การสร้างแบบสังเกตพฤติกรรม


เครื่องมือวัดพฤติกรรม

การพัฒนาเครื่องมือ โดยใช้แบบสังเกต : อภิปรายกลุ่มการลดโลกร้อน ในชีวิตประจำวันสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม 

ระดับปริญญาตรี  ชั้นปีที่  3

ชาญชัยณรงค์ ทรงคาศรี

*นิสิตปริญญาเอก สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 ......................................................................................................................................................................

บทคัดย่อ

การศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องมืดวัดและประเมินผลโดยใช้แบบสังเกตแบบตรวจรายการและสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการลดโลกร้อนด้วยใจ ไม่ใช่กระแส และมีการสังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของกลุ่มนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในประเด็นแนวคิดการลดโลกร้อนในชีวิตประจำวัน ทำให้ได้รูปแบบขั้นตอนของการพัฒนาแบบสังเกต เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่ม มีดังต่อไปนี้ คือ

1. สรุปรายการเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใช้ในงานวิจัยหรือประเมินโครงการ 

          2. การตั้งชื่อเครื่องมือและกำหนดโครงสร้างของเครื่องมือเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist)

          3. เลือกรูปแบบของมาตรวัด และสร้างข้อความที่จะสังเกต ในครั้งนี้ใช้แบบข้อสังเกต 15 ข้อ  เลือกมาตรวัดประมาณค่า เพื่อประเมินระดับการปฏิบัติในแต่ละลักษณะพฤติกรรม

          4. ตรวจสอบความเหมาะสมของเครื่องมือของแบบสังเกต โดยการทบทวนองค์ความรู้และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมการลดโลกร้อน ในชีวิตประจำวัน

          5. ปรับปรุงเครื่องมือตามการทบทวนองค์ความรู้และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสม

6. ทดลองใช้เครื่องมือ ตรวจสอบความเป็นไปได้ และวิเคราะห์ดัชนีบ่งชี้คุณภาพเครื่องมือ

 

สำหรับคุณภาพเครื่องมือด้านความตรงมีเนื้อหา โครงสร้าง สภาพการณ์ ที่เหมาะสม ส่วนความเที่ยงหรือน่าเชื่อถือขณะสร้างเครื่องมือเมื่อปรับปรุงล่าสุดได้ ค่าความสอดคล้อง  0.76 แต่เมื่อทดสอบจริงในกลุ่มตัวอย่างของการศึกษาครั้งนี้ ได้ค่าเพิ่มขึ้นเป็น 0.78 ซึ่งอยู่ในขั้นดีเยี่ยม

ส่วนการประเมินผลพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอภิปรายการลดโลกร้อนในชีวิตประจำวัน มีองค์ประกอบของการวางแผนในการทำงาน ความร่วมมือในกลุ่ม  การโต้แย้งและขัดแย้งกันในกลุ่ม  รวมทั้งมีการนำเสนอที่เป็นระบบ แม้ว่าผลการศึกษาโดยรวมจะให้ผลการประเมินการมีส่วนร่วมอภิปรายผลจากทีมผู้สังเกตที่ต่ำร้อยละ 58.8 ก็ตาม  แต่การนำเสนอก็ครอบคลุม เนื้อหาหลักๆ คือ สภาพทั่วไป  ปัญหา สาเหตุ  ผลกระทบ  แนวทางแก้ไข และสรุปผล

 

ข้อเสนอแนะ การนำวิธีการพัฒนาเครื่องมือนี้ไปประยุกต์ใช้ จะมีประโยชน์ตามขบวนการและกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับการศึกษานี้ จึงควรคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย

บทนำ

การจัดการศึกษาที่เรียกว่า  สิ่งแวดล้อมศึกษามีความสำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยผ่านกระบวนการพัฒนาคนให้มีความรัก  มองเห็นคุณค่าและร่วมมือร่วมใจด้วยการปฏิบัติตนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ก่อให้เกิดการดำรงชีวิตอย่างประหยัดและมีส่วนร่วมหรือขยายแนวร่วมในการร่วมพลังในการดำรงรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

การจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบและใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมในการเรียนรู้ที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนจะประกอบไปด้วย  1.) การจัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ-ชีวภาพ  ด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ จะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและได้ซึมซับคุณค่าของสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง    2.) การบูรณาการเนื้อหาสิ่งแวดล้อมและจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักการสิ่งแวดล้อมศึกษาจะก่อให้เกิดการพัฒนาสติปัญญาให้เป็นคนคิดกว้าง  มีเหตุมีผล  และคิดเป็นระบบ  มีความรักและซาบซึ้งในคุณค่าสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  3.) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง  ทั้งกิจกรรมของโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  จะเป็นการเร่งการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น การศึกษาพฤติกรรมนักศึกษาควรผสานการสังเกตการณ์ไปด้วย

ตัวอย่างของการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งตามกระแสโลกในปัจจุบันเป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างจริงจัง  และกว้างขวางด้วยการให้การศึกษา  การดำเนินการในวันนี้กว่าจะมีผลในการลดอุณหภูมิของโลกให้ลงมาอยู่ในภาวะปกติได้อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า  20  ปี  แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่จะทำได้ดีกว่านี้อีกแล้ว  และในขณะที่ผู้คนทั่วโลก กำลังตื่นตัวอย่างหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และเหล่าผู้นำโลกตั้งหน้าตั้งตาถกกันเครียดเพื่อหาทางรับมือกับวิกฤตการณ์ใหญ่ ด้วยกลเม็ดง่ายๆ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะ เรือนกระจก หรือกรีนเฮาส์ เอฟเฟกต์ ได้เป็นอย่างดี

 ดังนั้น  ผู้วิจัย จึงได้เข้าร่วมการประเมินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการลดโลกร้อนด้วยใจ ใช่กระแส ซึ่งจัดโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 1 วัน  โดยเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงาน  และได้นำเครื่องมือที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือทั้งความตรงและความเที่ยงมาแล้วกับการอบรมสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งเครื่องมือนั้นเป็นแบบสังเกต ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเกตการณ์ทำงานเป็นกลุ่มของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม  โดยคาดว่าจะได้ทราบพฤติกรรมของนักศึกษาที่เรียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาต่อไป

 

วัตถุประสงค์

          เพื่อพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวัดพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอภิปรายกลุ่ม ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการลดโลกร้อนด้วยใจ ใช่กระแส โดยใช้แบบสังเกต  

เพื่อศึกษาพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักศึกษาที่เรียนวิชาสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม  ระดับปริญญาตรี  ชั้นปีที่  3

           

วิธีดำเนินการ

          รูปแบบการวัดและประเมินผลการทำงานกลุ่ม ใช้การสังเกต (observation) พฤติกรรมการมีส่วนร่วมอภิปรายกลุ่ม

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง โดยประชากรเป็นนักศึกษาที่เรียนวิชาสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม  ระดับปริญญาตรี  ชั้นปีที่  3 และกลุ่มตัวอย่างเป็นส่วนหนึ่งของประชากร จำนวน 40 คน ที่สุ่มตัวอย่างมาเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการลดโลกร้อนด้วยใจ ใช่กระแส ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ทีมสังเกต ประกอบด้วยทีมวิจัยจำนวน 2 ท่าน ที่มีการซักซ้อมวางแผนมาแล้ว ซึ่งเป็นทีมวัดและประเมินผลครั้งนี้

พฤติกรรมที่สังเกต มี  2 ระดับ คือ

-                      ระดับที่เห็นได้โดยตรง โดยจดบันทึกว่ากลุ่มนักศึกษาทำอะไรบ้าง แสดงอาการอย่างไร มีการอภิปรายร่วมกันหรือไม่ การนำเสนอผลการอภิปรายกลุ่มมีการประหม่าหรือไม่ เป็นต้น

-                      ระดับที่เป็นพฤติกรรมแฝง โดยดูความรับผิดชอบในการทำงานกลุ่ม ความตึงเครียดในอารมณ์  เป็นต้น

เครื่องมือ และลักษณะการสังเกต  จัดกระทำใน 2 ลักษณะ คือ

-                      การสังเกตอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีเครื่องมือประกอบการสังเกต

-                      การสังเกตอย่างเป็นทางการ มีเครื่องมือประกอบการสังเกต ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.) ระเบียนพฤติการณ์ (Anecdotal report)  สำหรับสถานการณ์ต่างๆ 2.) แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) สำหรับรายการพฤติกรรมการมีส่วนร่วมแบบจัดอันดับคุณภาพ( Numerical rating scale)  โดยรายการที่สังเกตประกอบด้วย การวางแผนในการทำงาน ความร่วมมือในกลุ่ม การอภิปรายและแสดงความคิดเห็น การโต้แย้งและขัดแย้งในกลุ่ม  ซึ่งในที่นี้เปรียบเทียบคะแนนใน 2 กลุ่มๆละ 20 คน

การแปลผลแบบสังเกต

- กำหนดให้ ตัวเลข แทน พฤติกรรมการมีส่วนร่วมอภิปรายกลุ่ม คือ

          เลข 3            แทน   ลักษณะที่เกิดขึ้นประจำ

          เลข 2            แทน   ลักษณะที่เกิดขึ้นระดับปานกลาง

          เลข 1            แทน   ลักษณะที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น

          - เกณฑ์แปลความหมาย คือ

-                      คะแนนเฉลี่ย 1.00 – 1.49  หมายถึง มีระดับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมที่ไม่เหมาะสม

-                      คะแนนเฉลี่ย 1.50 – 1.99  หมายถึง มีระดับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมปานกลาง

-                      คะแนนเฉลี่ย 2.00 – 2.49  หมายถึง มีระดับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมมาก

-                      คะแนนเฉลี่ย 2.50 – 3.00  หมายถึง มีระดับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมมากที่สุด

         

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล : กรณีแบบสังเกต   คุณสมบัติที่วิเคราะห์ คือ

          - คุณภาพเครื่องมือทั้งฉบับ ด้านความตรง(validity)วัดความตรงตามเนื้อหา โดยศึกษาทบทวนจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอภิปรายกลุ่ม   วัดความตรงตามโครงสร้าง โดยอาศัยทฤษฎีการมีส่วนร่วมต่างๆ   วัดความตรงตามสภาพ โดยพิจารณาสภาพการณ์จริงขณะสังเกต   สำหรับความเที่ยง (Reliability) ใช้ความสอดคล้องระหว่างผู้สังเกต 2 ท่าน

          - คุณภาพเครื่องมือรายข้อ  ใช้ความเหมาะสม ความสอดคล้องของรายการที่สังเกตกับวัตถุประสงค์ และอำนาจจำแนกระหว่างกลุ่มที่ทราบคุณลักษณะที่ชัดเจนแล้ว

สำหรับกรณีความเที่ยงของผู้สังเกตและการตรวจสอบ ผู้สังเกตจะมีความเที่ยงต่อเมื่อผลการสังเกตมีความสอดคล้องกัน  ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบ 2 วิธี คือ

                   1.  ความสอดคล้องกันเอง (Intra-reliability)  วิธีนี้ใช้ผู้สังเกตคนเดียว  สังเกตสิ่งเดียวกัน  2 ครั้ง  ในเวลาต่างกัน

                   2.  ความสอดคล้องระหว่างกัน (Intra-Reliability) วิธีนี้ใช้ผู้สังเกตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  สังเกตสิ่งเดียวกันพร้อมกัน

          ทั้งสองวิธีมีวิธีการหาความสอดคล้องเหมือนกันคือ ถ้าข้อมูลที่สังเกตได้มีลักษณะเชิงตัวเลข (Numerical Value วัดระดับช่วงหรืออัตราส่วน) จะหาความสอดคล้องกันด้วย  สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Coefficient of Correlation) แต่ถ้าข้อมูลที่สังเกตได้เป็นระดับกลุ่มหรืออันดับจะหาความสอดคล้องกันด้วยดัชนีความสอดคล้องกัน (Index of Concordance=IOC) ซึ่งมีหลายวิธี วิธีหนึ่งคือวิธีของ Cohen,s kappa (K) มีสูตรว่า

                    K =    P0 – Pe

                            1 –  Pe

เมื่อ     K   =  ดัชนีความสอดคล้องกันหรือความเที่ยง

         P0  =  สัดส่วนความเห็นสอดคล้องกันต่อจำนวนความเห็นรวมทั้งหมด

         Pe =   สัดส่วนที่คาดว่าจะสังเกตได้  ซึ่งเป็นผลคูณของสัดส่วนที่ผลสังเกตเหมือนกันคูณกับสัดส่วนของจำนวนรวมผู้สังเกตที่   1 หรือ  ผู้สังเกตที่ 2

          ในเรื่องนี้มีข้อกำหนดง่าย ๆ ในการประเมินค่า K ของการสังเกตดังนี้ (Fliess, 1981)  cited by Robson, 1993, p.223)

     K   มีค่าระหว่าง 0.40 ถึง 0.60  ถือว่ามี ความเที่ยงระดับปานกลางหรือพอใช้ (fair)

     K   มีค่าระหว่าง 0.60 ถึง 0.75 ถือว่ามี ความเที่ยงระดับดี (Good)

     K   มีค่าตั้งแต่ 0.76 ขึ้นไป ถือว่ามี ความเที่ยงระดับดีมาก (excellent)

 

ซึ่งในครั้งนี้ จากการนำไปทดลอง(Tryout) กับนักศึกษาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 1 กลุ่ม จำนวน 20 คน  และใช้ผู้สังเกต 2 ท่าน ได้ความสอดคล้องระหว่างผู้สังเกตหรือความเที่ยงเท่ากับ 0.76

 

ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล

-                      กำหนดวัน เวลาเก็บข้อมูล  ใน 1 วัน โดยจัดเตรียมเครื่องมือแบบสังเกต

-                      เตรียมเครื่องมือร่วมสังเกตอื่นๆ เช่น กล้องถ่ายภาพ เครื่องบันทึกเสียง กระดาษ  สี และอื่นๆ

-                      เตรียมความพร้อมทีมงานในการเก็บข้อมูล

-                      จัดเตรียมแบ่งกลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูล

-                      ดำเนินการเก็บข้อมูล โดยการสังเกตตามที่กล่าวข้างต้น โดยแบ่งหน้าที่ผู้สังเกต เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกต และผู้ถูกสังเกต ซึ่งจัดเป็น 2 กลุ่ม

 

การวิเคราะห์ข้อมูล :

สถิติเชิงพรรณนา( Descriptive statistics) นำเสนอด้วยค่าความถี่ ค่าของคะแนน ค่าเฉลี่ย สำหรับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน ในชีวิตประจำวัน

วิเคราะห์เนื้อหา ( Content analysis) รวมรวม และแยกแยะข้อมูล รวมทั้งตีความหมาย จากการสังเกตสำหรับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน ในชีวิตประจำวัน

 

ผลการศึกษาและการอภิปรายผล 

จากการพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการอภิปรายกลุ่ม ในการใช้แบบสังเกตที่มีการทดสอบเครื่องมือทั้งความตรงและความเที่ยงในกลุ่มตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับกลุ่มที่ศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลขึ้นมาใช้เอง โดยผลการสร้างเครื่องมือ มีขั้นตอน ดังต่อไปนี้ คือ

1. สรุปรายการเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใช้ในงานวิจัยหรือประเมินโครงการ  ซึ่งในที่นี้เป็นแบบสังเกต ที่ประกอบด้วย

- การสังเกตอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีเครื่องมือประกอบการสังเกต

- การสังเกตอย่างเป็นทางการ มีเครื่องมือประกอบการสังเกต ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.) ระเบียนพฤติการณ์ (Anecdotal report)  สำหรับสถานการณ์ต่างๆ 2.) แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) สำหรับรายการพฤติกรรมการมีส่วนร่วมแบบจัดอันดับคุณภาพ( Numerical rating scale)  โดยรายการที่สังเกตประกอบด้วย การวางแผนในการทำงาน ความร่วมมือในกลุ่ม การอภิปรายและแสดงความคิดเห็น การโต้แย้งและขัดแย้งในกลุ่ม

          2. การตั้งชื่อเครื่องมือและกำหนดโครงสร้างของเครื่องมือเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist)

          3. เลือกรูปแบบของมาตรวัด และสร้างข้อความที่จะสังเกต ในครั้งนี้ใช้แบบข้อสังเกต 15 ข้อ  เลือกมาตรวัดประมาณค่า เพื่อประเมินระดับการปฏิบัติในแต่ละลักษณะพฤติกรรม

          4. ตรวจสอบความเหมาะสมของเครื่องมือของแบบสังเกต โดยการทบทวนองค์ความรู้และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมการลดโลกร้อน ในชีวิตประจำวัน

หมายเลขบันทึก: 170396เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2008 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยเลยครับ ขอบคุณมาก ๆ นะครับ ผมจะพัฒนาไปใช้ในการประเมินการอบรม เพื่อลดการใช้แบบสอบถาม จะได้ไม่รบกวนผู้เข้าอบรมครับ

สวัสดีครับ
ตามอ่านผลงานเข้ามาครับ น่าสนใจมากครับกับชีวิตการต่อสู้
หากคิดว่าตนเองเครียดกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากเกินไป
ขอเชิญไปพักผ่อนอารมณ์ได้ที่นี่นะครับ
เพราะชีวิตคเรามีหลายด้านครับ
ยินดีต้อนรับครับ

ตลอดเวลา
http://gotoknow.org/blog/nusuwutg/233295


http://gotoknow.org/blog/nusuwutg/234010


http://gotoknow.org/blog/nusuwutg/232721
 
http://gotoknow.org/blog/nusuwutg/233150

http://gotoknow.org/blog/nusuwutg/233128

http://gotoknow.org/blog/nusuwutg/232204

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท