นิติกาญจน์


องค์ของรัฐในความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

องค์ของรัฐในความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1.  หลักทฤษฎีทั่วไปในการคุ้มกันผู้แทนรัฐ

-  ทฤษฎีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  หมายถึง  การให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของดินแดน   แม้อยู่ในดินแดนของรัฐอื่น ก็ควรได้รับการปฏิบัติเสมือนอธิปไตยของรัฐที่ส่งผู้แทนไป

-  ทฤษฎีลักษณะตัวแทน  หมายถึง  การให้ความสำคัญกับผู้แทนของรัฐ  เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญ ได้แก่ ประมุขของรัฐ  รัฐมนตรีต่างประเทศ  ทูตหรือกงสุล อันเป็นบุคคลที่ควรได้รับการเคารพในเกียรติยศ ศักดิ์ศรีจากการแต่งตั้งไป

-  ทฤษฎีความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่  หมายถึง  การให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการทำงานจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ และปราศจากความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ อันจะกระทบต่อตนเองและครอบครัวได้

2.  องค์กรภายในของรัฐที่ไปมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

-  ประมุขของรัฐ  โดยถือว่าเป็นองค์กรสูงสุดในความสัมพันธ์กับต่างประเทศ แต่ปัจจุบันประมุขของรัฐมีบทบาทในด้านนี้น้อยลงกว่าเดิมมาก  เนื่องจากวิวัฒนาการทางการเมืองและการปกครองได้เปลี่ยนแปลงและมีความสับซ้อนมากขึ้น  จึงทำให้ประมุขของรัฐต้องมอบอำนาจให้แก่องค์กรอื่นไปดำเนินการแทนเกือบทั้งหมด

-  รัฐมนตรีต่างประเทศ  โดยถือว่ารัฐมนตรีต่างประเทศนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในด้านการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ  โดยถือได้ว่าเป็นองค์กรหลักที่สำคัญรองลงมาจากประมุขของรัฐเลยที่เดียว  การกระทำของรัฐมนตรีต่างประเทศจะผูกพันรัฐ  ในกรณีที่เดินทางไปติดต่อกับต่างประเทศจะได้รับเกียรติ  เอกสิทธิ  และความคุ้มกันอย่างสมบูรณ์จากรัฐต่างประเทศ

                3.  องค์กรภายนอกของรัฐที่ไปมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3.1  ผู้แทนทางการทูต  ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐนั้นมีมาเป็นเวลาช้านานจนกลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  และได้มีการประมวลหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 ซึ่งมีรัฐต่างๆ เป็นภาคีและประเทศไทยเองก็เข้ามาเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว  และได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ. 2527 เพื่ออนุวัติการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว  ดังนั้นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว  การที่รัฐสองรัฐหรือกว่านั้นแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการทูตไปประจำอีกรัฐหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่รัฐทั้งสองหรือรัฐเหล่านั้นตกลงยินยอมกันโดยรัฐผู้ส่งจะแต่งตั้งตัวแทนทางการทูตไปประจำยังรัฐผู้รับ  โดยรัฐผู้รับต้องให้ความเห็นชอบต่อบุคคลที่รัฐผู้ส่งแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน และลักษณะการแต่งตั้งจะต้องมี ตราสารแต่งตั้งจากผู้ที่มีอำนาจเต็มจากรัฐผู้ส่งเสมอ

บุคคลในคณะทูต  ที่ได้รับความคุ้มครองประกอบด้วย

ก.  ตัวแทนทางการทูต  ซึ่งได้แก่หัวหน้าคณะหรือบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทน

ข.  บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ

ค.  คนรับใช้ส่วนตัว

                ลำดับชั้นของผู้แทนทางการทูต  หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตที่รัฐบาลผู้ส่งอาจส่งไปประจำยังรัฐผู้รับนั้นแบ่งเป็น 3 ชั้นคือ

1.  ชั้นเอกอัครราชทูต  หรือเอกอัครสมณทูต  ซึ่งแต่งตั้งไปยังประมุขของรัฐผู้รับ ตลอดทั้งหัวหน้าคณะผู้แทนอื่นที่มีชั้นเทียบเท่า

2.  ชั้นรัฐทูต  อัครราชทูตและอัครสมณทูตซึ่งแต่งตั้งไปยังประมุขของรัฐผู้รับ

3.  ชั้นอุปทูต  ซึ่งแต่งตั้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ

                อำนาจหน้าที่ของผู้แทนทางการทูต

-  เป็นตัวแทนของรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ

-  ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและบุคคลในสัญชาติของรัฐตนเองภายใต้ข้อกำหนดแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ

-  เจรจากับรัฐที่ตนประจำอยู่และอาจลงนามในสนธิสัญญาแต่ต้องกระทำภายใต้อำนาจของรัฐตน

-  สืบเสาะสภาวะหรือเหตุการณ์ รวมทั้งวิวัฒนาการของเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งรัฐตนโดยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย

-  ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับ รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ  วัฒนธรรม  และวิทยาศาสตร์

                สิทธิพิเศษของผู้แทนทางการทูต

1.  สิทธิล่วงละเมิดมิได้  หมายถึง  สิทธิล่วงละเมิดมิได้ในตัวบุคคลของผู้แทนทางการทูต  ที่มีอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 มาตรา 29  กำหนดไว้ว่าตัวผู้แทนทางการทูตจะถูกละเมิดมิได้  ตัวแทนทางการทูตจะไม่ถูกจับกุม  หรือกักขังในรูปใด  ให้รัฐผู้รับปฏิบัติต่อตัวแทนทางทูหมดที่จะป้องกันการประทุษร้ายใดต่อตัวบุคคล  เสรีภาพ  หรือเกียรติของตัวแทนทางทูต 

                สิทธิล่วงละเมิดครอบคลุมถึงสิทธิในสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ด้วย  สถานทูตจะได้รับความคุ้มกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้  ทั้งนี้รวมไปถึงที่อยู่อาศัยส่วนตัวของผู้แทนทางการทูตด้วย

2.  สิทธิได้รับยกเว้นทางศาล  หมายถึง  เป็นการประกันการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระของคณะทูตซึ่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1961 มาตรา 31 ระบุว่าให้สิทธิผู้แทนทางการทูตไม่อาจถูกฟ้องร้องต่อศาลของรัฐที่ตนประจำอยู่  ซึ่งรวมทั้งคณะในทางแพ่ง หรือคดีอาญา  แม้ว่าจะเป็นการกระทำในหรือนอกหน้าที่ก็ตาม

                ข้อยกเว้นที่ผู้แทนทางการทูตอาจถูกฟ้องได้

                อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 มาตรา 31 ตอนท้ายบัญญัติว่า ตัวแทนทางทูตจะได้รับความคุ้มกันจากเขตอำนาจทางอาญาของรัฐผู้รับและตัวแทนทางทูตจะได้รับความคุ้มกันจากเขตอำนาจทางแพ่งและทางปกครองของรัฐผู้รับด้วย  เว้นแต่ในกรณีของ

ก.  การดำเนินคดีทางทรัพย์สิน  หรือสิทธิครอบครองเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวของตัวแทนทางทูต  ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนของรัฐผู้รับ  เว้นแต่ตัวแทนทางทูตจะยึดถือครอบครองทรัพย์นั้นในนามของรัฐผู้ส่ง

ข.  การดำเนินคดีเกี่ยวกับการสืบมรดก  ซึ่งเกี่ยวพันถึงตัวแทนทางทูต ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  หรือผู้จัดการมรดกโดยศาลตั้ง หรือผู้รับมรดกในฐานะเอกชนและมิใช่ในนามของรัฐผู้ส่ง

ค.  การดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจกรรมใดในทางวิชาชีพหรือพาณิชย์  ซึ่งตัวแทนทางทูตได้กระทำในรัฐผู้รับ นอกเหนือจากหน้าที่ทางการของตน  และโดยปกติแล้วตัวแทนทางทูตจะต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดทางวิชาชีพหรือพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในรัฐผู้รับ

                3.  สิทธิการได้รับยกเว้นภาษี  นอกจากนั้นผู้แทนทางการทูตจะได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีโดยตรง เช่น ภาษีจากเงินได้ หรือภาษีโดยทางอ้อม เช่น ภาษีน้ำมัน เหล้า บุหรี่ หรือภาษีขาเข้าและภาษีขาออกการเดินทาง

3.2  กงสุล  หมายถึง  ตัวแทนของรัฐในต่างประเทศแต่ไม่มีฐานะเป็นตัวแทนทางการทูต  ไม่มีอำนาจในการเจรจาเว้นแต่ว่าจะได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ  โดยทั่วไปมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ทางการค้าของบุคคลในสัญชาติตนในขอบเขตท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง  ภายใต้ความรับผิดชอบในสัญชาติตนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอื่นๆ  และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรมระหว่างรัฐทั้งสอง  รวมทั้งทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ออกหนังสือรับรอง  ออกวีซ่า  จดทะเบียนสมรส เป็นต้น

                ประเภทของกงสุล แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1.  กงสุลประจำตำแหน่งมีฐานะเป็นข้าราชการของรัฐ

2.  กงสุลกิตติมศักดิ์  ไม่มีฐานะเป็นข้าราชการของรัฐ  ส่วนใหญ่จะแต่งตั้งจากบุคคลจากรัฐที่รับกงสุลนั้นเอง ซึ่งตามปกติจะเป็นนักธุรกิจในท้องที่นั้นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐผู้ส่ง

                สิทธิพิเศษของกงสุล

1.  สิทธิพิเศษของกงสุล  เนื่องจากกงสุลไม่ได้มีฐานะเป็นผู้แทนทางการทูตจึงไม่ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันอย่างสมบูรณ์  กฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับกงสุลได้รับการกำหนดไว้ในอนุสัญญาเกี่ยวกับกงสุลในปี ค.ศ. 1963  ซึ่งยอมรับให้กงสุลได้รับสิทธิในการล่วงละเมิดมิได้  นอกจากนี้รัฐที่รับกงสุลจะต้องปฏิบัติต่อกงสุลด้วยความเคารพและมีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการประทุษร้ายต่อกงสุล  หรือการใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่ออิสรภาพและเกียรติของกงสุล  และยังรวมถึงสถานที่ทำการกงสุล  โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประจำอยู่จะเข้าไปโดยมิได้รับอนุญาตไม่ได้  เอกสารต่างๆ ต้องไม่ถูกตรวจค้นหรือยึด ในลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิที่ผู้แทนทางการทูตได้รับ

2.  สิทธิได้รับการยกเว้นในทางศาล  ซึ่งกงสุลจะไม่อยู่ภายใต้อำนาจศาลของรัฐที่ไปประจำเฉพาะกิจการที่กระทำในหน้าที่ของกงสุลเท่านั้น  กงสุลจะต้องรับผิดชอบกรณีความผิดที่ก่อให้เกิดขึ้น โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำตามหน้าที่ จะเห็นได้ว่ากงสุลได้รับสิทธิการยกเว้นในทางศาลนั้น กงสุลจะไม่ได้รับอย่างสมบูรณ์ดังเช่นกรณีของผู้แทนทางการทูต

3.  สิทธิได้รับการยกเว้นภาษี  โดยรวมไปถึงกงสุลกิตติมศักดิ์ด้วย  เว้นแต่ว่ากงสุลนั้นเป็นบุคคลในสัญชาติของรัฐผู้รับหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐนั้น

 

 

ที่มา :  นพนิธิ  สุริยะ  กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  , สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและเอกอัครราชทูตไทย  กฎหมายระหว่างประเทศ , กฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  วันที่ 14 มีนาคม 2551  เวลา 13.50

 

 

หมายเลขบันทึก: 170847เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท