ข้อเสนอทางออกจากภาวะวิกฤตทางการเมือง : ขอให้นายกฯทักษิณเว้นวรรคตัวเองชั่วคราว


            (27 ก.พ 49) นสพ. มติชนรายวันได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ผมเมื่อวาน และเสนอข่าวในหน้า 1 พาดหัวว่า แนะนายกฯวางมือชั่วคราว อยู่หลังฉากปั้น ‘ทายาท’แทนซึ่งข้อความในข่าวปรากฏดังนี้     

               ประธานศูนย์คุณธรรมชี้ทางออก"ทักษิณ"ต้องเว้นวรรค วางมือชั่วคราวปั้นทายาทสืบแทน "ป๋าเปรม" แนะทุกคน นำหลักคุณธรรมจริยธรรมมาใช้ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ความวุ่นวายทางการเมือง บอกต้องเป็นกลาง

 

   นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานคณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผนดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เสนอแนะทางออกสันติวิธี เพื่อคลี่คลายการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายและวิกตฤการเมืองที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า เมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา ซึ่งยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นเรื่องกะทันหัน และจัดการเลือกตั้งในเวลากระชั้นชิด ทำให้มีความรู้สึกของการถูกเอาเปรียบ และยิ่งกลายเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง จึงขอเสนอทางออกโดย พ.ต.ท.ทักษิณต้องประกาศวางมือ เว้นวรรคทางการเมืองชั่วคราว

 

ท่าน พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ปี ซึ่งยาวนานอย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และท่านได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติไว้แล้วพอสมควร ดังนั้น ท่านอาจใช้โอกาสที่มีผู้เสนอให้ท่านออกจากตำแหน่งมาเว้นวรรคการเมือง ด้วยการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่น โดยเฉพาะคนในพรรคไทยรักไทยได้มีโอกาสเข้ามาดูแลบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการหยุดพักชั่วคราว และใช้โอกาสนี้พัฒนาบุคลากรของพรรคไทยรักไทยให้คนเก่งๆ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง และกลายเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง หากเป็นเช่นนี้จะถือได้ว่าเป็นความใจกว้างของท่าน และท่านอาจเป็นที่ปรึกษาหรืออะไรก็ได้

 

            พร้อมกันนั้นก็ลงบทสัมภาษณ์โดยละเอียดในหน้า 2 ภายใต้หัวข้อ ‘ทักษิณ’ ต้องเว้นวรรคชั่วคราว : ทางสว่างจากศูนย์คุณธรรม ซึ่งมีข้อความดังนี้
            “ขณะนี้มีคนอยู่ 3 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง 2.ฝ่ายตรงกันข้าม 3.ฝ่ายที่ไม่ร่วมด้วยกับทั้ง 2 ฝ่ายแรก สิ่งที่ควรทำในตอนนี้คือฝ่ายที่ชุมนุมประท้วงต้องดำเนินการชุมนุมโดยใช้สันติวิธี และไม่ใช้ความรุนแรง โดยพูดจากันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนและความเห็นเท่าที่พึงกระทำตามระบอบประชาธิปไตย ปราศจากอาวุธหรือการยั่วยุ และไม่พูดจาให้ร้ายใคร
ในส่วนของฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้ชุมนุม ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกพรรคไทยรักไทย ตลอดจนประชาชนที่ให้การสนับสนุน ต้องทำมากกว่าฝ่ายที่ชุมนุมประท้วง เพราะเป็นฝ่ายที่ควบคุมการใช้อำนาจ ซึ่งต้องยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีเช่นเดียวกัน อย่ายั่วยุ ที่สำคัญคือต้องหาหนทางให้บรรลุทางออกที่พอใจและรับได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย นายกรัฐมนตรีต้องมีภาระมากกว่าคนอื่นเพราะตัวเองเป็นตัวประเด็น ไม่ใช่คิดเพียงว่าทำอย่างไรถึงชนะฝ่ายตรงกันข้าม แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่ทำให้ฝ่ายประท้วงและฝ่ายท่านรับได้ เป็นการหาเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้น โจทย์ของนายกรัฐมนตรีจะมากกว่าคนอื่น รวมถึงท่านต้องไม่พูดจาท้าทายและแบ่งฝ่าย
            สำหรับฝ่ายที่ 3 ที่ไม่อยู่ฝ่ายใด ถ้าไม่ทำอะไรก็ควรอยู่เฉยๆ เพราะไม่ควรไปพูดหรือคิดในทางไม่สร้างสรรค์ เช่น ด่าว่าทั้ง 2 ฝ่ายแรก หรือจับประเด็นคลาดเคลื่อนบอกว่าทั้ง 2 ฝ่ายสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง แสดงว่าไม่เข้าใจในสถานการณ์ ดังนั้น ทางที่ดีฝ่ายนี้ควรติดตามและศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อให้รู้จริง และหากถึงจุดนั้นแล้วจะเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เมื่อเข้าไปแล้วควรร่วมแสดงแนวทางสันติวิธี เหมือนกับที่เห็นพี่น้องทะเลาะกัน เราซึ่งเป็นคนในครอบครัวก็ต้องร่วมหาทางคลี่คลายปัญหา ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก หากยังคิดสร้างสรรค์กันอยู่ประตูจะไม่ถูกปิด เพราะแม้แต่ประเทศที่เขาเกิดการสู้รบและมีสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ยังหาทางออกได้เลย
            การหาทางออกร่วมกันให้เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเรียกร้องให้นายกฯลาออก ซึ่งขณะนี้ต่างฝ่ายต่างยื้อกันไปมาซึ่งต้องมีผู้แพ้และชนะ จึงไม่ใช่แนวทางสันติวิธี เพราะประชาชนก็มีความชอบธรรมในการเรียกร้อง แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ควรใช้วิธีการยื้อเวลาออกไปเพื่อหาทางเอาชนะ ดังนั้น ทำอย่างไรถึงบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันและชนะทั้ง 2 ฝ่าย ที่สำคัญนอกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ตัวรัฐมนตรีคนอื่นและสมาชิกพรรคไทยรักไทยต้องร่วมกันหาแนวทางด้วย ไม่ใช่คอยตอกลิ่มสร้างความแตกแยกโดยการกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ ซึ่งเหมือนกับเป็นการเติมเชื้อไฟ
            ในเรื่องของการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนี้ ผมอยากลองเสนอคือ เมื่อรัฐบาลใช้วิธีการยุบสภาซึ่งยิ่งสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายผู้ชุมนุมมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องกะทันหันและจัดการเลือกตั้งในเวลากระชั้นชิด ทำให้มีความรู้สึกของการถูกเอาเปรียบและยิ่งกลายเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง ทางออกหาแนวประสงค์ร่วมกันคือ ท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ปี ซึ่งยาวนานอย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และท่านได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติไว้แล้วพอสมควร 
            ดังนั้น ท่านอาจใช้โอกาสที่มีผู้เสนอให้ท่านออกจากตำแหน่งมาเว้นวรรคการเมือง ด้วยการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่น โดยเฉพาะคนในพรรคไทยรักไทยได้มีโอกาสเข้ามาดูแลบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการหยุดพักชั่วคราว และใช้โอกาสนี้พัฒนาบุคลากรของพรรคไทยรักไทยให้คนเก่งๆ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง และกลายเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง หากเป็นเช่นนี้จะถือได้ว่าเป็นความใจกว้างของท่าน และท่านอาจเป็นที่ปรึกษาหรืออะไรก็ได้ เพราะนโยบายเดิมก็ยังอยู่และอาจเพิ่มนโยบายใหม่เข้าไปอีก ในส่วนของการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ก็อาจยืดเวลาออกไปให้ครบ 60 วัน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งจะหารือกันได้”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรม
27 ก.พ. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16977เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท