ชมรม "เพิ่มความรู้สู้เบาหวาน"


มีความรู้มากมายอยู่ในตัวผู้ที่เป็นเบาหวาน เป็นสิ่งที่ควรถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานและคนอื่นๆ ในสังคม

วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสร่วมประชุมกับทีมชมรม “เพิ่มความรู้สู้เบาหวาน” นำโดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ศีตะจิตต์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานชมรม ผู้เข้าประชุมรวมทั้งหมด ๑๕ คน เป็นทีมงานของ รพ.เทพธารินทร์เสีย ๔ คนคือดิฉัน คุณจิตราภา หิมะทองคำ คุณสุนทรี นาคะเสถียร และคุณยุวดี มหาชัยราชัน
เริ่มประชุมเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.เล็กน้อย อาจารย์ชัยวัฒน์เล่าความเป็นมาของชมรมสั้นๆ ว่าตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ได้ชื่อมาจากเพลงที่คุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ แต่ง เป็นชื่อที่เหมาะสมดีเพราะสมาชิกชมรมมีทั้งผู้ที่เป็นและไม่เป็นเบาหวาน คุณสุนทรีเพิ่มเติมข้อมูลให้อีกว่าชมรมมีสมาชิกที่ลงทะเบียนไว้จำนวน ๕๑๘ คน มาจากชาวค่ายในแต่ละปี และผู้ที่มาร่วมกิจกรรมวิชาการที่ รพ.เทพธารินทร์จัดขึ้นแล้วเขียนใบสมัครไว้

ประธานแจ้งว่าประเด็นสำคัญของการประชุมวันนี้คืออยากจะได้แนวคิดใหม่ๆ เพื่อดำเนินการต่อไป แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาการประชุม อาจารย์ชัยวัฒน์ขอให้ทุกคนแนะนำตนเองก่อน ทุกท่านแนะนำตัวแบบกันเอง ช่วยสร้างบรรยากาศแบบสบายๆ และทำให้เรารู้ว่าผู้ที่มาประชุม ๑๑ ท่านวันนี้ เป็นศิษย์เก่าค่ายเบาหวานของเราทั้งนั้น มีทั้งผู้ที่เป็นเบาหวานเอง ภรรยาผู้เป็นเบาหวาน มีท่านหนึ่งที่เป็นทั้งลูก น้อง และแม่ของผู้เป็นเบาหวาน สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือมีความรู้มากมายอยู่ในตัวผู้ที่เป็นเบาหวาน เป็นสิ่งที่ควรถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานและคนอื่นๆ ในสังคม

สาระหลักที่คุยกัน
๑. การเข้าค่ายเบาหวานมีประโยชน์มาก ผู้ที่เป็นเบาหวานได้ความรู้สำหรับดูแลตนเอง ช่วยให้คุมน้ำตาล คุมน้ำหนักตัวได้ มีทิศทางในการคุม ผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานก็บอกว่าได้ความรู้มาป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวาน  ศ.ดร.กำจร มนูปิจุ กล่าวว่า “นึกดีใจที่ได้เข้าค่าย ทำให้ได้รู้ถึงเรื่องต่างๆ ที่ทันสมัย ไปบอกคนอื่นได้.....ทำให้ได้ออกกำลังกาย”

ดิฉันดีใจที่ชาวค่ายครั้งล่าสุดชอบกิจกรรม KM ที่เราจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการดูแลตนเอง และยังชอบใจแบบประเมินความเสี่ยงของ รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร คุณภินันท์ วรรณีเวชศิลป์ เล่าว่าได้สำเนาแบบประเมินนี้เป็นร้อยๆ ชุด เอาไปใช้ประเมินคนอื่นต่อ “ได้ผลดีเพราะพูดเฉยๆ คนไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ คนที่ถูกประเมินเบื้องแรกจะเครียด แล้วจะเกิดความคิดตามมา เพราะเมื่อประเมินแล้วมีความเสี่ยง ก็จะบอกว่ามีวิธีการป้องกันได้”

๒. มีข้อเสนอแนะที่ดีมากๆ ว่าชมรมควรเพิ่มกิจกรรมจาก “3C” ของ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ เป็น “4C” คือเพิ่ม "C- Communication” เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง โดยสื่อสารในหลายรูปแบบ ทั้ง Website, จดหมายข่าว, ส่งข้อความผ่าน e-mail หรือโทรศัพท์มือถือ ดิฉันจึงถือโอกาสแนะนำ Weblog ของเราด้วย

๓. เรื่องการให้ความรู้ หลายท่านต้องการให้เน้นเรื่องการให้ความรู้เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนสมาชิกสมาคมต่างๆ เช่น โรตารี่ เราเสนอความคิดเห็นกันมากมายจนท่านประธานต้องกระตุกว่า “เริ่มคิดก่อการใหญ่” แล้ว สมาชิกท่านหนึ่งจึงเสนอว่าเราอาจจะยังไม่มีวัตถุดิบมากพอ อยากให้ทำงานภายในกันก่อนแล้วจึงค่อยขยายออกข้างนอก สมาชิกของเราเองบางส่วนยังต้องการการปรับปรุงการดูแลตนเอง

สิ่งที่ตกลงกันว่าจะดำเนินการ
๑. Update ข้อมูลสมาชิกทั้งหมด ทำจดหมายไปถึงสมาชิกทั้งหมด แจ้งเรื่องราวของชมรม ขอ e-mail address ถ้ามี (หรือของลูกหลานที่เปิดประจำ) และเชิญชวนให้สมาชิกเล่าประสบการณ์ของตนเอง
๒. จัดประชุมคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอทุก ๒ เดือน อาจารย์ชัยวัฒน์เชิญให้ทุกท่านที่มาประชุมวันนี้เป็นกรรมการชมรมด้วย โดยขอให้คุณสมศักดิ์ พงศ์ภิโรดมและคุณสนั่น อำนวยเรืองศรีเป็นรองประธาน
๓. การสื่อสารที่ทำได้เลยคือเปิดคอลัมน์ของชมรมในหนังสือ “สานใจ” และเว็บไซด์ของ รพ.เทพธารินทร์ ต่อไปอาจเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ดิฉันจะหาทางให้สมาชิกชมรมเปิดบล็อกของตนเองด้วย
๔. จะมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ ประมาณปลายเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งคุณยุวดีเสนอเรื่องของการจัดอาหารลงจานตาม Plate model ครั้งต่อไปประมาณเดือนมิถุนายนจะจัดประชุมใหญ่ให้เป็น event หนึ่งของการเปิดอาคารใหม่ ของ รพ.เทพธารินทร์

เรื่องสุดท้ายที่หารือกันคือการหารายได้สนับสนุนกิจกรรมชมรม ทุกคนเห็นตรงกันว่าคงทำไปพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการเบียดเบียนสมาชิก

ในการประชุมครั้งนี้คุณจิตราภา หิมะทองคำ ได้ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคารใหม่ และกล่าวยืนยันว่า รพ.เทพธารินทร์ยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของชมรม ดีใจและขอบคุณที่ทุกท่านมาประชุมในวันนี้ ก่อนปิดการประชุมยังกล่าวถึงความสำคัญของการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ของผู้เป็นเบาหวาน “สิ่งที่เราให้ได้คือวิทยากรด้านวิชาการ สิ่งที่เราให้ไม่ได้คือประสบการณ์”

ปิดประชุมเวลา ๑๓.๑๖ น.

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๙

 

 บรรยากาศในการประชุม

 

 ฟังและคิดตาม

 

 ถ่ายรูปร่วมกันหลังประชุมเสร็จ


 

หมายเลขบันทึก: 17590เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2006 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 04:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท