ไฟของลุงจวน : กับการรีไซเคิลของเหลือใช้เป็นเครื่องมือสร้างสายใยชุมชน


กำจร หลุยยะพงศ์
28 ธันวาคม 2548
            มีคนบอกว่า คนแก่ก็คือไม้ใกล้ฝั่งที่รอเพียงวันตายเท่านั้น แต่สำหรับลุงจวน ผลเกิด ราษฎรอาวุโสแห่งจังหวัดพิจิตร คำกล่าวนี้อาจใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว เพราะลุงจวนมองว่า ความแก่ชรากลับเป็นดังประสบการณ์ล้ำค่าที่จะส่งทอดให้กับลูกหลานสืบต่อไป
            เบื้องหน้าของผมคือ ลุงจวน ผลเกิด อายุอานามเฉียด 70 ปี ผมสีเงินทั่วศีรษะ ร่างกายบอบบาง แต่แววตากลับมีไฟแรงกล้า แกบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมในงาน “พี่ช่วยน้อง” จัดโดยโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข ด้วยการสนับสนุนจาก สสส. ว่า สนใจจะร่วมทำโครงการ “หล่อเทียนหลอมใจคนในชุมชน” เพื่อการพัฒนาสุขภาพชีวิตของชุมชนในจังหวัดพิจิตร
            ผู้เฒ่าจวนเล่าให้ฟังเพิ่มว่าแกเป็นหนึ่งในสมาชิกชมรมผู้สูงอายุแห่งจังหวัดพิจิตรที่มีจำนวนสมาชิกประมาณ 340 คน จาก 9 หมู่บ้าน ผู้สูงอายุมารวมตัวกันได้ก็เพราะมาตรวจสุขภาพประจำสามเดือน และเมื่อรู้จักกันแล้วก็ร่วมคิดว่า แม้วัยของพวกตนจะค่อย ๆ เจือจางลงไปพร้อมกับการเดินทางของเข็มนาฬิกาที่รุกหน้าไปเรื่อย ๆ หากนั่งรอความตาย โดยไม่ได้ทำอะไรให้กับลูกหลาน ความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมมาก็จะสูญสลายไปเฉย ๆ ด้วยเหตุนี้ ลุงจวนกับเพื่อน ๆ เช่น ลุงหนูหริ่น ทองภูบาล และลุงณรงค์ แสงจันทร์ หันมาจับมือร่วมมือกันทำกิจกรรมของผู้สูงอายุเพื่อชุมชน
            ในระยะแรกก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ ถือเป็นขั้นเตรียมตัวกลุ่มผู้สูงอายุ ลุงจวนกับผองเพื่อนซึ่งอายุศิริรวมมากกว่า 1000 ปี ริเริ่มทำกิจกรรมทำกลองรำมะนา เพื่อให้ผู้สูงอายุได้หันมาย้อนอดีตถึงศิลปะแห่งดนตรีไทย ร่วมร้อง เต้นรำ อันช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความสุขสบายทั้งกายและใจ รวมถึง ได้สานสายใยความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้สูงอายุอีกด้วย
            หลังจากนั้น เมื่อสุขภาพกาย ใจ และสังคมของบรรดากลุ่มผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตรเข้มแข็งยิ่งกว่านักเตะทีมชาติแล้ว ลุงจวนกับพรรคพวกก็เริ่มคิดถึงบรรดาลูกหลานและคนในชุมชนจังหวัดพิจิตรว่า มิได้แต่เพียงคนเฒ่าคนแก่จะมีความสุขเท่านั้น คนในชุมชนก็น่าจะมีความสุขได้เช่นกัน แต่ภายใต้ความผันแปรทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคดาวเทียมเช่นนี้ ความสุขของคนในชุมชนดูเหมือนว่าจะแปรเปลี่ยนไปเสียแล้ว ลุงจวน หยุดถอนหายใจชั่วครู่ และเล่าต่อว่า คนในชุมชนต่างไม่รู้จักกันซึ่งกันและกัน บางคนลืมไปว่าเคยเป็นพี่น้อง ต่างคนต่างทำงาน และหลายคนก็คำนึงถึงเรื่องเงินเป็นหลัก จนกระทั่งลืมนึกถึงความสุขที่แท้จริงจากร่มพระพุทธศาสนา
            เพื่อการสร้างเสริมชุมชนให้เข้มแข็งทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญาแห่งพุทธศาสนา บรรดาผู้เฒ่าจึงได้คิดหาหนทางแก้ไขด้วยการคิดกิจกรรม “หล่อเทียนหลอมใจคนในชุมชน” ขึ้นมา
            ลุงจวนถามผมว่า รู้จักงานหล่อเทียนหรือไม่ ผมตอบไปพลันว่า ไม่รู้จักไม่เคยเห็น แต่รู้ว่าในช่วงก่อนเข้าพรรษา ผู้คนก็จะเอาเทียนไปถวายวัด ลุงจวนยิ้มอย่างอารมณ์ดีและกล่าวว่า คนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณนั้น มองเทียนก็เป็นเพียงวัตถุหนึ่งที่ถวายวัดเท่านั้นเอง เผลอ ๆ บางคนก็เลิกถวายเทียนเปลี่ยนเป็นหลอดไฟนีออนแทนแล้ว แต่สำหรับลุงจวนการหล่อเทียนมีอะไรมากกว่านั้น
            ในเชิงสัญลักษณ์เทียนหรือประทีปเปรียบประดุจปัญญาในพระพุทธศาสนา เมื่อจุดเทียนก็เท่ากับการจุดแสงสว่างที่จะนำพาสู่ความสุขและปัญญา คนในยุคอดีตจึงนิยมที่จะถวายเทียนแด่วัดเพื่อเพิ่มพูนทั้งปัญญาและการให้แสงสว่างแก่พระศาสนามากยิ่งขึ้น
            ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้น คนโบราณยังมองเทียนในมิติของการเป็นเครื่องมือหลอมรวมใจของชาวพุทธในชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากว่า เทียนแต่ละเล่มที่จะถวายแด่วัดนั้น มิได้ซื้อหามาจากร้านขายของชำหรือห้างใหญ่โต แต่กลับนำมาจาก “น้ำตาเทียน” ของแต่ละบ้านแต่ละเรือน ที่จะรวบรวมเก็บเล็กผสมน้อยและนำมาหลอมรวมกันในวันเดียวกัน เพราะคนในอดีตเชื่อกันว่า การทำบุญกับวัดนั้น ควรที่จะร่วมด้วยช่วยกันทำบุญ ตลอดจน ยังถือเป็นสัญญาณแห่งความร่วมมือร่วมใจและการเป็นญาติพี่น้องของคนในชุมชนด้วยกัน
            ยามพายุแห่งสังคมสมัยโลกาภิวัตน์พัดผ่านมา ความเชื่อของศาสนาพุทธอ่อนลงไปพร้อมกับการเติบใหญ่ของลัทธิทุนนิยม คุณลุงถึงกับเอ่ยปากว่า “ความเอื้ออาทรที่เคยมีมาในหมู่บ้านก็ลดหายไป” การร่วมแรงใจเก็บน้ำตาเทียนตามเรือนต่าง ๆ ก็ลดน้อยลง และแทนที่ด้วยการซื้อหาเทียนจากห้างขนาดใหญ่ หรือมิฉะนั้น ผู้คนก็มองว่า ก็ซื้อหลอดไฟนีออนถวายวัดไม่ดีกว่าหรือ?
            ผู้เฒ่าหันมาถามผมอีกว่า หลอดไฟนีออนแตกต่างจากเทียนอย่างไรรู้ไหม ผมส่ายหน้า ผู้เฒ่ายิ้มให้กับผมและเฉลยว่า หลอดไฟนีออนแม้จะมีข้อดีคือแสงสว่างกว่า แต่ทว่า มันเป็นแสงที่หมดได้ตลอดจนสิ้นเปลืองพลังงาน และที่สำคัญคือมันไม่สามารถรีไซเคิลได้ ต่างไปจากเทียนที่หล่อขึ้นมาจากการหลอมรวมดวงใจของคนในชุมชน ที่ทั้งสามารถนำน้ำตาเทียนกลับมาหลอมใหม่เป็นเทียนแท่งใหม่ รวมถึง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก็ยังคงถูกต่อเติมและหล่อหลอมกันตลอดไปตราบใดที่ยังมีการหล่อเทียนเพื่อจรรโลงศาสนาอยู่
            ดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนที่เคยถูกประกาศมา เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การเมืองประชาธิปไตย และอื่น ๆ นั้น อาจต้องเติมขึ้นอีกข้อหนึ่งก็คือ หากชุมชนใดยังร่วมกันหล่อเทียนก็ย่อมเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นพลังอันเข้มข้นของชุมชน
            คุณลุงหยุดจิบน้ำและเล่าให้ฟังต่อว่าในช่วงแรกของการทำกิจกรรมในปี 2543 มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการเพียงหนึ่งหมู่บ้าน แต่ภายหลังจากนั้น เมื่อคนในหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดพิจิตรได้เห็นกิจกรรมที่บรรดาผู้สูงอายุได้เข้าร่วมกันทำเพื่อสร้างสายสัมพันธ์แก่ลูกหลานแล้ว ก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับในปีที่ผ่านมาได้ทำบุญถวายเทียนแก่วัดถึง 7-8 วัด และสำหรับในปีนี้ซึ่งจะทำโครงการร่วมกับสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข คุณลุงจวนหมายมั่นปั้นมือที่จะทำการหล่อเทียนให้มากถึง 9-10 วัด
            เคล็ดลับสำคัญที่ลุงจวนและชาวคณะผู้สูงอายุดำเนินงานก็คือการวางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบ แม้งานหล่อเทียนจะมีขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาก็ตามที แต่คุณลุงกลับเตรียมวางแผนการทำงานตลอดปี หรือเรียกว่า “ทำงานวันเดียว(แต่)เกี่ยวทั้งปี”
            คุณลุงเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่การประสานงานกับแกนนำหมู่บ้านต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายผู้สูงอายุ อบต. วัด และโรงเรียน โดยประกาศให้ร่วมกันเก็บน้ำตาเทียนตั้งแต่เนิ่น ๆ หลังจากนั้น คุณลุงจวนก็ใช้เทคนิคเชิงรุกด้วยการสอนเบื้องหลังวิธีคิดเกี่ยวกับเทียน รวมถึงวิธีการหล่อเทียนให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อให้เด็กและครูได้ทดลองการทำเทียนแบบง่าย ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเทียน การทำความสะอาดเศษเทียน และการหลอม เมื่อเด็กและครูเข้าใจก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญที่จะกระตุ้นคนในชุมชนเพื่อการหล่อเทียนในงานใหญ่ ซึ่งจะประกอบไปด้วยน้ำตาเทียนของคนทั้งชุมชน ยิ่งกว่านั้น ยังจะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการหล่อเทียนอีกด้วย
            จากการทำงานมาหลายปี คุณลุงจวนพบว่า นอกเหนือจากจำนวนคนเริ่มเข้ามาหล่อเทียนร่วมใจกันในชุมชนมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้มีเงินเหลือในการทำบุญ เพราะไม่ต้องซื้อเทียนหรือหลอดนีออน แต่นำสิ่งเหลือใช้คือ “น้ำตาเทียน” มารีไซเคิลเป็นประทีปแห่งปัญญา เงินส่วนที่ได้มานั้น แม้จะไม่มากนักแต่ก็สามารถนำมาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนได้อีก เช่น การทำเกษตรปลอดสารพิษ การซื้ออุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ได้อีกด้วย
            ความสำเร็จของการรีไซเคิลน้ำตาเทียนเพื่อทำเทียนถวายวัด ไม่เพียงแต่การจุดแสงสว่างแก่พระพุทธศาสนา เปลวเทียนที่จุดขึ้นนั้นยังถือเป็นการจุดประกายให้เห็นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เคยมอดดับลงจากลมแห่งภายุทุนนิยมที่โหมกระหน่ำให้กับฟื้นพลังขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
            ณ ขณะนี้ คุณลุงจวนได้เผยแพร่ความรู้และแนวทางการหล่อเทียนรวมใจของชุมชนคนพิจิตรให้กับคนในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ในจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอื่น ๆ ที่สนใจ และสำหรับคนที่สนใจคุณลุงก็เชื้อเชิญให้ไปลองดูงานหล่อเทียนของชุมชนในปีนี้
            คุณลุงทอดสายตามองไปข้างหน้าพร้อมคาดหวังว่า ไฟจากเทียนที่คุณลุงพยายามจุดขึ้นให้กับลูกหลานเพื่อต่อสู้กับวิกฤติการณ์ของโรคสมัยใหม่ น่าจะทวีขึ้นไปเรื่อย จากหนึ่งเป็นสอง สาม สี่ และในอนาคตน่าจะลุกติดขึ้นทั่วไทยได้ และเมื่อเทียนแห่งความสามัคคีและพลังปัญญาสุขสว่างทั่วไทย ยามนั้น สังคมไทยก็จะมีความสุขเฉกเช่นเดียวกันกับคุณลุงในขณะนี้

update 28/02/2006

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17087เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นภาพบรรยากาศจังครับ เอาภาพมาแสดงได้ไหม

 

ปฏิบัติการ...ฉีกใบมะม่วง
เรื่องนี้เป็นการผลิกฟื้นคุณค่าดั้งเดิม คือ ความศรัทธาในพระศาสนา แล้วยังขยายผลจากกลุ่มอุบาสก อุบาสิกา ไปสู่กลุ่มนักเรียนได้อย่างสนุกท้าทาย เด็กๆ ต้องจำเทียนที่ตนหล่อไปอีกนาน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท