ทฤษฎีการเรียนรู้ตามธรรมชาติสมอง (Brain-Based Learning : BBL)


ทฤษฎีการเรียนรู้ตามธรรมชาติสมอง (Brain-Based Learning) หรือ BBL เป็นทฤษฎีที่อธิบายวิธีการเรียนรู้ของสมอง ทำให้นักเทคโนโลยีการศึกษาสามารถเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน หรือ นวัตกรรมการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียนให้เหมาะสมที่สุด

การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่ต้องอาศัยสมองจัดกระทำกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าเข้าไปในสมอง กระบวนการทางสติปัญญานี้เราอาจเรียกว่า กระบวนการคิด ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้นั้นเอง

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามธรรมชาติสมอง (Brain-Based Learning) หรือ BBL เกิดจากความสนใจของนักการศึกษา นักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง มองว่า การจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่แบ่งเป็นระดับชั้นต่าง ๆ ไม่ใช่ การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ แต่เป็นวิธีคิดของมนุษย์ที่จะจัดการ ศึกษา เรียนรู้ ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดที่มีอยู่ เช่น ผู้สอนจำนวนน้อย กับ ผู้เรียนจำนวนมากและหลากหลาย การแบ่งชั้นเรียนตามช่วงอายุของผู้เรียน เพื่อสะดวกในการจัด

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามธรรมชาติสมอง เป็นแนวทางจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีการทำงานของสมอง และธรรมชาติสมองของเด็กแต่ละคน โดยเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เราสามารถเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของสมองได้ด้วยการกระตุ้นที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ ได้แก่ ยีนส์ อาหาร การออกกำลังกาย ดนตรี ศิลปะ ความรัก ความรู้สึกท้าทาย และการได้ข้อมูลย้อนกลับ เป็นต้น

 

หน้าที่ของสมอง

สมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น การทำงานของหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนต่าง ๆ รวมทั้ง สติปัญญา ความคิด การเรียนรู้ ความฉลาด พฤติกรรม และบุคลิกภาพของคน

 

การทำงานของสมอง

สมองมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากมาย สมองของคนเราไม่ได้ทำงานแยกกันเป็นซีกซ้าย ซีกขวา แต่ทำงานเชื่อมโยงกันทั้งหมด

สมอง แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ สมองซีกซ้าย-ขวา สมองส่วนหน้า-หลัง และ สมองส่วนบน-ล่าง ในสมองแต่ละซีกประกอบด้วย กลุ่มเซลล์ประสาทนับล้านกลุ่มที่ติดต่อถึงกันด้วยเส้นใยประสาท โดยเซลล์ประสาท 1 ตัว จะมีเส้นใยประสาทติดต่อกับเซลล์ประสาทอื่น หรือในกลุ่มอื่นเป็นหมื่น ๆ เส้นใย และเชื่อมต่อไปยังเซลล์ประสาทในสมองซีกตรงข้าม เช่น สมองซีกซ้ายเชื่อมต่อกับสมองซีกขวา สมองส่วนหน้าเชื่อมต่อกับสมองส่วนหลัง เป็นต้น

เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จะติดต่อกลับไปกลับมาระหว่างเซลล์ และกลุ่มเซลล์ประสาท ทำให้ไม่ว่าจะมีปฏิบัติการอย่างใดเกิดขึ้นก็สามารถมีผลต่อสมองทั้งสมองได้ เซลล์ประสาทแต่ละตัวจะรับข้อมูลเข้าและส่งข้อมูลออกในเวลาเดียวกัน การเชื่อมโยงโต้ตอบผ่านใยประสาท ทำให้สมองแต่ละส่วนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้หรือการทำงานต่าง ๆ ของคนเกิดจากการทำงานร่วมกันของสมอง ไม่ได้ใช้สมองเพียงซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น

 

ความสามารถของสมอง

นักจิตวิทยาได้ค้นพบความสามารถด้านการคิดของสมองที่ช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ สามารถสร้างสรรค์และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข

สมองมีความสามารถอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. ความสามารถสร้างภาพในใจ  ภาพในใจ หรือ ภาพในความคิด (Mental Image) เป็นสิ่งที่สมองสร้างขึ้น เมื่อประสาทสัมผัสรับข้อมูล จะส่งสัญญาณสู่สมอง สมองจะนำข้อมูลที่ได้รับไปเปรียบเทียบกับสิ่งของประเภทเดียวที่เก็บไว้ในความทรงจำ โดยเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ประสบการณ์ในอดีต แปรข้อมูลที่ได้รับเป็นภาพ ตามที่ตนเข้าใจอย่างอัตโนมัติ สมองสามารถสร้างภาพต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็น ภาพที่เกิดขึ้นในใจเป็นส่วนสำคัญของการคิด เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจินตนาการ ซึ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ

2. ความสามารถสร้างมโนทัศน์ คนเราสร้างมโนทัศน์ของทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจดจำ การจำแนก แยกแยะ การจัดหมวดหมู่ การค้นหาลักษณะเด่นพิเศษ ซึ่งช่วยให้สมองสามารถจัดระเบียบข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบง่าย ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกเป็นความทรงจำ และนำกลับมาใช้ และช่วยให้เกิดความเข้าใจในการรับรู้ข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันได้ง่ายขึ้น

3. ความสามารถใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจ คนเรามักใช้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive Reasoning) และแบบอุปนัย (Inductive Reasoning)

การใช้เหตุผลแบบนิรนัยยึดหลักว่า เราเชื่อว่า สิ่งที่นำมาอ้างนั้นถูกต้องเป็นจริง ดังนั้น ย่อมนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นจริงด้วย ข้ออ้างต่าง ๆ ที่เราคิดว่า เป็นจริง จะเป็นเหมือนฐานข้อมูลในสมอง เมื่อมีข้อมูลหรือข้ออ้างใหม่ ๆ เข้ามา เราจะเอาเข้ามาเปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุปว่า เราจะตัดสินเรื่องนั้นอย่างไร โดยข้อสรุปของเราจะถูกต้อง ถ้าข้ออ้างที่เราคิดนั้นถูกต้อง

การใช้เหตุผลแบบอุปนัย เป็นกระบวนการใช้เหตุผลโดยสรุปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน อย่างเฉพาะเจาะจงหลาย ๆ กรณี

 

การจัดการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับสมอง

ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานของสมอง ทฤษฎีหนึ่ง คือ ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ของ Howard Gardner ทฤษฎีนี้ให้แนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถของคนเราที่มีถึง 8 ด้าน ได้แก่

1. ภาษาศาสตร์ (Linguistic Ability) ความสามารถในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน

2. ตรรกะ - คณิตศาสตร์ (Logical-Mathematic Ability) ความสามารถในการใช้เหตุผล และตัวเลข

3. มิติสัมพันธ์ (Spatial Ability) ความสามารถในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างระยะ ขนาด ตำแหน่ง และการมองเห็น (มิติ)

4. การเคลื่อนไหวของร่างกาย (Bodily-Kinesthetic Ability) ความสามารถในการควบคุม และการแสดงออกผ่านอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เท้า

5. ดนตรี (Musical Ability) ความสามารถที่จะซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียทางดนตรี แยกแยะ และแสดงออก

6. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Ability) ความสามารถในการเข้าใจ รับรู้ แยกแยะความแตกต่างในอารมณ์ สมาธิ แรงกระตุ้น แรงจูงใจ และความรู้สึกของผู้อื่น

7. ความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Ability) ความสามารถในการเข้าใจตนเองและปรับตัวบนฐานแห่งความเข้าใจนั้น

8. การเข้าถึงลักษณะธรรมชาติ (Naturalist Ability) ความสามารถในการรู้จักและเข้าใจธรรมชาติ ชีวิตในสิ่งแวดล้อมทั้งของสัตว์และของพืช

 

ผู้สอนต้องค้นหาความสามารถเหล่านี้ในตัวผู้เรียนแต่ละคนให้พบแล้ว จัดการศึกษาที่ส่งเสริมและกระตุ้นความสามารถนั้น ๆ นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการทำงานของสมองตามธรรมชาติ ควรจัดการเรียนรู้ให้มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. การเรียนรู้ในขณะที่ผู้เรียนมีภาวะอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น ไม่อิ่ม หรือ หิวเกินไป มีการพักผ่อนเพียงพอ

2. การเรียนรู้มีความสามารถต่อชีวิต หรือ เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียน

3. การเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีใจจดจ่อ หรือ มีสมาธิ โดยมีการกระตุ้นผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ มีการพัก และทบทวนสิ่งทีเรียนรู้ไปแล้ว

4. การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนจดจำได้ มีวิธีกระตุ้นให้ความจำอยู่ได้นาน ๆ เช่น ซักถาม ให้อธิบายสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ไป ให้ดูภาพ หรือ ฟังเสียง เป็นต้น

5. การเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์อื่น

 

 

แหล่งอ้างอิง

แจ่มจันทร์ นิลพันธ์.  เอกสารประกอบการเรียน วิชา นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้.

          กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, 2550.

http://www.infed.org/thinkers/gardner.htm (24 Mar 2008).

http://en.wikipedia.org/wiki/Howard_Gardner (24 Mar 2008).

 

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามธรรมชาติสมอง (Brain-Based Learning) หรือ BBL เป็นทฤษฎีที่อธิบายวิธีการเรียนรู้ของสมอง ทำให้นักเทคโนโลยีการศึกษาสามารถเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน หรือ นวัตกรรมการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียนให้เหมาะสมที่สุด

ขอบคุณครับ .. :)

หมายเลขบันทึก: 172740เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2008 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะ

การทำงานของสมองเป็นอะไรที่ซับซ้อน แต่มันรู้สึกว่ามหัศจรรย์มาก ๆ ที่เราสามารถจดจำ

อะไรคล้าย ๆ กับบันทึกชั้นดี เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเพิ่มพูนความรู้ค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ ดิฉันเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้เรื่อง blog และพยายามฝึกหัดสื่อสารและค้นหาเรื่องราว ดี ๆ ที่มีหลากหลายสาระ รู้สึกดีใจมากค่ะที่เราคนไทยมีการพัฒนาได้อย่างกว้างไกลไร้ขีดจำกัด แต่ดิฉันต้องพยายามฝึกเรียนรู้ไปสักระยะนะคะจึงจะสามารถบันทึกรูปภาพได้ (กำลังรอภาพสวย ๆ ค่ะ) ดิฉันขอขอบคุณในความมีน้ำใจที่งดงามของท่านอาจารย์ซึ่งน่าจะสั่งสมความดีงามมายาวนานนะคะ จึงมีลูกศิษย์ที่ดีมาก ๆ อีกคนหนึ่งในสังคมไทย ดิฉันจะพยายามหาโอกาสอ่านเรื่องที่น่าสนใจของท่านอาจารย์อย่างต่อเนื่องค่ะ.

สวัสดีครับ คุณครู ผักกาด

  • วันนี้ไหงแวะมาเยี่ยมบันทึกของครูได้ล่ะ
  • ตอนนี้มีนักการศึกษาหลายท่านที่กำลังให้สนใจในเรื่องของการเชื่อมโยงความรู้มายังสมองของเด็ก ๆ ครับ ..
  • ถ้าสนใจลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ

ครูขอให้กำลังใจในการเขียนบันทึกให้มีความสุขนะ ห้ามทุกข์เด็ดขาด ไม่งั้น ไอค๊อก ๆ ไอแค๊ก ๆ หนา :)

สวัสดีครับ คุณครู แจ่มใส

  • ชื่อเหมือนภรรยาท่านบรรหารนะครับเนี่ย :)
  • ยินดีที่คุณครูมาอ่านความรู้ ครับ

ขอบคุณนะครับ :)

สวัสดีครับ ท่าน ผอ. tosu

  • วันนี้มาเยี่ยมกันถึงบันทึกเลยหรือครับ ... ท่านหาพบได้ไงครับเนี่ย ... บันทึกนี้ค่อนข้างจะลึกลับ ไม่ค่อยมีคนเข้ามาหรอกครับ
  • ที่ท่านเห็นน่ะ หลงเข้ามากันครับ อิ อิ
  • ลูกศิษย์ดีด้วยตัวของเขาเองน่ะครับ ครูสอนสิ่งดี ๆ ให้เขาได้ แต่ถ้าเขาไม่รับ เขาก็อาจจะเป็นคนไม่ดีได้ ครับ
  • CHILD CENTER หรือเปล่าครับ :)
  • รอภาพถ่ายโชว์ตัวของท่าน ผอ.ดีกว่า ครับ
  • ขอบคุณที่ท่านให้เกียรติจะแวะเข้ามาอ่านบันทึกที่ผมเขียนไว้นะครับ แต่ห้ามตกตะลึง เหมือนดูหนังฆาตกรรมนะครับ มีคนบอกไว้อย่างนั้น

ขอบคุณ ท่าน ผอ. ด้วยใจจริง ครับ :)

       สวัสดีค่ะ อาจารย์ Wasawat Deemarn

  • ผู้เรียนเรียนรู้ตอนภาวะอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมบ่อยค่ะ อิ่มเกินไปจนครูถามอะไร ก็ซาบซึ้งหลับตาพยักหน้าว่า..เข้าใจตลอด
  • ที่ร.ร.นั้นผู้เรียนส่วนใหญ่มีการจัดการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับสมองได้ดีในเรื่องการซึมซับสุนทรียภาพด้านดนตรีค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ...สำหรับสาระดีๆที่จะได้นำไปถ่ายทอดให้เด็กๆต่อไป...
  • ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

ขอบคุณ อาจารย์แก้วตา ... ว่าไปตอนเรียนในห้องเพื่อน ๆ ในห้องมีคนพยักหน้าหรือเปล่าครับ อิ อิ :)

ผมว่า มีแน่ ๆ ล่ะ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn
  • เคยบันทึกลงในเว็บเขตพื้นที่ ฯ/บล็อก เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ไม่ละเอียดและสมบูรณ์สักเท่าไหร่
  • เสียดายที่สถาบันการเรียนรู้ ฯที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของเด็กไทย ถูกยุบรวมหน่วยงานอื่น
  • แต่คิดว่าน่าจะกลับมาอีกคร้งนะคะ พร้อมๆ กับถุงของขวัญสำหรับเด็กเกิดใหม่
  • เพราะรู้สึกว่าจะเกี่ยวข้องโยงใยกันอยู่
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการ ที่ยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้ค่ะ

สวัสดีครับ ท่าน ศน.  เอื้องแซะ

  • ผมยังไม่เข้าขั้น "นักวิชาการ" หรอกครับ
  • ผมเป็นแค่ "ครู" ระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพวกเรื่องเรียน ๆ สอน ๆ อะไรพวกนี้เองครับ

ขอบพระคุณ ท่าน ศน. ที่ให้เกียรติ ครับ :)

ตามมาอ่านแล้วครับ ผมขออนุญาต ทำ Link มายังหน้านี้ครับ ขอบคุณมากๆครับผม

ยินดีครับ คุณเอก ... สำหรับคุณเอกอยู่แล้ว ข้อเขียนนี้ แต่ยังไม่ได้พาเข้าสู่ "นวัตกรรม" นะครับ ... BASIC เบื้องต้นจริง ๆ ครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

วันนี้หนูแวะมาเอาความรู้เข้าสมองนะค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่นำเสนอ นะคะ

สวัสดีครับ คุณครูปภาพรรณ์

  • ทำไมรูปเธอมันออกดำ ๆ คล้ำ ๆ อย่างนั้นล่ะ :)
  • สมองเปิด ความรู้ก็เข้า ครับ
  • ลองนำไปปรับการเรียนการสอนดูนะครับ

ขอบคุณครับ :)

มาขอบคุณอีกครั้งครับ BBL. จะสำเร็จได้ อยู่ที่การบูรณาการทั้งคน ทั้งหลักสูตร รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย และผู้เลี้ยงดูเด็กด้วย

การใช้ "สื่อ" และ "เทคโนโลยีทางการศึกษา" ศาสตร์ด้านนี้สำคัญมากในสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาสมอง

ลองทำวิจัยสักเรื่องดีมั้ยครับผม

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • ตอนนี้ คุณเอกให้ความสนใจเรื่องนี้มากมายเลยใช่ไหมครับ เลยชวนผมทำวิจัยซะเลย อิ อิ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีค่ะ อ.พี่Wasawat Deemarn

แหม น่าสนใจอีกแล้วนะคะ

จริงๆ ถ้า ผู้ที่เป็นครูมีความเข้าใจในระบบการทำงานของสมองว่า จะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไรแล้ว มันน่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะประสบความสำเร็จในการสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กนะคะ น่าจะมีวิชา กระบวนการทำงานของร่างกาย(สมอง)เพื่อการเรียนรู้ สอนนะคะ คิดว่ามันต้องช่วยอะไรได้มากเลยทีเดียว

สวัสดีครับ น้องอาจารย์ หัวใจติดปีก

  • เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของทฤษฏีปัญญานิยม นะครับ
  • หมายถึง ผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับผู้เรียนในการทำงานของสมองก่อน แล้วจึงเลือกกิจกรรม หรือ นวัตกรรม ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเขา
  • ครู ... น่านำไปใช้ ครับ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีคะอาจารย์

บทความที่ลงน่าสนใจและเป็นประโยชน์มากคะ

ขออนุญาตนำไปใช้อ้างอิงในงานวิจัยนะคะ

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท