรงพยาบาล  เวลาที่มีพยาบาลมาสอนก็เข้าใจดี  แต่ที่ไม่ตอบเพราะว่า  กลัวตอบผิด  ถ้าตอบผิดเดี๋ยวหมอจะว่า   มานอนโรงพยาบาลนอนไม่หลับเลย (นอนโรงพยาบาลมา 7 วัน แล้ว)   เหม็นห้องน้ำ (เตียงคนไข้อยู่ทางเข้าประตูห้องน้ำ)  คนก็เดินไปเดินมา  ห้องมันอึดอัด  มันหายใจไม่ออก  อยู่บ้านอากาศจะสบายมันโล่ง   อาหารโรงพยาบาลกินไม่ได้เลย  รสชาดไม่อร่อย  เลยไม่กิน  อาหารที่กินเอามาจากบ้าน  (ประเมินคุณภาพงานโภชนาการไปในตัว) อยากกลับบ้านมากเพราะเป็นช่วงตัดลางสาด  สามีต้องไปตัดลางสาด     บนเขา  ไม่มีใครช่วยเลี้ยงปลา  เลี้ยงไก่  และดูแลลูกที่ยังเล็ก   ถ้าต้องจ้างเพื่อนบ้านทำงานรายได้ก็จะลดลงทั้งๆ ที่เป็นงานที่ยังทำได้  เพราะเจ็บแค่เท้า  ไม่ได้นอนจนลุกไม่ไหว  ยังขี่รถมอเตอร์ไซด์ไหว ก็มาทำแผลที่ โรงพยาบาลได้ (บ้านอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ  10  กิโลเมตร) เป็นงัยล่ะ  ปรากฏว่าข้อมูลที่ได้เหนือความคาดหมาย  อันนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่เราพบจากปัญหาที่เรามองข้าม  และบางที่เราเองก็ทำเป็นมองไม่เห็น เพราะเราไม่ได้ตั้งใจที่จะฟัง  แต่เราตั้งใจที่จะพูด จะสอนมากกว่า  ทำให้เราพลาดโอกาสในการรับรู้    ข้อมูลของความแตกต่างของคนแต่ละคน   ที่มีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน   ทุกคนมีเหตุผล ของการกระทำของตัวเอง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17787เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2006 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท