KM กรมราชทัณฑ์ จาก "ความรู้" สู่ "นวัตกรรม"


เป้าหมายการทำ KM ของทางกรมฯ มิได้หยุดอยู่ที่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO) หากแต่อยู่ที่ว่าจะสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ทำให้เกิด "นวัตกรรม" ได้อย่างไร?

       ในงาน "Sharing for Learning"  ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  เมื่อวานนี้   ผมได้มีโอกาสฟังการนำเสนอของท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ท่านนัทธี จิตสว่าง) เรื่องการทำ KM ของทางกรมฯ   ผมจะสรุปประเด็นหลักๆ ให้ฟัง ดังนี้ครับ

    (1)  ท่านอธิบดีได้ออกตัวว่า  ที่ทำมานั้นไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ  เพียงแต่เริ่มรู้สึกว่า "ยิ่งทำ  ยิ่งสนุก"  และที่ภูมิใจก็ตรงที่จับเรื่องนี้มาก่อนที่ กพร. จะบังคับให้ทำด้วยซ้ำไป

    (2) งานในกรมราชทัณฑ์ จำเป็นต้องมีการจัดการความรู้ เพราะ "ความรู้เปลี่ยนเร็วมาก"  ทั้งนี้เนื่องจาก "ลูกค้า" ที่เข้ามาใช้บริการ (ผู้ต้องขัง) นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน  เช่น จากที่เคยกินปลาร้ามา เดี๋ยวนี้หันมากินพิซซ่า เป็นต้น Tacit  Knowledge  ของคนที่ทำงานในกรมฯ นั้นมีมากมาย   ถ้าหากไม่มีการจัดการ   เกรงว่าจะเกิดการสูญหายได้ง่ายมาก

    (3)  เดิมทีเดียวทางกรมฯ  ก็มีการ "Sharing" อยู่บ้างแล้ว แต่อาจจะเป็นแบบ "ลูกทุ่ง"  เป็นแบบ "มวยวัด"  การจัดการความรู้ ทำให้สิ่งที่ทำอยู่นี้เป็นระบบมากขึ้น "กรอบแนวคิด" ที่ทางกรมฯ ใช้ ก็คือจะเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Action Learning)  และจัดให้มีการตั้ง CoPs ขึ้นมา  มีการจัดระบบองค์ความรู้ (Knowledge Asset & Taxonomy)  และใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน (Enabling Technology)

    (4) ขั้นตอนการทำ KM ของทางกรมฯ  แบ่งได้เป็น 3  ระยะ คือ

         ระยะที่ 1 มุ่งสร้าง "Facilitator"  ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในเรื่อง KM  และการสื่อให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากการทำ KM   มีการนำความรู้เรื่อง KM ใส่เข้าไปในการ "สอบเลื่อนขั้น"  บุคลากรทุกระดับ
         ระยะที่ 2 เป็นการจัดตั้งชมรมนักปฏิบัติ (CoPs) โดยเริ่มจากสายงานหลักๆ 3 CoPs คือ  1. CoPs ครูหลังกำแพง  2. CoPs  นักทัณฑวิทยา  และ  3. CoPs นักสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา  โดยจัดให้มีการพูดคุย  เพื่อกลั่นประสบการณ์ออกมา
         ระยะที่ 3 เป็นการจัดทำ  Knowledge Asset  คือหลังจากที่ "ผู้จัดเก็บความรู้" ในแต่ละ CoPs ได้ประเด็น/องค์ความรู้แล้ว  ก็จะมานำเสนอในที่ประชุมใหญ่ จัดให้มีการแยกแยะ  กลั่นกรอง  เพื่อให้ได้ออกมาเป็นความรู้ที่นำไปใช้งานได้  เช่น  ได้เป็นคำแนะนำ  เป็นวิธีปฏิบัติงาน (Work Procedure) etc.  ตลอดจนมีการรับ feedback จากคนกลุ่มใหญ่ (ที่หลากหลาย) เพื่อนำมาใช้ปรับปรุง มีการจัดระบบ/โครงสร้าง/ หมวดหมู่ของความรู้ (Taxonomy) ที่ได้นี้เพื่อให้สะดวกแก่การค้นหา
 
    (5) เป้าหมายการทำ KM ของทางกรมฯ  มิได้หยุดอยู่ที่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO)  หากแต่อยู่ที่ว่าจะสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ทำให้เกิด "นวัตกรรม" ได้อย่างไร?   ซึ่งท่านอธิบดีก็ได้นำเสนอ VCD ให้เห็นว่า ขณะนี้ทางกรมฯ มีนวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตัวอย่างเช่น ผลงานของผู้ต้องขังในเรื่องการออกแบบและเดินแฟชั่น, การสนับสนุนเรื่องกีฬาจนสามารถก้าวสู่เวทีโลก, โครงการ Art for All  โครงการ "ครูคนคุก" (ให้ผู้ต้องขังเป็นครูสอนประชาชน) หรือ โครงการ "เรือนจำเรือนปัญญา" (ส่งเสริมให้เรียนจนจบ มสธ. จำนวนหลายร้อยคน) เป็นต้น

    (6) กรมฯ สามารถบูรณาการ KM กับเรื่อง HR Scorecard, Talent Management, Competency - Based Management, Performance Management และเรื่อง Quality  of  Work Life  ได้ด้วย

       นี่เป็นเพียงแค่ "หนังตัวอย่าง" ที่ผมจำมาถ่ายทอดต่อ  ผมได้ขอทาบทามท่านอธิบดีไว้แล้วว่าจะเชิญทางกรมฯ ร่วมการประชุม KM ภาคราชการ ที่ทาง สคส. จัดขึ้นทุก 3 เดือน  และเชิญร่วม Share ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 1-2 ธันวาคม 2549 ที่ศูนย์ประชุม BITEC บางนา ด้วยครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17253เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2006 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านรายละเอียด เรื่องการทำ Km แล้ว ของกรมราชทัณฑ์น่าสนใจมากครับ อาจารย์

อยากรู้ในเชิงลึกเหมือนกันว่า มีการใช้ Km พัฒนางานแล้วเกิดผลอย่างไรบ้างในการทำงาน

ซึ่งถ้าเกิดมีเทคนิด และวิธีการในการทำที่ดี และเป็นแบบอย่างดีๆได้ ผมว่าจะเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากเลยทีเดียว

เพราะแม้แต่กรมราชทัณฑ์ ที่ต้องทำงานกับคนที่มีคดีติดตัว(คนคุก) เขาก็คงมีวิธีการดีๆ และหลากหลายทีเดียวในการจัดการความรู้ของเขาเอง

ได้อ่านที่อาจารย์ประพนธ์เขียนแล้วต้องบอกว่าดีใจมากเลย  เพราะคุณหมอธัญญ์และตัวเองได้เคยถูกเชิญไปเล่าการทำ KM ในรพ.ค่ายสมเด็จฯ  โดยการที่เราไปเล่านั้นเราได้ใช้วิชาความรู้ Modelปลาทู   ธารปัญญา และเครื่องมืออื่นๆ  ที่อาจารย์วิจารณ์  และอาจารย์ประพนธ์ได้ถ่ายทอดให้ และประสบการณ์การทำ KMที่รพ.ค่ายฯ   และจากการที่ได้เข้าไปเดินเยี่ยมชมสำนักงานที่บุคลากรกรมราชทัณฑ์ทำงาน  ต้องบอกว่าประทับใจมากในความมุ่งมั่นของท่านอธิบดีที่จัดทุกมุม  ทุกสถานที่ของที่ทำงานโดยเน้นและกระตุ้นการทำKM  เช่นการจัดทำคลังความรู้ การจัดบอร์สื่อสาร ซึ่งศัพท์KM จะมีความแตกต่างจากสคส.  และที่น่าจะนำไปเป็นตัวอย่างคือ  การสื่อสารความรู้ให้กับบุคลากร  ตัวอย่างเช่น ที่โต๊ะอาหารที่เจ้าหน้าที่รับประทานจะเป็นลักษณะใส่เอกสารความรู้ที่น่าสนใจได้ด้านบนเป็นกระจก  ซึ่งไปสะดุดตาที่โต๊ะหนึ่งใส่เรื่อง Competency ตัวเองยังได้นั่งอ่านด้วยความอึ้ง....ในตัวผู้นำค่ะ  สุดยอดจริงๆ   และสุดท้ายที่อยากเห็น   คือผลงานของกรมราชทัณฑ์ที่อาจารย์ประพนธ์เล่ามากเลยค่ะ

                                            มลฤดี  โภคศิริ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท