ครูสำราญ เกิดผล"คนดีศรีอยุธยา"


ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๔๘

ประวัติชีวิตและผลงาน

 

นายสำราญ เกิดผล ปัจจุบันอายุ ๗๘ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่บ้านเลขที่ ๕๗ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายหงส์ เกิดผล มีอาชีพเป็นนักดนตรีไทย มารดาชื่อ นางสังวาล เกิดผล เป็นแม่เพลงพื้นบ้าน ภรรยาชื่อ นางอาบ ดนตรี มีบุตร ๗ คน

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๖ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดจันทร์ประเทศ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากฐานะทางบ้านขัดสนจึงไม่ได้เรียนต่อ แต่ได้ไปเรียนปี่พาทย์ จากครูจำรัส เกิดผล ครูเพ็ชร์ จรรย์นาฏ ครูเทียบ คงลายทอง ครูเทวาประสิทธิ์ ครูไพฑูรย์ พาทยโกศล ครูฉัตร สุนทรวาทิน ครูช่อ สุนทรวาทิน ครูอาจ สุนทร ครูเอื้อน กรเกษม และครูพุ่ม บาปุยะวาทย์

นายสำราญ เกิดผล เริ่มฝึกปี่พาทย์ครั้งแรก เมื่ออายุ ๙ ขวบ ครูคนแรก คือ อาจำรัส เกิดผล ซึ่งเป็นน้องชายของบิดา เป็นคนบรรเลงระนาดเอกประจำวงบ้านใหม่ในยุคต้น ๆ ได้เริ่มต่อเพลงชุดโหมโรงเย็น โหมโรงเช้า เพลงช้า เพลงเร็ว และสอนให้บรรเลงระนาดจนสามารถบรรเลงในงานสวดมนต์เย็นฉันเช้าได้

พ.ศ. ๒๔๘๑ นายสำราญ มีอายุได้ ๑๑ ปี มีความปรารถนาจะเรียนปี่พาทย์ให้เก่งอย่างคนอื่น อาสังเวียนจึงพาไปฝากเป็นลูกศิษย์ครูเพ็ชร จรรยฺนาฏ เป็นนักดนตรีไทยที่มีฝีมือเคยเป็นคนบรรเลงฆ้อง วงใหญ่ให้กับหลวงประดิษฐ์ ครูเพ็ชร จึงรับไว้เป็นลูกศิษย์ อยู่ที่บ้านครูเพ็ชร ประมาณ ๓ เดือน อา สังเวียนได้พานายสำราญเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่บ้านครูเทียบ คงลายทอง ครูเทียบไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด และยังเป็นผู้ดูแลช่วยเลี้ยงดูอีกต่างหาก ยามที่มีงานเป่าปี นายสำราญต้องไปเป็นผู้ตีฉิ่งเสมอ ฉะนั้นจึงสามารถจดจำทางปี่ของครูเทียบได้หมด ต่อมาเป็นผู้บรรเลงระนาดเอก และครูเทียบยังได้นำนายสำราญ

ไปฝากเป็นศิษย์ที่บ้านครูจางวางทั่ว โดยครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เป็นผู้รับไว้ นายสำราญมีความประสงค์จะเรียนระนาดเอก ตอนนั้น ครูฉัตร สุนทรวาทิน มีความรู้ในเรื่องระนาดเอก จึงเป็นผู้สอน สอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจะสอนอะไรให้นายสำราญก็สามารถเรียนได้หมด ใช้เวลาไม่นานก็สามารถพัฒนาฝีมือในด้านระนาดเอก ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงได้รับหน้าที่เป็นผู้ที่บรรเลงระนาดเอกประจำวงพาทยโกศล ในโอกาสที่แสดงละครออกอากาศที่วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยที่คลื่นสั้นศาลาแดง เสมอมา ในช่วงนี้ครูทุกคนในบ้านพาทยโกศล ได้ยอมรับในฝีมือของนายสำราญกันถ้วนหน้าเพราะว่าเป็นเด็กที่มีฝีมือดี ครูช่อ สุนทรวาทิน เกิดความพอใจในตัวนายสำราญ จึงสอนฆ้อนวงใหญ่ให้อีก จนเกิดความเชี่ยวชาญในเรื่องฆ้องวงใหญ่ด้วย

พ.ศ. ๒๔๘๓ ครูฉัตรและครูช่อจำเป็นต้องกลับไปจังหวัดเชียงใหม่ จึงนำนายสำราญไปฝากเป็นลูกศิษย์ครูอาจ สุนทร เดิมเป็นนักดนตรีสากลที่มีความสามารถในการเป่าปี่คลาริเน็ตสูงมาก แต่มาฝากตัวเป็นศิษย์จางวางทั่ว หวังจะเอาดีทางดนตรีไทย ครูอาจได้รับความรู้จากครูจางวางทั่วเป็นจำนวนมาก จึงเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องดนตรีไทยทุกอย่าง ประกอบกับเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโน้ตดนตรีสากล จึงเป็นผู้ที่ได้เพลงมาก โดยจดบันทึกโน้ตไว้ ครูอาจสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัตินายสำราญสามารถรับความรู้ได้โดดเด่นแต่เพียงผู้เดียว ศิษย์คนอื่น ๆ ไม่สามารถทำอย่างได้ ครูอาจรักนายสำราญมากมีวิชาอะไรก็มอบให้แม้แต่โน้ตเพลงอันเป็นสมบัติหวงแหนทั้งหมดที่ได้มาจากบ้านจางวางทั่ว ก็มอบให้นายสำราญไว้เช่นกัน

พ.ศ. ๒๔๘๔ ในขณะนั้น นายสำราญเรียนปี่พาทย์อยู่กับครูอาจ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีโอกาสไปบรรเลงระนาดเอกและเดี่ยวเพลงกราวในที่บ้านพาทยโกศลในงานไหว้ครู

พ.ศ. ๒๔๘๕ นายสำราญมีอายุได้ ๑๕ ปี วงปี่พาทย์บ้านใหม่ใช้ชื่อคณะว่า “ คณะดุริยางคศิลป์ ”

ได้รับเชิญจากกองการสังคีต กรมศิลปากร ให้ไปบรรเลงปี่พาทย์ ณ สังคีตศาลา หน้าโรงละครแห่งชาติ

กรุงเทพฯ การบรรเลงในครั้งนั้นนายสำราญเป็นผู้ที่บรรเลงระนาดเอก และมีครูหลวงประดิษฐ์ ไพเราะ

(ศร ศิลปะบรรเลง) มานั่งฟังอยู่ด้วย หลังจากนั้นได้ไปร่วมประชันวงกับวงปี่พาทย์คณะอื่น ๆ อีกหลายครั้ง ซึ่งทำให้นายสำราญมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

พ.ศ. ๒๔๘๘ หลังจากนายสำราญได้เรียนหลักการประพันธ์เพลงไทยจากครูอาจ สุนทรแล้ว ครูอาจจึงลองให้นายสำราญประพันธ์เพลงใหม่ โดยใช้เพลงอัตราจังหวัดสองชั้นของเดิมมายืดขยายเป็นอัตราจังหวัดสามชั้น และตัดทอนเป็นอัตราจังหวัดชั้นเดียว นายสำราญ เกิดผล ได้นำเพลงสามไม้ในอัตราจังหวัดสองชั้นของเดิมมาประพันธ์ใหม่ ให้ชื่อเพลงว่า “ เพลงสามไม้ในเถา ” นับเป็นเพลงเถาเพลงแรกที่ได้ประพันธ์ขึ้นมา

พ.ศ. ๒๔๘๙ ครูพร ภิรมย์ เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากในเชิงการแสดงลิเก และเป็นนักร้องลูกทุ่งมาพักอยู่กับนายสำราญ จึงขอต่อเพลงลาวดวงเดือน เถา ทางครูเพ็ชรจากนายสำราญ และนำแนวคิดจากช่วงทำนองในอัตราจังหวัดชั้นเดียวไปแต่งเป็นเพลงไทยลูกทุ่ง ชื่อ กระท่อมทองกวาว ต่อมานายสำราญ ได้ประพันธ์เพลงไทยขึ้นมาใหม่ โดยครูพร ภิรมย์เป็นผู้ประพันธ์คำร้องให้ เช่น เพลงจีนเข้าโบสถ์ เถา เพลงบัวตูมบัวบาน เถา เพลงกระท่อมทองกวาว เถา เป็นต้น

นายสำราญเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาครูพุ่ม เพื่อขอต่อเพลงทยอยเดี่ยว โดยครูเทียบเป็นผู้พาไป ครูเทียงต่อเนื้องเพลงหลักของเพลงทยอยเดี่ยว ครูพ่อประพันธ์ทางระนาดเอกต่อให้กับนายสำราญ ต่อมาได้เรียนอยู่กับครูพุ่มจนได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาก ตลอดจนเรียนการประพันธ์เพลงไทยด้วย

ประวัติการทำงาน

นายสำราญ เกิดผล นอกจากจะมีฝีมือเป็นนักดนตรีไทยแล้วยังได้ทำงานต่าง ๆ ดังนี้

- แพทย์ประจำตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๕๑๒

- ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- กำนันตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘

- พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้ราชเลขานุการในองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำหนังสือขอตัวนายสำราญ เกิดผล เป็นเวลา ๙๐ วัน เพื่อค้นคว้าเพลงไทยเดิมพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ซึ่งทรงนิพนธ์ไว้ประมาณ ๗๐ เพลง) ณ ศาลาดุสิดาลัย ทั้งค้นคว้า และบันทึกลงแถบบันทึกเสียงรวบรวมไว้ที่หอสมุดทูลกระหม่อมบริพัตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประมาณ ๒๐ เพลง

 การสร้างสรรค์ผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ผลงานด้านการบรรเลงดนตรีแสดง

ครูสำราญ เกิดผล สามารถบรรเลงดนตรีได้ดังนี้

๑. ประเภทเพลงสองชั้น มีจำนวน ๒๓๑ เพลง เช่น กบเต้น กระต่ายชมเดือน กราวรำมอญ กะระหนะ กะเรียนร่อน กะเรียงทอง กันยุด กินนรรำ ขวัญอ่อน ขวางคลอง เขมรเขียว เขมรโล้เรือ เขาวง แขกครวญหา แขกลพบุรี แขกฉัดฉา ครวญหา ค้างคาวคาบกล้วย จิ้งจกทอง จีน ๓ ท่อน จีน ๗ ท่อน จีนเตียวเอี้ยวเหยียว จีนทุ้ย จีนหวาส้วนเสียว โฉลก ชกมวย ชมดงกลาง ชมสวนสวรรค์ ดอกไม้ไทร ดอกไม้ไพร ดับไฟเทียน ต้นเพลงยาว น้ำลอดใต้ทราย บุหงาตันหยง พิศวง ฟ้าคะนอง มังกรเล่นคลื่น ม้ารำ ล่องเรือ ลาวครวญ ลาวคำหอม ลาวลอดค่าย วารัมพักกัด วิลันดาโอด สร้อยเพลง สามเกลอ อกทะเล อัปสรสวรรค์ ฯลฯ

๒. ประเภทขับร้องทั่วไป เถา มีจำนวน ๑๓๒ เพลง เช่น กระต่ายชมเดือน กระบอก เขมรปี่แก้ว จันทราหู เจริญศรีอยุธยา ดอกไม้ร่วง ตลุ่มโปง ตวงพระธาตุ ทะแย เทพบรรทม นกขมิ้น พระยารำพึง พระยาโศก พวงร้อย ราโค วิเวกเวหา สาลิกาชมเดือน สาวคำ สุรางค์จำเรียง หรุ่ม หอมหวน ฯลฯ

๓. ประเภทเพลงเรื่อง มีจำนวน ๒๐ เรื่อง เช่น เรื่องเขมรใหญ่ เรื่องต่อยรูป เรื่องตะนาว เรื่องสารถี เรื่องสี่เกลอ ฯลฯ

๔. ประเภทเพลงพิธีต่าง ๆ มีจำนวน ๑๓ เพลง เช่น โหมโรงเช้า โหมโรงเย็น โหมโรงพระเทศน์ เรื่องมหาฤกษ์ มหาชัย กราวในเรื่อง พระยาเดินเรื่อง ฯลฯ

๕. เพลงหน้าพาทย์ประเภทตระ ๒ ชั้น ๒๔ ตัว ประเภทตระ ๓ ชั้น ๒๐ ตัว ประเภทเชิดชั้นเดียว ๓๐ ตัว ประเภทรัว ประเภทศร ประเภทเสมอ และหน้าพาทย์ทั่วไป เช่น ตระพระอิศวร

ตระสันนิบาต ตระกริ่ง ตระไตรตรึงษ์ ตระเทพดำเนิน ตระพระปัญจสิขร องค์พระพิราพเต็มองค์ คุกพาทย์ ศรรามสูร ศรสมเด็จ นางเดิน ชายเรือ รุกร้น พราหมณ์ออก เสมอข้ามสมุทร ฯลฯ

๖. ประเภทเพลงโหมโรง เช่น โหมโรงไอยเรศ โหมโรงเยี่ยมวิมาน โหมโรงจีนโล้ ฯลฯ

๗. ประเภทเพลงเสภา เช่น พม่าเถา แปดบท บังใบ แขกลพบุรี ทยอยเขมร เชิดจีน ฯลฯ

ผลงานด้านการประพันธ์เพลง

ครูสำราญ เกิดผล เป็นผู้มีความสามารถทางดนตรีทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ สามารถเขียนและอ่านโน้ตสากลได้เป็นอย่างดี เป็นผู้ที่มีการศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง ได้ฝึกการแต่งเพลงจากครูหลายท่านจนมีผลทำให้สามารถแต่งเพลงได้เป็นจำนวนมากและมีผลงานต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

๑. การแต่งเพลงทางบรรเลง ครูสำราญ เกิดผล ได้มีผลงานการแต่งเพลงจำนวนมาก มีทั้งที่แต่ง ยืดขยายจากเพลง ๒ ชั้น และตัดทอนลงเพื่อให้ครบเป็นเพลงเถาและที่แต่งเฉพาะทางเปลี่ยนเพิ่มจากเนื้อเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตและเพลงของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งเดิมมีเฉพาะทางพื้น ครูสำราญ ได้แต่งทางเปลี่ยนให้มีลูกล้อลูกขัดและท่วงทำนองที่น่าฟังมากยิ่งขึ้น เช่น เพลงอัปสรสำอาง เพลงสุรางค์จำเรียง เพลงจีนเด็ดดอกไม้ เพลงตลุ่มโปง เป็นต้น ส่วนเพลงที่แต่งใหม่โดยยึดเอาเพลง ๒ ชั้นของเดิมซึ่งเป็นเพลงในสมัยอยุธยานั้น ครูสำราญ ได้แต่งใหม่ให้เป็นเพลงเถา เพื่อรักษาเพลง ๒ ชั้นของเดิมมิให้สูญไป มีจำนวนมากถึง ๔๑ เพลง ดังนี้

๑. เพลงสามไม้ใน เถา ๑๖. เพลงโหมโรงกาญจนาภิเษก

๒. เพลงทองกวาว เถา ๑๗. เพลงโหมโรงทยอยเดี่ยว

๓. เพลงบัวตูมบัวบาน เถา ๑๘. เพลงฝรั่งจรกา เถา

๔. เพลงพิศวง เถา ๑๙. เพลงเสภาใน เถา

๕. เพลงโหมโรงอู่ทอง ๓ ชั้น ๒๐. เพลงเสภากลาง เถา

๖. เพลงลอยประทีป เถา ๒๑. เพลงฝรั่งกลาย เถา

๗. เพลงไอยราชูงวง เถา ๒๒. เพลงบ้าบ่น เถา

๘. เพลงจีนเข้าโบสถ์ ๒๓. เพลงถอยหลังเข้าคลอง ๓ ชั้น ๙. เพลงอนงค์สุชาดา เถา ๒๔. เพลงขวางคลอง ๓ ชั้น

๑๐. เพลงวิหคเหิร เถา ๒๕. เพลงล่องลอย เถา

๑๑. เพลงมหาราชรามคำแหง เถา ๒๖. เพลงสามเกลอ เถา

๑๒. เพลงรั้วแดงกำแพงเหลือง เถา ๒๗. เพลงคู่โฉลก

๑๓. เพลงสรางค์ ๓ ชั้น ๒๘. เพลงจีนถอนสมอ เถา

๑๔. เพลงโหมโรงศิวะประสิทธิ์ ๓ ชั้น ๒๙. เพลงอัปสรสวรรค์ เถา

๑๕. เพลงกลางพนา เถา ๓๐. เพลงแม่ม่ายคร่ำครวญ เถา

๓๑. เพลงจีนขายอ้อย เถา ๓๗. เพลงไอยเรศ ๒ ชั้น และชั้นเดียว

๓๒. เพลงฝรั่งแดง เถา ๓๘. เพลงตลุ่มโปง เถา

๓๓. เพลงดวงดอกไม้ เถา ๓๙. เพลงเสภานอก เถา

๓๔. เพลงโหมโรงเกษมสำราญ เถา ๔๐. เพลงช้อนแท่น เถา

๓๕. เพลงกระบอกเงิน เถา ๔๑. เพลงสุดใจ เถา

๓๖. เพลงบางหลวงอ้ายเอี้ยง เถา ๒. แต่งทางขับร้อง คือ เพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต บางเพลงมีเฉพาะทางบรรเลงไม่ทางขับร้อง ครูสำราญได้นำเพลงเหล่านี้มาทำทางขับร้อง โดยอาศัยฟังมาจาก ท่านครูหม่อมเจริญ พาทยโกศล และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และนำมาประดิษฐ์ทางขับร้องด้วยตนเอง ได้แก่ เพลงจีนเก็บบุปฝา เถา เพลงอัปสรสำอาง เถา เพลงไอยราชูงวง เถา เพลงสุรางค์จำเรียง เถา และเพลงครวญหา เถา เป็นต้น

๓. เป็นผู้บรรจุทำนองเพลง ครูสำราญ เกิดผล เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการจดจำเพลง ๒ ชั้น ไว้เป็นจำนวนมาก บางเพลงเป็นเพลงเก่าครั้งสมัยอยุธยา บางเพลงเป็นเพลงที่ไม่มีผู้บรรเลงได้ แต่เนื่องจากครูอาจ สุนทรวาทิน ได้จดบันทึกทำนองเพลงเป็นโน้ตสากลเก็บไว้และได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงครูสำราญ ได้นำเพลงโบราณเหล่านี้มาบรรจุในเนื้อร้องเพลงตับสำหรับใช้บรรเลงและขับร้องกันในวงดนตรีเพื่อไม่ให้เพลงต่าง ๆ เหล่านี้สูญไป เช่น

- เพลงในบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ เพลงตับชมสวนขวัญ ประกอบด้วยเพลงเทวาประสิทธิ์ เพลงดอกไม้ไทร เพลงดอกไม้ร่วง เพลงไทรหวน เพลงมาลีหวน และเพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีท่วงทำนองที่สอดคล้องกันและมีความไพเราะน่าฟังมาก บางเพลงแทบจะไม่มีผู้บรรเลงได้

- เพลงตับฤาษีเสี่ยงลูก บทร้องเป็นบทเก่า ซึ่งพระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเพลงเก่าที่หายากเกือบจะสูญหายไปจากวงการดนตรีไทย เช่น เพลงหอเขียว เพลงฝรั่งแดง เป็นต้น

- เพลงตับพระสังข์ทองหนีนางพันธุรัต เป็นเพลงเก่าที่หายากในปัจจุบันนี้

- เพลงลอยกระทงเถา โดยนำเพลงรำวงวันลอยกระทงของครูเอื้อ สุนทรสนาน มาประพันธ์เป็นเพลงเถา เพื่อน้อมถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินลอยกระทง ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้ขอพระราชทานชื่อเพลงเป็นทางการและส่งบทร้องให้ทรงแก้ไข จึงพระราชทานชื่อว่า เพลงลอยประทีป เถา และหลังจากนั้นได้เขียนโน้ตสากลทางระนาด เพลงเรื่องทะแยอัตราจังหวะสามชั้น เขียนโน้ตสากลทางฆ้องวงใหญ่เพลงลอยประทีปเถา และเพลงพิศวงเถา ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- พ.ศ. ๒๕๒๘ ประพันธ์เพลงระบำต่าง ๆ ให้แก่ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาหลายเพลง เช่น ระบำบุษราคัมมณี ระบำนกแก้ว เป็นต้น

- พ.ศ. ๒๕๓๑ ประพันธ์เพลงรั้วแดงกำแพงเหลือง เถา ให้แก่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ประพันธ์ไว้เฉพาะทางบรรเลงเท่านั้น

- พ.ศ. ๒๕๓๔ ประพันธ์เพลงโหมโรงศิวะประสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นเพลงโหมโรงในงานดนตรีไทย มัธยมศึกษาสัญจร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานชื่อเพลงจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะได้นำโครงสร้างมาจากเพลงพระศิวะประทานพรและช่วงท้ายนำโครงสร้างมาจากเพลง พระเจ้าเปิดโลก

- พ.ศ. ๒๕๓๖ ประพันธ์เพลงกลางพนา เถา เนื่องจากไปพบบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในหนังสือของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล บทพระราชนิพนธ์นี้แสดงความรู้สึกต่าง ๆ เมื่ออยู่กลางป่า จึงนำมาเป็นร้อง และนำเพลงชะมดกลาง อัตรา ๒ ชั้นมาขยายและตัดทอนจนครบเป็นเพลงเถา

- เพลงโหมโรงอู่ทองสามชั้น ได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประชันวงรายการ “ ดนตรีไทยพรรณนา ” ของกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติ

- เพลงพิศวง เถา ได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวดแต่งเพลงไทย ในงานไหว้ครูดนตรี ที่สมาคมสหายศิลปิน วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ

- เพลงกลางพนา เถา ประพันธ์มาจากเพลงชมดงกลาง อัตราจังหวะสองชั้น เป็นเพลงที่บรรยายเกี่ยวกับธรรมชาติ

- เพลงทองกวาว เถา นำเพลงลูกทุ่งของพร ภิรมย์ เพลงกระท่อมทองกวาว มาประพันธ์เป็นเพลง เถา

- เพลงสามไม้ใน เถา ประพันธ์เพลงนี้เป็นเพลงแรกเมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี ประพันธ์มาจากเพลงอัตราจังหวะสองชั้นที่ชื่อว่า เพลงสามไม้ใน

- เพลงจีนเข้าโบสถ์ เถา ประพันธ์มาจากเพลงจีนเข้าโบสถ์อัตราจังหวะสองชั้นของเดิม ซึ่งมีสำเนียงจีนปนไทยน่าฟังมาก

- เพลงบัวตูมบัวบาน เถา เป็นเพลงลูกทุ่ง ชื่อ เพลงบัวตูมบัวบาน ที่ประพันธ์เนื้อร้องโดยพร ภิรมย์

- เพลงวิหคเหิน เถา เพลงอนงค์สุชาดา เถา เป็นเพลงเก่าที่มีเฉพาะทางพื้น นำมาประพันธ์เที่ยวกลับเพิ่มขึ้นเป็นทางขัดน่าฟังมาก

- เพลงไอยราชูงวง เถา ประพันธ์มาจากเพลงไอยราชูงวงเก่า เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น เนื้อร้องพระราชนิพนธ์โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- เพลงอนงค์สุชาดาเถา เป็นเพลงเก่า

- เพลงมหาราชรามคำแหง เถา ประพันธ์ใหม่ทั้งเพลง

- เพลงโหมโรงกาญจนาภิเษก ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้มอบความไว้วางใจให้แต่งเพลงโหมโรงประเภทเสภา เพื่อทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการนำเพลงตระพระพรหม ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง สดุดีมหาราชา และอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ ลมหนาว ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประกอบเป็นเพลงโหมโรงกาญจนาภิเษก

การถ่ายทอดผลงาน

- สอนนักเรียนโรงเรียนวัดโคก โรงเรียนวัดพรหมนิวาส โรงเรียนบุญวัฒนธรรม โรงเรียน

ประชากรรังสฤษฎ์ ฯลฯ

- สอนปฏิบัติดนตรีไทยแก่นักศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- สอนปฏิบัติดนตรีไทย แก่เด็กในศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- สอนดนตรีไทยกับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ในเขตอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- สอนปฏิบัติดนตรีไทยแก่นักศึกษาวิชาเอกดนตรีไทย มหาวิทยาลัยจันทรเกษม

- สอนปฏิบัติดนตรีไทย โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน ตำบลกระตืบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

- สอนนักศึกษาวิชาการประพันธ์เพลงไทย ระดับปริญญาตรี โปรแกรมดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

- สอนนิสิต ปริญญาโทภาควิชาดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

- สอนให้กับนักดนตรีในวงปี่พาทย์ พาทยรัตน์

- สอนให้กับเด็กในศูนย์ส่งเสริมดนตรีไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประมาณ ๓๐ คน

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

๑. ได้รับปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีและศิลปะการแสดง จากสภาการฝึกหัดครู ตุลาคม ๒๕๓๐

๒. ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะ (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๒

๓. ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพลงโหมโรงกาญจนาภิเษก จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ พ.ศ. ๒๕๓๙

๔. ได้รับเกียรติบัตรเป็นผู้มีคุณธรรม ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการพัฒนาจิตใจ เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติ จากสภาสังคมสังเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๓๙

๕. ได้รับคัดเลือกเป็นพ่อตัวอย่าง ปี ๒๕๔๐ จากคณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐

๖. ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน จากคณะกรรมการจัดงานเยาวชนแห่งชาติ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๑

๗. ได้รับพระราชทานรางวัลในการแต่งเพลงกาญจนาภิเษก เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ครบ ๕๐ พรรษา

การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม

นายสำราญ เกิดผล เป็นครูที่มี่จิตใจดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ที่มีความสนใจด้านดนตรี เป็นที่รักของบรรดาลูกศิษย์ ใช้ชีวิตด้วยการเผยแพร่ดนตรีไทยให้แก่นักเรียนและนักศึกษาในสถาบันการศึกษา

ต่าง ๆ มากมาย มีความสุขกับการต่อเพลงให้กับเด็กนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการมีความรู้ด้านดนตรีไทยที่มาขอเรียนกับครูที่บ้านอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ยังมีการถ่ายทอดเผยแพร่เพลงไทยต่าง ๆ ให้แก่คนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนี้

- เป็นกรรมการในการจัดประกวดวงปี่พาทย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน ณ อาคารพลศึกษาและนันทนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

- เป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีไทย มัธยมศึกษาครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน

- เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเกี่ยวกับดนตรีให้กับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบรรยายเรื่องเอกลักษณ์ของดนตรีไทย รายการสยามปริทรรศน์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕

- เป็นผู้ถวายคำปรึกษาในรายละเอียดทางวิชาดนตรีไทย แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากทรงพระราชดำรัสที่จะจัดทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเครื่องดนตรีไทย และการผสมวงดนตรีไทย เนื่องในศุภมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๒๙

- เป็นวิทยากรพิเศษ วิชาดนตรีไทยวงมโหรี ณ โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

- เป็นวิทยากรพิเศษ ในการจัดตั้งวงดนตรีไทยวงมโหรีและต่อเพลงตับชมสวนขวัญ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง เอกลักษณ์ของดนตรีไทย ในรายการสยามปริทรรศน์ ทางสถานีโทรทัศน์ กองทัพบก ช่อง ๕

- เป็นคณะกรรมการจัดตั้งห้องสมุดดนตรี กรมศิลปากร

- เป็นคณะกรรมการจัดงาน ๑๒๐ ปี ครูดนตรีไทย ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน นายสำราญ เกิดผล พักอยู่บ้านเลขที่ ๒๓ หมู่ที่ ๕ ตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๑๒๕ โทรศัพท์ ๐ ๓๕๒๘ ๖๕๐๘ ๐ ๗๑๑๗ ๘๕๗๑ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โทร ๐ ๒๕๘๓ ๙๒๑๕

 

 

 
คำประกาศเกียรติคุณ
 

นายสำราญ เกิดผล ปัจจุบันอายุ ๗๘ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้เรียนปี่พาทย์จากครูหลายท่าน เช่น ครูจำรัส เกิดผล ครูเพ็ชร์ จรรย์นาฏ ครูเทียบ คงลายทอง ครูอาจ สุนทร เป็นต้น จนมีความเชี่ยวชาญสามารถบรรเลงดนตรีได้หลายประเภท ได้แก่ เพลงสองชั้น เพลงขับร้องทั่วไป เพลงเรื่อง เพลงพิธีต่าง ๆ เพลงหน้าพาทย์ เพลงโหมโรง เพลงเสภา

นาย สำราญ เกิดผล เป็นผู้ที่ศึกษาเรียนรู้ดนตรีไทยอย่างจริงจัง มีความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ เขียนและอ่านโน้ตเพลงสากลได้เป็นอย่างดี เป็นศิลปินท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดนตรีไทย มีฝีมือ ยอดเยี่ยมและมีผลงานประพันธ์เพลงไทยเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องมาโดยตลอด ผลงานประพันธ์เพลง เช่น เพลงสามไม้ใน เถา เพลงกลางพนา เถา เพลงโหมโรงศิวะประสิทธิ์ ๓ ชั้น เพลงจีนเก็บบุปผา เถา เพลงไอยราชูงวง เถา เพลงรั้วแดงกำแพงเหลือง เถา ระบำบุษราคัมมณี เป็นต้น ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะ (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับคัดเลือกเป็นพ่อตัวอย่าง จากคณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ นายสำราญ เกิดผล เป็นครูที่มีจิตใจดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ที่มีความสนใจด้านดนตรี เป็นที่รักของบรรดาลูกศิษย์ ใช้ชีวิตด้วยการเผยแพร่ดนตรีไทยให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษา ๆ มากมาย

นายสำราญ เกิดผล จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๘

 
หมายเลขบันทึก: 17280เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2006 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นาย เทิดศักดิ์ คล้ายนิ่ม

ผมอย่ากได้โน๊ตเพลงไทย

ครับ

ผมเรียนที่นาฎศิลปครับ

ผมจะเอาไปทำรายงานครับ

ผมอยากฟังเพลง เรื่องตะนาว ครับ ผมกำลังต่อครับ พอจะมีเวปแนะนำหรือเปล่าครับ แต่ถ้ามีเพลงผมขอเก็บไว้ฟังหน่อยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

[email protected]

ผมเล่นดนตรีที่พัทยาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท