เกษตรอินทรีย์คู่สมุนไพร การจัดการความรู้เพื่อชีวิตและสุขภาพ


ไม่ละทิ้งความสนใจ ตั้งใจทำจริง ขยัน มัธยัสถ์ อยู่อย่างพอเพียง เพื่อชีวิตยั่งยืน หนึ่งตัวอย่างการจัดการความรู้อัติโนมัติ

เกษตรอินทรีย์คู่สมุนไพร
การจัดการความรู้เพื่อชีวิตและสุขภาพ
ตำรับหมอพื้นบ้านเมืองระยอง
 

จากการนำเสนอใน 9 กรณีศึกษา การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรณีของคุณดำรงศักดิ์  ชุมแสงพันธ์ แห่งศูนย์กสิกรรมสมุนไพรไท อ.วังจัน จ.ระยอง ผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านอีกผู้หนึ่ง  เป็นหมอสมุนไพรที่กลับตัวกลับใจไม่อยากให้การรักษาผู้ป่วยของเขากลายเป็นการทำร้ายผู้ป่วยซ้ำ  จากการที่พืชสมุนไพรที่แม้จะปลูกอยู่ในเรือกสวนไร่นาของตนเองแต่ก็อาจปนเปื้อนสารพิษได้จากการทำเกษตรแบบใช้ยาเคมี แม้ผู้ป่วยที่มาหาจะหายป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากการถูกงูพิษกัด   จากความน่าสนใจดังกล่าวจึงนำไปสู่การขอไปดูของจริงเรื่องการจัดการความรู้ของหมอกุ ว่าจริงแท้อย่างไร  และต่อไปนี้คือ สิ่งที่ทีมโครงการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้สู่สังคม ภายใต้การอำนวยของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ได้รับทราบ 

บนพื้นที่ 170 ไร่ ที่ประกอบด้วยสวนผลไม้  แปลงนาปลูกข้าว แปลงผัก ที่มีสมุนไพรปลูกแซมอยู่ทั่วไป โดยรวมแล้วจึงมีสภาพที่เรียกได้ว่าเป็น “ป่า”ดี ๆ นี่เอง แต่เป็นป่าที่เจ้าของตั้งใจให้เกิดขึ้น พืชพรรณทุกชนิดที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่จึงมีประโยชน์และคุณค่าที่สร้างมูลค่าเป็นรายได้เลี้ยงปากท้องสมาชิกครอบครัวกว่า 22 คน ซึ่งอยู่รวมกันในบ้านที่เรียกว่า “ศูนย์กสิกรรมสมุนไพรไท” หรือการทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสม ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งเรียนรู้ รับรู้ และรับซื้อผลิต เป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑพืชผักปลอดสารพิษ และสมุนไพรของกลุ่มสมาชิกซึ่งก็คือชาวบ้านในย่านนั้นนั่นเอง

               

ชีวิตเล็ก ๆ บนเส้นทางสมุนไพร

                คุณดำรงศักดิ์  ชุมแสงพันธ์  แห่งศูนย์กสิกรรมสมุนไพรไท เขาขุนอินทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง  หรือที่รู้จักกันนามหมอกุ ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะการรักษาพิษงู ด้วยสมุนไพร ขนาดมียอดสถิติที่หมอกุจดบันทึกไว้ตลอด 31 ปีที่ผ่านมาว่าอยู่ราว 400 คน (เฉพาะที่โดนงูพิษกัดนะ)  ด้วยกิตติศัพท์ที่กระจายออกไปจากปากต่อปากชื่อ “หมอกุ”จึงเป็นที่รู้จักทั่วไป คนที่ถูกงูกัดไม่ว่ายากดีมีจนก็มักมาให้ช่วยรักษา ที่หมอกุบอกว่าเป็นการช่วยกันเสียมากกว่าไม่ได้คิดเงินทองอะไร

                หมอกุบอกว่า ตนเป็นคนที่สนใจเรื่องสมุนไพรมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไม่ทิ้งแถวก็ได้ เพราะพ่อก็เป็นหมอซินแส(ที่รักษาคนนะ) แม้จะมีความทรงจำเกี่ยวกับพ่อค่อนข้างน้อยเพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ตนอายุได้ 3 ขวบและต่อมาแม่มีสามีใหม่(พ่อเลี้ยง)แล้วพากันอพยพครอบครัวจากบ้านเดิมที่ชลบุรีมาอยู่ระยองแต่ยังไม่ใช่ที่อยู่ปัจจุบันนี้นะอยู่อีกที่หนึ่ง ตนก็มาเข้าโรงเรียนที่นั่นตอนอายุ 10 ขวบ ในวันเด็กก็ช่วยพ่อเลี้ยงกับแม่ทำงานสารพัด “งานหนักตามประสาเกษตรกร ตั้งแต่เลี้ยงควาย ถากถางหญ้า หาบน้ำ ทำสารพัดนั่นแหละ  พี่น้องผม 6 คน ก็ช่วยกันหมดนั่นแหละ ผมเป็นคนที่ 3” การออกไปทำงานนี่แหละที่ทำให้ได้พบกับเพื่อนบ้าน(เพื่อนพ่อเพื่อนแม่รุ่นลุง ป้า น้า อา) หลายคนเวลาไปเจอผมเลี้ยงควายก็มักมาทักทาย เอาขนมมาให้บ้าง แล้วเขาก็บอกว่าตนเองเคยถูกงูกัด หรือเคยป่วยเจียนตายก็ได้ซินแสพ่อผมนี่แหละรักษา  พ่อจึงเป็นฮีโร่ในใจผมมาตลอดว่าทำยังไงนะ ตนจึงจะเก่งอย่างพ่อ ความสนใจเรื่องสมุนไพรจึงขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น จนเมื่อตนโตเป็นหนุ่มอายุประมาณ 18 ปี ครอบครัวก็ถูกไล่ที่จึงขายควาย 2 ตัวที่มีอยู่แล้วพากันอพยพมาซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ สมัยนั้นไร่ละ 20 บาท  แต่สภาพงี้คือป่าดงดิบดี ๆ นี่เอง สิงหาราสัตว์สารพัดชนิดนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น เสือ  ช้าง เก้ง กวาง มีทั้งนั้น งูพิษนี่ชุกชุมมาก (เพราะอยู่บริเวณเชิงเขาขุนอินทร์) มาบุกเบิกทำไร่ทำสวน

                ระหว่างช่วยครอบครัวดำรงศักดิ์หรือนายกุก็ไม่ทิ้งความสนใจเรื่องสมุนไพร และเมื่อความสนใจถูกกระตุ้นโดยลูกศิษย์พ่อที่เอาต้นสมุนไพรมาให้ 3 ต้น คือ ฟ้าทะลายโจร โด่ไม่รู้ล้ม และ หญ้าหน้าดำ  และบอกว่า “นี่ของพ่อเอ็งนะ ข้าปลูกให้แล้วนะ” เขาจึงเอามาปลูกและต่อยอดขยายพันธุ์พร้อมกับการไปหาความรู้เพิ่มว่าสรรพคุณของต้นเหล่านี้เป็นอย่างไร และมีสมุนไพรอะไรอีกบ้าง สรรพคุณเป็นอย่างไรเอามาใช้ทำอะไรได้ รักษาโรคอะไร เรียกว่า ใครมาบอกว่าหมอนั่นหมอนี่มีความรู้เก่งเรื่องไหนรักษาโรคอะไรเก่งเขาก็จะไปคุยไปเฝ้าไปเป็นลูกมือ ไปเป็นลูกศิษย์  จึงไม่แปลกที่หมอกุจะมีความรู้เรื่องสมุนไพรแตกฉานชนิดหาตัวจับยาก ก็ด้วยความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและอดทน เพราะระหว่างที่ไปทุ่มเทหาความรู้หาต้นสมุนไพรเอามาปลูกไว้ในบ้าน  ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อเลี้ยง และพี่ชายคนโตก็ไม่เห็นด้วย ถึงกับบอกว่าให้ “อย่าไปเป็นเลยหมอยงหมอยาอะไร เอาเวลาไปขุดดินถากหญ้า (ทำไร่ ทำสวนทำมาหากินที่ยังจะให้ผลผลิตเป็นรายได้ได้)ยังจะดีซะกว่า” ดังนั้นเวลาไปได้สมุนไพรมาเขาจึงต้องแอบปลูก  เพราะไม่อยากถูกด่าว่า (รำคาญซึ่งครอบครัวก็คงระอากับหมอกุเหมือนกันที่ห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง ยังดึงดันที่จะเป็นหมอยาและปลูกสมุนไพรมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีคนมาให้หมอกุรักษา ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นภาระให้ครอบครัว ลูกหลานมายกน้ำเสริฟคนมารักษา หรือปั้นยากันจนเหนือย แถมเงินก็ไม่ได้ กลางค่ำกลางคืนดึกดื่นก็ยังมีคนมาเรียกให้รักษา(บางคนถูกงูกัดมา)ก็ต้องจุดไต้จุดตะเกียง ไปส่องไฟเก็บสมุนไพรมารักษาให้”หมอกุบอกว่ารักษาแบบทำบุญเพราะเขาเดือดร้อนมาก็ถือว่าช่วยกัน  ปัจจุบันในพื้นที่เกือบ 170 ไร่ของตนมีสมุนไพรเกือบ 700 ชนิดที่ปลูกแซมอยู่ทั้งร่องสวน แปลงผัก แปลงนา ทุกที่จะมีสมุนไพรแซมอยู่เต็มไปหมด และเราก็ต้องรู้ว่าแต่ละชนิดใช้ทำอะไรได้บ้าง

 

จากเกษตรเคมี สู่ เกษตรอินทรีย์

                อาชีพหลักที่คู่ขนานไปกับการเป็นหมอยาหรือหมอสมุนไพรของหมอกุ คือ เกษตรกรทำสวนทำไร่ และใช้ปุ๋ยใช้ยาตกอยู่ภายใต้การชวนเชื่อของระบบทุนนิยม พ่อค้าปุ๋ย พ่อค้ายา วิถีเกษตรจึงผูกพันกับเคมีมาตลอด  จนเมื่อมีโอกาสได้รับฟังแนวทางเกษตรแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ที่สอนให้รู้จักอยู่อย่างพอเพียงพึ่งตนเองก่อน ซึ่ง อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธรและคณะมาบรรยายจึงฉุกคิด และเริ่มเปลี่ยนความคิด แต่การเอาไปปฎิบัติจริงยังมีปัญหาเพราะครอบครัวไม่เห็นด้วย ยังยึดติดกับเกษตรเคมีที่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาให้พืชไร่พืชสวนให้ผลผลิตมาก  ๆ แต่ก็มีต้นทุนเยอะมากเช่นกัน ประกอบกับเมื่อปี 2535 มีความตื่นตัวเรื่องแพทย์พื้นบ้าน โรงพยาบาลวังจันทร์มีการจัดอบรมเขาก็มีโอกาสเข้าไปอบรมด้วย และสะดุดใจกับคำที่หมอพูดในทำนองว่า เราเป็นหมอยาเอาสมุนไพรไปรักษาคนเจ็บคนป่วย แต่ไอ้สมุนไพรที่เอาไปรักษานั้นปลูกอยู่บนผืนดินที่มีการใช้ปุ๋ยใช้ยาเคมีอย่างหนัก  มันอาจจะมีสารพิษตกค้าง การช่วยเหลือของเราจะเป็นการทำร้ายผู้ป่วยมากขึ้นหรือเปล่า เราเป็นหมอแท้ ๆ จะเอายาพิษไปให้คนไข้อีกหรือ”

                “จุดนี้มันเหมือน “คลิ๊ก”นะ  ผมเก็บไปคิดต่อและตัดสินใจลงมือทำทันที โดยไปคุยกับครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ต้องให้ครอบครัวยอมรับและร่วมกันเปลี่ยนด้วย”  หมอกุบอกและสาธยายต่อถึงกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้ของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ควบคู่ไปกับการปลูกสมุนไพรเพื่อการักษาโรค และยังสร้างรายได้ให้กับครอบครัวซึ่งเมื่อก่อนนี้มีถึง 26 คน โดยเป็นครอบครัวพี่น้องตนทั้ง 6 คน และครอบครัวของตนเองซึ่งมีลูก 6 คน ร่วมกันทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสมบนเนื้อที่ประมาณ 170 ไร่ การจะให้พวกเขาเปลี่ยนปุ๊บปับไปตามความคิดของหมอกุจึงไม่ใช่ง่าย เพราะแรก ๆ ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก จึงเกิดแนวทางของการทดลองบนแปลงเล็ก ๆ ตั้งสมาชิกครอบครัวมาเป็นกรรมการตรวจสอบกันใกล้ชิดระหว่างทำเกษตรอินทรีย์แบบหมอกุที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เลย กับแปลงของพี่น้องที่ยังคงทำแบบเดิม โดยพืชที่เอามาทดลองปลูกคือ แตงกวา ระหว่างนั้นก็มีการจดบันทึกทำเหมือนการวิจัยเลย ในที่สุดก็ได้ผลยติดที่เกษตรอินทรีย์ให้ผลผลิตดีกว่า พืชเติบโตดีกว่า และที่สำคัญให้ต้นทุนน้อยมาก

                ผลพิสูจน์จากแปลงทดลองจึงนำไปสู่การยอมรับและยึดแนวทางเกษตรอินทรีย์ของหมอกุเรื่อยมา ซึ่งในช่วงเวลา 37 ปีของอาชีพเกษตรกรหมอกุได้ผสมผสานความรู้เรื่องสมุนไพรที่มีอยู่อย่างแตกฉานกับความรู้ใหม่เรื่องเกษตรอินทรีย ที่ส่วนใหญ่มาจากการค้นคว้าทดลองและปฎิบัติกันในครอบครัวมากกว่าการไปเลียนแบบตามคำแนะนำบอกเล่าของใคร หมอกุยึดหลักที่ว่า “ต้องเอง ลองเอง รู้เอง” แม้บางครั้งการทำเองอย่างลองผิดลองถูกก็อาจเกิดอันตรายได้ เช่น หมอกุไม่มีความรู้เรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ แต่ได้แนวทางจากการฟัง อ.วิวัฒน์ ซึ่งบอกว่ามันง่ายมาก ๆ พืชผักต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ที่บ้านหรือแม้แต่เศษผักเศษหญ้าที่ทิ้งขว้างหากเอามาใส่ถังผสมน้ำผสมกากน้ำตาลแล้วหมักทิ้งไว้สักเดือนเราก็จะได้น้ำหมักชีวภาพไปใช้ประโยชน์ ฟื้นฟูสภาพดิน บำรุงพืช บำรุงต้นไม้ “ในความเข้าใจผมมันกคืออย่างนี้จริง ๆ นะ”หมอกุยืนยัน และว่าไอ้ทำอย่างไม่รู้นี่แหละบางทีหมักนานเกินไปจนถังบวมถังระเบิดฝากกระเด็นก็มี (แรงดันจากแก๊สชีวภาพที่เกิดขึ้น)ถ้าถึงไหนบวม ๆ เวลาจะเปิดดูผมต้องเชือกผูกแล้ววิ่งไปแอบหลังต้นไม้แล้วจึงดึงเชือกเปิดฝา (หัวเราะใหญ่และบอกว่าเคยมีประสบการณ์มาแล้ว) อ.วิวัฒน์เห็นผมเอาจริงก็มาคอยให้ความรู้ให้คำแนะนำและช่วยกันพัฒนาสูตรน้ำหมักชีวภาพขึ้นเอาไปใช้ทั้งสวนผลไม้ นาข้าว นากุ้งเอาไปปรับใช้ได้ตามสัดส่วน ซึ่งน้ำหมักชีวภาพที่ได้ผ่านการทดลองและใช้จริงมาแล้วกับไร่นาสวนผสมของตนซึ่งผลผลิตดี และด้วยระบบการจัดการที่แบ่งพื้นที่ประมาณ 170 ไร่ ออกเป็นการทำแหล่งน้ำซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตร 10 ไร่  แปลงนาปลูกข้าว (ทำไว้กิน)สลับกับผักหมุนเวียนปลอดสารพิษ 20 ไร่ ที่เหลือเป็นสวนผลไม้  70 ไร่ ซึ่งเรียกได้ว่ามีทุกอย่างอยากกินอะไรก็หากินได้พื้นที่ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อ ที่สำคัญยังเอาไปขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับครอบครัว จากการขายผักปลอดสารพิษที่ลูกค้าติดใจเพราะเห็นชัด ๆ ว่ามาจากการเพาะปลูกที่ไม่ใช้เคมีเลย  ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นป่าผสมสมุนไพรอีกเช่นกัน
                “เฉพาะทำผักปลอดสาร 20 ไร่ ก็ให้ค่าตอบแทนปีละเป็นล้านบาท” หมอกุคุยและว่าครอบครัวของตนสบาย มีรายได้แจกลูกหลานที่ช่วยงานเดือนละ 2000 บาทแม้แต่ตนซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีประจำบ้านก็ได้ 2000 บาทเช่นกัน ซึ่งถามว่าพอมั๊ย มันเกินพอเหลือเสียอีกเพราะของกินส่วนใหญ่ก็มีอยู่แล้วในพื้นที่ จะมีที่ซื้อก็หมู-เนื้อ เจ็บป่วยไม่สบายเราก็มียาสมุนไพร 
และที่สำคัญในพื้นที่ของตนทั้งหมดไม่ว่าจะปลูกอะไรตรงไหนจะปลูกสมุนไพรแซมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 600 ชนิด เรียกว่าอยากได้ต้นอะไรมาทำยารักษาคน รักษาพืช รักษาสัตว์ ก็ไปเก็บมาได้เลย

               

รู้ลึกรู้จริง ได้ความรู้เพิ่ม

            จากความสนใจและการเอาจริงเอาจังอย่างมีมานะอุตสาหะ ที่มีหลักสำคัญอยู่ที่ ความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และอดทน ซึ่งหมอกุบอกว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์นั้นตนเดินมาถูกทางแล้ว ตนพิสูจน์ด้วยเวลาถึง 37 ปี  เป็นความรู้ที่สะสมเพิ่มพูนจากการปฎิบัติ  ความรู้สำคัญของหมอกุ คือ การทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีเลย  เป็นความรู้ทั้งกระบวนการตั้งแต่การฟื้นฟูสภาพดิน การบำรุงดิน รู้จักธรรมชาติของพืชผักผลไม้ที่ปลูกและสามารถจัดระบบอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด จึงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ   และความรู้อีกอย่างหนึ่งคือความรู้สมุนไพรที่มีการต่อยอดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการคิดค้นพัฒนาสูตร ตำรับยาทั้งสำหรับคน พืช สัตว์ ซึ่งหมอกุบอกว่า สมุนไพรรอบตัวนั้นมีประโยชน์ ถ้าเรารู้จักสรรพคุณหรือรู้จักมันจริง ๆ ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องพึ่งหมอ ไปหาหมอมันแก้ที่ปลายเหตุ ทำไมเรา เราไม่รู้จักป้องกัน การรู้จักและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างถูกวิธีจะช่วยให้สุขภาพดี เมื่อสุขภาพดีก็ไม่ต้องมีโรคภัยร้ายแรงไปให้หมอรักษาแพง ๆ  เราควรจะมาสนใจสมุนไพรและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรกันให้มาก ๆ เอาให้หมอไม่มีคนไข้รักษาไปเลย นี่สิถึงจะเป็นการป้องกันอย่างแท้จริง”  

ผลิตภัณฑ์และผลิตผลจากการจัดการความรู้

                จากองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ที่กระจ่างแจ้ง นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ซึ่งปลูกแบบหมุนเวียนจึงมีผักแทบทุกชนิดที่ปลูกได้ในสภาพนิเวศน์แถวนั้น ทั้งคะน้า ถั่ว ผักกาดต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกรวมทั้งผลไม้อีกหลายชนิด เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน สละ ระกำ ลองกอง ที่ทำรายได้ให้ทุกวันมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยไปส่งขายที่ศูนย์จำหน่ายของกลุ่ม

                จากองค์ความรู้สมุนไพรที่แตกฉาน นำไปสู่การแปรรูปเป็นเม็ด เป็นน้ำ เป็นผง ตากแห้งสำหรับต้ม หรือเพื่อจัดผสมตามสูตรเป็นยาหม้อ ให้ผู้รักสุขภาพเลือกใช้ได้ตามสะดวก และในกระบวนการผลิตจะเน้นมากในเรื่องความสะอาด   ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำหรับคน ก็เช่น   กระชายดำ สำหรับบำรุงหัวใจ เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้คึกคัก    ทองพันชั่งบรรเทาอาหารโรคผิวหนัง  ตะไร้หอมใช้ทั้งต้นขับลมในลำไส้แก้จุกเสียดแน่น หรือจะทำยาไล่แมลงกันยุงก็ได้  หญ้าหนวดแมว แก้กษัย ไตพิการ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว,พญายอ แก้พิษงู พิษแมลงสัตว์กัดต่อย,โกฎจุฬาลัมพา แก้ไข้หวัด อีสุกอีใส,กำลังเจ็ดช้างสาร แก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง บำรุงโลหิตสตรีหลังคลอด,ฟ้าทะลายโจร  ใช้ตั้งต้น(เหนือดิน)ต้มดื่มแก้หวัด แก้ปวดท้อง หรือใช้ตำผสมสุราทาแก้งูสวัด ตำกับน้ำตาลทรายแดงพอกรักษาโรคผิวหนัง ฝีพุพอง,หนุมานประสานกาย ใบใช้แก้ไอ แก้เจ็บคอ คออักเสพ หลอดลมและปอดอักเสบ,โด่ไม่รู้ล้ม แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไอ แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง,รางจืด ใช้ถอนพิษ แก้ไข้ ถอนยาพิษเบื่อเมา เป็นต้น โดยสรุปก็คือสมุนไพรทั้งกว่า 600 ชนิดที่ปลูกนั่นแหละ อันไหนมีสรรพคุณใช้ได้เดี่ยว ๆ หมอกุก็เอามาแปรรูปให้สะดวกกับผู้ใช้ ส่วนอันไหนที่ต้องไปผสมกับอะไรก็จัดเป็นชุดเบ็ดเสร็จเพื่อสะดวกกับการใช้อีกเช่นกัน  และที่ง่ายกว่านั้นบางอย่างยังแปรรูปเป็นน้ำมัน สบู่ แชมพู โลชั่น ยาอม ยาดม ยาหม่อง เรียกว่ามีสารพัดนั่นแหละ หรือใครอยากได้ต้นไปขยายต่อปลูกไว้ในบ้านตนเองก็มีต้นหรือกิ่งพันธุ์ขายให้ในราคาประหยัด แต่สินค้าทุกชนิดนั้นหมอกุบอกว่าที่สำคัญเราไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่ต้องสอนให้เขารู้ว่าต้องใช้อย่างไร และเขาไม่จำเป็นต้องมาซื้อเราหากสมุนไพรเหล่านี้เขามีเองอยู่ที่บ้าน
           
ส่วนสมุนไพรสำหรับพืชผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และสัตว์ ก็เช่น การใช้สมุนไพรไล่แมลงซึ่งก็มีอยู่หลายสูตรแล้วแต่ผู้ใช้ เช่น สูตร 1 ประกอบด้วยตะไคร้หอม,ข่า,หนอนตายอยาก,กากน้ำตาล,จุลินทรีย์  มีประโยชน์สำหรับกำจัดหนอนใย,หนอนกระทู้,หนอนหนังเหนียว วิธีใช้ก็ผสมกันในอัตราส่วนน้ำยา 1 ลิตรต่อน้ำ 200-400 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในเวลาเย็น 1-2 อาทิตย์ต่อครั้ง  เมื่อใช้แล้วควรปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ในที่ร่ม เป็นต้น   สมุนไพรชีวภาพ(จุลินทรย์) ก็ทำได้ง่าย ๆ มีสรรพคุณช่วยในการปรัรบสภาพของดินและน้ำ บำรุงต้นพืช ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช ช่วยทำให้พืชแตกรากสามารถดูดซึมอาหารได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มความสมบูรณ์ของดิน เพิ่มภูมิต้านทานโรคและแมลง  ปุ๋ยปลาหมักเป็นสูตรบำรุงต้นพืชเพิ่มแคลเซียม กรดอะมิโน วิตามิน โปรตีน ช่วยให้พืชเจริญงอกงาม บำรุงต้นพืชให้ต้านทานโรค ปุ๋ยน้ำฮอร์โมน ช่วยในการสร้างตาดอก ติดดก ขั้วเหนียว เพิ่มผลผลิต เร่งสี รสหวาน   ส่วนสมุนไหรรักษาโรคราพืชมีส่วนประกอบสำคัญคือ หมาก เปลือกมังคุด ขมิ้น จุลินทรีย์ และน้ำ มีสรรพคุณในการรักษาและป้องกันราสนิม ราน้ำค้าง ราดำ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของชาวสวน  นอกจากนี้ยังมีน้ำสกัดชีวภาพสำหรับการเลี้ยงกุ้งอีกด้วย

คณะรัฐมนตรีประจำบ้าน : ระบบบริหารเพื่อครอบครัวเป็นสุข

                การจะทำอะไรสักอย่างถ้าคนใกล้ตัว คนในครอบครัวไม่เข้าใจไม่เห็นด้วยก็ยากที่จะทำสำเร็จ แต่หากขับเคลื่อนไปด้วยกันก็จะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างกรณีครอบครัวของคุณดำรงศักดิ์ ที่แม้ลูก หลานจะได้รับการศึกษาจากข้างนอก จบปริญญาก็หลายคน แต่ทุกคนก็เห็นพ้องกับแนวคิดและเส้นทางที่หมอกุบุกเบิกมา และตระหนักกับการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง (ไม่อยากยากนะแต่รู้จักใช้ในสิ่งที่ควรใช้  ไม่ฟุ้งเฟ้ออยากได้สิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่ตกอยู่ภายใต้การมอมเมาโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อต่าง ๆ )

                “ผมบอกลูกหลานว่า การที่คนเขามาดูมาหาเรา บางเดือนถึง 5 พันคน เราต้องเตรียมตัวกันเหนื่อย มันก็เหนื่อยอยู่หรอกแต่ลงอคิดดูซิว่าเขามาหาเราเพราะอะไร ทั้งชาวบ้าน นักเรียน นักศึกา ครู อาจารย์ นักวิชาการ รวมทั้งนักท่องเที่ยว เขามาดูอะไรเรา เขาต้องการอะไรจากเรา สิ่งที่เราให้เขาคือความรู้เรื่องสมุนไพรและเกษตรอินทรีย์ที่เราชำนาญ และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้คือเมื่อเขาเข้าใจเขาเชื่อมั่น เขาก็ซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา ของกลุ่ม ก็สร้างรายได้ของเรา รายได้ของกลุ่ม และปี ๆ หนึ่งเขามากันเท่าไหร่ เขาเอาเงินมาให้เราเท่าไหร่ เราเพียงเอาความรู้เอาสิ่งที่เรารู้ไปแลกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เรียกว่าลูกค้าวิ่งมาหาเรา ตลาดวิ่งมาหาเรา โดยที่เราต้องห่วงเลยว่าผลผลิตจะขายไม่ได้ ไม่พอเสียอีก”

                การดำเนินการทั้งหมดทุกขั้นตอนเรามีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ต้องทำรายรับรายจ่าย มีบัญชีครัวเรือน และคุยกันทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาผลกระทบจากภายนอกที่คาดว่าจะส่งผลต่อครอบครัว เราก็จะมีการคุยกัน ล้อมวงคุยกันในบ้านนั่นแหล ผมเป็นผู้นำเหมือนเป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะรัฐมนตรีซึ่งก็คือพี่น้องและลูก  ๆ ใครมีประเด็นอะไรก็หยิบขึ้นมาพูดคุยหาข้อสรุปกัน อย่างเช่น เรื่องน้ำมันแพงเราก็มาช่วยกันคิดว่าจะมีแนวทางการประหยัดได้อย่างไรบ้าง ก็ได้ข้อสรุปซึ่งโยงไปหลายเรื่องเกี่ยวข้องกัน เช่น การขนผักผลไม้ไปขายซึ่งต้องออกไปทุกวันที่เราจะซื้อวีโก้(รถกระบะยี่ห้อโตโยต้า)ที่กำลังฮิต ก็เปลี่ยนมาเป็นรถอีแต๋นดีกว่าเพราะระยะทางที่จะไปส่งก็ไม่ไกล  จากเดิมที่เคยขี่มอเตอร์ไซต์ไปดูสวนตรงโน้นตรงนี้(สวนมันกว้างกว่าเกือบ 170 ไร่) ก็หันมาใช้จักรยานมากขึ้น หรือเวลาจะออกไปซื้ออาหารมาทำกับข้าวก็ต้องจัดตารางกันว่าวันนี้จะทำอาหารอะไรบ้าง ส่วนประกอบอะไรที่มีอยู่แล้ว อะไรที่ต้องซื้อจากข้างนอกซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเนื้อสัตว์แล้วไปซื้อทีเดียว  หรือแม้แต่คนงานที่มาช่วยปลูกผักทำสวนเราก็ต้องมีการคุยกับเขาเหมือนกัน  การแก้ปัญหาทุกเรื่องต้องมาจากเวทีระดมความคิดเห็นกันในบ้านนี่แหละ และเป็นกฎเหล็กว่าเมื่อได้ข้อยุติแล้วทุกคนต้องปฎิบัติตาม  และด้วยแนวคิดและระบบบริหารจัดการเช่นนี้ทุกปัญหาสำหรับเราจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะพลังของบ้านคือพลังยิ่งใหญ่และถือเป็นจุดแข็งของครอบครัว

รู้แล้วบอกต่อ การขยายความรู้ที่ยังต้องขับเคลื่อน
ความสำเร็จจากภายในที่เกิดจากตัวหมอกุเอง และขยายไปสู่การร่วมคิดร่วมทำของสมาชิกครอบครัวภายใต้นายกรัฐมนตรีประจำบ้านอย่างหมอกุ  ความมั่นใจที่เกิดจากการรู้จริง  พวกเขาจึงไม่หยุดแค่การช่วยเหลือกันเฉพาะในครอบครัว แต่ได้พยายามขยายความรู้ ป่าวประกาศออกไปสู่ภายนอก ทั้งจากเดิมที่เป็นการบอกต่อจากปากต่อปากของผู้ป่วยที่มารักษา ปัจจุบันได้ขยายไปสู่การรับรู้จากสื่อสาธารณะ มีกลุ่มคนมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้าไปขอความรู้จากหมอกุ ซึ่งหมอกุบอกว่ามีการตั้งเป็นกลุ่มผู้นิยมสมุนไพร และศูนย์กสิกรรมสมุนไพรไท เขาขุนอินทร์  โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาลวังจันทร์ (มีการนำยาสมุนไพรไปใช้ในโรงพยาบาลควบคู่กับการรักษาแผนใหม่) และกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเกษตร ที่มีคนหลายกลุ่มเข้ามาเรียนรู้ดูงานด้วยหลายจุดประสงค์ เช่น มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาดูการจัดการการใช้สมุนไพรในแปลงเกษตรไร่นาสวนผสม  พวกนี้จะมาเพื่อพักผ่อนมากันเป็นหมู่คณะ บางกลุ่มก็มาโดยตั้งใจมาเอาความรู้เรื่องสมุนไพรและจะเอาไปใช้ประโยชน์จริง ๆ แต่ไม่ว่าใครจะมาจากไหนหมอกุก็จะบรรยายจะบอกเล่าถึงสรรพคุณของสมุนไพรใกล้ตัวที่หากรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ควบคู่กับการบริโภคพืชผักปลอดสารพิษจากการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ทุกคนทำได้ ไม่จำเป็นต้องมาซื้อ และหมอกุยินดีบอกสูตรต่าง ๆ ให้ ถึงขนาดพิมพ์แจกใครอยากได้สูตรอะไรก็เอาไปได้เลย ถ้าเอาไปทำแล้วยังมีอะไรข้องใจก็โทรมาถามได้ หรือซื้อสมุนไพรไปแล้วลืมว่าต้องใช้อย่างไรก็โทรมาถามได้ ทุกครั้งที่มีการบรรยายหมอกุจะย้ำเสมอว่า ความรู้เรื่องสมุนไพร เรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับจากการบรรยาย จากการสาธิตทำให้ดูหรือการพาชมการบริหารจัดการแปลงผักนั้น “รู้แล้วไปบอกต่อ” ถ้าไม่เข้าใจไม่แน่ใจให้กลับมาถามหรือจะโทรมาก็ได้  หรือเพียงแค่กลับไปบ้านแล้วลองดูซิว่าที่บ้านนั้นมีสมุนไพรอะไรอยู่บ้างแล้วจะใช้ประโยชน์ของมันทำอะไรที่จะทำให้สุขภาพดี   

นอกจากการมาเป็นหมู่คณะบางคนยังมาตามคำร่ำลือ มาซื้อยาสมุนไพรไปใช้ มาขอคำปรึกษา  บางคนมาขออยู่ด้วยมาเรียนรู้กินนอนอยู่ที่บ้านเลยเพราะอยากทำเป็น แต่หลายคนพอมาอยู่จริง ๆ ลงมือทำจริง ๆ แล้วก็เปิดแน่บไปก็มีเพราะทำไม่ได้ แค่กลิ่นน้ำหมัก หรือลงปลูกผัก ปลูกพืช ไปเดินสำรวจสมุนไพรในสวนในป่าเจอยุงเข้าก็ทนไม่ได้กันแล้ว  แต่บางคนไปโดนยุงกัดมาก็บอกว่าดีเลยจะได้ลองสมุนไพรของหมอกุว่าได้ผลจริงหรือเปล่า เขาก็ทาเลยแล้วก็ได้ผล หรือลบางคนมาหลายรอบเวลาจะไปเดินดูสมุนไพรก็บอกว่าเดี๋ยวก่อนขอทาสมุนไพรไล่แมลง สมุนไพรกันยุงก่อน ถึงบอกว่าการมาทำอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเห็นว่าดีแล้วจะทำได้ แต่ต้องตั้งใจและอดทนด้วย”
            การรวมผู้สนใจในแนวทางเดียวกันและจัดตั้งเป็นกลุ่ม มีระบบบริหารจัดการร่วมกัน เป็นช่องทางหนึ่งของการขยายความรู้และสร้างรายได้ นั่นคือ นอกจากสมาชิกจะมั่นใจในแนวทางเกษตรอินทรีย์คู่สมุนไพรมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับเขาด้วย และครอบครัวของหมอกุคือตัวอย่างความสำเร็จ หมอกุได้เปิด “เวทีชาวบ้าน”ขึ้นในบริเวณบ้าน เพื่อเป็นเวทีให้ชาวบ้านในละแวกนั้นและสมาชิกได้มาขยายความรู้แก่กัน ทำมาได้ 2 ปี โดยไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใดเลย แรก ๆ ก็ทำมาด้วยดีแต่ระยะหลังเมื่อมีการส่งเสริมเรื่องยางพาราที่มีราคาแพงขึ้นมาก หลายคนจึงหันไปมุ่งที่การทำสวนยางก่อนเพราะมองเห็นรายได้เป็นกอบเป็นกำที่จะได้ในอนาคตมากกว่าการจะมาเรียนรู้เรื่องเกษตรเรื่องสมุนไพร มือปืนรับจ้าง(คนที่ไม่สนใจจริงจังแต่เป็นสมาชิกกลุ่มและจะมาร่วมประชุมในวาระสำคัญ ๆ )หลายคนจึงค่อยๆ ถอยออกไปเอาเรื่องยางก่อน  จึงเหลือตัวจริงอยู่ 5-6 รายที่ยังมาศึกษาเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องและอยากจะเอาแนวคิดนี้ซึ่งยั่งยืนกว่าไปทำให้ครอบครัวยอมรับ  แม้ในระดับพื้นที่การขยายความรู้ของหมอกุจะดูติดขัด แต่ในระดับอำเภอ และจังหวัดมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งเกิดจากการที่คนบอกต่อแล้วผู้สนใจมาศึกษาดูงาน
                “พวกเขาก็ไม่ได้ผิดหรอก เรื่องสมุนไพร เรื่องเกษตรอินทรีย์ พวกเขามองว่ามาเรียนรู้มาทำเรื่องไหร่ก็ได้ เมื่อประโยชน์มองเห็นตรงหน้า(ยางพารา)ก็ต้องฉวยไว้ก่อน ทั้งที่หากมองไกล ๆ จะเห็นว่าเรื่องเกษตรอินทรีย์เรื่องสมุนไพรมันเป็นเรื่องของชีวิตและสุขภาพ เพราะต่อให้ทำสวนยางได้เงินมาแค่ไหนแต่หากสุขภาพไม่ดีเงินก็จะหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล  และผลิตผลของเกษตรอินทรีย์และสมุนไพรมันเป็นเรื่องของปากท้องมีผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ยางพาราเราขายไปให้กับใครก็ไม่รู้ จะยั่งยืนแค่ไหนก็ไม่รู้” หมอกุบอกและยกตัวอย่างเพื่อนบ้านคนหนึ่งทำไร่แตงโม ใช้ชีวิตอย่างขยัน ประหยัด และอดทน ข้าวปลาไม่กินกินแตงโมทุกวัน แต่แตงโมนั้นปลูกแบบใช้ปุ๋ยใช้ยาเคมีนะ ปลูกแตงโมกินแตงโมจนเก็บเงินได้ 2 -3 แสนบาท ก็ไปซื้อรถกระบะเล็ก ๆ มาคันหนึ่ง แต่สุดท้ายเมียที่ช่วยกันทำและใช้ชีวิตมาอย่างนี้นี่แหละก็ป่วยเป็นมะเร็งไอ้เงินที่ได้ก็สูญไปกับค่ารักษาพยาบาล ในที่สุดก็ตาย  จึงบอกว่าเรื่องของชีวิตและสุขภาพกับเรื่องของ “เงิน”
น่าจะเลือกเอาอย่างไหน  และยังว่าคนไทยเป็นพวกใกล้เกลือกินด่าง ไม่ชอบพึ่งตัวเอง อย่างสมุนไพรปลูกเองไว้ในบ้านก็ได้ เวลาจะใช้ก็หยิบมาได้เลย ไม่ต้องไปขอใคร หรือไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ  เรื่องง่าย ๆ ไม่รู้จักทำกัน และยังว่าอิทธิพลจากสื่อโฆษณาชวนเชื่อนี้แรงจริง ๆ และคนไทยก็หลงง่าย หลอกง่าย มีคนป่วยคนหนึ่งมาหาตนเพราะกินชาเขียวไป 400 ขวด กินจนน้ำท่วมปอด เพราะอยากได้เงินล้าน
แม้ “เวทีชาวบ้าน”จะดุไม่ค่อยเห็นผลคืบหน้าจนหมอกุต้องหยุดกิจกรรมนี้ไปชั่วคราว และยึดหลักกลับไปทำเกษตรผสมผสานไร่นาสวนผสมด้วยสมุนไพรของตนเองให้ชัดเจนและเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นว่าวิถีเกษตรคู่สมุนไพรนี้จะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนของชีวิต  โดยหมอกุยึดพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีที่ว่า “สมุนไพรไทยนี้มีค่ามาก พระเจ้าอยู่หัวทรงฝากให้รักษา แต่ปู่ย่าตายายใช้กันมา ควรลูกหลานรักษาใช้สืบไป เป็นเอกลักษณ์ของชาติควรศึกษา วิจัยยาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมัย รู้ประโยชน์รู้คุณโทษสมุนไพร เพื่อคนไทยอยู่รอดตลอดกาล”
  หมอกุจึงหวังที่จะให้ลูกศิษย์ก้นกุฎิที่ดูจะมีความสนใจแนวทางนี้อย่างจริงจังไปขยายต่อ ซึ่งก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในการนำสมาชิกชุมชนที่หมู่บ้านใกล้เคียงที่สนใจมาศึกษาดูงาน และร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาจุดร่วมของปัญหาและแนวทางแก้ไข เพราะในพื้นที่มีอาชีพหลากหลาย ทั้งทำสวน ทำไร่ และปลูกผัก โดยความรู้ของหมอกุคือคัมภีร์มีชีวิตที่จะเติมเต็มในการแก้ปัญหา แต่ที่สำคัญพวกเขาต้องรู้จักที่จะใช้มันอย่างรู้คุณค่าและพัฒนาต่อให้เหมาะสมกับตนเอง
กรณี หมอกุ หรือ นายดำรงศักดิ์  ชุมแสงพันธ์  ซึ่งความสำเร็จของในวันนี้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริงมาตลอด 37 ปี เป็นตะกอนที่ค่อย ๆ ตกผลึกฝังแน่นอยู่ในตัว ซึ่งภาวะผู้นำ สำคัญมาก หมอกุตอนนี้แม้จะมีภาวะผู้นำได้รับการยอมรับจากภายนอก รวมทั้งภายในบ้าน แต่ในชุมชนกลับยังดูห่างเหินกันอยู่บ้าง ภาวะผู้นำของหมอกุในขณะนี้จึงหยุดหันมามองตัวเองและทำตัวเองให้ชัด หากเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลบ้านตาก ก็เหมือนกับว่าสิ
หมายเลขบันทึก: 1699เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2005 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สนใจเรื่องการจัดการองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์และความสำเร็จของกลุ่มค่ะ..

ผมสนใจการปลูกสมุนไพร และการปลูกพืชผสม การใช้สารชีวภาพ อยากได้คำแนะนำครับ

วิจัย สมบัติบูรณ์

ผมจะทำเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ 200 ไร่ หล่มสักคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท