ช่วงท้ายของประชุมวิชาการ รพ.บ้านตาก


จะมีการทำ Knowledge Sharing เรื่องเบาหวาน เวียนไปแต่ละ รพ.

ดิฉันร่างบันทึกฉบับนี้ไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ แต่ไม่มีโอกาสเขียนให้เสร็จเรียบร้อยเสียที คงจะต้อง "จัดการกับเวลา" ของตนเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่เสียแล้ว เนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นช่วงท้ายของประชุมวิชาการที่ รพ.บ้านตาก หัวข้อบรรยายต่อจากเรื่องการออกกำลังกาย คือเรื่องของการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งรับผิดชอบโดยคุณยอดขวัญ เศวตรักต หัวหน้าแผนกกายภาพบำบัด และคุณชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช Diabetes Educator รพ.เทพธารินทร์ ทั้งคู่บรรยายเนื้อหาวิชาการ ร่วมกับการ share ประสบการณ์ของตนเอง และสอดแทรกเทคนิค/เคล็ดลับของการปฏิบัติไปด้วย เช่น เทคนิคการตรวจเท้าด้วย Monofilament การทาครีมหรือโลชั่นที่เท้า ควรใส่ครีมที่มือก่อนทา เป็นต้น มีภาพของเท้า ปัญหาของเท้าแบบต่างๆ แผล และรองเท้า แสดงใน PowerPoint รวมทั้งนำอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ มาแสดงให้จับต้องดูกันได้ด้วย

คุณยอดขวัญยังได้สาธิตการขูดหนังหนาที่เท้าของ "ป้าแก้ว" ผู้ป่วยเบาหวานตัวจริง ซึ่งมีท่าทีเกร็งๆ กลัวๆ ให้ผู้เข้าประชุมเห็นกันจะๆ ป้าแก้วบอกว่าอย่าเอาออกมากนักนะ เดี๋ยวจะเหลือแต่กระดูก เวลาป้าขึ้นเขาต้องเดินเท้าเปล่ากลัวจะเจ็บ (เพราะเท้าชาและใส่รองเท้าแตะคีบ ถ้าขึ้นเขาเดินรองเท้าจะหลุด) คนดูเห็นแล้วต่างบอกว่าน่าจะทำได้

มีคำถามจากผู้เข้าประชุมเรื่องโลชั่นว่าควรเลือกแบบไหน พอรู้ว่าควรเลือกใช้โลชั่นที่มียูเรียผสม แต่ไม่ควรมีสารที่ทำให้ผิวลื่น เราจึงรู้ว่าเภสัชกรของ รพ.บ้านตากก็ผลิตครีมทาส้นเท้าที่มียูเรียผสมอยู่ด้วย (ก่อนกลับคุณยอดขวัญและคุณชนิกาได้ไปอุดหนุนมาหลายกระปุก)

หลังรับประทานอาหารกลางวัน คุณชนิกาพูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยเบาหวานที่ติดค้างมาจากเมื่อวาน เพราะอาจารย์ศัลยามีเนื้อหาการบรรยายมากจนต้องใช้เวลาทั้งช่วงบ่าย เนื้อหากล่าวถึงการประเมินความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Stage ต่างๆ ของความพร้อม เล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในแต่ละ stage สิ่งที่เน้นคือ ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักดิบ....เป้าหมายในการปฏิบัติต้องเป็นของผู้ป่วยเอง ไม่ตัดสินผู้ป่วย คุณชนิกากล่าวว่าผู้ให้คำปรึกษามักติดตัวเลข เช่นจะลด BS จาก ๓๐๐ ให้เหลือ ๑๒๐ จะลดน้ำหนักเท่านั้นเท่านี้ จริงๆ แล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมองไปที่พฤติกรรม พอพฤติกรรมเปลี่ยนตัวเลขเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปเอง เวลาตั้งเป้าหมายควรเลือกสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อน เราควรทำหน้าที่เป็น coach คอยให้ทางเลือกแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ยังกล่าวถึง ๑๐ เหตุผลที่ทำให้การกินให้ถูกหลัก ทำไม่ได้เสียที รวมทั้ง ๗ กลยุทธ์ในการฝ่าฟันอุปสรรค

ดิฉันรับผิดชอบหัวข้อสุดท้ายว่าด้วยเรื่องการสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วย โดยกล่าวถึงโมเดลการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ต้องมีการจัดระบบต่างๆ ให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ รวมทั้งต้องเชื่อมโยงกับชุมชน ระบบบริการสุขภาพที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิและปฐมภูมิ พยายามสื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังเช่นผู้ป่วยเบาหวานนี้ ผู้ให้การดูแลต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ปรับโมเดลการดูแลจาก Compliance based เป็น Empowerment based ให้มาสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วย ไม่ลืมที่จะเล่าเรื่องของเครือข่าย ตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของ รพ. และ PCU ต่างๆ เรื่องเด็ด เคล็บลับที่สมาชิกนำมาเล่าในบล็อกหลายเรื่อง จบการบรรยายได้ในเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.

หลังพักรับประทานอาหารว่าง ตามกำหนดการเดิมดิฉันตั้งใจให้คุณหมอพิเชฐช่วยทำหน้าที่เป็น facilitator ให้ทีมจาก รพ.ต่างๆ ที่มาเข้าประชุมได้เสนอความคาดหวังและแผนการดำเนินงาน แต่คุณหมอพิเชฐติดภารกิจต้อนรับผู้มาดูงานคณะหนึ่ง ดิฉันจึงดำเนินการแทนโดยให้ตัวแทนแต่ละ รพ.นำเสนอแบบ AAR ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ ๓๐ นาที

AAR ของผู้เข้าประชุม

รพ.บ้านตาก

๑.ความคาดหวัง :  ต้องการได้ความรู้เกี่ยวกับ DM และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด :  แนวคิดที่จะไปให้ความรู้แก่ผู้ป่วย 
  ได้เห็นสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เช่น รองเท้า 
๓.สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี 
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : อยากให้มี workshop เป็นฐานๆ จะเอาผู้ป่วยมาฟังด้วย 
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : จะเอาความรู้ไปประยุกต์ 


สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.)

๑.ความคาดหวัง :  เทคนิคใหม่ๆ ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด : รองเท้า การดูแลเท้า ยอมรับว่าเรื่องเท้าสำคัญ
๓.สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี 
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : ห้องประชุมแคบไปทำให้เครียด 
  ต่อไปอยากให้จัดแบบ workshop
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : รวมพลคนเบาหวาน


รพ.แม่ระมาด

๑.ความคาดหวัง : จริงๆ ไม่ได้รับงานเบาหวาน แต่ได้เรียนมา ทำงานอยู่ผู้ป่วยใน
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด : ได้มากเกิน
๓.สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี 
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : อยากให้ไปจัดทางฝั่งตะวันตกบ้าง เพราะเดินทางลำบาก 
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : จะไปบอกแพทย์ว่าเจาะเลือดไม่ต้อง NPO แล้ว
  จะค่อยๆ ทำอะไรต่อๆ ไป 


รพ.พบพระ

๑.ความคาดหวัง : ต้องการได้ความรู้ได้เทคนิคในการปฏิบัติทางคลินิก 
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด : ได้ monofilament การดูแลเท้าที่ลึกซึ้ง 
๓.สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี 
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : อยากไปศึกษาดูงานคลินิกที่เป็นรูปธรรม
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : จะไปปรับเปลี่ยนการทำงานที่คลินิกเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง
  เพื่อจะได้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้เต็มที่ เพิ่มเรื่องการตรวจเท้า 
  เพิ่มเรื่องการออกกำลังกาย 


รพ.แม่สอด

๑.ความคาดหวัง : สนใจเรื่องการดูแลเท้า
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด : ความรู้เรื่องรองเท้า การเสริมเท้า การลดการเกิดแผล 
๓.สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี 
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : อยากให้เน้นการปฏิบัติ
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : ต้องไปตรวจเท้าให้มากกว่าเดิม ทำแบบประเมิน จัดค่ายเบาหวาน ๑ วัน


รพ.สามเงา

๑.ความคาดหวัง : ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเบาหวาน 
   อยากเห็นตัวจริงคนที่เขียนหนังสือแสงเทียน
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด : รายละเอียดต่างๆ ของความรู้ เพิ่มเติมจากที่อ่านในหนังสือ
๓.สิ่งที่ได้น้อย : การบริหารเท้า 
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : เวลาและความรู้ที่มากขึ้น
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : ตั้งชมรมเบาหวาน ปรับปรุงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย
  จะพยายามเอากิจกรรมไปลง จะไปตรวจระบบประสาทที่เท้า 


รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน (ทีมนี้นั่งแถวหน้าตลอดทั้ง ๒ วัน)

๑.ความคาดหวัง : รู้ว่าอาจารย์เทพมาก็ดีใจ คณะทำงานมา ๑๐ คน 
  ตั้งใจมาเพราะแบรนด์ของเทพธารินทร์
๒.สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาด : รู้อะไรใหม่ๆ การประเมินเท้าที่ทำไป ทำแบบงูๆ ปลาๆ
  มาเห็นแล้วมั่นใจ ไม่สับสน ได้เห็นต้นแบบ 
๓.สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี
๔.ถ้าจัดอีกควรปรับปรุง : สถานที่แคบไป
๕.จะกลับไปทำอะไรต่อ : กำลังจะเริ่มตั้งชมรมเบาหวาน 
  จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ป่วยให้มากขึ้น จะไปประชุมกัน


คุณหมอพิเชฐมาตอนท้าย กล่าวกับที่ประชุมว่าเสียดายที่ให้โควตา รพ.ต่างๆ น้อยไปแค่ ๒ คน ความจริงอยากให้มาทั้งทีม จะจัดตั้งเครือข่ายอยู่แล้ว จะมีการทำ Knowledge Sharing เรื่องเบาหวาน เวียนไปแต่ละ รพ. ครบทุกแห่ง ครั้งต่อไปจะคุยกันเรื่องการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเวทีที่จะคุยกัน คุณหมอพิเชฐบอกว่าจุดเริ่มต้นของ DM Care Team จะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ถ้าทำเรื่องนี้ได้เรื่องอื่นๆ ก็จะดีขึ้นตามมา พร้อมกับกล่าวว่า "เรื่องเครือข่ายไม่มีใครโดดเด่นคนเดียว"

ต่อคำถามที่ว่าจะไปจัดประชุมที่อำเภอทางฝั่งตะวันตกได้หรือไม่ อาจารย์เทพให้คำตอบว่า "ถ้าทำ network ได้ และเอาแพทย์มาอบรมได้ จะมา"

ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอพิเชฐ คุณเกศราภรณ์และทีมงานของจังหวัดตากประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายและดำเนินงานดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 17021เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2006 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท