ทำไม ตีพิมพ์ลง International Journals จึงยากนัก?


บ้านเราขาดแหล่งความรู้เพื่อใช้ในการเขียนงานเพื่อตีพิมพ์ใน International Journals

บทความของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ที่ชื่อว่า “ท่านทราบไหม” กระตุ้นให้ดิฉันเขียนบันทึกชิ้นนี้ขึ้นมาโดยทันทีคะ ดิฉันอ่านก็พรางนึกว่า ดิฉันเองเพิ่งมีแค่หนึ่งบทความใน International Journal ซึ่งเป็น Journal ด้าน Science & Technology คะ ชื่อว่า International Journal of Human-Computer Studies มี Impact Factor ในปี 2003 แค่ 0.7 กว่าๆ เท่านั้น (แต่สูงกว่า IEEE Transactions บาง Journals เสียอีก) แต่ถ้าทาง Research areas ที่ดิฉันทำอยู่ ถ้าได้ลง Journal นี้ ก็เรียกว่า เด็ดแล้วคะ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของบันทึกนี้ ไม่เกี่ยวกับค่า Impact Factor อะไรเลย (ซึ่งจริงๆ แล้วดิฉันไม่เห็นด้วยกับการใช้ค่า Impact Factor มาประเมินผลงานวิจัยเลยคะ ไว้จะเขียนให้อ่านคราวหน้าแล้วกัน) แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดเห็นและประสบการณ์ของดิฉันในการเขียนงานวิจัยคะ เนื่องจากอ่านบันทึกของอาจารย์หมอแล้วอึ้งคะ เพราะมีจำนวนนักวิจัยไทยน้อยมากที่ตีพิมพ์ลง International Journal ได้มากกว่าหนึ่งเรื่องต่อปี ดิฉันก็เป็นหนึ่งคนที่ไม่สามารถรวมอยู่กับกลุ่มนี้ได้ :(

เหตุผลก็คือว่ายากนะซิคะ ส่วนสาเหตุนั้นมีมากมาย บันทึกนี้ของดิฉันจะแสดงให้เห็นเพียงสาเหตุเดียวคะ ลองค่อยๆ อ่านกันดูแล้วกันคะ คิดเห็นอย่างไรก็เขียนมาคุยกันได้ แต่ส่วนตัวแล้ว ดิฉันดีใจที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของดิฉันเองในเรื่องนี้เสียที ต้องขอบคุณอาจารย์หมอวิจารณ์คะที่กรุณายกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยหน้าใหม่อย่างดิฉันได้แสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาไทยคะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดิฉันจะบันทึกต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวนะคะ อาจจะไม่ตรงกับนักวิจัยท่านอื่นและอยู่คนละสายวิจัยกับดิฉัน

ดิฉันขอเริ่มต้นแบบนี้คะ ดิฉันจำได้ว่า อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกของดิฉัน (Prof. Dr. Anthony F. Norcio เราเรียกท่านสั้นๆว่า Tony คะ) ได้สอนดิฉันไว้ว่า เวลาเขียนงานวิจัยจะต้องอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเมื่ออ้างอิงถึงงานวิจัยของใครหรือหนังสือเล่มใด จะต้องเขียนอ้างอิงในงานวิจัยของเราให้ชัดเจนและถูกต้อง และควรจะได้อ่านจากต้นฉบับจริง ๆ ไม่ใช่ยกเอาสิ่งที่ถูกเขียนอ้างอิงในงานอื่นอยู่แล้ว มาเขียนเอาดื้อ ๆ คะ

และนี่แหละคะ คือปัญหาที่ดิฉันเจอในการเขียนงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ International Journal หรือส่งเข้า International Conference ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้คะ 

ดิฉันมองว่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือ บ้านเราขาดแหล่งความรู้เพื่อใช้ในการเขียนงานเพื่อตีพิมพ์ใน International Journals คะ สำหรับดิฉันแล้ว ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคอย่างมากอยู่ในขณะนี้ก็คือ การรวบรวม Literature Review เพื่อสร้างกรอบความคิดที่อิงตามหลักทฤษฎีคะ แต่ก็ยังโชคดีที่ มหาวิทยาลัยของไทยเป็นสมาชิกของ Electronic Journals หลายแห่ง เช่น Elsevier, ACM, และ IEEE ซึ่งก็ช่วยให้หางานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ไม่ยากนัก

แต่ปัญหาคือ เมื่อเราอ่านเจอหนังสือต่างๆ ที่อ้างอิงใน Papers ที่เกี่ยวข้อง ดิฉันไม่สามารถหาหนังสือนั้นๆ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยใดๆได้เลย ไม่มีบ้าง หรือมีก็เล่มหนึ่งและส่วนใหญ่ก็ถูกยืมออกไปจากห้องสมุดตลอด หนังสือที่ดิฉันพูดถึงนี้เป็นทั้งหนังสือ Classic ที่ต้องอ่านและอ้างอิงที่ต้องใช้ในการปรับปรุง Model การวิจัย และเป็นทั้งหนังสือใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความคิดของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องคะ

ทีนี้ ถ้าไม่มีหนังสือตัวจริงให้ดิฉันอ่าน มันก็ต่อยอดความคิดไม่ได้ หากให้ดิฉันไปยกเอาคำพูด quotes ที่ papers นั้นๆ อ้างอิงมาจากหนังสือ มันก็ไม่เพียงพอ หรือหากจะ paraphrase คำพูดนั้น ก็ไม่เพียงพออีกเช่นกันคะ

เรียกได้ว่า ดิฉันขาด Knowledge resources อย่างสุดโต่งจริงๆ คะ ที่นี่ถามว่า ดิฉันจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่ผ่านมา ดิฉันแก้ไขโดยการสั่งซื้อหนังสือทาง Amazon.com ซึ่งหนังสือลักษณะนี้แพงมากอยู่แล้วคะ ก็ไม่ใช่หนังสือประเภท Trade books นี่คะ แต่ก็ต้องซื้อคะ ไม่เช่นนั้น ก็จะเขียนต่อคิดต่อไม่ได้ และนอกจากนี้ ทุนวิจัยบางแห่งก็ไม่สนับสนุนงบประมาณการซื้อหนังสือ ถ้าจะขอซื้อ ก็ต้องมีเหตุผลที่สำคัญจริงๆ

ดิฉันคิดว่า นักวิจัยไทยหลาย ๆ ท่าน เขาเจอปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน สุดท้ายเขาก็ใช้วิธีการที่ลงเอยด้วยการเขียนส่ง International Conference ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะ limit จำนวนหน้ากระดาษ ซึ่งก็เข้าทางเพราะไม่ต้องเขียน Literature Review มากมายนัก แต่ดิฉันไม่อยากทำอย่างนี้คะ ดิฉันเชื่อมั่นในงานวิจัยที่ทำคะว่าสามารถตีพิมพ์เทียบเท่างานวิจัยอื่นๆ ที่ลงใน International Journals ได้ แต่ดูเหมือนว่า ดิฉันต้องใช้ทั้งพลังใจ พลังกาย และ พลังทรัพย์ อย่างมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งสร้างพลังสมองของดิฉันเอง ไม่เป็นไรคะ หญิงไทยใจห้าวหาญอยู่แล้ว จะพยายามทำให้ได้ และจะบล็อกมาเล่าให้ฟังตลอดคะ

ดิฉันอยากจะลองสัมภาษณ์นักวิจัยไทย (โดยเฉพาะในสายวิจัยเดียวกันกับดิฉัน) ที่ตีพิมพ์ลง International Journals ทั้งหลายด้วยตนเองว่า งานวิจัยที่ท่านทำในประเทศไทยนั้น ท่านหาแหล่งความรู้ที่เป็นต้นกำเนิดของกรอบความคิดงานวิจัยของท่านได้อย่างไรกันบ้าง ดิฉันเน้นว่าต้องเป็นนักวิจัยไทยที่เขียนงานวิจัยตอนอยู่ในประเทศไทยนะคะ ไม่ใช่เป็นนักวิจัยไทยที่ทำงานวิจัยตอนอยู่ต่างประเทศ

ปีหน้า ดิฉันและ ดร.ธวัชชัย ต้องเขียน Manuscripts ส่งไปยัง International Journals ต่างๆ ประมาณ 2 ชิ้น กะว่าจะส่ง ACM Computing Surveys เพราะ Impact Factor ปี 2003 สูงดี คือ 7.5 และอาจจะส่งเข้า IEEE Transactions on Knowledge and Data Engineering สักชิ้น Impact Factor ของ Journal นี้คือ 1.22 คะ แต่ยังไม่มีความมั่นใจเลยคะว่า เราจะสร้างกรอบความคิดของงานวิจัย ได้มากน้อยแค่ไหน โดยอาจจะมีโอกาสได้อ่านเพียงจาก Research papers ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

เขียนมาก็ยาวมากแล้ว ความคิดมันพรั่งพรูจนเขียนไม่ทันคะ ภาพในอดีตเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ก็ชัดเสียจนรับรู้ถึงน้ำหนักของ Backpack ที่อัด Textbooks ประมาณ 20 เล่ม เสียแน่นเทียบปริ  แล้วยืนรอขึ้น Shuttle bus ตอนหิมะตกหนักๆ อากาศหนาวเหน็บจนเจ็บจมูกและใบหู แต่ก็คิดถึงวันนั้นด้วยความสุขใจคะ

---------------------------

ป.ล. ก่อนจะกลับมาเมืองไทย Tony ให้หนังสือ textbooks เก่าๆ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างคละเคล้ากันไปประมาณเกือบ 100 เล่ม ดิฉันกับดร.ธวัชชัย ช่วยกันแพ็คลงกล่องประมาณ 6-7 กล่อง Seal ขอบกล่องอย่างดีด้วย Duct tape แล้วส่งทางไปรษณีย์ (Bulk mail) กลับมาเมืองไทย (ทางเรือนะคะ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน) สุดท้ายมาถึงแค่ 2 กล่อง ที่เหลือสูญหายไปหมดคะ

คำสำคัญ (Tags): #การวิจัย
หมายเลขบันทึก: 1738เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2005 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2013 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยครับ ซึ่งของผมมีประเด็นเพิ่มคือเนื่องจาก Campus นี้เป็นสาขาทางวิทยาศาสตร์เสียส่วนใหญ่  ผมแทบจะหา literature หรือหนังสือในสายสังคมศาสตร์ไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามก็รู้สึกดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากๆ

ผมแก้ปัญหาด้วย 2 วิธีการหลักๆนอกเหนือจากการยืมข้ามห้องสมุด

1. ผมกัดฟันซื้อหนังสือพื้นฐานหรือทฤษฎีที่ค่อนข้างนิ่ง  เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว นึกเสียว่าอีกหลายปีกว่าเราจะเกษียน แถมหลังจากนั้นยังเอาไปบริจาคได้อีก

2. ผมใช้วิธีวานเพื่อนที่สถาบันอื่นทั้งในและนอกประเทศ  พยายามมีเครือข่ายนี้ไว้เยอะๆ เพราะเราจะรู้สึกเกรงใจเมื่อวานเพื่อนคนเดิมๆให้ช่วยหา articles  

ขอให้โชคดีครับ

 

ต่อไปนี้ลองประกาศหาทาง GotoKnow อาจได้ผลระดับหนึ่ง   เกิดชุมชนคนอยากได้ textbook สาขา ---

วิจารณ์

ขอบคุณมากคะสำหรับคำแนะนำจากทั้งสองท่าน คราวหน้าดิฉันจะเขียนเกี่ยวกับ Inter-library loan ให้อ่านกัน หวังว่าจะกรุณา comment อีกครั้งนะคะ

ส่วน comment จากท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ เป็น comment ที่เยี่ยมมากคะ ชมจากใจคะ เห็นที่ดิฉันต้องสร้างชุมชนด้าน HCI (Human-Computer Interaction) ขึ้นมาเสียแล้ว และหากใครให้ดิฉันยืมหนังสือที่ดิฉันอยากได้ ดิฉันจะเขียนใส่ใน Acknowledgement ในงานวิจัยที่ส่งตีพิมพ์ เป็นการขอบคุณจากใจคะ

เรียน อาจารย์ ทั้งหลาย

ขอบคุณสำหรับข้อมูลและข้อคิดเห็นต่างๆ ดิฉันในฐานะที่เพิ่งมีโอกาสได้เรียนรู้งานวิจัย และได้มีโอกาสค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาทำดุษฎีนิพนธ์ค่ะ และหนึ่งในนั้นก็เกี่ยวกับงานวิจัยค่ะ ซึ่งดิฉันต้องเรียนตั้งแต่ระดับพื้นๆจนระดับสูงค่ะ ทำเอาปวดหัวค่ะ (เรียน สาขาภาวะผู้นำด้านการบริหารการศึกษา )  เพิ่งเรียน ได้ 3 อาทิตย์ค่ะ เริ่มท้อเเล้ว หากอาจารย์ท่านได้มีคำแนะนำอะไรดีๆ ก็จักขอบพระคุณมากค่ะ

[email protected]

 

 

ถึงยากแต่อย่าท้อนะครับ เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยรุ่นน้องๆ ชาวสงขลานครินทร์ อย่างพวกผม สถานการณ์งานวิจัยสายธุรกิจและการจัดการของ ม.อ. ยังไม่คืบไปไหนเลยครับ http://share.psu.ac.th/blog/education-research/22044

เดี๋ยวนี้หนังสือเก่าดีๆ เกือบทั้งหมดสามารถหาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ต ถึงแม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาความขาดแคลนได้บ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท