เก็บตกมาฝากนักดื่ม


            มีเรื่องของแอลกอฮอล์มาเล่าให้นักดื่มทั้งหลายได้ทราบไว้    เก็บเอามาจากเวบไซต์ของออสเตรเลีย ลองเปิดอ่านเองได้ที่  http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhearticles.nsf/pages/Alcohol?OpenDocument       ซึ่งกล่าวถึงว่าถ้าจะดื่ม  ดื่มอย่างไรจึงจะอันตรายน้อยที่สุด    แสดงปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกกอฮอล์ในรูปของ Standard drink  (1 standard drink = ปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 10 กรัม)      ขอคำนวณกลับมาให้อยู่ในรูปเบียร์กระป๋องหรือปริมาณของไวน์และเหล้าเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น     ในที่นี้จะขอกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในเรื่องผลของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพก่อน  ตามด้วยเรื่องดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพและเรื่องจะจำกัดปริมาณการดื่มอย่างไร  ถ้าต้องดื่มในงานสังสรรค์แต่จำเป็นต้องขับรถเอง   ดังนี้

ก.  ผลของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ  
              แอลกอฮอล์ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหลายอย่าง  ได้แก่
            1.ระบบหัวใจและหลอดเลือด -  ความดันโลหิตและไตรกลีเซอร์ไรด์สูงขึ้น  
                                                     ทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจจึงทำงานหนักมากขึ้น
             2.ระบบประสาท  - กดการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน   เสียการ
                                     ควบคุมตัวเอง  การตัดสินใจและปฏิกิริยาการตอบสนองช้าลง  
                                     ใช้ไประยะยาว สมองและเส้นประสาทจะถูกทำลาย  มีอาการสั่น 
                                     ความจำเสื่อม  
             3.ระบบทางเดินอาหาร – กระเพาะอาหารอักเสบและมีเลือดออก
             4.ตับ  - มะเร็งตับ ตับอักเสบ ไขมันสะสมมากที่ตับ ตับแข็ง การทำงานของตับล้มเหลว
             5.ระบบต่อมไร้ท่อ – ปัญหาการควบคุมน้ำตาล  สมรรถภาพทางเพศเสื่อม  เป็นหมัน
             6.ภาวะโภชนาการ – ขาดอาหาร  ขาดวิตามินและเป็นโรคอ้วน
                  ในสตรีมีครรภ์ อาจมีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาตัวเล็ก  พิการ  ตายในครรภ์หรือ
     ตายหลังคลอดได้   

ข.  ดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ 
           ถ้าคุณเป็นนักดื่ม  เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ   มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
              1.ควรจำกัดปริมาณการดื่ม
                         ชาย :  ดื่มเบียร์ไม่เกิน 4 กระป๋อง ต่อวัน (เท่ากับไวน์ 400 มิลลิลิตรหรือ
                                   เหล้า 120 มิลลิลิตร) ต่อวัน       ควรเว้นการดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ
                                   1 – 2 วัน
                         หญิง :  ดื่มเบียร์ไม่เกิน 2 กระป๋องต่อวัน (เท่ากับไวน์ 200 มิลลิลิตรหรือเหล้า 
                                   60 มิลลิลิตร)  ควรเว้นการดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 วัน
              2.ควรรับประทานอาหารก่อนและระหว่างการดื่ม  เนื่องจากอาหารจะทำให้การดูดซึม
                 ของแอลกอฮอล์ช้าลง
              3.หลีกเลี่ยงการกินของขบเคี้ยวรสเค็มๆ เนื่องจากจะทำให้กระหายน้ำ ซึ่งจะทำให้ดื่ม
                 เครื่องดื่มมากขึ้น
              4.ควรดื่มน้ำหรือ soft drink เพื่อลดการกระหายน้ำก่อนดื่มแอลกอฮฮล์แก้วแรก  และ
                 ควรสลับการดื่ม (แก้วที่ 2 หรือ 3 ) ด้วยเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
              5.พยายามดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮฮล์ต่ำ

ค.  จะจำกัดปริมาณการดื่มอย่างไร  ถ้าต้องดื่มในงานสังสรรค์แต่จำเป็นต้องขับรถเอง 
              โดยหลักการแล้ว  ถ้ามีความจำเป็นต้องขับรถ  ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา  แต่ถ้าเลี่ยงไม่
      ได้  จะต้องจำกัดปริมาณการดื่ม เพื่อให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ในระดับต่ำกว่า 50
       มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์      ในชายและหญิงจะมีขีดจำกัดปริมาณการดื่มแตกต่างกันดังนี้
                     ชาย    :  ในชั่วโมงแรก ดื่มเบียร์ไม่เกิน 2 กระป๋อง (เท่ากับไวน์ 200 มิลลิลิตร
                                  หรือเหล้า 60 มิลลิลิตร)  หากต้องดื่มอีกในชั่วโมงต่อไป  ดื่มได้ไม่เกิน
                                  ครึ่งหนึ่งของปริมาณนี้   (สูงสุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง)
                     ผู้หญิง :  ในชั่วโมงแรก ดื่มเบียร์ไม่เกิน 1 กระป๋อง  (เท่ากับไวน์ 100  มิลลิลิตร
                                  หรือเหล้า 30 มิลลิลิตร) หากต้องดื่มอีกในชั่วโมงต่อไป  ดื่มได้ไม่เกิน
                                  ปริมาณนี้  (สูงสุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง)
  
               แต่อย่างไรก็ตาม  นอกจากเพศแล้ว  ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อ
      การดูดซึมจึงทำให้ระดับแอลกอฮฮล์ในเลือดของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ได้แก่  ชนิดและ
      ปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม  ปริมาณอาหารในกระเพาะอาหาร  อายุ  ขนาดร่างกาย 
      ปัจจัยส่วนบุคคล ฯลฯ       ทำให้บางคนถึงแม้ว่าจะปฏิบัติวิธีการดังกล่าวแล้วก็ตาม  แต่ระดับ
      แอลกอฮฮล์ในเลือดอาจอยู่ที่ระดับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หรือสูงกว่าก็ได้  ซึ่งสูงเกินกว่าที่
      กฎหมายอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะ   ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจ  ต้องไม่ดื่มก่อนขับรถเลยจะดีกว่า    
      ยิ่งในพนักงานขับรถโดยสาร  รถบรรทุก ฯลฯ  ควรจำกัดให้ระดับแอลกอฮฮล์ในเลือดเป็น 0 
      เลยยิ่งดี จะได้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนรวม   

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17493เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2006 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท