ทบทวนบทเรียนเล็กๆที่เก็บได้ระหว่างทางการทำงาน มีนาคม 47 - กุมภาพันธ์ 49


วันนี้ผมต้อง update โปรแกรมป้องกันไวรัส  ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่เราต้องทำเสมอ เพื่อป้องกันการโจมตีที่คาดไม่ถึงจากเจ้าไวรัสหน้าใหม่     เลยนึกขึ้นมาได้  เราไม่ค่อยได้ update สิ่งที่เราได้เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์  จากการลงมือทำ  จากหน้างานที่ต้องคอยคิดตลอดเวลา    พอคิดว่าจะทำซะหน่อย   คำถามที่ตามมาคือ  "แล้วต้องทำอย่างไร?"  

จึงตอบตัวเองไปว่า  "เอาเป็นว่า  ทำตามความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาก่อน"  โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าท่า  หรือไม่เข้าท่า   เพราะทั้งสองประการมันสามารถเกิดขึ้นในตัวเราเสมอ

เอาละ  ถ้าอย่างนั้น  ลงมือเลยแล้วกัน 

บทแรก    ผมได้รู้จักว่าสิ่งที่ผมร่ำเรียนมายาวนานนั้น  99.99%  เป็น "ความรู้ที่มาจากฟ้า*" (Explicit Knowledge)  และ  ได้เห็น  ได้พบ  "ความรู้ที่มาจากดิน*"  (Tacit Knowledge)   และเข้าใจว่า   สองฝากฝั่งความรู้ที่ต้องเชื่อมภพภูมิเข้าหากัน    ณ จุดเชื่อมต่อภพภูมิของทั้งสองฝากจึงน่าจะเป็นจุดดุลภาพในจินตนาการของผม

บทที่สอง   เมื่อทบทวนแล้วผมตีความว่า  การพัฒนาที่ผ่านมายึดโยงอยู่กับ "ความรู้ที่มาจากฟ้า"  เป็นหลัก   อาจเป็นเพราะความเคยชินที่เกิดจากการสั่งสมมาในระบบการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ในตำราเป็นหลัก  ติดอยู่ในโลกแห่งการ "เสพความรู้"    ทำให้เห็นภาพการมอง "ความรู้ที่มาจากดิน" พร่ามัวไป  อ่านความรู้แบบนี้ไม่ออก   และถูกฝึกทักษะของการ "สร้างความรู้" น้อยมาก 

บทที่สาม  ความรู้ที่มาจากดิน  เป็นความรู้เล็กๆ  เป็นความรู้ปฏิบัติ  มีบริบทที่ซับซ้อน  ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว   ต้องทดลองใช้ในสภาพจริง  แล้วหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพ  ด้านจินตภาพ  ความรู้สึก  ความพึงพอใจ ฯลฯ ประกอบกันหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน   โดยเฉพาะในบริบทสังคมชนบทไทยจะคุ้นเคยและสั่งสมความรู้รูปแบบนี้อยู่มากโข    แต่ในระบบการศึกษา หรือแหล่งที่ผู้คนมักคิดว่าเป็น "สถานที่รับความรู้จากฟ้า"  ขาดการเชื่อมโยงกับ "ความรู้ที่มาจากดิน"  ทำให้คนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเกิดอาการตัวลอยสูงขึ้น  แต่ก็ไม่ถึงฟ้า  เท้าก็ไม่ติดดิน   มีบัณฑิต  มหาบัณฑิต   และซูปเปอร์มหาบัณฑิตลอยเคว้งคว้างจำนวนมาก 

บททีสี่      ปราการใหญ่ที่ปิดกั้นระหว่าง  "ความรู้ที่มาจากฟ้า"  กับ "ความรู้ที่มาจากดิน"  ไม่ใช่อะไรอื่นไกล   แต่เป็น  "กระบาลทัศน์"  (paradigm) หรือ โปรแกรมที่ฝังหัวในตัวเราเองต่างหาก   การได้เห็น  ได้พบ  ได้พูดคุยกับผู้ที่ลงมือทำสิ่งนั้นมาแล้ว   จะค่อยๆเปลี่ยนโปรแกรมใหม่เข้าไปแทน    และยิ่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่ม  จะช่วยให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดได้ดีกว่าเรียนรู้เดี่ยวๆ

บทที่ห้า    เริ่มเชื่อว่า   "ความรู้"  กับ  "จริยธรรม"  ไม่ได้มาพร้อมกันแบบอัตโนมัติ     ทั้งสองอย่างจึงต้องหากุศโลบายให้ไปควบคู่กันเสมอ  เพราะสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน   ไม่เช่นนั้น  จะกลายเป็นภาพของความ  "ถูกต้อง"  แต่ขัดกับ "จริยธรรม" ของความมนุษย์   ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด

บทที่หก   บอกตัวเองว่า    "จงเริ่มลงทำซะตอนนี้"  อย่าได้อ้างเหตุผลใดๆให้กับตัวเองถึงความไม่พร้อม    เริ่มเรียนรู้จากสิ่งใกล้ๆตัว    มองให้ดีจะเห็นว่ามีเรื่องน่าเรียนรู้อยู่รอบตัวไปหมด    ความรู้มีวันหมดอายุ  เช่นเดียวกับ โปรแกรมคอมพิวเตอร์  หรืออาหาร  ต้องมีการ update หรือ refresh  หรือเอามาอุ่นอีกครั้ง  จึงจะต่ออายุไปอีก    หากเรียนเพียงเพื่อหวังใบประกาศ  กระดาษแผ่นเดียวนั้น   วันที่เราได้รับมัน  คือวันที่มันสิ้นอายุขัยพอดี     "จุดจบของความรู้"  จึงน่าจะเป็นจุดที่ทับกันพอดีของ "จุดเริ่มต้นการเรียนรู้รอบใหม"   การเรียนรู้จึงไม่มีที่สิ้นสุด 

บทที่เจ็ด  เชื่อว่า  การฝึกจิตให้มี  "ใจที่เป็นอิสระ"  จะช่วยให้เราเรียนรู้อย่างมีความสุข   เรียนเพราะกระหายใคร่รู้จริงๆ  ไม่ใช่เพราะคนอื่นสั่งว่าต้องเรียน  ไม่ใช่เพราะเรียนเพื่อเอาใบเบิกทางขอตำแหน่ง    ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้  "ใน หรือ นอกโรงเรียน"   นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกหลายท่านไม่ได้เรียนในโรงเรียนด้วยซ้ำ  ไม่มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว  แต่เพราะเขาเรียนตามที่ "ใจสั่งมา"

*ความรู้ที่มาจากฟ้า - ความรู้ที่มาจากดิน (หรือความรู้จากแผ่นดิน): คำที่ขอยืมมาจาก ดร.โอภาส  ปัญญา  คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร   ม.มหิดล   จากหนังสือ  "ถักทอความรู้จากแผ่นดิน - รวมงานเขียนจากชาวบ้าน", สนับสนุนการพิมพ์โดย  แผนงานสนับสนุนโครงการขนาดเล็กของชุมชนในการจัดการป่า - UNDP 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17060เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน พี่ธวัช ที่นับถือ

     บันทึกนี้เป็นบันทึกที่โดนใจมากครับ ผมและ Dr.Ka-poom ได้อ่านพร้อม ๆ กัน ในสถานที่ต่างกัน และเห็นพ้องต้องกันว่า "โดนใจ" มาก ผมจะติดต่อพี่อีกครั้งเพื่อขอเชิญเป็นที่ปรึกษาในประเด็นที่เรา (ทีม H2O บันทึก... “น้ำ” กับความลงตัวที่เป็น “ไร้ระเบียบและสมดุล” ) กำลังลงมือทำและลงมือค้นหาอยู่ ด้วยความเชื่อที่เหมือนและลงตัวของทีม H2O ทั้ง 3 คน ว่ากระบวนการทางปัญญาของชาวบ้าน (Cognitive Process) เป็นสิ่งที่ “ไร้ระเบียบ” แต่ “สมดุล” โดยมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ สิ่งนี้ (ศักดิ์ศรีแห่งภูมิปัญญา) จึงมีคุณค่าที่ควรแก่การนำมาคืนกลับแก่ชาวบ้าน ให้เขาได้ภาคภูมิใจ และใส่ใจในคุณค่าของเขาเอง (self-esteem)

     พี่เขียนบันทึกนี้ขึ้นเหมือนตอกย้ำความมั่นใจว่า น่าจะยังมีคนเชื่อเหมือนเรา (ทีม H2O) อีกหลายคนครับ โดยเฉพาะพี่คนหนึ่งล๊ะ เชื่ออย่างนั้น อยากขอให้พี่ได้รับว่าจะช่วยเติมเต็มเราต่อไปด้วยครับ

เรียกว่าที่ปรึกษา  แล้วรู้สึกจั๊กจี้  ยังงัยไม่ทราบ

เอาเป็นว่าช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ  เรียนไปพร้อมๆกัน  อะไรแบบนี้   แต่ไม่รู้จะเรียกมันว่าตำแหน่ง  หรือบทบาทอะไร  แต่ตรงนั้นมันไม่สำคัญ   เอาเป็นว่า  "พันพรือกะได้"  ให้มันได้ประโยชน์กับบ้านกับเมืองเรา เป็นใช้ได้ครับ  

ส่วนรายละเอียด เราค่อย ลปรร. ว่ากันตามเนื้อผ้าอีกทีนะครับ

ขอบคุณมากครับ  สำหรับคำชมเล็กๆ  แต่ทำเอาผมตัวลอยหิดๆเหมือนกันแหละครับ

 

ตกผลึก...

เข้ามาอ่าน.."ทบทวนบทเรียนเล็กๆ ที่เก็บได้ระหว่างการทำงาน มีนาคม 47-กุมภาพันธ์ 49" ของคุณ thawat
ยอมรับเลยว่า..นี่คือ...การตกผลึก..ทางความคิดที่ถ่ายทอดออกมาใน "สื่อ"...ที่เรียกว่า Blog...ผ่านการบันทึก
ที่สะท้อนออกมาถึงแนวคิด...ที่เฉียบคม...ต่อเรื่อง "ความรู้"...คนเขียนบันทึก...เป็นผู้เปิดประเด็น
คนมาอ่าน...อ่านแล้วเงียบ...อาจนำไปใช้...หรือไม่ไปใช้...เข้าใจหรือไม่เข้าใจ..ไม่อาจรู้ได้
สิ่งหนึ่งที่ "สื่อ"...นี้จะรับรู้ได้ว่า.."คน"..ที่เข้ามา get หรือไม่..หรือคิดอย่างไร...มีรูปแบบทางปัญญา
(Mental Model)...
อย่างไรต่อประเด็นใน "บันทึก"...ก็สามารถที่จะเรียกได้ว่า..บุคคลที่มาแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ ในรูปแบบ "ให้ข้อคิดเห็น"...ก็เป็นการสะท้อนรูปแบบของ "การจัดการความรู้ได้"
(Knowledge  Management) ที่มีการถ่ายโอนความรู้...ระหว่าง Tacit Knowledge สู่  Tacit Knowledge
Tacit Knowledge สู่ Explicit Knowledge Explicit Knowledge สู่ Explicit Knowledge
และ Explicit Knowledge สู่ Tacit Knowledge..วิ่งวนกันไปตามวังวนของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้
ดังนั้น..คนคนหนึ่ง..จะเข้ามา...สื่อ..และสิ่งแวดล้อมนี้..ด้วยบทบาทอะไร..ก็ตาม...ก็สามารถช่วยขับเคลื่อน...ให้ "ความรู้"..เกิดการไหลเวียนได้...หาใช่แค่..."คนบันทึก"..คนเดียวเท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความรู้
เพราะหากสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้นั้น...มีเพียงแค่..บทบาทเดียว...ก็อาจจะยากที่จะ...เกิดความ "สมดุล" ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท