ข้อเสนอการใช้แนวทางสันติวิธีกับวิกฤตทางการเมือง


            (1 มี.ค. 49) ไปร่วมแถลงข่าวกับอาจารย์โคทม อารียา และอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในหัวข้อ “ข้อเสนอการใช้แนวทางสันติวิธีกับวิกฤตทางการเมือง” โดยใช้สถานที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นที่แถลงข่าว สาระของคำแถลงข่าวที่พิมพ์แจกนักข่าวเป็นดังนี้
                          ข้อเสนอการใช้แนวทางสันติวิธีกับวิกฤตทางการเมือง

ความขัดแย้ง
            ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งซึ่งเป็นวิกฤตทางการเมือง เมื่อวันที่  24  กุมภาพันธ์  2549ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งมีผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 215 แห่งรัฐธรรมนูญ  แต่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่  พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่  2  เมษายน  2549  แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศจะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ขณะเดียวกัน  พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย   จัดให้มีการชุมนุมใหญ่  เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
            หลายฝ่ายพยายามจะแก้ไขวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้  แต่ดูเหมือนว่ายิ่งแก้ก็ยิ่งถลำลึก   หรือผูกเงื่อนตายมากขึ้นทุกที   ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งประกอบด้วย
            · นายกรัฐมนตรี
            · พรรคไทยรักไทย
            · ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี
            · พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
            · ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี
            · พรรคร่วมฝ่ายค้าน
            · ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่วางตัวเป็นกลางหรือไม่มีความเห็น
            แต่ละฝ่ายต่างมีเป้าหมายของตนเอง   และเมื่อเป้าหมายไม่ตรงกันก็เกิดความขัดแย้งขึ้น  ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา  แต่การป้องกันมิให้ความขัดแย้งเปลี่ยนเป็นความรุนแรง  และการร่วมกันหาทางเลือกหรือทางออกที่ทุกฝ่ายพอใจ (win-win) เป็นเรื่องที่ท้าทายจินตนาการของทุกคน โดยเฉพาะนักสันติวิธี

หลักการที่น่าจะเห็นร่วมกัน
            แม้ฝ่ายต่าง ๆ จะมีเป้าหมายเฉพาะหน้าต่างกันซึ่งดูเหมือนจะยอมกันไม่ได้  แต่เมื่อลองคิดดูอีกที   อาจมีเป้าหมายที่สำคัญที่เห็นตรงกันก็ได้   จึงขอเสนอหลักการที่น่าจะเห็นร่วมกันดังนี้
            · ทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดภาวะความแตกแยกที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และการนองเลือด ในปีอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้
            · ทุกฝ่ายต้องการรักษาและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
            · ทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540  และไม่ดำเนินการใดๆอันเป็นการชักนำ หรือส่งเสริมการใช้อำนาจอื่นนอกกติการัฐธรรมนูญ (unconstitutional means) ให้เข้ามามีบทบาทหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งยังคงสภาพแห่งความเป็นประชาธิปไตยอยู่
            · ทุกฝ่ายต้องการจะปฏิรูปการเมืองโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ  โดยมีคณะบุคคลที่เป็นกลางซึ่งมีที่มาที่โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของประชาชนมาเป็นผู้รับผิดชอบเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
            · ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าสันติสุขและประโยชน์สุขของประชาชนสำคัญกว่าผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ
            ถ้าหลักการเหล่านี้หรือทำนองนี้เป็นที่ยอมรับได้  จะต้องพิจารณาว่าทางเลือกหรือทางออกใด  เป็นไปตามหลักการเหล่านี้   และในขณะเดียวกันก็คำนึงว่าทางเลือกหรือทางออกเหล่านั้นเข้ากันได้กับเป้าหมายเฉพาะหน้าของฝ่ายต่าง ๆ มากน้อยเพียงไร   โดยไม่หวังให้มีฝ่ายใดชนะร้อยเปอร์เซ็นต์  หรือแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ทุกฝ่ายมีความพอใจในระดับหนึ่ง  ในที่นี้ขอเสนอความเห็นเพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ โปรดพิจารณาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นดังนี้

ข้อเสนอแนะ
             1) การดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ควรเปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเน้นความเป็นกลางของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงเวลาการเลือกตั้ง ซึ่งข้อเสนอทางเลือกมี ดังนี้
             1.1) พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร  ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
หาก พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร  ประสงค์จะวางมือทางการเมือง  ก็เป็นจังหวะที่ดี  เพราะแสดงถึงความเสียสละเพื่อแก้ไขสถานการณ์   หากประสงค์จะดำเนินการทางการเมืองต่อไป  ก็มีเหตุผลว่าขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้เต็มที่ และเพื่อจะได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคการเมืองโดยไม่มีข้อครหาว่า  ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคของตนในช่วงการเลือกตั้ง
             1.2) ก่อนการลาออกตามข้อ 1.1) นายกรัฐมนตรีควรเปลี่ยนแปลงลำดับที่ของรองนายกรัฐมนตรีที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี  โดยเลื่อนรองนายกรัฐมนตรีคนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาไว้ในลำดับต้นเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่แทนในช่วงเลือกตั้งอย่างเป็นกลางที่สุด ไม่ให้คุณให้โทษแก่พรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ หากต้องกำชับกำกับดูแลให้ข้าราชการทุกคนวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด
             1.3) รัฐมนตรีของกระทรวงที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง  เช่นกระทรวงมหาดไทย  กระทรวงกลาโหม  รัฐมนตรีผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชนของรัฐ ที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งควรลาออกจากตำแหน่ง  เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่สมัครรับเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ว่างลง  และรัฐมนตรีทุกคนควรมอบหมายให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนในเรื่องอาจมีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง
              2) กระบวนการเลือกตั้ง
              เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งตามข้อ 1) แล้ว กระบวนการเลือกตั้งควรดำเนินต่อไป โดยเน้นเรื่องการเข้าร่วมของพรรคการเมืองตลอดจนความสุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง ซึ่งข้อเสนอทางเลือกมี ดังนี้
              2.1) พรรคการเมือง  โดยเฉพาะพรรครัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการปฏิรูปการเมืองหลังการเลือกตั้ง
              2.2) พรรคร่วมฝ่ายค้านทบทวนมติการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
              2.3) หากเป็นความประสงค์ร่วมของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรครัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านก็อาจขอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา  เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป  เช่นเป็นวันที่  23  เมษายน  2549  เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัว และหาเสียงเลือกตั้งได้ดียิ่งขึ้น
              2.4) รัฐบาลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง   หากเห็นสมควร   อาจตั้งคณะกรรมการกลางสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง  ที่ทำหน้าที่เหมือนองค์กรกลางการเลือกตั้งซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.  2535  ทั้งนี้  เพื่อมาเสริมงานขององค์การเอกชนซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม
              3) การปฏิรูปการเมือง
              พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  องค์กรประชาสังคม  มหาวิทยาลัย  องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง  ทำการศึกษา  รณรงค์  เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ในเรื่องรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวาง
              4) การชุมนุมโดยสันติวิธี
              ขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินงานโดยสันติวิธี ไม่มีการติดอาวุธ ซึ่งได้ผลดีและเป็นที่ชื่นชมของสังคมไทยและนานาชาติ

                                                      ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์

                                                      นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

                                                      รศ.ดร.ชัยวัฒน์  สถาอานันท์

                                                      นายโคทม  อารียา

                                                      วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549


            หลังจากการแถลงข่าว โทรทัศน์ช่อง “ไอทีวี” ได้ขอสัมภาษณ์ผมต่ออีกประมาณ 10 นาที เพื่อนำไปประกอบการเสนอข่าวและรายการในตอนค่ำ

“”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
1 มี.ค. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17294เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2006 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท