จะเป็นผู้ “บริโภคสื่อ” ที่ดีได้อย่างไร


พันธกิจทางสังคมของสื่อมวลชนมิได้มีเพียงการให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความบันเทิงเพลิดเพลินแก่สมาชิกในสังคม ช่วยรณรงค์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ฯลฯ ตามหน้าที่หลักของสื่อแบบเดิมๆ อย่างที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน เมื่อสื่อถูกผนวกเข้ากับกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง สื่อยังถูกใช้ประโยชน์เพื่อกำหนดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของเราในฐานะผู้บริโภคสื่อให้เป็นไปในแบบที่สื่อ รวมทั้งกลุ่มทุนทางเศรษฐกิจและกลุ่มอำนาจต่างๆต้องการอีกด้วย
 
            สื่อสามารถทำในสิ่งดังกล่าวได้ ก็เพราะสื่ออยู่ในฐานะของผู้รักษาช่องทางข่าวสาร (gatekeeper) คัดเลือก กลั่นกรองเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ที่จะรายงานสู่สาธารณชน สื่อเป็น ผู้กำหนดว่าอะไรที่เราจะได้อ่าน ได้เห็น หรือได้ยินได้ฟัง นอกจากนี้ สื่อยังแสดงตนในฐานะของการเป็นผู้กำหนดวาระทางสังคม (agenda setter) เพื่อเสนอแนะว่า เราควรจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นที่สื่อนำเสนอมา ซึ่งสื่อแต่ละชนิดนั้นต่างก็มีวิธีการในการสร้างวาระ (agendas) ที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติหรือคุณลักษณะของสื่อแต่ละประเภท เช่น สื่อโทรทัศน์จะใช้วิธีการทำงานของกล้อง การใช้ภาพกราฟฟิค การวางตำแหน่งของข่าว (นำเสนอในตอนเริ่มต้นหรือท้ายสุด)  หรือการสร้างเหตุการณ์เสมือนจริงในการนำเสนอข่าว ในขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์นั้น เราจะรู้ได้ว่าฉบับไหนให้ความสำคัญต่อเรื่องราวหรือประเด็นใดมากน้อยต่างกัน สามารถสังเกตได้จากปริมาณของเนื้อหาข่าวที่สื่อนำเสนอ (มากหรือน้อย) ลักษณะของการจัดวางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
 
            จากพันธกิจที่เปลี่ยนไปของสื่อดังกล่าว เราในฐานะผู้รับสารหรือผู้บริโภคสื่อควรจะพัฒนาตนให้มีความสามารถในการรับสารจากสื่อที่เราบริโภคอย่างรอบคอบ คำถามก็คือว่า แล้วเราจะเป็นผู้บริโภคสื่อที่ดีได้อย่างไร คำตอบที่เสนอเป็นทางเลือกส่วนหนึ่งก็คือ เราควรจะตระหนักในประเด็นดังต่อไปนี้ ในระหว่างที่เราแปลความหมายจากสิ่งที่สื่อนำเสนอมา
 
            1. ในการทำงานของสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งบริษัทโฆษณาต่างๆ ล้วนผ่านกระบวนการพิจารณาคัดเลือกกลั่นกรองอย่างมากว่า เราในฐานะผู้ชมจะได้เห็นอะไร และเห็นอย่างไร (what you see and how you see it) ไม่ว่าเราจะอ่านจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ ขอให้จำไว้เสมอว่า ในกระบวนการทำงานของสื่อนั้นยังมีเบื้องหลังเบื้องลึก มี “ใคร” ที่คอยตัดสินใจว่า อะไรจะเลือกมานำเสนอ อะไรที่จะเป็นประเด็นสำคัญ และประเด็นนั้นจะถูกนำเสนอย่างไร
 
            2. สิ่งที่ควรระวังที่สุดสำหรับเราในฐานะผู้บริโภคก็คือ ต้องไม่พึ่งพาแหล่งข่าวสารจากแหล่งข่าวสารใดเพียงแหล่งเดียวหรือจากสื่อเดียว หากว่าเราใช้แหล่งข่าวสารจากหลายๆแหล่งด้วยกันจะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่า เนื้อหาที่สื่อแต่ละสื่อนำมาเสนอนั้นแตกต่างกันอย่างไร เช่น หากดูข่าวจากทีวีช่องหนึ่งก็ควรจะดูข่าวในประเด็นเดียวกันนั้นจากทีวีช่องอื่นด้วย หรือเลือกดูทั้งจากทีวี และอ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วย
 
            3. ถึงแม้ว่าเป้าหมายหลักของสื่อมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และโทรทัศน์ จะต้องการนำเสนอข่าวสารให้กับผู้รับ แต่ทว่าแต่ละสื่อนั้นก็นำเสนอข่าวในวิถีทางที่จะนำผลประโยชน์มาสู่บริษัทของตนด้วยกันทั้งนั้น ขณะเดียวกัน เป้าประสงค์ที่ขัดแย้งกันดังกล่าวอาจทำให้บางสื่อทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ผู้รับสารซื้อสิ่งพิมพ์ของตนหรือดูรายการของตน
 
            4. สื่อบางสื่อมีอคติส่วนตัว มีขนบธรรมเนียมองค์กร หรือตัวบุคคลในสื่อนั้นๆ มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันไป ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการนำเสนอข่าวสารของสื่อทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อเรารับสารจากสื่อ ขอให้ตระหนักถึงอคติในสื่อและปัจจัยต่างๆ ที่อาจแทรกมาระหว่างบรรทัดที่เราอ่านหรือดูสื่อนั้นๆด้วย
 
            5. จะเป็นผู้บริโภคที่ดีได้ก็จะต้องเรียนรู้ให้มากที่สุดถึงธรรมชาติและการทำงานของสื่อหรือแหล่งข่าวสารทุกชนิดด้วย (รวมถึงสื่อบุคคล สื่อพื้นบ้าน และสื่อประชาสัมพันธ์พิเศษต่างๆ) พร้อมๆกันนั้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และประเมินต่อสิ่งต่างๆที่เราได้รับจากการบอกเล่าต่อๆ กันมา หรือรับมาจากสื่อ หรือสารจากโฆษณาในสื่อประเภทต่างๆ
 
            คำตอบทั้ง 5 ข้อดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามในการหาทางเลือกเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในระหว่างการบริโภคสารจากสื่อ เพื่อให้เราได้เป็นผู้บริโภคสื่อที่ดีด้วยกัน แล้วคุณหละมีคำตอบของตัวเองอย่างไร อยากให้มาแลกเปลี่ยนกัน มารวมพลังกันในการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาพของตัวเราทุกคน
 
โดยอาจารย์นิษฐา หรุ่นเกษม

 

โครงการ สื่อสร้างสรรค์สุขภาพ

update 28/02/2006

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17105เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

what  you doing?  tomy complace  what mee to  you ?

อ่านข้อมูลแล้วน่าสนใจมากค่ะ  หากต้องการนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ต้องขออนุญาต  หรือดำเนินการเช่นไรบ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท