กรุงสุโขทัย - วัดในพระพุทธศาสนา (ต่อ)


วัดพระพายหลวง

    เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ อยู่นอกเมืองสุโขทัย สร้างก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งอยู่กลางแนวคูน้ำล้อมรอบ ๒ ชั้น คูน้ำชั้นนอกเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ และคูน้ำชั้นในมีขนาดเล็ก เดิมเป็นเทวสถานของขอม ด้วยพบชิ่นส่วนเทวรูป และฐานศิวลึงค์  ต่อมาจึงดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน

        ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เนื่องจากพบพระพุทธรูปแกะหินสลักปางนาคปรก และด้านหน้าวิหารพบรูปสลักหินองค์ใหญ่ ปางสมาธิ เฉพาะส่วนขององค์พระที่มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์  ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้าง จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นวัดศาสนาพุทธ ฝ่ายหินยาน เมื่อได้รับอิทธิพลศาสนาแบบลังกาวงศ์ นับเป็นวัดที่ใหญ่และสำคัญรองลงมาจากวัดมหาธาตุ เจดีย์ประธานเป็นปรางค์ ๓ องค์ ก่อด้วยศิลาแลงและฉาบด้วยปูนปั้น ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์สี่เหลี่ยม และระเบียงคด มณฑป วิหารพระนอน และเจดีย์ราย  สันนิษฐานว่า เป็นศูนย์กลางของศาสนาที่มีมาก่อนการตั้งวัดมหาธาตุ รวมทั้งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในด้านการศึกษาด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม สมัยก่อนสุโขทัย และการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนมาหลายยุคหลายสมัย

วัดศรีชุม

    เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองสุโขทัย ปรากฏตามหลักฐาน ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ พุทธศักราช ๑๘๓๕

    วัดนี้เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ด้วยหากมองเพียงภายนอกจะเป็นแต่มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงระฆังคว่ำหรือรูปโดม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่เพียงองค์เดียว คือ พระอจนะ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์สามารถพูดได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ประตูทางเข้าด้านหลังพระพุทธรูปจะเจาะเป็นช่องสูง มีทางเดินขึ้นไปจนเกือบถึงยอดหลังคามณฑป ซึ่งเป็นด้วยกุศโลบายของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง ที่ทรงพระปรีชาสามารถปลุกปลอบใจทหาร และสามารถบังคับบัญชา ให้เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนี่งใจเดียวกัน โดยใช้ผนังด้านข้างขององค์พระอจนะที่มีช่องเล็ก ๆ และให้คนเข้าไปในอุโมงค์ แล้วพูดออกมาเสียงดัง ๆ ผู้ที่อยู่ในวิหารจึงนึกว่าพระอจนะพูดได้ และทั้งช่องอุโมงค์ด้านซ้ายและขวาจะบรรจบกันเข้าเป็นยอดแหลม ผนังมณฑปทำเป็น ๒ ชั้น ภายในช่องอุโมงค์มณฑป ด้านซ้ายกว้างประมาณ ๕๐ ซม. บนเพดานมีภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน ประมาณ ๕๐ ภาพ แสดงเกี่ยวกับเรื่องชาดกต่าง ๆ บรรยายไว้เป็นอักษรไทยสมัยสุโขทัย และมุมด้านขวาขององค์พระยังมีรอยพระพุทธบาทสลักไว้สวยงาม ส่วนอุโมงค์ช่องขวา ได้ปิดทับไปแล้ว นอกจากนั้น ยังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิ์พงศ์ (จาด) กล่าวไว้ว่า เมื่อพระนเรศวรเสด็จขึ้นมา ปราบกบฎเมืองสวรรคโลก ในปี พ.ศ.๒๑๒๘ นั้น ก่อนจะยกไปเมืองสวรรคโลก ได้แวะพักพลที่ตำบลฤาษีชุม เมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่า คือวัดศรีชุม  นั่นเอง

วัดอรัญญิก


    ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก บริเวณที่ราบเชิงเขาในป่ากลางอรัญญิก ระหว่างวัดสะพานหิน กับ วัดพระบาทน้อย ประกอบด้วย กุฎิสงฆ์ โบสถ์ วิหารเล็ก ร้านบาตร เจดีย์ราย บ่อน้ำ และถ้ำ

กุฎิสงฆ์มีจำนวน ๘ หลัง ก่อด้วยหินเล็ก ๆ คล้ายซุ้ม เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์จำวัดและวิปัสสนา บริเวณเขาสูง มีถ้ำซึ่งเป็นการ สกัดหินเข้าไปในเขา ๓ แห่ง เพื่อให้สำหรับพระสงฆ์จำวัด คือ ถ้ำมะขามป้อม ถ้ำพระยาน้อย และถ้ำพระ  ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช ๑๘๓๕

วัดเชตุพน

    เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดของโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ โบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัด มีคูน้ำ ๒ ชั้น ล้อมรอบ เว้นแต่โบสถ์ซึ่งแยกออกไปอยู่ต่างหาก ทางใต้นอกคูน้ำ กลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย มณฑปพระสี่อิริยาบท เจดีย์ทรงมณฑป
วิหาร เจดีย์ราย กำแพง คูน้ำ

    มณฑปพระสี่อิริยาบท เป็นโบราณสถานหลักของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา ทางด้านทิศตะวันออก  พระพุทธรูปประทับยืนทางด้านทิศตะวันตก  พระพุทธรูปประทับนั่งทางด้านทิศเหนือ และพระพุทธรูปประทับนอนด้านทิศใต้ โดยพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์นี้ ก่อด้วยอิฐ และปูนปั้น วัดเชตุพน นับเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งก่อสร้าง เช่น มณฑปที่อิริยาบทขนาดใหญ่ กำแพงหินชนวนขนาดใหญ่ ตลอดจนขนาดของวิหาร สระน้ำ และคูน้ำล้อมรอบ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นอย่างยิ่ง

วัดสะพานหิน

    ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ  ตามหลักฐานในศิลาจารึก หลักที่ ๑ และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเสด็จมานมัสการพระอัฎฐารศ ที่วัดสะพานหินเป็นประจำทุกวันพระ

    ทางเดินขึ้นวัดสะพานหินปูด้วยหินชนวนแผ่นบาง ๆ ซ้อนเรียงกันเป็นแนวสูง และปูเรียงไปตามเชิงเขาด้านทิศตะวันออก จนถึง บริเวณลานวัดบนยอดเขา บนลานมีวิหารก่อด้วยอิฐ เสาเป็นศิลาแลง ๔ แถว ๕ ห้อง ด้านหลังมีผนังก่ออิฐหนา มีพระพุทธรูปปูนปั้น หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา  สูง ๑๒.๕๐ เมตร เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" และมีฐานเจดีย์ราย ๔-๕ ฐาน ระหว่างทางขึ้นทางซ้ายมือ มีเจดีย์แบบดอกบัวตูมองค์เล็ก ๑ องค์ ทางทิศเหนือ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17744เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2006 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีความรู้มากเลยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท