"กล้วย" ของธรรมดาที่สะสมความรู้ ความดี และความงาม


กล้วย” เป็นพืชที่หลายคนเห็นเป็นพืชที่ปลูกง่าย กินง่าย แต่แทบทุกคนก็ต้องซื้อกล้วยกิน คนที่กลับลำจากการปลูกพืชเศรษฐกิจแล้วหันมาปลูกกล้วยได้ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิด ที่หันกลับมาที่ตัวเอง พึ่งตัวเองมากขึ้น รวมถึงการมองทะลุถึงความรู้ว่ามีอยู่ทุกคนทุกแห่ง ทุกสิ่งสามารถเป็นความรู้ได้ แม้แต่เรื่องกล้วย ๆ ก็ตาม

“กล้วย” ของธรรมดาที่สะสมความรู้ ความดี และความงาม
การจัดการความรู้สร้างทางเลือกอาชีพที่ “ภูผาม่าน”

                                                           สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)


“กล้วย” เป็นพืชที่หลายคนเห็นเป็นพืชที่ปลูกง่าย กินง่าย แต่แทบทุกคนก็ต้องซื้อกล้วยกิน คนที่กลับลำจากการปลูกพืชเศรษฐกิจแล้วหันมาปลูกกล้วยได้ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิด ที่หันกลับมาที่ตัวเอง พึ่งตัวเองมากขึ้น รวมถึงการมองทะลุถึงความรู้ว่ามีอยู่ทุกคนทุกแห่ง ทุกสิ่งสามารถเป็นความรู้ได้ แม้แต่เรื่องกล้วย ๆ ก็ตาม


กล้วยเป็นพืชล้มลุกที่มีหลากหลายพันธุ์ และใช้ประโยชน์ในแต่ละพันธุ์แตกต่างกันไป นอกจากนี้กล้วยยังให้ผลผลิตที่เป็นประโยชน์ ทั้งผล ใบ ปลี และลำต้น อีกทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกได้ไม่ยาก และเอื้อประโยชน์ต่อพืชชนิดอื่นด้วย แต่การปลูกกล้วยก็มีปัญหาเช่นกัน คือ มักเกิดหนอนกอทำลายต้นกล้วย


นายชัยฤทธิ์  แสนทิ เกษตรกรวัย 36 ปี แห่งบ้านฝายตาสวน  ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จึงสนใจรวบรวมพันธุ์กล้วยและศึกษาการปลูกกล้วยที่ไม่ให้เกิดหนอนกอ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจตามกระแส เช่น การปลูกอ้อย  มะขาม ซึ่งต้องลงทุนสูงแต่การขายได้กำไรน้อยมาก หรือขาดทุน แต่กล้วยไม่ต้องลงทุนอะไรมากนอกจากแรงงาน แต่จะขายได้ทุกส่วนทั้งใบ ต้น ปลี และผล  ชัยฤทธิ์จึงทำการศึกษาและรวบรวมพันธุ์กล้วยที่มีในท้องถิ่น  พร้อมทั้งทดลองปลูกกล้วยชนิดต่าง ๆ  โดยสังเกต จดบันทึก เปรียบเทียบ สรุปผล และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้


“ชัยฤทธิ์”  พูดถึงความสนใจเรื่องกล้วยว่า “ก่อนหน้านี้ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวที่วิ่งตามกระแส  เคยไปต่างประเทศทำงานโรงงานสารเคมี ป่วยถึงขั้นจำอะไรไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนาน สุดท้ายสรุปบทเรียนตัวเองได้ และหันมาทำเกษตร ปลูกพริก ปลูกผัก ปลูกมะขามหวาน ปลูกมาหลายชนิด และคิดว่าตัวเองวิ่งตามกระแสมากเกินไป พอพืชผักชนิดไหนราคาดีก็ไปปลูกตาม ๆ กันไป พอถึงเวลาขายได้ราคาไม่ดีและก็ขาดทุน เนื่องจากเราไม่มีกำลังในการแปรรูปได้ ผมจึงมองหาพืชที่ไม่ต้องลงทุนมากและสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกช่วง ในบริเวณบ้านผมมีกล้วยที่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องทุกปี ได้ขายผลผลิตทั้งผลกล้วยและใบตองตลอดทั้งปี จึงมองว่ากล้วยน่าจะเป็นพืชที่มีประโยชน์ และได้พยามยามหาพันธุ์กล้วยชนิดต่าง ๆ มาปลูกเพิ่มในแปลงเกษตรเพื่อทดลองปลูกดูว่าพันธุ์ไหนเหมาะสมและสามารถขายได้ราคาดี”


                “ชัยฤทธิ์” มีวิธีการค้นหาความรู้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การสอบถามผู้รู้  เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่  การสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง และการทดลองปลูกแล้วสังเกตผลที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ชัยฤทธิ์จะจดบันทึกไว้ ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์กล้วย การขยายพันธุ์  วิธีการปลูก สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม  โรคต่าง ๆ ของกล้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค สรรพคุณของต้นกล้วยในการรักษาโรค รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นกล้วย และวิธีการเก็บผลผลิตที่ถูกวิธีไม่ว่าจะเป็นการตัดใบตองหรือเครือกล้วย รวมถึงวิธีการนำส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วยมาทำอาหาร สรรพคุณของกล้วย ได้แก่ นำใบตองกล้วยมาเผาละลายน้ำดื่มแก้โรคเสมหะได้ และผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าการที่เอาใบกล้วยมาพันยาสูบจะทำให้ลดสารพิษของใบยาสูบได้ด้วย ถ้าตัดต้นกล้วยเป็นท่อนแล้วนำมาวางทาบบนรอยที่สัตว์กัดต่อย เช่น งูกัด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้   

   
“การหาความรู้ของผมเริ่มจากถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่ปลูกในอดีตก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง  พยายามหาความรู้พร้อมกับการทดลองปลูก และสังเกตจากวิธีการศึกษาดังกล่าวทำให้ตนเองได้ความรู้ทั้งความเชื่อในการปลูกจากผู้เฒ่าผู้แก่ ว่าเด็กห้ามปลูกกล้วยเพราะจะอายุสั้น เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ปลูกแล้วพอให้ผลผลิตก็ต้องตัดทิ้งทำให้มีอายุไม่ยาวนาน” ชัยฤทธิ์ กล่าว และว่านอกจากนี้ยังได้รู้จักพันธุ์กล้วยมากขึ้น ซึ่งตนพยายามหาชนิดของพันธุ์กล้วยเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นเว็บไซด์ของ “ดอกเตอร์กล้วย” ซึ่งก็ได้รู้ว่าพันธุ์กล้วยในโลกมีมาก และพันธุ์กล้วยในไทยมีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ และนำมาจากคุนหมิง ประเทศจีน  มีการแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ขยายด้วยเมล็ด พันธ์ที่ขยายด้วยต้น และพันธุ์ที่ขยายด้วยโคน เป็นต้น และยังได้รู้สรรพคุณทางยาของกล้วยอีกด้วย


ชัยฤทธิ์ยังกล่าวถึงการค้นหาความรู้จากคนอื่นหรือสื่อต่าง ๆ ว่า “บางครั้งผมคิดว่าเราก็เชื่อคนอื่นหมดก็ไม่ได้ เราน่าจะทดลองดูเองให้รู้ด้วยตัวเอง” ชัยฤทธิ์ลงมือหาความรู้ของตนเองด้วยการหาพันธุ์กล้วยจากที่ต่าง ๆ มาทดลองปลูก ทั้งที่อยู่บริเวณสวนข้างบ้าน จากญาติพี่น้อง และจากคนในชุมชนเอง ซึ่งได้นำมาปลูกอยู่หลายชนิด คือ กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า กล้วยตานี กล้วยเตี้ย และที่ปลูกอยู่ที่บ้านแล้วก็ได้ขยายพันธุ์ดูด้วยตนเอง  ทดลองปลูกโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 จุด จุดที่หนึ่งอยู่ข้างบ้านประมาณ 5 ไร่ จำนวนประมาณ 20 ต้น จุดที่ 2 อยู่บริเวณใกล้บ้าน ประมาณ 3 ไร่ จำนวน 80 ต้น และจุดที่ 3 ปลูกบริเวณรอบสระ อีก 20 ต้น


ในที่สุดเขาได้ความรู้เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกล้วยว่า ควรเป็น พื้นที่ราบเอียง มีน้ำเป็นร่องบ้าง เพราะจะช่วยเรื่องการแตกหน่อ ถ้าเป็นพื้นราบการแตกหน่อจะน้อยและตาย เนื่องจากหน่อจะซ้อนทับกันเอง แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบเอียงหน่อจะทะแยงออกมาได้ ดินที่เหมาะก็สามารถปลูกได้ทุกที่ แต่ถ้าเป็นดินชุ่มน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำ เช่น ขอบสระ และร่องน้ำไหลเป็นสภาพพื้นที่ที่เหมาะที่สุด  


การปลูกกล้วยและขยายพันธุ์  ทำได้หลายวิธีทั้งขุดแล้วถมเลย ซึ่งพบว่าจะต้องขุดหลุมขนาดกว้าง 1 เมตร ยาง 1 เมตร ลึกประมาณ 80-90 เซนติเมตร และจะถมดินลงให้เหลือประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อเป็นที่เก็บน้ำของโคนต้นกล้วย ถ้าปลูกและขุดตื้นจะปลูกไว้เพื่อการขยายพันธุ์ เนื่องจากมันจะแตกหน่อเยอะประมาณ 8-10 หน่อ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก็สามารถขุดเอาไปขยายพันธุ์ได้ เรื่องการดูแลรักษาไม่ต้องดูแลมากมาย กล้วยจะชอบดินที่ชุ่มน้ำเราก็เอากากมะพร้าว เศษขยะ หรือปุ๋ยคอก ไปใส่ที่โคนต้นจะทำให้กล้วยเจริญเติบโตดี ต้นสูง ลูกดก  ซึ่งพอกล้วยอายุประมาณ 9 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยสังเกตจากผลกล้วยจะไม่มีเหลี่ยมก็สามารถตัดได้เลย การเก็บผลกล้วยจะต้องตัดต้นกล้วยด้วยเพราะจะเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคได้ หรือถ้าต้องการขยายพันธุ์ก็ตัดเฉพาะเครือกล้วย และตัดใบกล้วยไว้ขายราคากิโลกรัมละ 4-5 บาท ส่วนราคากล้วยหวีละ 3-8 บาท  นอกจากนี้ กล้วยสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายส่วน เช่น นำก้านกล้วยมาทำอาหารจำพวกลาบ ห่อหมก และหยวกกล้วยมาทำน้ำแกง แต่ถ้าจะให้อร่อยจะต้องนำหยวกกล้วยที่มีอายุประมาณ 5 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะมียอดอ่อนที่กำลังแทงเป็นใบกล้วยออกมาจะทำให้ได้หยวกกล้วยที่เยอะและเหมาะที่จะนำมาประกอบอาหารได้


สำหรับโรคหนอนกอที่ทำให้โคนต้นกล้วยเน่าและตาย จากการสังเกตเห็นแมลงหัวแข็งมาใส่ใบกล้วยแล้วต้นกล้วยบริเวณนั้นก็จะเกิดโรคทันที  ได้ทดลองสุมไฟเผาต้นที่เป็นโรคแต่พอแตกหน่อมาก็เกิดโรคอีก ซึ่งควรที่จะทำลายทิ้งและห้ามนำหน่อต้นกล้วยที่เกิดโรคไปขยายพันธุ์   เขาจึงทดลองแก้โดยตัดแต่งใบที่มันมีใยแมลงออก ต้นกล้วยต้นหนึ่งควรให้เหลือใบซักประมาณ 8-10 ใบ ให้แสงแดดเข้าถึง ซึ่งสังเกตได้ว่าไม่เกิดโรคหนอนกอเลย


ชัยฤทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากที่ทำมาคือ มีความรู้เกี่ยวกับกล้วยมากขึ้น โดยรวบรวมและรู้จักพันธุ์กล้วยในท้องถิ่นมากกว่า 20 ชนิด  รู้จักวิธีการปลูก การดูแลรักษา และการใช้ประโยชน์ อาทิ  กล้วยตีบ เป็นกล้วยที่นิยมปลูกไว้พักผ่อนในที่ร่ม เพราะมีลำต้นสูง 4-5 เมตร ใช้ก็ได้กินผลสุกก็ดี แต่ผลไม่สวยนิยมกินปลีเพราะมีสรรพคุณทางยา โดยหากนำปลีกล้วยมาทำอาหาร ต้ม แกง ให้คนมีลูกกินจะช่วยเร่งน้ำนมมาเร็วขึ้น  ส่วนรากก็มีสรรพคุณทางยา  เป็นยาเย็นนำราก 1 กำล้างให้สะอาดแล้วต้มให้เดือด ดื่ม แก้อาการร้อนใน หรือใช้แทนยาเขียวก็ได้


กล้วยที่นิยมใช้ใบส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกกล้วยน้ำว้า กล้วยตานี  นิยมเอาไปทำเป็นบายศรีหรือเย็บกระทง ทำข้าวต้มมัด ห่อหมก ทำขนม  แต่ลักษณะที่ใช้ใบได้จะสังเกตเห็นแป้งขาวและลื่น ๆ แต่ถ้าไม่มีแป้งขาวตองจะขม   ส่วนกล้วยที่ไม่นิยมปลูกก็มี เช่น กล้วยเค้ เป็นกล้วยที่พบเห็นอยู่ตามธรรมชาติ นิยมใช้ตองทำเมี่ยง ไม่กินลูกปล่อยให้เป็นอาหารของสัตว์ป่า


ที่สำคัญ ชัยฤทธิ์ได้ข้อสรุปตนเองว่าทำให้รู้ตัวเองว่าต้องเป็นคนขยันและช่างสังเกต  นำความรู้ที่ได้ถ่ายทอดสู่คนอื่น ๆ ทุกวันนี้ก็มีคนที่สนใจมาสอบถามและพูดคุยกันอยู่เป็นประจำ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนจากพื้นที่อื่น ส่วนคนในพื้นที่มีไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่คิดว่าการปลูกกล้วยรายได้ไม่ดี                  
                “ชัยฤทธิ์” คือตัวอย่างหนึ่งของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น  หรือ วิทยากรกระบวนการในท้องถิ่น ของ โครงการวิจัยพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล-อำเภอ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและขยายจำนวนวิทยากรกระบวนการในท้องถิ่น โดยพัฒนาทักษะการรวบรวมความรู้ การใช้ความรู้   การสนับสนุนกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้นำได้มีโอกาสคิดร่วมกัน ทำงานร่วมกัน อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เกิดการรวบรวมข้อมูล แสวงหาความรู้ ใช้ข้อมูล/ความรู้ และยกระดับความรู้ ทำให้ชาวบ้านตระหนักเห็นความสำคัญของความรู้และการใช้ความรู้ วิทยากรกระบวนการจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญให้คนในสามารถคิดเองทำเองได้ 


แต่ก่อนชัยฤทธิ์ เป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นอะไรในการประชุมเครือข่าย เพราะชัยฤทธิ์เป็นคนที่พูดเสียงเบามากและใช้ภาษาพื้นถิ่นของภูผาม่านแท้ ๆ โดยไม่ยอมใช้ภาษาลาวอีสานเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อมีเวทีให้ทุกคนที่ศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ได้นำเสนอผลการศึกษาของตนเองทุกเดือน ชัยฤทธิ์ก็ได้นำเสนอโดยที่ไม่ต้องแย่งใครพูด ชัยฤทธิ์จึงมักจะใช้โอกาสนี้สอดแทรกปรัชญาของตนเองลงไปเรื่อย ๆ  นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังมีกระบวนการติดตามสมาชิกที่กู้เงินจากเครือข่ายไปใช้ทำกิจกรรมทางการเกษตรว่า สมาชิกได้นำเงินไปลงทุนจริงหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรในการทำกิจกรรม เป็นต้น ทำให้หลาย ๆ คนในเครือข่ายได้เห็นรูปธรรมที่ชัยฤทธิ์ทำ จึงเกิดความเชื่อถือ และเมื่อครบรอบการเลือกประธานเครือข่ายคนใหม่ ชัยฤทธิ์จึงได้รับเลือกให้เป็นประธาน และได้เป็นแกนนำร่วมกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ เรื่อยมา.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17173เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อยากได้พันธุ์กล้วยก้ายไม่ทราบว่าจะหาได้ที่ไหนค่ะ

อยากได้เกี่ยวกับประโยชน์ของส่วนประกอบต่างๆของกล้วย

ดีม้กๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ555555555555

ดีสุดยอดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ5555555555555555555555555555++++++++++++++++++++

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท