เมื่อเราอาจหาญนำความรู้ไปกระจายในหน่วยงาน


การทำวิจัยในหน่วยงาน

เมื่อเราอาจหาญนำความรู้ไปกระจายในหน่วยงาน

ผาสุข  แก้วเจริญตา


                เราจะเริ่มอย่างไรดีนะ???
                เป็นคำถามที่ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาที่คิดว่า  “เราต้องนำความรู้ที่ได้เรียนรู้มาไปเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆ  พี่ๆ  น้องๆ  ในโรงพยาบาลของเราบ้าง”    ซึ่งเป็นความตั้งใจของเราอย่างมากที่อยากสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร แรงบันดาลใจที่สำคัญคือเราเห็นรุ่นพี่ปี 1 พี่จินตนา (รพ. เชียงกลาง) เอาไปขยายผลที่ จังหวัดน่าน เห็นกระบวนการทำงานของพี่เค้าแล้วเราเลยอยากให้องค์กรของเราพัฒนาอย่างพี่เค้าบ้าง    เพราะเป็นที่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าการบริหารงานของโรงพยาบาลภายใต้งบประมาณ นโยบาย 30 บาท (ไม่ว่าจะรักษาทุกโรค หรือห่างไกลโรคก็ลำบากเหมือนเดิม) พวกเราชาวพยาบาลตัวนิดตัวน้อย  ต่างได้รับผลกระทบโดยตรงโดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของการพัฒนาบุคลากร ขอใช้คำว่าโดนเป็นอันดับแรกจริงๆ   นอกจากโอกาสของการพัฒนาความรู้ที่น้อยลงตามงบประมาณของโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง แต่สุดท้าย  การที่เราจะเริ่มอย่างไรดีก็ได้คำตอบว่า  “เริ่มที่ตัวเราก่อน  ทุกอย่าง...ถ้าเราตั้งใจ  มันต้องมีทางออกที่ดี  (เพราะไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ถือเป็นบทเรียนละกัน)”     แต่พอมาวิเคราะห์ตัวเองก็สรุปได้ว่า ศักยภาพเรายังไม่พี่จิน  เพราะการสร้างเครือข่ายต้องใช้พลังมากจริงๆ  ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายๆ ฝ่าย  โดยเฉพาะ สสจ.   เราพยาบาลตัวนิดตัวน้อยเคยไป สสจ. ก็เฉพาะตอนไปติดต่อเรื่องประชุม  กับตอนไปทำสัญญาเรียนต่อเท่านั้น  นึกเสียดายว่าทำไม่เราช่างเป็นคนที่ไม่กว้างขวางกับเค้ามั่งนะ  เวลาทำงานจะได้มีเพื่อนเยอะๆ   ความฝันเรื่องสร้างเครือข่าย  ระดับจังหวัดเลยต้องระงับไว้ไว้ก่อน (ถ้ามีโอกาสจะกลับมาสู้ใหม่)    กลับมาคิดอีกทีเราคงต้องเริ่มในโรงพยาบาลของเราก่อนดีกว่าเพราะว่าโรงพยาบาลเราเอง ในเรื่องงบประมาณไม่เอื้อต่อการ   ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมโครงการของชมรมฯ ในระยะที่ 3 แต่เอาละ!!!!  เป็นงัยเป็นกัน  ไม่ลองไม่รู้.... สู้สู้ค่ะ
                ต้องถือว่าเป็นความโชคดีของเราอย่างหนึ่ง  เพราะผู้อำนวยการให้การสนับสนุนเรื่องการทำวิจัยในหน่วยงาน  ให้งบประมาณมาส่วนหนึ่ง  แต่ก็กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของโรงพยาบาล (ไม่รู้ว่าจะยิ้มหรือร้องไห้ดีนะเนี่ย!)  พอมาสอบถามคนในหน่วยงาน  ทุกคนยิ้มรับแบบฝืดๆ  พร้อมกับตอบว่า  “โห!  ทำวิจัยเลยเหรอ  ลืมหมดแล้ว  ตอนเรียนก็ทำเป็นกลุ่ม  สถิติอะไรก็จำไม่ได้แล้ว... จำอารมณ์ตอนนั้นไม่ได้แล้วด้วยว่าเป็นยังงัย”   บางคนก็บอกประมาณว่าให้กำลังใจเหลือเกิ้น....ว่า   “น้อง....ทำไปเถอะ   น้องเก่งอยู่แล้ว ใครก็ทำไม่ได้หรอก  ก็ต้องหนูนั่นแหละ  พี่ไม่ไหวแล้วละ  หมดไฟ   งานก็เยอะ ไหนจะครอบครัว  ไหนจะลูก  ก็ไม่มีเวลาแล้ว”   ฟังดูเหมือนชม  แต่อารมณ์ตอนนั้นอยากบอกว่า  “ไม่อยากได้คำชม  แต่อยากได้คนร่วมทีมต่างหาก”  ฟังแล้วแทบหมดแรงเหมือนกัน  เหมือนกับเจอทางตัน    แต่คนดี  ฟ้ามีตา (แอบใช้สำนวนหนังกำลังภายในเล็กน้อย)  จะอะไรซะอีกล่ะ  ก็ตอนที่เรานำเสนอคืนข้อมูลทั้งในหน่วยงาน  และที่แอมบาสเดอร์ ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นบอกว่าเป็นการสอบใหญ่ของเรา  มีเพื่อนและพี่ที่หน่วยงานตามมาให้กำลังใจ (ซึ่งไปประชาสัมพันธ์เอาไว้แยะจนเค้าหลงคารม  แต่ขอบอก  ตอนมาบอกว่าจะมาให้กำลังใจ  แต่ตอนนำเสนอ  บรรดามิตรกับพี่ที่แสนดีทั้งหลายหาย ศีร _ หมด  พอถามพี่แกบอกว่า  ของเราฟังบ่อยแล้ว  ขอฟังเรื่องอื่นมั่ง  มีแต่เรื่องน่าสนใจ  โอเค! พอฟังเหตุผลแล้วก็ใจอ่อนแล้ว )  จากอานิสงฆ์ในครั้งนี้ได้จุดประกายให้กับเพื่อๆ พี่ๆ คนอื่นๆ ในหน่วยงานให้เห็นถึงความสำคัญและผลของงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่นำมาพัฒนางานของเราได้จริงๆ
                หลังจากประชาสัมพันธ์กันสุดฤทธิ์ ว่างานวิจัยนี้ทางโรงพยาบาลจะมีงบประมาณสนับสนุน       มีอาจารย์ที่ปรึกษาให้ตลอดจนเสร็จสิ้นโครงการในส่วนนี้ก็ประสานกับสถาบัน   ราชภัฎอุตรดิตถ์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (กระบวนการนี้ก็ต้องเป็นนักสืบ  นักค้นหา อยู่เหมือนกันว่ามีผู้รู้เรื่องงานวิจัยเชิงคุณภาพที่พูดภาษาเดียวกับเราอยู่ตรงไหนบ้าง  บางคนอาจจะบอกว่าเราลำเอียงหรือเปล่า  ไม่ลำเอียงหรอกค่ะ  ที่ต้องใช้คำว่าพูดภาษาเดียวกันเค้าจะได้เข้าใจว่า  พวกเราเป็นนักวิจัยมือใหม่หัดขับ  ที่มีพลังเต็มร้อย  แต่ความรู้กำลังค้นหาอยู่)  มาถึงตอนนี้เราก็มีพันธมิตรที่ยินดีเข้าร่วมโครงการพัฒนานักวิจัยเชิงคุณภาพของโรงพยาบาลลับแล จำนวน 6 โครงการ  ทั้งงานผู้ป่วยนอก  งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน  งานห้องผ่าตัด  งานห้องคลอด งานเภสัช  และงานพยาธิวิทยา   โดยที่แต่ละโครงการ  ได้มีการเตรียมปัญหาของตนเองที่อยากแก้ไข  และเป็นปัญหาของหน่วยงาน  ในช่วงนี้ทุกทีมรู้สึกตื่นเต้นกันมาก  มาสอบถามกันตลอดเวลาว่า   “เขียน
โครงร่างยังงัย  เขียนวัตถุประสงค์ยังงัย  ไม่เคยเขียนโครงร่างวิจัยเลย  นึกไม่ออก”   ตอนนี้ก็ต้องให้กำลังใจกับเอาตัวอย่างโครงร่างวิจัยของเราให้ดูเป็นตัวอย่าง อธิบายการลำดับความสำคัญของปัญหา  และการเขียนเพื่อให้เข้าใจและให้กำลังใจเป็นเบื้องต้น ซึ่งแต่ละงานต่างให้ความสนใจดี 

ถึงตอนนี้ เมื่อตัดสินใจเป็นวิทยากรให้กับเจ้าหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้เรื่องงานวิจัย

เชิงคุณภาพ ตัวเราเองก็ต้องมาทบทวนกระบวนการเรียนการสอนที่  อาจารย์ปู่ (อาจารย์ทวีศักดิ์  นพเกษร)  ของเราประสิทธิประสาทวิชาให้  นั่งอ่านนอนอ่านว่าจะทำอย่างไรถึงจะสื่อสารให้กับทีมได้เข้าใจ  ไม่ให้เสียชื่ออาจารย์ปู่  สรุปออกไว้เป็นประเด็นที่สำคัญที่ลืมไม่ได้   มุกต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้เป็นบทเรียนรู้   ก็ได้ข้อสรุปว่า  เราต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของอาจารย์  คือ แบ่งออกเป็น 6 ระยะ  แต่ต้องปรับนิดหน่อยเพราะผู้เข้าเรียนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถลามาเข้าชั้นเรียนได้ต่อเนื่อง  ในส่วนของการเรียนก็จัดช่วงบ่าย เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน เพราะช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ต้องให้บริการผู้ป่วยก่อน  บางส่วนลงเวรดึก แต่ความตั้งใจสูงก็ปรับให้เข้ากับบริบทของเรา   โดยสรุปการจัดการเรียนการสอนการวิจัยเพื่อนำสู่การพัฒนางาน หลักการเบื้องต้นของการทำวิจัย (research methadology)  5 วัน  พัฒนา Purposal และกลวิธีการดำเนินงานวิจัย 1 วัน โดยเชิญอาจารย์ที่ปรึกษาจำนวน 2 ท่าน  เข้าร่วมรับฟังและวิพากษ์โครงร่างวิจัย  และคัดเลือกชิ้นงานวิจัยสำหรับการฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูล  1 ชิ้น  ฝึกปฏิบัติการทดลองฝึกภาคสนาม   จัดทำคำถามการวิจัย  การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง และการเก็บข้อมูลในพื้นที่ 5 วัน   ฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูล 5 วัน  และฝึกปฏิบัติการสร้างยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหา 3 วัน

                ในตอนที่จัดการเรียนการสอนครั้งแรกถ้าประเมินโดยทั่วไปเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างเข้าใจกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพมากขึ้น  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ  ช่วยบ่ายผู้เรียนมักมีอาการง่วงบางครั้ง  ซึ่งการแก้ไขก็ใช้การเรียนแบบ active learning ให้แบบฝึกหัดและกิจกรรมระหว่างการเรียนรู้ซึ่งช่วยให้หายง่วงไปมาก   อีกปัญหาที่พบคือบางครั้งผู้เรียนอาจติดงานกระทันหัน  ซึ่งต้องใช้วิธีการสอนซ่อม ตัวต่อตัว  ในกระบวนการนี้ทุกคนเข้าใจมากขึ้นว่าโครงร่างวิจัยที่ตัวเองเขียนมานั้นมีจุดอ่อนตรงไหน   ก็เอาไปปรับแก้และส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาได้อ่านอีกครั้ง
                วันนี้ที่รอคอยครั้งที่ 1  ก้คือวันที่อาจารย์มาวิพากษ์โครงร่างวิจัย  ตอนแรกต่างตื่นเต้นกันมา (อารมณ์ คงเหมือนเราตอนที่เสนอโครงร่างให้อาจารย์ปู่ฟัง )  ตอนนี้ต่างก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการผลักดันงานให้มีความชัดเจนขึ้น  เพราะบางงานเขียนมาเหมือนทำอีก 3 ปี ก็ยังไม่เสร็จ  ได้มีอาจารย์มาช่วยดูก็ช่วยให้งานกระชับและมีความเป็นไปได้มากขึ้น
                วันนี้จบแค่นี้ก่อนละดัน  เวลาลงฝึกภาคสนามจะเขียนมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังใหม่นะจ๊ะ
คำสำคัญ (Tags): #พยาบาลชุมชน
หมายเลขบันทึก: 17022เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท