10 ยอดอาหารสุขภาพ


อาจารย์มาร์ค เกล็น นักโภชนาการแหงมาโยคลินิกแนะนำ 10 ยอดอาหารสุขภาพ โดยมีข้อบ่งชี้ว่า อาหารดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อได้แก่...

Hiker

อาจารย์มาร์ค เกล็น นักโภชนาการแห่งมาโยคลินิกแนะนำ 10 ยอดอาหารสุขภาพ โดยมีข้อบ่งชี้ว่า อาหารดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อได้แก่

  • เป็นแหล่งเส้นใย(ไฟเบอร์) วิตะมิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นๆ
  • มีสารคุณค่าพืชผัก (phytonutrients) สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) เช่น วิตะมินเอ
    วิตะมินอี เบต้าแคโรทีน ฯลฯ ในระดับสูง สารดังกล่าวมีฤทธิ์ช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็งบางชนิด ฯลฯ
  • ลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ฯลฯ เมื่อรับประทานเป็นประจำ
  • ให้กำลังงานต่ำ (low calorie) เพื่อป้องกันโรคอ้วน
  • หาได้ง่าย (ข้อนี้สำหรับสหรัฐอเมริกา)

ผลปรากฏว่า ได้ 10 ยอดอาหารสุขภาพมาดังต่อไปนี้ครับ...

  • แอปเปิ้ล:                                                           
    แอปเปิ้ลมีเพคทิน (pectin) ซึ่งเป็นเส้นใยชนิดละลายน้ำ (soluble fiber) ที่มีส่วนช่วยลดโคเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือด แอปเปิ้ลสดมีวิตะมินซี วิตะมินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กและโฟเลต ร่างกายเราใช้ธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคเลือดจาง กรดโฟเลตช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือด นอกจากนั้นกรดโฟเลตยังทำงานร่วมกับวิตะมินบี 6,12 ในการลดสารโฮโมซิสเทอีน ซึ่งมีพิษต่อผนังเส้นเลือด

  • อัลมอนด์:                                                         
    อัลมอนด์มีเส้นใย วิตะมินบี 2 วิตะมินอี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และแคลเซียมสูง ธาตุแมกนีเซียมจะทำงานร่วมกับแคลเซียมในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง นอกจากนั้นยังมีน้ำมันชนิดดีมาก ซึ่งเป็นน้ำมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง (monounsaturated fatty acid / MUFA)
  • บลูเบอรี่:                                                           
    บลูเบอรี่มีสารคุณค่าพืชผัก (phytonutrients) เส้นใย(ไฟเบอร์) และวิตะมินซีสูง นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยเพิ่มความจำระยะสั้นได้ จึงดีกับคนสูงอายุ และนิสิตนักศึกษาที่เตรียมสอบมากเป็นพิเศษ

  • บร็อคโคลี:                                                        
    บร็อคโคลีมีแคลเซียม วิตะมินเอ วิตะมินซี วิตะมินเค โฟเลต เส้นใย(ไฟเบอร์) และสารคุณค่าพืชผัก (phytonutrients) มาก สารคุณค่าพืชผักในบร็อคโคลีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เบาหวาน ฯลฯ ได้ในระดับหนึ่ง
  • ถั่วแดง:                                                           
    ถั่วที่มีสีแดง โดยเฉพาะถั่วแดงหลวงมีวิตะมินบี 1 โปรตีน เส้นใย(ไฟเบอร์) ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ทองแดง และสารคุณค่าพืชผัก (phytonutrients) สูง
  • แซลมอน:                                                       
    ปลาแซลมอนมีโปรตีนคุณภาพสูง โคเลสเตอรอลต่ำ ไขมันอิ่มตัวต่ำ และมีไขมันชนิดดีพิเศษ(โอเมก้า-3 สูง) ไขมันโอเมก้า-3 มีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือด ลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ ชะลอการเติบโตของคราบไขมันในเส้นเลือด (plaque) มีส่วนช่วยลดความดัน และลดความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน (อัมพฤกษ์-อัมพาต)
  • ผักโขม:                                                              
    ผักโขมหรือปวยเล้ง (spinach) มีวิตะมินเอ วิตะมินบี-2,6 วิตะมินซี โฟเลต แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็กสูง
  • น้ำผัก:                                                                 
    น้ำผักมีวิตะมิน เกลือแร่ และสารคุณค่าพืชผักรวมกันเกือบครบทุกชนิด การดื่มน้ำผักเป็นประจำคล้ายกับการซื้อประกันชีวิตอย่างดี เพราะน้ำผักช่วยรับรองว่า วันนี้หรือวันไหนเราจะไม่ขาดผักเลย
  • มะเขือเทศ:                                                        
    มะเขือเทศมีสารไลโคพีน (lycopene) สารไลโคพีนมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งอื่นอีกหลายชนิด ถ้ากินน้ำมะเขือเทศควรเลือกชนิดมีเกลือโซเดียมต่ำ หรือชนิดไม่เติมเกลือ เนื่องจากการกินเกลือมากเกินทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันเลือดสูง

  • จมูกข้าว:                                                            
    จมูกข้าวเป็นสุดยอดคุณค่าธัญพืช เนื่องจากเป็นส่วนที่ข้าวได้รวบรวมสารอาหารไว้ช่วยในการงอก ถ้าเปรียบเป็นไข่ จมูกข้าวจะคล้ายไข่แดง ซึ่งเป็นส่วนที่มีคุณค่าสูงสุด ต่างกันตรงที่จมูกข้าวไม่มีโคเลสเตอรอล และมีโปรตีน วิตะมินบี-1,2 วิตะมินอี โฟเลต แมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก สังกะสี (zinc) ขนาดสูง นอกจากนั้นยังมีเส้นใย(ไฟเบอร์) และไขมันชนิดดี(น้ำมันรำข้าว)เล็กน้อย

    คำแนะนำ:     

  • อัลมอนด์:                                                          
    เมล็ดอัลมอนด์แพงมาก ผู้เขียนขอเสนอให้พิจารณาเมล็ดฟักทอง ซึ่งมีธาตุสังกะสี (zinc) แทน หรือจะใช้ถั่วลิสงต้มแทนก็ได้ ถั่วลิสงมีไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (monounsaturated fatty acid / MUFA) สูง ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีมาก ช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)

    การกินเมล็ดพืชไม่ควรกินบ่อย หรือกินมากเกิน เมล็ดพืชมีน้ำมันชนิดดีมากปนอยู่มาก แต่ถ้ากินมากเกินอาจทำให้อ้วนได้
  • บลูเบอรี่:                                                            
    บลูเบอรี่ราคาค่อนข้างแพง ถ้าท่านผู้อ่านกินโยเกิร์ตอาจจะเลือกชนิดที่มีบลูเบอรี่ผสมอยู่ได้

    การเลือกโยเกิร์ตควรเลือกชนิดมีไขมันต่ำ (low fat) ไม่มีไขมัน (non fat) และควรเลือกชนิดมีน้ำตาลต่ำ (low sugar)
  • ถั่วแดงและถั่วแดงหลวง:                                    
    ถ้านำถั่วแดงหรือถั่วแดงหลวงมาแช่น้ำ 4-6 ชั่วโมงก่อนต้ม ทิ้งไว้ให้เย็นก่อนเก็บไว้ในตู้เย็น ใช้เป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ หรือใช้เติมในอาหารจานด่วนได้

    การกินโปรตีนจากพืชพร้อมกันหลายชนิด เช่น กินข้าวกล้อง ถั่ว งา ฯลฯ จะทำให้ได้โปรตีนคุณภาพสูงมาก

  • น้ำผัก:                                                                
    ขอให้สังเกตว่า อาจารย์ท่านแนะนำให้กินน้ำผัก ไม่ใช่น้ำผลไม้ น้ำผักมีน้ำตาลต่ำมาก น้ำผลไม้มีน้ำตาลสูงมาก

    การกินผลไม้ทั้งผลปลอดภัยกว่าการกินน้ำผลไม้ เพราะได้เส้นใย(ไฟเบอร์)ไปพร้อมกัน การกินผลไม้มากเกินทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกิน เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และโรคอ้วน

  • จมูกข้าว:                                                             
    จมูกข้าว (wheat germ) ต่างประเทศมีราคาแพง

    ผลิตภัณฑ์ของไทยมีจมูกข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่ตัดมาเฉพาะปลายด้านที่มีจมูกข้าว เช่น จมูกข้าวหงษ์ทองมีจำหน่ายที่บิ๊กซี ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ฯลฯ นำมาผสมกับข้าวทั่วไปหุงได้เลย

    แหล่งที่มา:     

  • ขอขอบคุณ > Mayo clinic staff (Mark Glen, registered dietician). 10 great health foods: Best bets for eating well. http://mayoclinic.com/health/health-foods/NU00632 > March 1, 2006.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑ มีนาคม ๒๕๔๙.
หมายเลขบันทึก: 17278เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2006 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีประโยชน์ต่อสุขผู้ใส่ใจสุขภาพมากเลยครับคุณหมอ  ขอบคุณมากครับ

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์ insuksup
  • ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมครับ....
    (1). ถ้าไม่ชอบแอปเปิ้ลจะใช้ส้มแทนก็ได้
          ส้มมีเส้นใย (ไฟเบอร์) ชนิดละลายน้ำสูง
          มีประโยชน์อื่นๆ คล้ายกับแอปเปิ้ล
    (2). ถ้าไม่มีบลูเบอรี่(ผลไม้ลูกเล็กสีน้ำเงิน-ม่วง)
          ใช้ผลไม้หรือผักที่มีสีน้ำเงิน-ม่วงแทนได้

          เช่น มะเขือม่วง องุ่น(มีน้ำเงิน-ม่วง) ฯลฯ
    (3). หลักการกินผัก-ผลไม้ให้ได้ผลดีที่สุดคือ
          กินให้ได้วันละ 5 สี 5 ทัพพี
    เนื่องจากสาร
    คุณค่าพืชผัก (phytochemicals) และสารต้าน
    อนุมูลอิสระ (antioxidants) แบ่งตามกลุ่มสีได้
    เป็น 5 สีได้แก่
    ม่วง-น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด(ส้ม), แดง
    (จาก www.5aday.gov)
ใช้ปลายข้าวกล้องหรือปลายข้าวมะลิแดงมาหุงรับประทานแทนข้าวสารดีกว่าซื้อจมูกข้าวล้วน ๆ เพราะได้ประโยชน์จากสารอาหารพอกัน แต่ราคาถูกกว่ากันมาก กก.ละ 10 -12 บาท เท่านั้น ถามผู้ขายข้าวสารที่นำมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือให้เขาหามาให้หรือลองไปที่ตลาดนัดใกล้มุมถนนอุทยานกับพุทธมณฑลสาย 3 มีอยู่เจ้าหนึ่ง ขายเย็นวันศุกร์กับวันอาทิตย์ เคยสั่งให้เขานำมาขายให้บ่อย ๆ  เลือกใช้ปลายข้าวที่ใหม่ และสะอาด เวลาหุงใส่น้ำน้อยหน่อย รับรองว่าไม่ผิดหวัง จะต้มน้ำครั้งแรกให้เดือดแล้วรินน้ำข้าวไว้ดื่มคล้ายน้ำอาร์ซีก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์ kate
  • คำแนะนำของอาจารย์ทำให้ได้ความรู้ใหม่ และทางเลือกใหม่ ประหยัดดีด้วยครับ
  • ถ้าคนไทยกินข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ และเลือกชนิดที่มีจุดจมูกข้าว(ไม่หลุดไปในกระบวนการผลิตมากนัก)ก็ได้จมูกข้าวอย่างดีทุกมื้อ ประหยัดอย่างที่อาจารย์ kate ว่าไว้ทีเดียว
  • การกินข้าวไทยเป็นความตั้งใจอย่างหนึ่งที่เราจะช่วยชาวนาไทย คนงาน และกิจการไทยไปในตัว
  • ขอขอบคุณอาจารย์ kate อีกครั้ง และขอให้ท่านผู้เขียน ท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดี
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท