ขี้เกียจ (ทำนา) อย่างชาญฉลาด


เขาบอกให้ทดลองทำ 10 ไร่ แต่ผมหักดิบเลิกใช้เคมีหมดเลยทั้ง 60 ไร่

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. จับผลัดจับผลูได้ไปเยี่ยมชมกิจกรรมของเครือข่ายนครสวรรค์ฟอรั่ม ประเด็นโรงเรียนชาวนา (เพราะเครือข่ายนี้เขาทำหลายกิจกรรม)  พื้นที่แรกที่ไปดูคือ อ.โกรกพระ  น้องๆ พี่ๆ ที่เขาโทรมาชวน บอกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ใหม่ ที่เครือข่ายฯ จะไปขยาย  แล้วเราก็พบว่าพื้นที่นี้เป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ กับการศึกษานอกโรงเรียน (พื้นที่อื่นๆ ก็อาจจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น) โดย กศน. มีองค์ความรู้เรื่อง IPM (การกำจัดศัตรูพืชด้วยชีววิธี) ส่วนเครือข่ายฯเข้าไปส่งเสริมเรื่องการรวมกลุ่ม การคัดและพัฒนาพันธุ์ข้าว จากนั้นช่วงบ่ายเราไปเยี่ยมชมพื้นที่ในการดูแลของเครือข่ายฯ ที่มีความเข้มแข็ง คือ ต.หนองตางู อ.บรรพตพิสัย  ที่นี่เราได้พบกับ "ศิษย์เก่า" 4 คน ของโรงเรียนชาวนาที่เปิดเทอมนี้จะเริ่มเรียนหลักสูตรคัดพันธุ์ข้าว  พี่ๆ เขาแนะนำตัวว่าชื่อ พี่สมชาย, พี่บรรจบ, พี่ประสิทธิ์ และ พี่จีระศักดิ์   โดยพี่จีระศักดิ์นั้น เราเคยเจอกันมาแล้วในกิจกรรมคัดพันธุ์ข้าวที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรีจัดขึ้น จะว่าไปเราก็ศิษย์มีครูเหมือนกันนะ รุ่นเดียวกับพี่จีระศักดิ์เลย เพื่อให้รู้สึกว่า "ซี้" กันยิ่งกว่านั้น ก็คือ เราเป็นญาติกันห่างๆ เพราะภรรยาพี่เขาเป็นคนภาคพื้นเดียวกับเรา (ใครอยากรู้ว่าภาคพื้นไหน ต้องไปสืบเอาเอง)

คุณสมชาย                                                     คุณบรรจบ

 

คุณประสิทธิ์                                                     คุณจีระศักดิ์

   วันนี้ขอยกตัวอย่างการทำนาของพี่สมชายก่อนละกัน พี่สมชายเขามีนา 60 ไร่ ทำนาเอง ทำคนเดียว แรกเริ่มก็หักดิบจากที่เคยใช้เคมี ก็เปลี่ยนมาทำนาปลอดสาร ไม่มีการทดลองทำเปรียบเทียบใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากนั้นก็คิดค้นวิธีทำนาแบบประหยัดได้อีก ที่ว่าประหยัดนี่หมายถึงทุกอย่างเลย ตั้งแต่ไม่ใช้เคมี (ประหยัดเงิน) ไม่ฉีดฮอร์โมน (ประหยัดแรง) ไม่หว่านปุ๋ยอินทรีย์ (ประหยัดแรง) พี่เขาบอกว่าเป็นวิธีของคนขี้เกียจ แต่ขี้เกียจแบบชาญฉลาด อยากรู้แล้วสิว่าพี่เขาทำอย่างไร จะเฉลยให้ก็ได้ง่ายๆ อย่างนี้คือ ใช้วิธีผสมฮอร์โมนในน้ำ แล้วปล่อยน้ำเข้านา ให้ไหลไปเอง ใช้วิธีถอยรถไปที่คันนาโกยปุ๋ยอินทรีย์ใส่คันนาให้ใกล้น้ำที่สุดแล้วปล่อยให้ปุ๋ยละลายน้ำไปเอง เคล็ดลับสุดท้ายกำลังทดลองคือ ให้ข้าวและหญ้าอยู่ด้วยกัน ไม่กำจัดหญ้าเลย เพราะอยากรู้ว่าถ้ามีหญ้าแล้วผลผลิตจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่แตกต่างกันมากนัก ก็ไม่ต้องกำจัดให้เหนื่อยเปล่า อีกประการหนึ่งก็คือ อาจจะได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ผสมพันธุ์กับหญ้า มีความทนทาน ทนโรคมากขึ้นก็ได้ ในส่วนของต้นทุนนั้นพี่เขาบอกว่าตอนที่ทำนาเคมี มีต้นทุน 2,600 บาท/ไร่ แต่เปลี่ยนมาทำนาปลอดสารมีต้นทุนเพียง 1,000 บาท/ไร่ เท่านั้นเอง ใครทำนาใช้ต้นทุนต่ำกว่านี้ มาแลกเปลี่ยนกันได้นะ

คมขำ

คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 1696เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2005 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากได้โค้ดเพลงนี้บ้างอ่ะช่วยบอกหน่อยได้ป่ะค่ะ

(ขอบคุณมากค่ะ)

สวัสดีครับทั้งสามสาว

ที่เอาข้อมูลดีๆ มาฝากครับ ผมกำลังคิดครับ ว่าการปล่อยน้ำฮอร์โมนเข้าไปในนา แบบไม่ต้องทำอะไร จะสามารถย่อยสลายวัชพืชก่อนจะหว่านเมล็ดข้าวได้ไหมครับ เช่นพวก ต้นกก ไม่ทราบว่า พี่ๆ เค้ากำจัดกันอย่างไรครับ

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท