จับภาพ "เครือข่ายเยาวชนคนวัย health"


กิจกรรมนี้เดินทางไปเมื่อ 25-26 กพ.49 น้ำ+อ้อ ที่จ.ชัยภูมิ
เครือข่ายสหวิชาชีพภาคเหนือตอนล่าง กับ เครือข่ายเยาวชนคนวัย health”
               

               

                เครือข่ายเยาวชนคนวัย health” เป็นหนึ่งในเครือข่าย ภายใต้โครงการ การจัดการความรู้เพื่อการดูแลสุขภาวะ ซึ่งทีมสหสาขาวิชาชีพภาคเหนือตอนล่าง ได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนายแพทย์วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน ทันตแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นผู้จัดการโครงการฯ

                เครือข่ายเยาวชนคนวัย health เป็นโครงการย่อยของสถานีอนามัยหนองบัวโคก จ.ชัยภูมิ ในโครงการการจัดการความรู้เพื่อการดูแลสุขภาวะชุมชน  ดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา2 ปี โดยระยะเริ่มต้นมี หมอคมกฤษ หัวหน้าสถานีอนามัยหนองบัวโคกอาสาเป็นแกนนำทีมสหสาขาวิชาชีพทำงานกับชุมชน

                 อย่างไรก็ตามระยะเบื้องต้น คุณอำนวย (ทีมสหสาขาวิชาชีพ) ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชน และชุมชนมีมิติบางอย่างที่มากเกินกว่าทีมสหสาขาวิชาชีพซึ่งนั่งอยู่ในสถานีอนามัยจะสัมผัสได้  และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร  หมอคมกฤต จึงเริ่มจากการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ใช้เครื่องมือทางมนุษยวิทยา เดินไปคุยไปกับคนเฒ่าคนแก่ พร้อมกันนี้ก็ใช้ความสามารถส่วนตัว ซึ่งเป็นคนชื่นชอบการกีฬาอยู่เป็นทุนจึงใช้กีฬาเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับชุมชน โดยเริ่มจากการสานสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชนที่เล่นฟุตบอล กระทั่งมีการทำผังเครือญาติในชุมชน

                เมื่อหมออนามัยได้ชุดความรู้จากชุมชนก็เริ่มนำมาปรึกษาหารือกันในทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกันระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพกับคนในชุมชน ซึ่งสิ่งที่คุยคือปัญหาสุขภาพ ปัญหาผู้สูงอายุในชุมชน แต่ประเด็นใหญ่ที่ทีมสหสาขาวิชาชีพ และคนในชุมชนเล็งเห็นว่าเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ร่วมกันคือ ปัญหาเยาวชน

                เมื่อทราบความต้องการของชุมชนผ่านเวทีประชาพิจารณ์แล้ว จึงตั้งโจทย์เพื่อการเรียนรู้และศึกษาดูงาน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันี้ กลุ่มเยาวชนแก้งสนามนาง จ.นครราชสีมาซึ่งเป็นโครงการฯย่อยอีกโครงการหนึ่งของเครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อดูแลสุขภาวะชุมชน  กำลังจะเริ่มต้นโครงการกับกลุ่มเยาวชนเช่น กัน จึงได้ร่วมมือกันจัด ค่ายเยาวชนหนองบัวโคก-แก้งสนามนาง-เครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะร่วมกันที่ อ.ปากช่อง จ.สระบุรี

                กระบวนการที่เกิดขึ้นในค่ายเยาวชนครั้งนั้น ใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผสมผสานกับ work rally ผ่านฐานการเรียนรู้ ให้เยาวชนเกิดประสบการณ์ตรง แล้วให้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่ามีอะไรบ้าง และเยาวชนต้องการทำอะไรต่อไป นับเป็นการสรุปแนวคิดตัวเอง แล้วนำสู่การปฏิบัติ

                สำหรรับการสรุปแนวคิดของเยาวชนนั้น จะใช้วิธีการให้เยาวชนสรุปความคิดออกเป็นการแสดงละคร ซึ่งจากจุดนี้เองทำให้ คุณอำนวย พบว่าการให้เยาวชนสรุปความคิดตนเองออกมาเป็นละครเป็นการสรุปความคิดรวบยอดที่ลึกกว่าการสรุปสิ่งที่เรียนรู้ทั่วไป และผลที่ออกมาก็สามารถสะท้อนความเข้าใจของเยาวชนได้ดี  ผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง เห็นศักยภาพของตนเองและผู้อื่น 

                จากกิจกรรมนี้เองได้ก่อเกิดการรวมตัวกันของเยาวชนหนองบัวโคกภายใต้ชื่อ เครือข่ายเยาวชนคนวัย health” ที่หมายความว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีสุขภาพกายและใจที่ดี แล้วจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในเครือข่าย เช่นกลุ่มดนตรี กลุ่มกีฬา กลุ่มศึกษาตลาดสด เพื่อพัฒนาความรู้เดิมและต่อยอดความรู้ใหม่

                ทั้งนี้เมื่อกิจกรรมต่างๆ ได้สะท้อนถึงความต้องการของเยาวชนหนองบัวโคกชัดเจนแล้ว (เป้าหมาย-หัวปลา) ทีมสหสาขาวิชาชีพ จึงได้พากลุ่มเยาวชนไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเยาวชนที่ บ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่าน

                เมื่อไปศึกษาดูงานที่น้ำเกี๋ยน จ.น่านแล้ว  ก็ได้มีการตั้งกลุ่มเพิ่มขึ้น เช่นกลุ่มหางเครื่อง กลุ่มประชาสัมพันธ์ กลุ่มของชำร่วย

                สำหรับกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนคนวัย  health  

1.จัดรายการเสียงตามสายทุกเช้าวันเสาร์เพื่อรณรงค์เรื่องการป้องกันยาเสพติด การดูแลสุขภาพ การป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลหนองบัวโคก

2.กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ อาทิ เก็บขยะในชุมชน รณรงค์กำจัดลูกน้ำลุงลายร่วมกับอนามัยหนองบัวโคก  ร่วมฝึกซ้อมการป้องกันอัคคีภัยร่วมกับเทศบาลหนองบัวโคก รณรงค์ป้องกันโรคเอดส์

3.กิจกรรมเสริมรายได้ เช่นกลุ่มของชำร่วย เริ่มแรกทำครีมนวดผม แต่เนื่องจากควบคุมการผลิตยากยึงหันมาทำ ดอกไม่จันทร์ซึ่งเยาวชนไปขอเรียนรู้กับกลุ่มแม่บ้าน ต่อมาระยะหลังได้ทำพิมเสนน้ำ โดยใช้ขวดยาชาเหลือใช้จากสถานีอนามัยมาบรรจุขาย

4.กิจกรรมยามว่าง กลุ่มดนตรี ซึ่งจะมีการซ้อมดนตรีทุกวันหยุดและหลังเลิกเรียน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลหนองบัวโคกนอกจากนี้ก็ยังมีหางเครื่อง ซึ่งเยาวชนรุ่นพี่จะเป็นผู้ไปเรียนรู้ท่าทางมาจากวงดนตรีหมอลำแล้วมาประยุกต์ให้เพื่อนรุ่นน้องนำมาใช้

5.กิจกรรมกีฬา ได้รับงบประมาณจากเทศบาลหนองบัวโคกซื้ออุปกรณ์กีฬา และแอโรบิค มีการส่งเยาวชนแข่งขันฟุตบอลต้านยาเสพติด

ผลที่เกิดขึ้น
                ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าโครงการฯนี้จะล้มลุกคลุกคลานอยู่ในช่วงระยะ 1 ปีแรก เนื่องจาก หมอคมกฤตได้ย้ายไปทำงานที่ใหม่ ประกอบกับประสบการณ์การทำงานของทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่ยังต้องหาข้อมูลและทำความเข้าใจกับชุมชนในเบื้องต้น แต่เมื่อเริ่มจับทิศทางได้ และมีการนำ การจัดการความรู้ เข้ามาใช้ ในกิจกรรมการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่นการไปดูงานจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาเยาวชน , การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายเดียวกันอย่างกลุ่มเยาวชนแก้งสนามนาง ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ตั้งมานานและเข้มแข็งกว่า ทำให้กลุ่มเยาวชนหนองบัวโคก เติบโตได้อย่างรวดเร็วจากเริ่มแรกที่มีเยาวชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพียง 35 คน ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 91 คน ซึ่งเครือข่ายเยาวชนมีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายไปยังชุมชนหมู่ที่ 1-2 อีกด้วย
อีกทั้งยังทำให้ ชุมชนที่เคยขาดความสามัคคีของหมู่เยาวชน จากที่เคยมีเหตุทะเลาะวิวาท จากที่เคยมีกลุ่มวัยรุ่นขับมอเตอร์ไซด์ซิ่ง และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เบาบางลง ชุมชนเกิดความสามัคคี เยาวชนเลิกทะเลาะวิวาทและขับมอเตอร์ไซด์ซิ่งหันมาเล่นกีฬา เล่นดนตรี ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เช่นการซ้อมหางเครื่อง ซ้อมดนตรี ทำของชำร่วยส่งขาย เป็นต้น
                ปัญหา อุปสรรค
            แม้ว่าจะเครือข่ายเยาวชนหนองบัวโคก จะมีสมาชิกเครือข่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีเยาวชนรุ่นพี่บางส่วนที่ห่างหายไปจากเครือข่าย ซึ่งประเด็นนี้ทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้ลงความเห็นร่วมกันว่า ทีมคุณอำนวย คือหมออนามัยหนองบัวโคก และเทศบาลหนองบัวโคก จะต้องร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุที่เยาวชนจะต้องจากชุมชนไปทำงานยังต่างถิ่น รวมถึงวิเคราะห์เยาวชนที่ยังอยู่ว่ามีอะไรเป็นแรงจูงใจ
                สรุป

                ทั้งนี้ข้อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเยาวชนแก้งกับกลุ่มเยาวชนหนองบัวโคก ในด้านความคิดกลุ่มเยาวชนแก้งสนามนาง ค่อนข้างไปได้ไกลกว่าหนองบัวโคกเพราะมีเยาวชนรุ่นพี่ที่เข้มแข็งและมีกิจกรรมเยาวชนมานานก่อนที่โครงการของ เครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อสุขภาวะชุมชน ทำให้กระบวนการส่งต่อความคิดระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

                แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มเยาวชนหนองบัวโคกมีความได้เปรียบอยู่ที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลหนองบัวโคก มีแกนนำคือ เทศมนตรีสมชาย ชื่นทองดี เป็นคุณเอื้อให้กลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณ

                นายสมชาย กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ใช่ใครอื่น ล้วนเป็นลูกหลานของคนในชุมชนทั้งนั้น
หมายเลขบันทึก: 17382เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2006 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท